สมัคร เพื่อ โหวต สว. 67 “แบ่งกลุ่มอาชีพ” – “เลือกกันเอง”

แผ่นพับ สมัคร เพื่อ โหวต สว. 2567

แผ่นพับรณรงค์ สมัคร เพื่อ โหวต สว. 2567 สรุปข้อมูลแบบสั้น เข้าใจง่าย สามารถดาวน์โหลดไปอ่าน ส่งต่อ หรือแจกจ่ายให้คนอื่นได้เลย

คู่มือสมัคร สว. 2567

สรุปข้อมูล สำหรับผู้ที่เตรียมพร้อมสมัคร สว. 2567 เป็น สว. มีอำนาจหน้าที่อะไรบ้าง กระบวนการสมัคร-การเลือกเป็นอย่างไร หากเป็น สว. จะได้รับเงินเดือน สิทธิประโยชน์ใดบ้าง พร้อมสมัคร สว. แล้ว โหลดคู่มือไปอ่าน แจกจ่าย ส่งต่อได้เลย

ประชาชนก็เลือกได้ ถ้าเข้าไปสมัคร!

การสรรหาสว. ด้วยระบบ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” เป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งที่พลพรรคของ คสช. ออกแบบไว้เพื่อหวังยึดกุม สว. ในระยะยาว ระบบการเลือกกันเองระหว่างผู้สมัคร จากระดับอำเภอแและจังหวัด เอื้อสำหรับคนที่มีเครือข่าย และมีอิทธิพลอยู่ในพื้นที่ ระบบการคัดเลือกหลายรอบ และค่าธรรมเนียม 2,500 บาท เป็นข้อจำกัดสำหรับคนที่ทำงานหาเช้ากินค่ำและไม่มีเงินทอง

ระบบนี้จึงเป็นการคัดเลือกสว. จากคนที่ “มีเพื่อน มีเงิน และมีเวลา”

เอื้อสำหรับการจัดตั้งคนไปสมัครและโหวตเลือกพวกเดียวกันเอง แต่ผลลัพธ์สุดท้ายอาจ “ล็อก” ไม่ได้ง่าย หากมีผู้สมัครเข้าร่วมกระบวนการจำนวนมาก คนที่สมัครเข้าไปอย่าง “อิสระ” ก็จะออกเสียงได้ตามเจตจำนงของตัวเอง ยิ่งมีคนสมัครมาก ก็ยิ่งเกิดการมีส่วนร่วมมาก ทำลายโอกาสของเสียง “จัดตั้ง” และเพิ่มโอกาสได้ สว. ที่เป็นตัวแทนจากความคิดเห็นหลากหลายมากขึ้น 

สารบัญ

แสดง / ซ่อน
  1. สมัคร สว. มีสิทธิอะไรบ้าง
  2. เป็น สว. ทำอะไรได้บ้าง
  3. คุณสมบัติผู้สมัคร สว.
  4. ลักษณะต้องห้ามสมัคร สว.
  5. ไม่ได้ไปเลือกตั้ง สส. – เลือกตั้งท้องถิ่น สมัคร สว. ไม่ได้
  6. 20 กลุ่มอาชีพ สว. มีอะไรบ้าง
  7. สมัคร สว. ได้ที่ไหน
  8. ไทม์ไลน์การเลือก สว. จะเสร็จในสองเดือน
  9. ขั้นตอนการเลือก สว. ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับประเทศ
  10. สมัคร สว. เพื่อสังเกตการณ์การนับคะแนน-ทักท้วงผลได้
  11. จะสมัคร สว. ที่ไหน ตัดสินใจอย่างไรดี?
  12. พร้อมสมัคร สว. แล้ว! ต้องเตรียมตัวยังไง ทำอะไรบ้าง?
  13. ทำความรู้จักผู้สมัคร สว. คนอื่นได้อย่างไร?
  14. การแนะนำตัวเองทำอย่างไร มีข้อห้ามอะไรบ้าง?
  15. ข้อห้ามตามกฎหมาย อะไรทำไม่ได้บ้าง?
  16. อายุไม่ถึง จะมีส่วนร่วมได้อย่างไรบ้าง?
  17. เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?
  18. วิดีโออธิบายข้อมูล สว. 2567

สมัคร สว. ≠ อยากเป็น สว.​ เอง สมัคร สว. เพื่อ มีสิทธิมีเสียง ได้ดังนี้

  • ผู้สมัครจะมีโอกาสลงคะแนนโหวตให้กับผู้สมัครคนอื่นๆ ทั้งในกลุ่มตัวเองและต่างกลุ่ม
    เป็นช่องทางเดียวที่จะมีโอกาสได้เลือกคนที่มีแนวคิด อุดมการณ์ ความฝัน สอดคล้องกับตัวเอง
  • ผู้สมัครจะมีโอกาสลุ้นเข้ารอบ เพื่อไปโหวตให้กับผู้สมัครอีกหลายคนอีกหลายครั้ง
    ถ้าเข้ารอบสุดท้ายก็มีโอกาสเป็นเสียงตัดสินคนที่จะได้เป็น สว. จริงๆ หรือมีโอกาสได้เป็น สว. เพื่อทำตามความฝันของตัวเอง
  • ผู้สมัครที่ได้เข้าร่วมกระบวนการ จะมีโอกาสช่วยกัน “จับตา” สังเกตสิ่งผิดปกติ
    หากมีการ “จัดตั้ง” หรือ “ล็อกผล” ในกลุ่มผู้สมัครคนอื่น ก็จะนำมาเปิดโปงป้องกันการโกงได้

เป็น สว. ทำอะไรได้บ้าง

เป็น สว. สามารถสานต่อภารกิจเพื่อประชาธิปไตยได้หลายเรื่อง

เขียนรัฐธรรมนูญใหม่

การเดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ต้องแก้รัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ จะแก้รัฐธรรมนูญได้ ต้องอาศัยเสียง สว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามจาก สว. ทั้งหมด 200 คน เท่ากับว่าต้องมีคนพร้อมโหวต “เห็นด้วย” อย่างน้อย 67 คน

พิจารณากฎหมาย

สว. มีอำนาจลงมติเพื่อออกกฎหมาย การพิจารณากฎหมายบางประเภท สว. มีอำนาจเท่า สส. แต่บางกรณีก็มีบทบาทน้อยกว่า สส.

พิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ : ทำในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สว. มีอำนาจเท่า สส. นอกจากนี้ สว. สามารถลงชื่อร่วมกับ สส. เพื่อเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญได้


พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) : พ.ร.ป. เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ การพิจารณาจะทำในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สว. มีอำนาจเท่า สส.


พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) : สว. มีบทบาทน้อยกว่า สส. สว. ไม่มีอำนาจ ‘ปัดตก’ ร่างกฎหมาย แต่ สว. สามารถเห็นชอบ หรือแก้ไขร่างกฎหมายที่ผ่าน สส. มาได้

แม้บทบาทจะน้อยกว่า สส. แต่ถ้า สว. ไม่สนับสนุนหลักการประชาธิปไตย กฎหมายดีๆ ก็ผ่านได้ยาก

๐ อ่านขั้นตอนการออกกฎหมายเพิ่มเติม ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/3667

เคาะเลือกคนมาตรวจสอบรัฐบาล

สว. เป็นด่านสำคัญที่จะลงมติรับรองผู้มาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ดังนี้

  • คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
  • ผู้ตรวจการแผ่นดิน
  • คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
  • คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)
  • ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
  • คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.)

สว. ยังมีอำนาจให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญอื่นๆ ของรัฐ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น

  • อัยการสูงสุด
  • ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
  • เลขาคณะกรรมการกฤษฎีกา
  • เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแห่งชาติ (ปปง.)

สว. 2567 มีอายุห้าปี ในรอบห้าปีที่ดำรงตำแหน่ง สว. 2567 จะสามารถเคาะเลือกผู้มาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ-กรรมการองค์กรอิสระคนใหม่ที่จะมาดำรงตำแหน่งแทนที่คนเก่าที่ทยอยพ้นวาระได้ “เกินครึ่ง” สว. จึงเป็นผู้เล่นสำคัญ ที่จะกำหนดหน้าตาผู้มาเป็นศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระชุดต่อไป

๐ สว. 2567 จะเลือกศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ ได้กี่ตำแหน่ง อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/27637

ตรวจสอบการทำงานรัฐบาล

สว. สามารถตรวจสอบรัฐบาลได้ผ่านการอภิปราย และสะท้อนปัญหาของประชาชนไปยังรัฐบาลผ่านการตั้งกระทู้ถาม

*** สว. จากการเลือกกันเอง จะไม่มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ สส. แล้ว

๐ เป็นสว. มีอำนาจ-หน้าที่ทำอะไรได้บ้าง อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/6264

คุณสมบัติผู้สมัคร สว. 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัคร สว. ไว้ดังนี้

  • ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
  • ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันที่สมัครรับเลือก
  • มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี ไม่นับรวมผู้สมัครกลุ่มสตรี กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น
  • ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
  1. เกิดในอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก
  2. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันที่สมัคร
  3. เคยทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันที่สมัคร
  4. เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี
  5. เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า สองปีการศึกษา

ลักษณะต้องห้ามสมัคร สว.

  • เป็นสมาชิกพรรคการเมือง (ถ้าลาออกก็สมัครได้) อ่านวิธีลาออกจาสมาชิกพรรคการเมืองได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/22228 และสามารถตรวจสอบการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ได้ที่ https://party.ect.go.th/checkidparty
  • เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ (ถ้าลาออกก็สมัครได้) อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/22161
  • เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
  • เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน
  • เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
  • เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ
  • เป็นหรือเคยเป็นตำแหน่งดังต่อไปนี้ เว้นแต่พ้นตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัคร
    • สส.
    • รัฐมนตรี 
    • สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
    • ผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง ได้แก่
      • หัวหน้าพรรคการเมือง
      • เลขาธิการพรรคการเมือง
      • เหรัญญิกพรรคการเมือง
      • นายทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง
      • กรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง
      • หัวหน้าและกรรมการสาขาพรรคการเมือง
      • ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด
      • ตำแหน่งอื่นๆ ที่ถูกกำหนดไว้ในข้อบังคับของแต่ละพรรคการเมือง

๐ อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับตำแหน่งในพรรคการเมือง ที่ต้อง “เว้นวรรค” มาก่อนห้าปี ถึงจะสมัคร สว. ได้ ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/27766 และสามารถตรวจสอบการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง ได้ทาง https://party.ect.go.th/partypositioncheck

  • เป็นบุพการี (บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย) คู่สมรส หรือบุตร ของผู้ดำรงตำแหน่งต่อไปนี้
    • สส. 
    • สว. 
    • ข้าราชการการเมือง 
    • สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
    • ผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ
  • เป็นบุพการี (บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย) คู่สมรส หรือบุตร ของผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. ในคราวเดียวกัน (หนึ่งครอบครัว สมัครได้แค่คนเดียวในหนึ่งสมัย)
  • เคยเป็นสว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 (สว. ชุดพิเศษ สมัครไม่ได้)
  • ติดยาเสพติดให้โทษ (ดูจากใบรับรองแพทย์)
  • วิกลจริต จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
  • อยู่ในระหว่าง (ข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้)
    • ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
    • ถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
    • ต้องห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
  • ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
  • เคยรับโทษจำคุก พ้นโทษยังไม่ถึง 10 ปี ยกเว้นความผิดโดยประมาทหรือลหุโทษ
  • เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่
  • เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาลงโทษจำคุกเพราะทำผิดตามกฎหมายปราบปรามการทุจริต
  • เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือ ต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดตามกฎหมายความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดกฎหมายยาเสพติด การพนัน การค้ามนุษย์ หรือการฟอกเงิน
  • เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าทุจริตในการเลือกตั้ง
  • เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีส่วนในการเสนอหรือกระทำการใดๆ ที่มีผลให้สส. สว.  หรือกรรมาธิการ มีส่วนในการใช้งบประมาณ
  • เคยพ้นตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่า เป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม

ไม่ได้ไปเลือกตั้ง สส. – เลือกตั้งท้องถิ่น และไม่ได้แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ถูกจำกัดสิทธิ สมัคร สว. ไม่ได้

นอกจากคุณสมบัติต้องห้ามข้างต้นที่ถุกกำหนดในพ.ร.ป.สว. ฯ แล้ว ในระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ) ข้อ 47 ยังระบุว่า ผู้มีสิทธิสมัคร สว. ต้องไม่เป็นบุคคลที่ถูกจำกัดสิทธิตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งด้วย ซึ่งหมายถึงกฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และกฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 35 กำหนดว่าคนที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สส. และไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง บุคคลนั้นถูกจำกัดสิทธิลงสมัคร สว. ไม่ได้ เป็นระยะสองปีนับแต่วันเลือกตั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนนั้นไม่ได้ไปเลือกตั้ง

นอกจากนี้ใน พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 42 ก็ยังกำหนดทำนองเดียวกันว่า หากไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น และไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ถูกจำกัดสิทธิ สมัคร สว. ไม่ได้ การจำกัดสิทธิมีเวลาสองปีนับแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

ดังนั้น ใครไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สส. หรือเลือกตั้งท้องถิ่นในรอบสองปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่พฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา) จะถูกจำกัดสิทธิ สมัคร สว. ไม่ได้

สำหรับใครที่ไม่แน่ใจว่า ตัวเองถูกจำกัดสิทธิ เพราะไม่ได้ไปเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สามารถตรวจสอบได้ทางเว็บไซต์ของกรมการปกครอง โดยใส่เลขประจำตัวประชาชน 13 หลักลงไป หากไม่ได้ถูกจำกัดสิทธิ จะมีข้อความเด้งขึ้นมาว่า ไม่พบข้อมูลการถูกจำกัดสิทธิ https://boraservices.bora.dopa.go.th/election/absvote/

ผู้สมัครเลือกได้ว่า มีคุณสมบัติเข้ากลุ่มไหน

  1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง
  2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
  3. กลุ่มการศึกษา
  4. กลุ่มการสาธารณสุข
  5. กลุ่มอาชีพทำนา ทำไร่
  6. กลุ่มอาชีพทำสวน เลี้ยงสัตว์ ประมง
  7. กลุ่มลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน
  8. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน
  9. กลุ่มผู้ประกอบกิจการ SMEs
  10. กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่น
  11. กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว 
  12. กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม 
  13. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
  14. กลุ่มสตรี
  15. กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น
  16. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา
  17. กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์
  18. กลุ่มสื่อสารมวลชน นักเขียน
  19. กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
  20. กลุ่มอื่น ๆ

สำหรับรายละเอียดกลุ่มอาชีพ กลุ่มอัตลักษณ์ กกต. ออก ประกาศ กกต. เรื่อง การมีลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ตามมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพ.ร.ป.สว. ฯ กำหนดรายละเอียด ยกตัวอย่าง ขยายความกลุ่มอาชีพ-กลุ่มอัตลักษณ์อื่นไว้ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/30289

สมัคร สว. ได้ที่ไหน? 

ผู้มีคุณสมบัติไปสมัคร สว. ได้ที่อำเภอหรือเขต ซึ่งเคยมีความเกี่ยวข้องด้วย

  • อำเภอที่เกิด
  • อำเภอที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี (นับถึงวันสมัคร)
  • อำเภอที่ทำงานติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี (นับถึงวันสมัคร)
  • อำเภอที่เคยทำงาน หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่าสองปี
  • อำเภอของสถานศึกษาที่เคยศึกษาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษาตั้งอยู่

**เลือกเองว่า อยากสมัครที่ไหน เลือกสมัครได้อำเภอเดียว-กลุ่มเดียวเท่านั้น

ไทม์ไลน์การเลือก สว. จะเสร็จในสองเดือน

  • 11 พฤษภาคม 2567 สว. ชุดเดิมหมดอายุ ออกพระราชกฤษฎีกาให้เลือก สว. ชุดใหม่
  • 13 พฤษภาคม 2567 ประกาศกำหนดวันรับสมัคร สว. (รู้วันรับสมัคร)
  • [รับสมัครผู้ประสงค์อยากเป็น สว. ระยะเวลาห้าถึงเจ็ดวัน]
  • 9 มิถุนายน 2567 เลือกระดับอำเภอ
  • 16 มิถุนายน 2567 เลือกระดับจังหวัด
  • 26 มิถุนายน 2567 เลือกระดับประเทศ
  • 2 กรกฎาคม 2567 กกต. ประกาศผลการเลือก สว.

ขั้นตอนวิธีการคัดเลือก  แบบ “เลือกกันเอง” และ “เลือกไขว้”

พ.ร.ป.สว. ฯ  มาตรา 40-42 ออกแบบการเลือก สว. เป็นสามระดับ ดังนี้

ระดับอำเภอ

ขั้นตอนแรก เลือกกันเองภายในกลุ่ม

  • กลุ่มใดที่ที่มีผู้สมัครไม่เกินห้าคน ให้ถือว่าเป็นผู้ได้รับเลือกในขั้นต้นเลย แต่ถ้าในอำเภอ มีผู้สมัครกลุ่มใดๆ ที่สมัครมาเกินห้าคน ให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะเลือกตนเองก็ได้ แต่ห้ามลงคะแนนให้บุคคลใดได้เกินหนึ่งคะแนน
  • การลงคะแนนจะต้องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครที่ต้องการเลือกในกลุ่มเดียวกันด้วยตัวเลขอารบิกใน “ช่องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร” ได้ช่องละหนึ่งหมายเลข
  • ผู้ซึ่งได้คะแนนสูงสุดห้าลำดับแรกเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม ในกรณีที่ลำดับใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนทำให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินห้าคน ให้จับสลากกันเองว่าผู้ใดจะได้รับเลือก

ขั้นตอนที่สอง จับสลากแบ่งสายเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม

  • จับสลากแบ่งสาย แต่ละสายมีสามถึงกลุ่ม
  • ผู้ที่ได้ห้าอันดับแรกจากขั้นเลือกกันเอง จะโหวตผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกันกลุ่มละหนึ่งโหวต ในขั้นตอนนี้จะโหวตตัวเองไม่ได้ หรือจะเลือกผู้สมัครในกลุ่มเดียวกันกไม่ได้
  • ผู้ชนะสามอันดับแรกของแต่ละกลุ่ม ผ่านเข้าสู่สนามระดับจังหวัด

ปล. ในระดับอำเภอ กลุ่มที่คนสมัครน้อย แม้ไม่ต้องเลือกกันเองแต่ยังต้องเลือกไขว้ พ.ร.ป.สว. ฯ ระบุว่า ในรอบแบ่งสายเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงสามคน ให้เฉพาะผู้ซึ่งได้คะแนนเป็นผู้ได้รับเลือก

ระดับจังหวัด

ขั้นตอนแรก เลือกกันเองภายในกลุ่ม

  • ผู้ชนะจากระดับอำเภอจะมาอยู่ใน “กลุ่มอาชีพ” ระดับจังหวัด เลือกกันเองในกลุ่ม ไม่เกินสองโหวต โหวตตัวเองได้ โหวตคนเดียวสองคะแนนไม่ได้
  • การลงคะแนนจะต้องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครที่ต้องการเลือกในกลุ่มเดียวกันด้วยตัวเลขอารบิกใน “ช่องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร” ได้ช่องละหนึ่งหมายเลข
  • ผู้ซึ่งได้คะแนนสูงสุดห้าลำดับแรกเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม ในกรณีที่ลำดับใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนทำให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินห้าคน ให้จับสลากกันเองว่าผู้ใดจะได้รับเลือก

ขั้นตอนที่สอง จับสลากแบ่งสายเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม

  • จับสลากแบ่งสาย แต่ละสายมีสามถึงห้ากลุ่ม
  • ผู้ที่ได้ห้าอันดับแรกจากขั้นเลือกกันเอง จะโหวตผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกันกลุ่มละหนึ่งโหวต ในขั้นตอนนี้จะโหวตตัวเองไม่ได้ หรือจะเลือกผู้สมัครในกลุ่มเดียวกันก็ไม่ได้
  • ผู้ชนะสองอันดับแรกของแต่ละกลุ่ม ผ่านเข้าสู่สนามระดับประเทศ

ระดับประเทศ

ขั้นตอนแรก เลือกกันเองภายในกลุ่ม

  • ผู้ชนะจากระดับจังหวัดจะมาอยู่ใน “กลุ่มอาชีพ” ระดับประเทศ แล้วเลือกกันเองในกลุ่ม ไม่เกิน 10 โหวต โหวตตัวเองได้ โหวตคนเดียวหลายคะแนนไม่ได้ เลือกเอา 40 อันดับแรกจากแต่ละกลุ่ม กรณีที่ในลำดับใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันให้มีการจับสลาก เช่นเดียวกันกับในระดับอำเภอและจังหวัด
  • หากมีผู้ได้คะแนนไม่ถึง 40 คนแต่มีจำนวนตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป ให้ผู้ได้รับเลือกข้างต้นของกลุ่มนั้นเท่าที่มีอยู่ แต่ถ้ากลุ่มใดมีไม่ถึง 20 คน ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศจัดจะให้ผู้ซึ่งไม่ได้รับเลือกซึ่งยังอยู่ ณ สถานที่เลือก ลงคะแนนเลือกกันเองใหม่เพื่อให้ได้ครบตามจำนวน (ผู้สมัครที่ไม่ได้รับเลือกในขั้นต้นในระดับประเทศ จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่เลือก เผื่อว่าในกรณีที่มีไม่ครบ 20 คน อาจะมีโอกาสได้เลือกใหม่และอาจได้รับเลือก)

ขั้นตอนที่สอง จับสลากแบ่งสายเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม

  • จับสลากแบ่งสาย แต่ละสายมี 3-5 กลุ่ม
  • ผู้ที่ได้ 40 อันดับแรก โหวตผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกันกลุ่มละห้าโหวต
  • ผู้ชนะคือ 10 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม ได้เป็นสว.
  • อันดับที่ 11-15 ของแต่ละกลุ่ม เป็นรายชื่อสำรอง

๐ อ่านวิธีการเลือกสว.เพิ่มเติมได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/6002

สมัคร สว. เพื่อสังเกตการณ์การนับคะแนน-ทักท้วงผลได้

พ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 77 กำหนดให้เฉพาะผู้สมัคร สว. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่เข้าไปในสถานที่เลือกได้ หากไม่ได้รับอนุญาตจาก กกต. หรือผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอ-จังหวัด-ประเทศ คนทั่วไปเข้าไปในสถานที่เลือกไม่ได้

คนที่จะสังเกตการนับคะแนนและทักท้วงผลการนับคะแนนได้ จะมีเพียงแค่ “ผู้สมัคร” เท่านั้น โดยวิธีการนับคะแนน การทักท้วงผล มีดังนี้

การนับคะแนนเหมือนกันในทุกระดับ

โดยเจ้าหน้าที่ กกต. ประจำสถานที่เลือกจะมีการแบ่งหน้าที่ในการนับคะแนนดังนี้ (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 103)

  • กกต. คนที่หนึ่ง มีหน้าที่หยิบบัตรลงคะแนนครั้งละฉบับ คลี่บัตร และวินิจฉัยบัตรลงคะแนนและอ่าน ส่งให้กรรมการประจำสถานที่เลือกคนที่สาม
  • กกต. คนที่สาม มีหน้าที่เจาะบัตรลงคะแนนที่ได้วินิจฉัยจาก กกต.คนที่ 1 และแยกเก็บใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ 
  • กกต. คนที่สอง มีหน้าที่ขานทวนคะแนนและขีดคะแนนในแบบขีดคะแนนตามแบบ สว.อ. 27 โดยให้ผู้ที่อยู่บริเวณสถานที่เลือกเห็นว่าการขีดคะแนนได้อย่างชัดเจน

