ถอดบทเรียนพ.ร.บ.ชุมนุมฯ : การ “แจ้งการชุมนุม” ที่อุปสรรคเยอะจนไม่แจ้งอาจจะดีกว่า

พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 หรือพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นกฎหมายสำคัญที่ถูกตราขึ้นในสมัยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านกระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีกที จึงอาจกล่าวได้ว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นกฎหมายมรดกของคณะรัฐประหาร คสช. โดยแท้ 

อย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย พบความพยายามของรัฐไทยในการผลักดันร่างกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมอยู่หลายครั้ง ตั้งแต่สมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อปี 2494 ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถึงพฤษภาทมิฬ จนมาสู่การชุมนุมของคนเสื้อเหลือง-แดงที่ทำให้รัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตัดสินใจเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ฉบับที่นำเสนอโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ร่างดังกล่าวก็ไม่ได้ผ่านการพิจารณาจนประกาศใช้บังคับเนื่องจากมีการยุบสภาเสียก่อน ก่อนที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาใหม่อีกครั้งในสมัยรัฐบาล คสช.

การมีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมไม่ใช่เรื่องแปลก ในหลายประเทศที่ได้ชื่อว่ามีเสรีภาพและประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างฝรั่งเศสและอังกฤษ ต่างก็มีข้อกำหนดเพื่อควบคุมการชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบและเรียบร้อย สร้างสมดุลระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม ประชาชนสามารถชุมนุมเพื่อมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยได้รับประกันความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกจากรัฐ ขณะที่ประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมก็ไม่ได้เสียหายหรือรับภาระจากการชุมนุมจนเกินสมควร 

หลังผ่านระยะเวลาเกือบสิบปีเต็มของการบังคับใช้กฎหมายที่กำกับดูแลการชุมนุมฉบับแรกของประเทศไทย จึงเป็นช่วงเวลาของการทบทวนความเหมาะสมของตัวบทกฎหมาย และปัญหาการใช้การตีความ โดยบทความนี้ศึกษาและนำเสนอเฉพาะประเด็นการกำหนดหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมที่ต้อง “แจ้งการชุมนุม” ล่วงหน้าต่อตำรวจอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

แจ้งการชุมนุม: มาตรการด่านแรกของการชุมนุมที่ชอบด้วยกฎหมาย 

การแจ้งการชุมนุมสาธารณะ กำหนดไว้ในมาตรา 10 ถึง 14 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งเป็นมาตรการหลักที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐได้มีเวลาเตรียมการสำหรับการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ชุมนุม การจัดการจราจร และดูแลความสงบเรียบร้อย รวมทั้งเพื่อเปิดโอกาสให้มีการเจรจาและทำความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ชุมนุมถึงแบบแผน พื้นที่การชุมนุม หรือแนวทางของการชุมนุม เพื่อให้การชุมนุมมีความปลอดภัย และกระทบสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นน้อยที่สุด

การแจ้งการชุมนุม คือ การแจ้งให้ทราบเมื่อตำรวจได้รับทราบแล้วว่า มีการแจ้งเกิดขึ้นก็จะทำหนังสือ “สรุปสาระสำคัญ” ตอบกลับให้กับผู้แจ้งการชุมนุม โดยหลักแล้วเป็นการ “แจ้งให้ทราบ” เพื่อให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองต่อไป ไม่ใช่การขออนุญาต แต่ในทางปฏิบัติการที่ผู้จัดการชุมนุมมีหน้าที่ต้องติดต่อประสานงานและแจ้งรายละเอียดทั้งหมดให้กับตำรวจ โดยตำรวจก็มีอำนาจที่จะสั่งอะไรบางอย่างกลับมา ก็ทำให้ผู้ชุมนุมรู้สึกเหมือนมีหน้าที่ไปต้องขออนุญาตก่อนชุมนุมทุกครั้ง และรอลุ้นผลการตอบว่า ตำรวจจะทำหนังสือกลับมาอย่างไร

หากยึดตามความเห็นของสหประชาชาติ แม้การชุมนุมจะมีการกำหนดให้แจ้ง แต่หากไม่แจ้งก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่สำหรับกฎหมายไทยการแจ้งการชุมนุมเป็นมาตรการที่มีความสำคัญมาก หากจัดชุมนุมโดยไม่แจ้งล่วงหน้า มาตรา 28 กำหนดให้มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และหากไม่แจ้งการชุมนุม อาจส่งผลให้การชุมนุมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอาจเป็นเหตุที่ตำรวจใช้ขอคำสั่งศาลแพ่งเพื่อสลายการชุมนุมได้ ตามมาตรา 14 และ 23 

