ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เป็นสถาบันทางการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2540 ด้วยวัตถุประสงค์การปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองให้มีองค์กรอิสระเข้ามาตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของรัฐให้ปลอดการทุจริต โปร่งใสมากขึ้น โดยวางกลไกให้วุฒิสภา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นผู้เลือกว่าบุคคลใดสมควรที่จะได้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และกรรมการในองค์กรอิสระ
ในการรัฐประหาร 2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ นอกจากนี้ หนึ่งกลไกสำคัญในการสืบทอดอำนาจของ คสช. อย่างสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดพิเศษ 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ก็ยังมีอำนาจเคาะเลือกคนดำรงตำแหน่งในองค์กรเหล่านี้เช่นกัน
กลางเดือนพฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ กำลังจะหมดอายุ จะมี สว. ชุดใหม่ จำนวน 200 คนที่มีที่มาจากการ “เลือกกันเอง” และยังคงมีอำนาจสำคัญอย่างการให้ความเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระ ขณะเดียวกัน ผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านั้นที่ผ่านความเห็นชอบโดย สนช. หรือ สว. ชุดพิเศษ หลายคนจะทยอยพ้นจากตำแหน่งไป ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งห้าปีของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจเคาะเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ ได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
***ข้อมูลอัพเดตเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2567***
ศาลรัฐธรรมนูญ 7 จาก 9 คน ทยอยพ้นบัลลังก์ในปี 70
สำหรับตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 200 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีเก้าคน วาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปี นับตั้งแต่ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง (มาตรา 207) โดยแต่ละคนเข้าสู่ตำแหน่งต่างวาระกัน และจะพ้นจากตำแหน่งในช่วงเวลาที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
ตุลาการจากรัฐธรรมนูญ 50 สองคน พ้นตำแหน่งปลายปี 67
แม้รัฐธรรมนูญ 2560 จะกำหนดให้ตุลาการมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปีเท่านั้น แต่ในบรรดาตุลาการทั้งเก้าคน มีสองคน คือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และปัญญา อุดชาชน ซึ่งมีที่มาจากระบบการคัดเลือกตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งแตกต่างจากตุลาการคนอื่นๆ เนื่องจาก บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 273 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ (ก่อน 6 เมษายน 2560) ให้ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องใช้บังคับแล้ว การดำรงตำแหน่งต่อไปได้เพียงใดให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว
ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 บทเฉพาะกาล มาตรา 79 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญ 2550 และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ (ก่อน 3 มีนาคม 2561) ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งกำหนดไว้ที่เก้าปี (มาตรา 208)
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 และปัญญา อุดชาชน ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 ตุลาการทั้งสองคน จึงพ้นจากตำแหน่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567
นอกจากตุลาการสองคนนี้ที่มีวาระตำแหน่งพิเศษกว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนอื่นๆ วรวิทย์ กังศศิเทียม อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีวาระการดำรงตำแหน่งเก้าปีเช่นเดียวกันกับนครินทร์และปัญญา วรวิทย์เข้าสู่ตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เมื่อ 9 กันยายน 2557 และมีวาระการดำรงตำแหน่งเก้าปี ถึงกันยายน 2566
อย่างไรก็ดี แม้ดำรงตำแหน่งมาครบเก้าปีแล้ว วรวิทย์ก็ไม่ได้พ้นบัลลังก์ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในทันที เนื่องจาก รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 208 วรรคสาม กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่พ้นจากตามตำแหน่งตามวาระยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่จนกว่าจะมีการแต่งตั้งตุลาการคนใหม่ ส่งผลให้แม้วรวิทย์จะดำรงตำแหน่งครบวาระมาหลายเดือน แต่เขาก็ยังมีส่วนในการตัดสินคดีสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2567 อย่างคดีล้มล้างการปกครอง ที่ชี้ว่าการหาเสียงของพรรคก้าวไกล เรื่องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 (คำวินิจฉัยที่ 3/2567)