โดยกกต. ประจำสถานที่เลือกทั้งหมดจะมีวิธีการในการนับคะแนนดังนี้ 

  • ถ้าเป็นบัตรดี ให้อ่านว่า “ดี” และอ่านหมายเลขของผู้สมัครที่ได้คะแนนว่า “หมายเลข .. และ …” พร้อมทั้งชูบัตรลงคะแนนโดยเปิดเผยให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณสถานที่เลือกได้เห็น
  • ถ้าเป็นบัตรดีบางส่วน ตามข้อ 104 ให้อ่านว่า “ดีบางส่วน” และอ่านหมายเลขของผู้สมัครที่ได้คะแนนว่า “หมายเลข ..” พร้อมทั้งชูบัตรลงคะแนนโดยเปิดเผยให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณสถานที่เลือกได้เห็น
  • ถ้าเป็นบัตรเสีย ซึ่งคือบัตรลงคะแนนที่มีลักษณะตามข้อ 105 ให้อ่านว่า “เสีย” พร้อมทั้งชูบัตรลงคะแนนโดยเปิดเผยให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณสถานที่เลือกได้เห็น ในการวินิจฉัยว่าบัตรไหนเป็นบัตรเสีย ให้วินิจฉัยโดย กกต.ประจำสถานที่เลือกที่ทำการนับคะแนนเสียงข้างมาก และให้กรรมการประจำสถานที่เลือกที่ทำการนับคะแนนอย่างน้อยสองคนสลักหลังบัตรลงคะแนนว่า “เสีย” พร้อมทั้งระบุเหตุผลว่าเสียเพราะเหตุใด

บัตรดีบางส่วน

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดให้บัตรที่มีลักษณะในช่องเขียนหมายเลขช่องหนึ่งช่องใด จะไม่ถูกนับคะแนนสำหรับช่องหมายเลขนั้น (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 104) กล่าวคือ บัตรใดที่มีลักษณะ “ดีบางส่วน” จะไม่ให้นับคะแนนสำหรับช่องที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้ (แต่อาจนับคะแนนในช่องที่ถูกต้อง)

  • บัตรที่เขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครที่ไม่มีสิทธิได้รับเลือก
  • บัตรที่ไม่ได้เขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครเป็นเลขอารบิก
  • บัตรที่เขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครใน “ช่องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร” เกินกว่าหนึ่งหมายเลขผู้สมัครในช่องเดียวกัน
  • บัตรที่ไม่ได้เขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครใน “ช่องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร” และให้นับคะแนนใน “ช่องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร” ที่สามารถนับคะแนนได้

บัตรเสีย

บัตรที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นบัตรเสียทั้งฉบับและไม่ให้นับเป็นคะแนน (ระเบียบ กกต. การเลือกสว.ฯ ข้อ 105) 

  • บัตรปลอม
  • บัตรที่ไม่ใช่บัตรซึ่งคณะกรรมการประจำสถานที่เลือกมอบให้
  • บัตรที่มีการทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตหรือเขียนข้อความใดๆ ลงในบัตรลงคะแนนนอกจากหมายเลขผู้สมัคร เว้นแต่เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการเลือก
  • บัตรที่ไม่ได้ทำเครื่องหมายลงคะแนน
  • บัตรที่ไม่อาจทราบได้ว่าลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด
  • บัตรที่ลงคะแนนให้แก่ผู้ที่ไม่มีสิทธิได้รับเลือก
  • บัตรที่เขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครเกินจำนวนที่กำหนด
  • บัตรที่ลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนน
  • บัตรที่มีลักษณะดีบางส่วน ตามข้อ 104 ซึ่งลงคะแนนเลือกผู้สมัครเพียงคนเดียว กล่าวคือ ในกรณีที่บัตรนั้นมีการลงคะแนนให้ผู้สมัครเพียงคนเดียว และอาจลงคะแนนโดยมีลักษณะตามข้อ 104 เช่น เขียนเลขไทย, เขียนเลขประตำตัวผู้สมัครที่ไม่มีสิทธิได้รับเลือก หรือ เขียนเลขประจำตัวผู้สมัครมากกว่าหนึ่งหมายเลขในช่องเดียว หากว่ามีลักษณะดังที่กล่าวมาจะถูกนับเป็นบัตรเสีย

หากผิดสังเกตหรือพบเห็นพิรุธทักท้วงได้ 

ในหว่างการนับคะแนน ถ้าผู้มีสิทธิเลือกของกลุ่มใดเห็นว่าการนับคะแนนของกลุ่มนั้นไม่ถูกต้อง ให้ทำการทักท้วงและให้ กกต. ประจำสถานที่เลือกบันทึกคำทักท้วง (ข้อ 107) โดยผู้มีสิทธิเลือกและกกต.ประจำสถานที่เลือกอย่างน้อยสองคนต้องลงลายมือชื่อหลักฐานต่อหน้าพยานไม่น้อยกว่าสองคน พร้อมทั้งบันทึกคำสั่งหรือคำวินิจฉัยลงในรายงานเหตุการณ์ประจำสถานที่เลือก ให้รายงานผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอ-จังหวัด ทราบโดยเร็ว

๐ อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการนับคะแนนและทักท้วงผล การเลือก สว. 2567 ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/21822

จะสมัคร สว. ที่ไหน ตัดสินใจอย่างไรดี?

เมื่อทราบแล้วว่าตนเองมีทางเลือกลงสมัครอย่างไรบ้าง ขอให้จดหรือท่องไว้ให้ขึ้นใจ และใช้หลักดังต่อนี้ในการตัดสินใจว่าจะลงสมัครที่ใด

  1. ลงสมัครในอำเภอหรือกลุ่มอาชีพที่การแข่งขันน้อย
  2. ลงสมัครในอำเภอหรือกลุ่มอาชีพที่มีเพื่อน
  3. ลงสมัครในอำเภอหรือกลุ่มอาชีพที่มีผู้สมัครที่อยากโหวตให้

ถ้าไม่แน่ใจว่าจะสมัครที่ใด ผู้สมัครก็สามารถตรวจสอบว่ามีใครบ้างที่แสดงตัวว่าจะสมัครเป็น สว. ในอำเภอและกลุ่มอาชีพที่ตนสมัครได้ สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้สมัครได้ที่ https://senate67.com/candidates/

หลังจากพบผู้สมัครที่ถูกใจแล้ว ก็อาจติดต่อไปหาผู้สมัครคนนั้นเพื่อพูดคุยเพิ่มเติม และเลือกลงสมัครในอำเภอและกลุ่มอาชีพนั้นเพื่อสนับสนุนผู้สมัครคนที่เห็นตรงกับตนเองก็ได้

๐ จะสมัคร สว. ที่ไหน ตัดสินใจอย่างไรดี? อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/28373

พร้อมสมัคร สว. แล้ว! ต้องเตรียมตัวยังไง ทำอะไรบ้าง?