ถอดบทเรียนพ.ร.บ.ชุมนุมฯ : การ “แจ้งการชุมนุม” ที่อุปสรรคเยอะจนไม่แจ้งอาจจะดีกว่า

ชุมนุมแบบใดบ้างที่ต้องแจ้งล่วงหน้า

มาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ นิยาม “การชุมนุมสาธารณะ” หมายความว่า การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่

ส่วน “ที่สาธารณะ” หมายความว่า ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือที่หน่วยงานของรัฐมิได้เป็นเจ้าของแต่เป็นผู้ครอบครองหรือใช้ประโยชน์ บรรดาซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ รวมตลอดทั้งทางหลวงและทางสาธารณะ

ดังนั้น “การชุมนุมสาธารณะ” ที่จะถือเป็นการชุมนุมตาม พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะฯ จึงต้องประกอบด้วย (1) เป็นการชุมนุมในที่สาธารณะ และ (2) บุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมการชุมนุมนั้นได้

หากไม่ครบเงื่อนไขในสองข้อนี้ คือ หากเป็นการชุมนุมในพื้นที่ส่วนบุคคล ในบ้าน หรือหอประชุมส่วนตัว รวมถึงกิจกรรมที่บุคคลอื่นไม่สามารถเข้าร่วมได้ เช่น การประชุมหารือของสมาชิกภายในสมาคม หรือสมาชิกในหมู่บ้าน ก็ไม่ถือว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะ และไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าต่อตำรวจเป็นเวลา 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้มาตรา 3 ยังกำหนดยกเว้นให้การชุมนุม 6 ประเภท ไม่ต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ได้แก่

  1. การชุมนุมเนื่องในงานพระราชพิธีและงานรัฐพิธี
  2. การชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณีหรือตามวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น
  3. การชุมนุมเพื่อจัดแสดงมหรสพ กีฬา ส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือกิจกรรมอื่นเพื่อประโยชน์ทางการค้าปกติของผู้จัดการชุมนุมนั้น
  4. การชุมนุมภายในสถานศึกษา
  5. การชุมนุมหรือการประชุมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือการประชุมสัมมนาทางวิชาการของสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ทางวิชาการ
  6. การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึกและการชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

วิธีการแจ้งชุมนุม ส่งแฟ็กซ์หรืออีเมล์ก็ได้

ผู้ที่จัดการชุมนุมต้องมีตัวแทนเพียงหนึ่งคนไปแจ้งการชุมนุม แม้การจัดการชุมนุมแต่ละครั้งจะมีผู้จัดหลายคนหรือหลายองค์กร แต่การแจ้งอาศัยเพียงหนึ่งคนที่เป็นตัวแทนเท่านั้น โดยแจ้งต่อสถานีตำรวจในท้องที่ที่จะจัดชุมนุม หากการชุมนุมเกิดขึ้นต่อเนื่องหลายพื้นที่ ก็แจ้งต่อสถานีตำแหน่งแห่งใดแห่งหนึ่งก็เพียงพอ

มาตรา 10 กำหนดให้แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง แต่ผู้จัดการชุมนุมที่ทราบกำหนดการนัดหมายแล้วจะแจ้งล่วงหน้าก่อนหน้านั้นหลายวัน หรือนานเพียงใดก็ได้ โดยในการแจ้งต้องระบุวัตถุประสงค์ วัน เวลา และสถานที่ชุมนุม รวมทั้งประมาณการจำนวนผู้เข้าร่วมการชุมนุมด้วย

มาตรา 12 กำหนดให้ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม แต่ถ้าแจ้งล่วงหน้าไม่ทัน 24 ชั่วโมง สามารถยื่นคำขอผ่อนผันพร้อมกับหนังสือแจ้งการชุมนุมควบคู่ได้ แต่จะต้องยื่นต่อผู้บังคับการตำรวจผู้รับผิดชอบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดในจังหวัดอื่นแทน

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวิธีการชุมนุมสาธารณะ ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 กำหนดให้แจ้งการชุมนุมได้ทั้งหมด 3 ช่องทาง ผู้จัดการชุมนุมเลือกใช้เพียงวิธีใดวิธีหนึ่งที่สะดวก ไม่ต้องทำทั้งหมด