อย่างไรก็ดี เมื่อ 19 มีนาคม 2567 มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ ส่งผลให้จำนวนตุลาการครบเก้าคนตามรัฐธรรมนูญ และโปรดเกล้าฯ ให้ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนต่อไป ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เลือกให้นครินทร์เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้วรวิทย์ กังศศิเทียม พ้นหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ตุลาการห้าคน หมดวาระในปี 70
ในบรรดาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเก้าคน มีตุลาการถึงสี่คน ที่ผ่านความเห็นชอบจาก สว. ชุดพิเศษ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเข้ามาพร้อมกันและจะหมดวาระพร้อมกัน ได้แก่ 1) อุดม สิทธิวิรัชธรรม 2) วิรุฬห์ แสงเทียน 3) จิรนิติ หะวานนท์ และ 4) นภดล เทพพิทักษ์
ทั้งสี่คน ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 และครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนเมษายน 2570 นอกจากนี้ ภายในปีเดียวกัน จะมีตุลาการอีกหนึ่งคน ซึ่งคือ บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งในวันที่ 20 สิงหาคม 2563 และจะหมดวาระในช่วงเดือนสิงหาคม 2570
สองคน พ้นตำแหน่งปี 73-74
สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลืออีกสองคน ที่ผ่านความเห็นชอบจาก สว. ชุดพิเศษ ได้แก่ อุดม รัฐอมฤต ได้รับโปรดเกล้าฯ เมื่อ 28 มกราคม 2566 วาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปี จะพ้นวาระการดำรงตำแหน่งช่วงเดือนมกราคม 2573 และตุลาการอีกราย สุเมธ รอยกุลเจริญ ที่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ด้วยคะแนนให้ความเห็นชอบ 207 เสียง ไม่เห็นชอบ 3 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 19 มีนาคม 2567 เท่ากับว่าสุเมธจะดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปได้อย่างน้อยถึงช่วงเดือนมีนาคม 2574
สว. 67 เคาะเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ได้ 7 คน
สว. ชุดพิเศษ ที่เคาะเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาถึงเจ็ดคน จะหมดอายุในเดือนพฤษภาคม 2567 หลังจากนั้นจะมี สว. ชุดใหม่ ที่มีที่มาจากการเลือกกันเอง จำนวน 200 คนเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นสภาสูงแทน สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจในการเคาะว่าบุคคลใดสมควรได้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ
สว. 2567 มีวาระการดำรงตำแหน่งห้าปีนับจากวันประกาศผลการเลือก (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 109 วรรคหนึ่ง) คาดว่าผลการเลือก สว. จากการเลือกกันเอง น่าจะประกาศได้เร็วสุด คือ ภายในเดือนกรกฎาคม 2567 เท่ากับว่า สว. จากการเลือกกันเอง จะปฏิบัติหน้าที่ไปถึงเดือนกรกฎาคม 2572 และจะได้เคาะผู้ที่มาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถึงเจ็ดคนด้วยกัน
สว. 67 เลือก กกต. ใหม่ได้ 5 จาก 7 คน
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 222 กำหนดให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวนเจ็ดคน และมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปี นับตั้งแต่ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ตามมาตรา 223
กกต. 5 จาก 7 คน พ้นตำแหน่งในปี 68
ในจำนวน กกต. เจ็ดคน มีสามคนที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ พร้อมกัน เมื่อ 12 สิงหาคม 2561 ได้แก่ อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ศาสตราจารย์สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ และปกรณ์ มหรรณพ
เท่ากับว่า ทั้งสามคนนี้จะดำรงตำแหน่งครบเจ็ดปี และจะหมดวาระในเดือนสิงหาคม 2568
ขณะที่ กกต. อีกสองคน คือ เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ และฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ ก็จะพ้นจากตำแหน่งตามกัน เนื่องจากทั้งสองคนได้รับการโปรดเกล้าฯ เข้าสู่ตำแหน่ง 4 ธันวาคม 2561 จะดำรงตำแหน่งครบเจ็ดปีในเดือนธันวาคม 2568 เท่ากับว่า ในปี 2568 จะมี กกต. ถึงห้าคนด้วยกันที่พ้นจากตำแหน่ง และ สว. ที่มาจากการเลือกกันเอง จะเลือก กกต. คนใหม่ได้ถึงห้าคน ซึ่งเกินครึ่งหนึ่งของจำนวน กกต. ทั้งหมด
กกต. สองคน พ้นตำแหน่งปี 73-74
ขณะที่ กกต. อีกสองคน ได้แก่ ชาย นครชัย ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 จึงทำให้ ชาย นครชัยจะหมดวาระในช่วงเดือนตุลาคม 2573 และ กกต. อีกราย สิทธิโชติ อินทรวิเศษ ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่ง กกต. ในวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 175 เสียง ไม่เห็นชอบ 16 เสียง และงดออกเสียง 8 เสียง สิทธิโชติ อินทรวิเศษ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง กกต. เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 สิทธิโชติ จะสามารถดำรงตำแหน่ง กกต. ได้ถึงช่วงเดือนมีนาคม 2574