ผู้ที่จะสมัคร สว. ต้องเตรียมตัวอย่างไร ต้องทำอะไรบ้าง มาดูกันเลย

รู้วัน-สถานที่รับสมัคร สว. หลัง กกต. ประกาศ

สำหรับวันรับสมัคร สว. ตามพ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 12 และระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 41 กำหนดว่า หลังพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับ กกต. จะต้องประกาศกำหนดรับสมัครและวันเลือก สว. ภายในห้าวัน ซึ่งสว. ชุดพิเศษ 250 คน จะหมดวาระในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 นี้ วันที่ 12 พฤษภาคม 2567 ถือว่าเป็นวันที่เร็วที่สุดที่จะออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ดังนั้นวันที่จะทราบว่าการเลือก สว. จะเกิดขึ้นวันไหน จะอยู่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ กกต. จะประกาศวันเลือก สว. ได้ช้าหรือเร็ว ก็ขึ้นอยู่กับพระราชกฤษฎีกาเช่นกัน หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกพระราชกฤษฎีกาช้า กกต. ก็จะประกาศวันเลือก สว. ช้าตามไปด้วย

ขอรับใบสมัครที่สำนักงานเขต-อำเภอ

หลังจากทราบวันรวมถึงสถานที่รับสมัครเรียบร้อยแล้ว ผู้ที่อยากสมัคร สว. จะต้องไปขอรับเอกสารการสมัครที่ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตก่อน โดยในระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 49 กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์ที่จะสมัครนำบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ หรือบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่ายและมีเลขบัตรประชาชนของผู้ถือบัตร หรือบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ (แอปพลิเคชัน ThaID) ไปติดต่อขอรับเอกสารการรับสมัครได้จากนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นสำหรับกรุงเทพมหานคร

ด้านนายทะเบียนจะเตรียมเอกสารสามอย่างให้แก่ผู้ประสงค์จะสมัคร สว. (ข้อ 50) ได้แก่

  1. แบบใบสมัคร (สว. 2)
  2. แบบข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร (สว. 3)
  3. แบบหนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในกลุ่มที่สมัคร (สว. 4)

ยื่นใบสมัคร

หลังจากผู้ประสงค์สมัคร สว. ไปรับเอกสารมาและจัดการเอกสารเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการยื่นใบสมัคร ในระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 51 กำหนดให้ ผู้สมัครจะต้องยื่นเอกสารและหลักฐานประกอบการการสมัครด้วยตนเอง ต่อผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอกำหนด และต้องไม่เกินกรอบระยะเวลารับสมัคร

เอกสารที่เกี่ยวข้อง (สามารถดูตัวอย่างได้ในท้ายระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ) และหลักฐานที่ผู้สมัครจะต้องยื่น มีดังนี้

1. แบบใบสมัคร (สว. 2)

2. แบบข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร (สว. 3)

3. แบบหนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในกลุ่มที่สมัคร (สว. 4) ยกเว้นผู้ที่จะสมัครในกลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น ตามพ.ร.ป.สว.ฯ มาตรา 11 (14) และ (15) ไม่ต้องใช้เอกสารนี้

เอกสารดังกล่าว ต้องมีผู้รับรองและพยานอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อยืนยันว่าผู้สมัครมีคุณลักษณะเช่นนั้นจริงและต้องมีสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับรองและพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องมาด้วย

พ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 45 ยังกำหนดว่า ผู้ใดรับรองหรือเป็นพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองเอกสารหรือหลักฐานใช้ประกอบการสมัครอันเป็นเท็จ ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งห้าปี

๐ ดูตัวอย่างเอกสารการสมัคร สว. ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/27999

4. สำเนาบัตรประชาชน

5. สำเนาทะเบียนบ้าน

6. ใบรับรองแพทย์

7. รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวกและไม่สวมแว่นตาดำ ขนาดกว้างประมาณ 8.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 13.5 เซนติเมตร จำนวนคนละสองรูป  สำหรับปิดแบบข้อมูล สว. 3

8. หลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับอำเภอที่ผู้สมัครเลือกสมัคร ได้แก่

  • หลักฐานที่แสดงว่าผู้สมัครเกิดในอำเภอที่สมัคร เช่น สูติบัตร
  • หลักฐานที่แสดงว่ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครไม่น้อยกว่าสองปี
  • หลักฐานที่แสดงว่าทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี
  • หลักฐานที่แสดงว่าเคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี
  • หลักฐานที่แสดงว่าเคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษา

9. หลักฐานอื่นๆ เช่น

  • เอกสารแสดงการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามี)
  • หลักฐานการลาออกกรณีเป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

10. เงินค่าธรรมเนียมการสมัคร คนละ 2,500 บาท โดยการชำระเงินค่าสมัคร ผู้สมัครสามารถชำระเป็นเงินสด หรือตั๋วแลกเงินหรือแคชเชียร์เช็ค แล้วแต่กรณี (ข้อ 52 วรรคท้าย)

11. สำเนาหลักฐานอื่นที่ผู้สมัครนำมาแสดงตนว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตามข้อ 46 และไม่เป็นผู้ถูกจำกัดสิทธิตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองตามข้อ 47

๐ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อเตรียมตัวไปสมัคร สว. ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/21466

ทำความรู้จักผู้สมัคร สว. คนอื่นได้อย่างไร?