  1. แจ้งโดยตรงต่อผู้รับแจ้ง กล่าวคือ ยื่นหนังสือตามแบบที่กำหนด (แนบท้ายอยู่กับประกาศฯ) ต่อหัวหน้าสถานีตำรวจหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทำการในท้องที่ที่มีการชุมนุม
  2. แจ้งทางโทรสาร กล่าวคือ ใช้โทรศัพท์หรือแฟกซ์แจ้งไปยังสถานีตำรวจท้องที่ที่มีการชุมนุม โดยต้องเป็นหมายเลขที่ระบุไว้ในประกาศของ สตช. และเมื่อแจ้งแล้วต้องจัดส่งหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะฯ ผ่านไปรษณีย์ลงทะเบียนตามไปทันที
  3. แจ้งทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวคือ ให้ส่งหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะฯ ไปยังอีเมลของที่ทำการหรือสถานีตำรวจท้องที่ที่มีการชุมนุม โดยต้องเป็นอีเมลที่ระบุไว้ในประกาศของ สตช. และเมื่อส่งอีเมลแล้วก็ต้องโทรศัพท์แจ้งพนักงานตามหมายเลขที่กำหนดไว้ในประกาศด้วย 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังได้จัดทำคู่มือการแจ้งการชุมนุมสาธารณะทางเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับประชาชน ซึ่งผู้สนใจสามารถดูได้ที่นี่ 

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการแจ้งการชุมนุมในทางปฏิบัติ

จากการติดตามข้อมูลการใช้และการตีความพ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยตำรวจ และการสอบถามผู้มีประสบการณ์ในการแจ้งการชุมนุม พบว่า ในทางปฏิบัติการแจ้งการชุมนุมมีปัญหาหลากหลายประการ พอสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

เมื่อแจ้งการชุมนุมเรียบร้อยแล้วหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมก็ยังไม่หมดไป เพราะมาตรา 11 ให้อำนาจตำรวจสามารถมีคำสั่งให้ “แก้ไข” การชุมนุมได้ หากการชุมนุมนั้นวางแผนจะใช้พื้นที่ที่ต้องห้ามไม่ให้ชุมนุม แต่ในทางปฏิบัติตำรวจมักมีหนังสือตอบกลับโดยเพิ่มข้อเรียกร้องที่ไม่จำเป็นพ่วงมาด้วย เช่น การห้ามใช้เครื่องขยายเสียง การห้ามลงพื้นที่สัญจร

การกำหนดเงื่อนไขเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของการชุมนุม เพราะเมื่อต้องไปขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงที่สำนักงานเขตหรือท้องที่ดูแลประกอบด้วย ซึ่งต้องลงรายละเอียดระบุถึงระดับความดัง (เดซิเบลและวัตต์) ของเครื่องขยายเสียง แต่ในพื้นที่การชุมนุมจริงผู้ชุมนุมอาจต้องตัดสินใจเพิ่มระดับความดังหากมีเสียงโดยรอบรบกวน โดยเฉพาะเสียงประกาศจากตำรวจที่มักจะตีกันกับลำโพงของผู้ชุมนุม

หรือกรณีการห้ามลงพื้นที่สัญจร ในทางปฏิบัติทางตำรวจจะให้ผู้แจ้งทำแผนที่พร้อมรายละเอียด เช่น ปิดช่องทางการจราจรกี่ช่อง ใช้พื้นที่ใดบ้าง ประกอบการแจ้งชุมนุมด้วย ซึ่งไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของการชุมนุมที่ไม่สามารถคาดการณ์ถึงจำนวนผู้เข้าร่วมการชุมนุมได้ หากผู้เข้าร่วมการชุมนุมมีจำนวนมากหรือสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ต้องขยายพื้นที่การชุมนุมให้กว้างขวางขึ้นออกไปมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติกลับถูกจำกัดด้วยข้อตกลงที่มีขึ้นตามหนังสือแจ้งการชุมนุม

รายละเอียดต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจเรียกร้องเพิ่มเติมจากผู้ชุมนุมนี้ เป็นการเพิ่มภาระและทำให้การชุมนุมต้องอยู่ในกรอบต่างๆ ที่อาจเกินไปจากที่กฎหมายห้ามไว้ เป็นผลให้ผู้จัดการชุมนุมหลายคนเลือกจะใช้วิธีการไม่แจ้งการชุมนุม และยอมถูกปรับฐานไม่แจ้งการชุมนุม ดีกว่าที่จะถูกจำกัดกรอบด้วยข้อเสนอใหม่ๆ ของตำรวจหลังการแจ้งไปแล้ว

โดยธรรมชาติของการชุมนุม บุคคลอื่นๆ สามารถเข้าร่วมได้แต่ พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 15 กำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมดูแลและรับผิดชอบผู้เข้าร่วมทั้งหมดให้ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ หรือไม่เกิดการขัดขวางประชาชนคนอื่นเกินสมควร ซึ่งล้วนเป็นภาระเกินตัวที่ลำพังผู้จัดการชุมนุมจะสามารถควบคุมได้

การกำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมมีหน้าที่ดังกล่าวทำให้ผู้จัดการชุมนุมตกอยู่ในความเสี่ยงตลอดเวลาว่า หากมีผู้เข้าร่วมคนหนึ่งคนใดซึ่งอาจเป็น “มือที่สาม” พกพาอาวุธ หรือมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงผู้จัดการชุมนุมก็ต้องรับผิดชอบ โดยคนมีชื่อเป็นผู้แจ้งการชุมนุมก็เป็นคนหลักที่ถูกผูกมัดให้เสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีที่เกิดจากการกระทำของผู้ชุมนุมคนอื่น

หากแจ้งการชุมนุมไปแล้ว มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมฝ่าฝืนเงื่อนไขหรือคำสั่งของตำรวจ ผู้จัดการชุมนุมย่อมต้องรับโทษ ซึ่งตามมาตรา 29 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้จัดการชุมนุมจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยากแบกรับความรับผิดชอบนี้ จึงเลือกใช้วิธีการไม่แจ้งการชุมนุมเลย ซึ่งหากถูกคำเนินคดีฐานไม่แจ้งการชุมนุมก็มีเพียงแต่โทษปรับเท่านั้น แลกกับการไม่ต้องเสี่ยงตกเป็นผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาของการฝ่าฝืนเงื่อนไขการชุมนุมที่มีโทษจำคุกร่วมด้วย 

แม้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะจัดให้มีเว็บไซต์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเบอร์โทรศัพท์และอีเมลของสถานีตำรวจต่างๆ แต่ในทางปฏิบัติจริงเบอร์โทรศัพท์จำนวนมากไม่สามารถติดต่อได้ หรือหากส่งทางอีเมลก็อาจพบปัญหาว่า ตำรวจผู้รับแจ้งไม่สามารถล็อกอินเข้าระบบอีเมลได้ หรือล็อกอินได้แต่ไม่ได้รับอีเมล หรือเลวร้ายที่สุดคือตำรวจผู้รับแจ้งใช้ระบบคอมพิวเตอร์ไม่เป็น ส่งผลให้เกิดความยุ่งยากในการแจ้งการชุมนุมที่ไม่สามารถอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้จริง

การแจ้งการชุมนุมที่ผู้ชุมนุมจะมั่นใจว่าทำได้ถูกต้องจึงต้องพึ่งพาระบบนำกระดาษไปยื่นที่สถานีตำรวจโดยตรงเท่านั้น เพราะหากเลือกใช้วิธีโทรสารหรืออีเมลก็อาจเกิดข้อถกเถียงในภายหลังถึงความสมบูรณ์ของการแจ้งการชุมนุม ตำรวจอาจอ้างว่าไม่ได้รับการแจ้งและเป็นผลให้ผู้จัดการชุมนุมถูกดำเนินคดีได้

การชุมนุมแบบไม่มีผู้นำการชุมนุม หรือที่เรียกว่า “ม็อบออร์แกนิก” เป็นลักษณะของการชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงปี 2563-2564 โดยการชุมนุมเช่นนี้จะมีเพียงการชักชวนกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และระบุวันเวลานัดหมายเพื่อมารวมตัวกันอย่างรวดเร็วตอบสนองต่อสิ่งที่ไม่พอใจในช่วงเวลาหนึ่งๆ เท่านั้น แต่จะไม่มีการนำทำกิจกรรมหรือปราศรัยโดยผู้จัดการชุมนุม ไม่มีการประกาศข้อเรียกร้อง ผู้เข้าร่วมชุมนุมต่างเข้าร่วม ทำกิจกรรม และปราศรัยโดยตนเองตามแต่อัธยาศัย และผู้เข้าร่วมการชุมนุมก็ดูแลกันเอง สื่อสารกันเองตามธรรมชาติของแต่ละคน

เมื่อพิจารณาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งกำหนดให้ “ต้อง” แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า หากไม่ได้แจ้งการชุมนุมก็ส่งผลให้การชุมนุมนั้นเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งทำให้ม็อบออร์แกนิกที่เกิดขึ้นนี้มีสถานะผิดกฎหมายตามไปด้วย ทำให้ตำรวจมีอำนาจเข้าแทรกแซงหรือสลายการชุมนุมได้โดยง่ายโดยผู้ชุมนุมไม่มีตัวแทนในการเจรจาหรือคัดค้านคำสั่งของตำรวจ

ซึ่งเมื่อครั้ง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ถูกร่างขึ้น ขณะนั้นสังคมไทยยังคงอยู่ภายใต้ประสบการณ์จากการชุมนุมเสื้อเหลือง-เสื้อแดงที่มีภาพจำว่า “การชุมนุมต้องมีผู้นำ” เท่านั้น กฎหมายฉบับนี้จึงยังไม่ได้พัฒนาเพื่อกำกับดูแลและคุ้มครองประชาชนให้ทันกับนวัตกรรมในการแสดงออกทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป

จุดประสงค์หลักอย่างหนึ่งของ พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะฯ คือการอำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมและประชาชนผู้ได้รับผลกระทบตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น มาตรา 20 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดให้ทั้งก่อน ระหว่าง และภายหลังการชุมนุมตำรวจและหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของรัฐต้องจัดหรือประสานให้มีการประชาสัมพันธ์เป็นระยะเพื่อให้ประชาชนทราบถึงสถานที่ชุมนุมและช่วงเวลาที่มีการชุมนุม ตลอดจนคำแนะนำเกี่ยวกับเส้นทางการจราจรหรือระบบการขนส่งสาธารณะเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการชุมนุมน้อยที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้วมีการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานรัฐน้อยมาก เท่าที่เห็นก็เป็นเพียงการนำเอกสารประชาสัมพันธ์ไปติดแปะไว้ที่หน้าสถานีตำรวจ ซึ่งประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้ ทำให้ประโยชน์ของการแจ้งการชุมนุมที่เกิดขึ้นจริงมีน้อยมาก ไม่ตรงตามเป้าหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะให้แจ้งล่วงหน้าเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ประชาชนทั่วไป

เมื่อผู้ชุมนุมแจ้งการชุมนุมแล้ว แต่ตำรวจเห็นว่าการชุมนุมนั้นอาจเข้าข่ายที่กฎหมายห้ามไว้จึงสั่งให้ “แก้ไข” หากผู้ชุมนุมเชื่อมั่นว่าการชุมนุมนั้นๆ ไม่มีเหตุให้ต้องแก้ไข ก็ยังมีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งให้แก้ไขต่อผู้บังคับบัญชาได้ แต่ในทางปฏิบัติเมื่อตำรวจได้รับแจ้งการชุมนุมแล้ว ก็จะมีคำสั่งออกมาในเวลาที่ใกล้กับระยะเวลาเริ่มการชุมนุม เช่น หนึ่งชั่วโมงก่อนการชุมนุม แม้บางกรณีผู้จัดการชุมนุมแจ้งล่วงหน้าหลายวันแต่ก็จะได้รับการตอบรับในระยะเวลากระชั้นชิด ซึ่งกระบวนการอุทธรณ์คำสั่งก็จะดำเนินการไม่ทันเวลาที่การชุมนุมจะเริ่มขึ้น ทำให้การชุมนุมไม่สามารถจัดขึ้นได้ หรือหากเดินหน้าจัดการชุมนุมไปก็จะเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีย้อนหลัง

รวมคำพิพากษาที่น่าสนใจเมื่อถูกกล่าวหาว่าไม่แจ้งการชุมนุม

ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีต่อประชาชนจำนวนมาก ทั้งยังมีข้อถกเถียงเกิดขึ้นหลายประการ โดยเฉพาะการตีความถึงคำนิยามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ต้องห้ามชุมนุม ประเภทการชุมนุมที่ยกเว้นให้ชุมนุมได้โดยไม่ต้องแจ้ง คำพิพากษาของศาลที่ปรากฎออกมาในช่วงสิบปีแรกของกฎหมายนี้ยังเป็นไปในทิศทางที่ไม่สอดคล้องกัน ทำให้เห็นแนวทางที่ “ยังไม่นิ่ง” ว่าใครจะเป็นผู้จัดการชุมนุมที่มีหน้าที่ต้อง “แจ้งล่วงหน้า” บ้างและเงื่อนไขใดบ้างที่จำเป็นต้องแจ้งการชุมนุม

ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ หรือเจมส์ บัณฑิตจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ถูกฟ้องในข้อหา “เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งการชุมนุม ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง” จากกิจกรรมแฟลชม็อบ #ไม่ถอยไม่ทน ที่บริเวณลานประตูท่าแพเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 

ประสิทธิ์ต่อสู้ว่าเขาไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมครั้งดังกล่าว จึงไม่ควรต้องมีหน้าที่ในการแจ้งจัดการชุมนุม รวมทั้งการจะเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะได้ต้องมีพฤติการณ์อื่นที่แสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าบุคคลนั้นๆ เป็นผู้จัดหรือร่วมจัดการชุมนุมประกอบด้วย ประสิทธิ์ยังยกตัวอย่างของคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีวิ่งไล่ลุงนครพนมและวิ่งไล่ลุงบุรีรัมย์ ที่ศาลมีแนวทางการตีความว่าการโพสต์เชิญชวนของจำเลยโดยไม่มีพฤติการณ์อื่น ยังไม่ถือว่าเข้าข่ายเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม

“ผู้จัดการชุมนุม” หมายความว่า “ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ และให้หมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ และผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น”