สว. 67 มีโอกาสเคาะ ป.ป.ช. คนใหม่ได้อย่างน้อย 4 ตำแหน่ง
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 232 กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จำนวนเก้าคน มีวาระการดํารงตําแหน่งเจ็ดปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดํารงตําแหน่งได้เพียงวาระเดียว ตามมาตรา 233
ป.ป.ช. สามคน ครบวาระปลายปี 67
แม้รัฐธรรมนูญ 2560 จะกำหนดชัดว่า ป.ป.ช. มีวาระดำรงตำแหน่งเพียงเจ็ดปีเท่านั้น แต่มีกรรมการถึงสามคนที่มีวาระการดำรงตำแหน่งยาวนานกว่าคนอื่น อยู่ที่เก้าปี คือ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ (ประธาน ป.ป.ช.) สุวณา สุวรรณจูฑะ และวิทยา อาคมพิทักษ์ โดยทั้งสามคนได้รับความเห็นชอบจาก สนช. และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งพร้อมกันในวันที่ 30 ธันวาคม 2558 จึงส่งผลให้วาระในการดำรงตำแหน่งของทั้งสามคนจะครบเก้าปีในเดือน ธันวาคม 2567 ซึ่งอยู่ในวาระของ สว. 2567 ที่จะต้องดำเนินการให้ความเห็นชอบ
อย่างไรก็ดี บทเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 273 กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่ดำรงอยู่ก่อนหน้าที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และยังคงมีวาระการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 247 ซึ่งกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของ ป.ป.ช. ไว้ที่เก้าปี ส่งผลให้ทั้งสามคน จะดำรงตำแหน่งครบวาระในช่วงเดือนธันวาคม 2567
หนึ่งคน พ้นตำแหน่งปี 70
ขณะที่กรรมการ ป.ป.ช. จำนวนที่เหลือ ที่มีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปีตามรัฐธรรมนูญ 2560 กรรมการหนึ่งคน สุชาติ ตระกูลเกษมสุข ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งในวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปี ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2570
สามคนรับตำแหน่งปี 67 พ้นตำแหน่งปี 74
ป.ป.ช. อีกสองคน เพิ่งดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในปี 2567 คือ เอกวิทย์ วัชชวัลคุ ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2567 ส่งผลให้เอกวิทย์จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในช่วงเดือนมกราคม 2574
แมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาเมื่อ 19 ธันวาคม 2566 ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 163 เสียง ไม่เห็นชอบ 20 เสียง และงดออกเสียง 16 เสียง และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง เมื่อ 19 มีนาคม 2567 แมนรัตน์จะดำรงตำแหน่งครบวาระในเดือนมีนาคม 2574
และอีกคนที่ได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 คือ ภัทรศักดิ์ สุวรรณแสง ส่งผลให้ภัทรศักดิ์จะดำรงตำแหน่งจนถึงหมดวาระในเดือนมิถุนายน 2574
รอโปรดเกล้าฯ อีกหนึ่งตำแหน่ง
นับถึงเดือนเมษายน 2567 นอกจากกรรมการ ป.ป.ช. หกคนที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ยังมีผู้ที่ผ่านด่านวุฒิสภา ได้รับเสียงเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ จึงยังไม่เข้าสู่ตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ได้แก่ พศวัจณ์ กนกนาถ และภัทรศักดิ์ วรรณแสง
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 ที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาให้ความเห็นชอบให้พศวัจณ์ กนกนาถ ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 168 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 25 เสียง และงดออกเสียง 20 เสียง แม้เวลาจะผ่านไปร่วมครึ่งปีแล้ว (นับถึงเดือนมีนาคม 2567) แต่ยังไร้ความชัดเจนว่าพศวัจณ์จะได้ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อไร
เก้าอี้ ป.ป.ช. ยังว่างอีกหนึ่งตำแหน่ง
นอกจากว่าที่กรรมการอีกสองคนที่ยังรอการโปรดเกล้าฯ ในเดือนเมษายน 2567 มีกรรมการ ป.ป.ช. ดำรงตำแหน่งอยู่แค่หกคนเท่านั้น เท่ากับว่ายังมีตำแหน่งว่างอีกหนึ่งตำแหน่ง
โดยเหตุที่เก้าอี้กรรมการ ป.ป.ช. ยังว่างอีกหนึ่งตำแหน่ง สืบเนื่องมาจากวุฒิสภา “ไม่ให้ความเห็นชอบ” พล.ต.ท. ธิติ แสงสว่าง ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งให้ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. ในการประชุมวุฒิสภาเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2567 วุฒิสภามีมติไม่ให้ความเห็นชอบ ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 80 เสียง ไม่เห็นชอบ 88 เสียง และงดออกเสียง 30 เสียง เมื่อคะแนนเสียงเห็นชอบน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน สว. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (น้อยกว่า 125 เสียง) เท่ากับว่าไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช.