  • กกต. ระดับอำเภอ จะประกาศบัญชีรายชื่อของผู้สมัครทุกกลุ่ม : ภายในห้าวันนับตั้งแต่สิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร กกต. ระดับอำเภอ จะต้องตรวจสอบเอกสารและหลักฐานการสมัครให้แล้วเสร็จ และจะต้องประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครทุกกลุ่ม โดยแยกเป็นรายกลุ่มให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป และให้ประกาศไว้ ณ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สถานที่เลือกและจัดทำข้อมูลเผยแพร่ทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยการประกาศนี้จะต้องประกาศหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร ชื่อ-นามสกุลของผู้สมัคร อายุ อาชีพ วุฒิการศึกษาสูงสุด และกลุ่มที่สมัคร 
  • กกต. จะมอบเอกสารข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัครทุกกลุ่มให้ผู้สมัครทุกคน : นอกจากนี้ก่อนวันเลือกไม่น้อยกว่าสามวัน กกต.จะต้องมอบเอกสารข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัครทุกกลุ่ม ให้ผู้สมัครแต่ละคนด้วย โดยเอกสารข้อมูลแนะนำตัวดังกล่าวจะประกอบไปด้วย รูปถ่ายของผู้สมัคร หมายเลขของผู้สมัคร ชื่อ-นามสกุล เพศ อาชีพ ประวัติการศึกษา และประวัติการทำงานหรือประสบการณ์ทำงานในกลุ่มที่สมัคร (ไม่เกิน 5 บรรทัด)

นอกจากนี้เครือข่ายภาคประชาชนได้ร่วมกันจัดทำเว็บไซต์ senate67.com ให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปและผู้สมัครสามารถเข้ามาตรวจสอบคุณสมบัติของตัวเองว่ามีสิทธิสมัคร สว. ชุดใหม่ได้หรือไม่ และประกาศชื่อตนเองว่าเป็นผู้สมัครเพื่อให้ผู้สมัครคนอื่นได้รู้จักได้อีกด้วย

๐ อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำความรู้จักผู้สมัคร สว. คนอื่น ได้ทาง https://www.ilaw.or.th/articles/23007

การแนะนำตัวเองทำอย่างไร มีข้อห้ามอะไรบ้าง?

วันที่ 26 เมษายน 2567 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ) มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2567) โดยกำหนดหลักเกณฑ์และข้อห้ามเกี่ยวกับการแนะนำตัวของผู้สมัคร สว. ไว้ ดังนี้

ทำเอกสารแนะนำตัวได้ไม่เกินสองหน้าเอสี่ แนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์จำกัดให้รู้เฉพาะผู้สมัคร สว.

ระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ ข้อ 5 ระบุว่า ให้ “ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือก” สามารถแนะนำตัวตามระเบียบนี้ได้นับแต่วันที่ระเบียบฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ส่วนวิธีการแนะนำตัว ในระเบียบระบุไว้สองกรณี

กรณีแรก การแนะนำตัวแบบใช้เอกสาร ผู้สมัครสามารถทำเอกสารแนะนำตัวได้ ระบุข้อความยาวไม่เกินสองหน้ากระดาษเอสี่ (ข้อ 7) โดยสิ่งที่สามารถระบุในเอกสารได้ คือ

  • ข้อมูลส่วนตัว
  • รูปถ่าย
  • ประวัติการศึกษา
  • ประวัติการทำงาน หรือประสบการณ์ในการทำงานในกลุ่มที่สมัคร

ทั้งนี้ ผู้สมัครไม่สามารถนำเอกสารแนะนำตัว ไปแจกในสถานที่เลือก หมายความว่า ถ้าผู้สมัคร สว.จะแจกเอกสารแนะนำตัวกัน ก็ต้องทำภายนอกสถานที่เลือก ก่อนการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ

กรณีที่สอง การแนะนำตัวผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้สมัครสามารถทำได้ “ด้วยตนเอง” ซึ่งหมายความว่า หากจะแนะนำตัวผ่านโซเขียลมีเดียต่างๆ การส่ง การเผยแพร่ข้อความ จะต้องทำผ่านบัญชีส่วนตัวของผู้สมัครรายนั้น โดยการแนะนำตัวผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิสก์ ผู้สมัครต้องใช้ข้อความเหมือนในเอกสารแนะนำตัวที่เป็นกระดาษตามกรณีแรก และเผยแพร่แก่ “ผู้สมัครอื่น” ในการเลือกเท่านั้น (ข้อ 8) 

หากผู้สมัครจะแนะนำตัวผ่านทางช่องทางออนไลน์ เช่น การส่งข้อความทางไลน์ เฟซบุ๊ก หรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ ก็ต้องจำกัดส่งให้เฉพาะ “ผู้สมัครอื่น” หรือตั้งค่าให้เฉพาะผู้ที่สมัคร สว. เท่านั้นที่จะเห็นข้อความการแนะนำตัว

หลัง พ.ร.ฎ. ออก จนถึงวันประกาศผล ผู้สมัคร สว. แนะนำตัว-ให้สัมภาษณ์ออกสื่อไม่ได้ 

สำหรับข้อห้ามในการแนะนำตัว ระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ กำหนดข้อห้ามผู้สมัคร และผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร ดังนี้

  • ห้ามผู้สมัคร หรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการแนะนำตัว (ข้อ 10)
  • นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลบังคับใช้ จนถึงวันที่ กกต. ประกาศผลการเลือก สว. ห้ามผู้สมัครหรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร แนะนำตัวในกรณีดังต่อไปนี้ (ข้อ 11)
    • ฝ่าฝืนข้อห้ามตาม พ.ร.ป. สว. ฯ กล่าวคือ ห้ามแนะนำตัวโดยจัดให้มีมหรสพ งานรื่นเริง ตามมาตรา 77 (2)
    • ผู้ที่ประกอบอาชีพสื่อ-สายบันเทิง ห้ามใช้ความสามารถหรืออาชีพตัวเองเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว
    • ห้ามแจกเอกสารแนะนำตัวด้วยการวาง โปรย หรือติดประกาศในที่สาธารณะ
    • ห้ามแนะนำตัวโดยใช้ถ้อยคำรุนแรงหรือปลุกระดมก่อให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่
    • ห้ามแนะนำตัวทางวิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์
    • ห้ามให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน นักข่าว หรือสื่อโฆษณา ที่เผยแพร่ทางแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ
    • ห้ามจงใจไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบนี้
  • ข้อ 12 ห้าม “ผู้สมัคร” ยินยอมให้บุคคลเหล่านี้เข้ามา “ช่วยเหลือผู้สมัครไม่ว่ากรณีใดๆ”
    • ผู้สมัครคนอื่น
    • กรรมการบริหารพรรคการเมือง
    • ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคการเมือง
    • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
    • สมาชิกสภาท้องถิ่นผู้บริหารท้องถิ่น
    • ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ข้อห้ามตามกฎหมาย อะไรทำไม่ได้บ้าง?