คดีนี้เป็นคดีแรกที่มีการต่อสู้ถึงชั้นศาลฎีกาในประเด็นว่า การโพสต์ข้อความเชิญชวนหรือประชาสัมพันธ์ให้มาร่วมชุมนุมโดยไม่มีพฤติการณ์อื่นใดอีก จะถือว่าเป็น “ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ” ที่ต้องมีความรับผิดทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือไม่ โดยทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเห็นว่าประสิทธิ์มีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษปรับ 9,000 บาท แต่เห็นว่าจำเลยให้การเป็นประโยชน์จึงลดเหลือปรับ 6,000 บาท 

ศาลฎีกาพิพากษาสรุปใจความได้ว่า “ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ” ต้องตีความโดยเคร่งครัดและไม่อาจนำบทนิยาม “ผู้จัดการชุมนุม” ตามมาตรา 4 มาพิจารณาประกอบ หากมาตรา 10 ต้องการที่จะกำหนดเงื่อนไขให้ผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมต้องแสดงออกพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือผู้ร่วมจัดการชุมนุมจึงจะถือว่าเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะแล้ว ก็น่าจะระบุเงื่อนไขดังกล่าวไว้ให้ชัดเจนในมาตรานี้โดยไม่จำต้องระบุเงื่อนไขให้ซ้ำซ้อนในบทนิยามดังกล่าวอีก

นอกจากนี้หากแปลความดังเช่นที่จำเลยกล่าวอ้าง ย่อมจะทำให้มีการเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องแจ้งการจัดการชุมนุมสาธารณะด้วยวิธีการที่ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะอาจไม่แสดงตัว แล้วให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมแทนตนเอง หรืออาจมีการจัดการชุมนุมโดยใช้วิธีต่างคนต่างเชิญชวนให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมสาธารณะ อันจะทำให้การบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะก่อนที่จะเริ่มการชุมนุมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

แม้ทางพิจารณาจะไม่ปรากฎแกนนำในการจัดการชุมนุมสาธารณะตามฟ้องที่ชัดเจน แต่เมื่อจำเลยโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กเพื่อเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด และต่อมามีการจัดการชุมนุมโดยไม่มีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะก่อนเริ่มชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานมิได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้ง

“วิ่งไล่ลุง” (Run Against Dictatorship) เป็นกิจกรรมการวิ่งออกกำลังกายเพื่อส่งสารทางการเมืองที่จัดขึ้นพร้อมกันในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศเมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2563 จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในวันดังกล่าวมีการจัดกิจกรรม #วิ่งไล่ลุง อย่างน้อยใน 39 จังหวัด ในพื้นที่อย่างน้อย 49 จุดในทุกภาคของประเทศ โดยบางจังหวัดมีการจัดในหลายจุดหรือหลายช่วงเวลา ผู้เข้าร่วมมีตั้งแต่หลัก 10 คน ไปจนถึงหลายหมื่นคนอย่างกิจกรรมในกรุงเทพฯ

ภายหลังการวิ่งแล้วตำรวจยังมีการดำเนินคดีกับผู้จัดและผู้ที่เจ้าหน้าที่คิดว่าเป็นผู้จัดงาน “วิ่งไล่ลุง” อย่างน้อย 16 คดี โดย 14 คดีเป็นข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม ตาม ซึ่งเจ็ดคดีให้การรับสารภาพ ขณะที่อีกแปดคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาและศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว อย่างไรก็ตามมีสองคดีที่คำพิพากษามีความน่าสนใจ

คดีวิ่งไล่ลุงนครพนม มีพิศาล บุพศิริ อดีตผู้สมัคร สส. เขต 4 จ.นครพนม พรรคอนาคตใหม่ เป็นจำเลย โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง พิศาลปฏิเสธพร้อมต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม เพียงแต่โพสต์เชิญชวนและไปวิ่งออกกำลังกายในสวนสาธารณะที่ประชาชนทั่วไปมาออกกำลังกายกันเป็นปกติอยู่แล้ว จึงเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสุจริตตามที่รัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศรับรองไว้ อีกทั้งไม่ได้อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะฯ

ศาลจังหวัดนครพนม (ศาลชั้นต้น) พิพากษายกฟ้อง สรุปใจความได้ว่า แม้ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 4 ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะตามวรรคหนึ่ง แต่คำนิยามความหมายของผู้จัดการชุมนุมได้บัญญัติว่า ผู้เชิญชวนหรือนัดหมายผู้อื่นที่จะถือว่าเป็นผู้ประสงค์จัดการชุมนุมจะต้องโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น ซึ่งตามข้อความที่จำเลยโพสต์ว่า “วิ่ง-ไล่-ลุง 12 มกราคม 2020 นครพนม กะแลนนำเดียว เวลา 6 น. ณ ลานพญาศรีสัตตนาคราช #มาพ้อกันเด้อ” ไม่มีข้อความที่แสดงออกหรือพฤติกรรมใดนอกจากนี้ที่ทำให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมหรือร่วมจัดการชุมนุม ทั้งขณะร่วมวิ่งจำเลยก็มิได้มีพฤติการณ์ใดๆ ที่ทำให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม พิพากษายกฟ้อง