เท่ากับว่า สว. ชุดใหม่จากการเลือกกันเอง จะให้ความเห็นชอบผู้มาดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. แทนที่ผู้พ้นจากตำแหน่งเพราะครบวาระได้ ห้าตำแหน่ง จากสามคนที่ครบวาระในปี 2567 และหนึ่งคนที่พ้นวาระในปี 2570 อย่างไรก็ดี สำหรับตำแหน่งที่ว่างอีกหนึ่งตำแหน่ง ป.ป.ช. ทั้งห้าคนใหม่ที่จะเลือกเข้ามาแทนที่ตำแหน่งที่ว่างลงนี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับ สว. 2567 ที่มาจากระบบเลือกกันเองว่าเลือกใครมาแทนตำแหน่ง ป.ป.ช. ทั้งที่พ้นตำแหน่งและที่ตำแหน่งยังคงว่างอยู่
สว. 67 เคาะเลือกผู้ตรวจการแผ่นดินคนใหม่ 3 ตำแหน่ง
สำหรับตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน จะมีกรรมการน้อยกว่าองค์กรอิสระอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 228 กำหนดให้มีผู้ตรวจการแผ่นดินจำนวนสามคน และมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปีนับแต่ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ตามมาตรา 229
โดยสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต (ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน) จะพ้นจากเก้าอี้ก่อนกรรมการคนอื่นๆ สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งฯ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2561 ก็ดำรงตำแหน่งครบวาระช่วงพฤศจิกายน 2568 ขณะที่อีกสองคน จะดำรงตำแหน่งครบวาระไล่เลี่ยกัน รองศาสตราจารย์อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 จะหมดวาระในช่วงเดือน พฤษภาคม 2571 และทรงศัก สายเชื้อ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงดำแหน่งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 และจะหมดวาระเป็นคนสุดท้ายในช่วงเดือน พฤศจิกายน 2571
เท่ากับว่า การเคาะเลือกบุคคลให้มาดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินแทนที่คนที่จะหมดวาระและลาออกทั้งสามตำแหน่ง จะอยู่ภายใต้การเห็นชอบโดย สว. 2567 ทั้งหมด
คตง. 6 จาก 7 คน ครบวาระก.ย. 67 ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินพ้นตำแหน่งปี 68
สำหรับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 238 กำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจำนวนเจ็ดคน มีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปีนับตั้งแต่ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ตามมาตรา 239
คตง. ส่วนใหญ่ หกคน จะพ้นจากตำแหน่งพร้อมกัน ได้แก่ 1) พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ (ประธาน คตง.) 2) ยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์ 3) พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ 4) จินดา มหัทธนวัฒน์ 5) สรรเสริญ พลเจียก 6) อรพิน ผลสุวรณ์ สบายรูป เนื่องจากทั้งหกคนนี้ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเข้ามาพร้อมกันในวันที่ 22 กันยายน 2560 ซึ่งจะส่งให้หมดวาระการดำรงตำแหน่งในเดือน กันยายน 2567
เท่ากับว่า สว. 2567 จะให้ความเห็นชอบบุคคลมาดำรงตำแหน่ง คตง. ได้ถึงหกคน
ขณะที่ คตง. อีกหนึ่งคน คือ ศิลักษณ์ ปั้นน่วม ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเมื่อ 13 สิงหาคม 2566 ก็จะดำรงตำแหน่งครบวาระในเดือนสิงหาคม 2573
นอกจากตำแหน่ง คตง. ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 241 ยังกำหนดให้มีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจำนวนหนึ่งคน โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปี นับตั้งแต่ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 มาตรา 47
ประจักษ์ บุญยัง ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 ประจักษ์ดำรงตำแหน่งครบวาระหกปีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567
ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนต่อไป คือมณเฑียร เจริญผล ในการประชุมวุฒิสภา 2 เมษายน 2567 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบให้มณเฑียรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 187 เสียง ไม่เห็นชอบ 3 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง เข้าสู่กระบวนการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ต่อไป
กสม. 6 คน จะพ้นตำแหน่งพร้อมกันในปี 71
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 246 กำหนดให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จำนวนเจ็ดคน วาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปี นับตั้งแต่ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง
ทำนองเดียวกันกับ คตง. กสม. หกคน จะพ้นวาระพร้อมๆ กัน ได้แก่ 1) พรประไพ กาญจนรินทร์ (ประธาน กสม.) 2) ปิติกาญจน์ สิทธิเดช 3) ปรีดา คงแป้น 4) สุชาติ เศรษฐมาลินี 5) ศยามล ไกยูรวงศ์ และ 6) วสันต์ ภัยหลีกลี้ ทั้งหกคนนี้ ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพร้อมกันเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ก็จะดำรงตำแหน่งครบวาระ ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2571
ขณะที่สุภัทรา นาคะผิว ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง กสม. เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 จึงส่งผลให้สุภัทรา นาคะผิวจะหมดวาระในช่วงเดือนกรกฎาคม 2572
เท่ากับว่า สว. 2567 ที่มาจากการเลือกกันเอง จะได้เคาะเลือกผู้ที่สมควรมาดำรงตำแหน่ง กสม. คนต่อไปได้ถึงหกคนด้วยกัน