พ.ร.ป.สว. ฯ กำหนดข้อห้ามหลากหลายทั้งในส่วนของผู้สมัคร สว. หรือผู้ที่ไม่ได้สมัครแต่อยากช่วยผู้สมัคร สว. ในการเลือก เช่น

ข้อห้ามฝั่งผู้สมัคร สว.

  • ห้ามนำอุปกรณ์สื่อสาร บันทึกภาพ-เสียงเข้าไปในสถานที่เลือก
  • ห้ามสมัครเกินหนึ่งกลุ่ม-หนึ่งอำเภอ
  • ห้ามสมัครหากไม่มีคุณสมบัติที่จะสมัครได้
  • ห้ามรับสินบนเพื่อลงสมัครหรือไม่ลงสมัคร สว.
  • ห้ามรับสินบนเพื่อเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัคร สว.

ข้อห้ามฝั่งผู้ที่ไม่ใช่ผู้สมัคร สว. 

  • แนะนำตัวผู้สมัครต้องเป็นไปตามระเบียบ กกต
  • ห้ามเข้าไปในสถานที่เลือกโดยไม่ได้รับอนุญาต
  • ห้ามขัดขวางหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ผู้สมัครไปสถานที่เลือก
  • ห้ามเผยโพลเจ็ดวันก่อนวันเลือก

๐ อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับข้อห้ามตามพ.ร.ป.สว. ฯ ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/21272

อายุไม่ถึง จะมีส่วนร่วมได้อย่างไรบ้าง?

แม้คนไทยจำนวนหลายล้านคนจะถูก “กันออก” จากระบบการคัดเลือกสว. ไม่ให้มีส่วนร่วมในฐานะผู้สมัครได้ แต่ทุกคนยังสามารถทำอะไรได้อีกหลายอย่างเพื่อมีส่วนร่วมในกระบวนการสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ตัวอย่างเช่น

  1. หาตัวแทนผู้สมัครบ้านละหนึ่งคน
  2. ส่งต่อข้อมูลไปยังผู้มีสิทธิทุกคน
  3. ดูถ่ายทอดสด ดูกล้องวงจรปิด จับตาความผิดปกติ

๐ สำหรับคนที่อายุยังไม่ถึง 40 ปี ไม่มีสิทธิสมัคร สว. และอยากมีส่วนร่วมกับกระบวนการนี้ เข้าไปอ่านข้อมูลเพิ่มเติม โหลดเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้ทาง https://www.ilaw.or.th/articles/22551

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

นอกจากเรื่องอำนาจหน้าที่ของ สว. 2567 ที่โดยรวมไม่ได้แตกต่างจาก สว. ชุดพิเศษนัก ยกเว้นอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส. ) ที่ สว. 2567 จะไม่มีอำนาจนี้ ในส่วนของเงินเดือน สว. รวมถึงสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ที่ผู้เป็น สว. 2567 จะได้รับ ก็ไม่ได้แตกต่างจาก สว. ชุดพิเศษนัก โดยเงินเดือนที่ สว. จะได้ รวมถึงสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ มีดังนี้

เงินเดือนหลักแสน ได้รับตั้งแต่ กกต. ประกาศผลเลือก

เงินประจำตำแหน่งเงินเพิ่มรวม
ประธานวุฒิสภา74,42045,500119,920
รองประธานวุฒิสภา73,24042,500115,740
สว.71,23042,330113,560

โดย สว. จะได้รับเงินจำตำแหน่งและเงินเพิ่มรายเดือน นับแต่วันที่เริ่มต้นมีสมาชิกภาพ หรือกรณีที่มี สว. คนก่อนสิ้นสมาชิกภาพ เช่น ลาออก เสียชีวิต คนที่เป็นตัวสำรอง ถูกเลื่อนขึ้นมาแทน จะได้รับเงินประจำแหน่งถัดจากวันที่ประธานวุฒิสภาประกาศเลื่อนขึ้นมาแทน

เบี้ยประชุมกรรมาธิการ ครั้งละ 1,500

  • ประชุมคณะกรรมาธิการ ได้รับเบี้ยอัตราครั้งละ 1,500 บาท
  • ประชุมคณะอนุกรรมาธิการ ได้รับเบี้ยอัตราครั้งละ 800 บาท

อย่างไรก็ดี หาก สว. มีการประชุมในคณะกรรมาธิการและคณะอนุกรรมาธิการ คณะอื่นด้วยในวันเดียวกัน จะมีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมในวันนั้นไม่เกินสองครั้ง

ตั้งผู้เชี่ยวชาญ-ชำนาญการ-ผู้ช่วยประจำตัว สูงสุด 8 คน

ตำแหน่งหน้าที่จำนวนที่ตั้งได้  (คน)เงินเดือน (บาท)
ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำปรึกษาทางด้านวิชาการที่เป็นประโยชน์ให้แก่ สว.124,000
ผู้ชำนาญการศึกษาค้นคว้า หาข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย รวมทั้งรวมรวมปัญหาและข้อร้องเรียนต่าง ๆ เพื่อจัดทำญัตติ กระทู้ถาม ข้อหารือหรือข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์แก่ สว.215,000
ผู้ช่วยดำเนินงานมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามที่ สว.กำหนด เช่น การพูดคุยรับฟังปัญหาประชาชน ติดต่อประสานกับหน่วยราชการ  เข้าร่วมสัมมนาหรืองานประเพณีต่างๆ 515,000

๐ อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์ ที่ สว. จะได้รับ ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/28411

วิดีโออธิบายข้อมูล สว. 2567

You May Also Like
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