ด้านคดีวิ่งไล่ลุงบุรีรัมย์ อิสรีย์ อภิสิริรุจิภาส อดีตผู้สมัคร สส. เขต 2 พรรคอนาคตใหม่ ตกเป็นจำเลย ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมภายในกำหนดเวลา ภายหลังโพสต์คลิปว่าจะไปร่วม “วิ่งไล่ลุง” ที่สวนสาธารณะ และเมื่อออกไปวิ่งตามที่โพสต์เธอก็ไลฟ์สผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว อิสรีย์ให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีเช่นเดียวกับพิศาล โดยระบุข้อต่อสู้ว่าตนเป็นเพียงผู้เข้าร่วมกิจกรรมวิ่งเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้จัดแต่อย่างใด

คดีนี้ศาลจังหวัดบุรีรัมย์พิพากษาในทำนองเดียวกับศาลจังหวัดนครพนม  สรุปได้ว่า ในส่วนที่จำเลยโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กและถ่ายทอดสด หากพิจารณาข้อความ คำพูด และพฤติกรรมของจำเลย จะเห็นได้ว่ามีลักษณะการเชิญชวนและนัดให้ผู้อื่นมาร่วม โดยมีการระบุเวลาและสถานที่นัดหมาย ซึ่ง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 ให้ถือว่าผู้ที่กระทำเช่นนั้นเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม และมีหน้าที่ต้องแจ้งชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง อย่างไรก็ตามเนื่องจากการใช้และการตีความกฎหมายจะต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริง เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่กำหนดหน้าที่ให้แก่ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมว่าต้องแจ้งการชุมนุม ซึ่งมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐาน และมีบทกำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืน ส่งผลให้การตีความต้องกระทำโดยเคร่งครัด หากตีความว่า ผู้ที่เพียงแต่ชักชวนในระหว่างเพื่อนฝูงให้ไปร่วมชุมนุมกัน โดยระบุวันเวลาและสถานที่ก็มีหน้าที่ที่จะต้องไปแจ้งการชุมนุม ทั้งที่บุคคลดังกล่าวต้องการเข้าร่วมการชุมนุมเท่านั้น จึงขัดต่อเหตุผลและเป็นการกำหนดหน้าที่ให้บุคคลดังกล่าวเกินสมควร

การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่ได้มีลักษณะที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าจำเลยเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงแต่อย่างใด เมื่อประกอบกับจำเลยนำสืบว่าก่อนเกิดเหตุณัฐพงษ์ได้โพสต์ข้อความชักชวนจำเลยมาทำกิจกรรมวิ่งไล่ลุงจริง และจากการนำสืบพยานโจทก์ไม่ปรากฏพฤติการณ์อื่นของจำเลย ทั้งก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ ที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าจำเลยเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง จึงรับฟังได้ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

คดีของประชาชนรวม 7 คน ที่ถูกฟ้องในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม จากกรณีการจัดและร่วมกิจกรรมตั้งโต๊ะเขียนจดหมายเรียกร้อง “ปิดสวิตซ์ สว. ไม่โหวตนายกฯ” ที่ลานอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 โดยมีข้อต่อสู้ว่ากิจกรรมดังกล่าวที่มีเป็นการตั้งโต๊ะเชิญชวนประชาชนให้มาร่วมลงชื่อเรียกร้องต่อ สว. ซึ่งมีที่มาไม่ชอบธรรม ไม่เข้าข่ายการชุมนุมสาธารณะที่ต้องมีการแจ้งการชุมนุม และผู้ถูกกล่าวหาหลายคนยังไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว เป็นเพียงผู้ไปร่วมกิจกรรมแต่กลับถูกกล่าวหาเป็นผู้จัดกิจกรรมไปด้วย

ศาลแขวงเชียงรายพิพากษายกฟ้อง สรุปใจความได้ว่า การแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนการชุมนุม มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดการชุมนุมและคุ้มครองประชาชนที่ใช้สถานที่สาธารณะอื่นๆ เจ้าพนักงานมีหน้าที่สำคัญ ได้แก่ อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้สถานที่สาธารณะ และดูแลผู้ชุมนุมอำนวยความสะดวกให้ใช้สิทธิได้ตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งจัดการจราจรให้ผู้สัญจรไปมา เพื่อไม่ให้การชุมนุมกระทบต่อประชาชนคนอื่น ๆ

การแจ้งการชุมนุมก็เพื่อให้เจ้าพนักงานทราบก่อนการชุมนุม เพื่อให้ดูแลความสงบเรียบร้อย อำนวยความสะดวก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงรายทราบจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่าจะมีการชุมนุมตามฟ้องดังกล่าว และกิจกรรมก็เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย จึงเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แล้ว

คดีสองนักกิจกรรม ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ และ โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือเก็ท ถูกดำเนินคดีในข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กรณีร่วมกิจกรรม “WHAT HAPPENED IN THAILAND” เดินขบวนจากแยกอโศกไปยังศูนย์ประชุมสิริกิติ์ ในระหว่างที่มีการประชุม APEC2022 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565

ศาลแขวงพระนครใต้พิพากษายกฟ้อง สรุปได้ว่า พฤติการณ์ในคดีนี้ปรากฏว่ามีผู้จัดชุมนุมซึ่งถูกฟ้องในสำนวนคดีอื่น เป็นผู้ทำหนังสือยื่นต่อผู้นำโลกที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุม APEC และมีหนึ่งในจำเลยคดีดังกล่าวเป็นผู้แจ้งจัดการชุมนุมต่อเจ้าพนักงานตำรว จากคำเบิกความของพยานโจทก์ ได้แก่ พนักงานสอบสวนในคดีนี้ ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองคนมีความเกี่ยวข้องกับผู้จัดการชุมนุมอย่างไร แม้จำเลยทั้งสองจะร่วมอ่านแถลงการณ์ แต่เนื้อความก็ไม่ได้มีการชักชวนหรือปลุกระดมคนให้เข้าร่วมการชุมนุมแต่อย่างใด

จุดน่าสนใจของคดีนี้คือแม้ตัวจำเลยจะเข้าร่วมการชุมนุมและอ่านแถลงการณ์ อันอาจทำให้ถูกตีความว่าเป็นหนึ่งในแกนนำได้ แต่ศาลได้ยึดเอาถ้อยคำที่อยู่ในแถลงการณ์เป็นหลัก คือไม่มีการชักชวนหรือปลุกระดม ซึ่งเป็นองค์ประกอบของนิยามผู้จัดการชุมนุมที่ปรากฎในมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งผู้จัดการชุมนุมจะต้องมีพฤติการณ์แสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้นด้วย

คดีสองนักกิจกรรมด้านแรงงาน ธนพร วิจันทร์ จากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และสมยศ พฤกษาเกษมสุข จากกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ถูกฟ้องในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม กรณีจัดให้มีการชุมนุมสาธารณะบริเวณหน้าบ้านพิษณุโลก  จำเลยทั้งสองต่อสู้คดีว่า กิจกรรมตามฟ้องเป็นกิจกรรมตามประเพณีหรือตามวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น เนื่องในวันแรงงานสากล ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 3 (2) จึงไม่จำเป็นต้องแจ้งการชุมนุม ทั้งในทางนำสืบธนพรยอมรับว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมจริง ส่วนสมยศปฏิเสธว่าไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม เพียงได้รับเชิญให้มาร่วมอ่านบทกวี

ศาลแขวงดุสิตพิพากษายกฟ้อง สรุปได้ว่า เมื่อวัฒนธรรม ค่านิยม และทัศนคติเปลี่ยนแปลง บริบทของสังคมเปลี่ยนไป รวมทั้งประเพณีของคนไทยอันสืบเนื่องมาจากปัจจัยทางเทคโนโลยี การสื่อสาร และทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิด การจัดกิจกรรมในวันแรงงานแห่งชาติจึงผันเปลี่ยนไปตามประเพณีนิยม กรณีจำต้องพิจารณาไปตามยุคสมัย

เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองนำสืบแล้ว เห็นได้ชัดว่าปัจจุบันวันแรงงานแห่งชาติไม่ใช่เป็นเพียงวันหยุดเพื่อเฉลิมฉลองเท่านั้น แต่เป็นวันที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานรวมตัวกันเพื่อแบ่งปัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและปัญหาของผู้ใช้แรงงาน ตลอดจนร่วมกันเดินขบวนกับทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์แสดงออกข้อเรียกร้องต่างๆ ต่อรัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สอดคล้องกับหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานตามพันธกิจขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่มีความเห็นว่าสิทธิในการจัดประชุมหรือการจัดเดินขบวนในที่สาธารณะ หรือการแสดงออกเรียกร้องทางสังคมและเศรษฐกิจเนื่องในโอกาสวันแรงงาน เป็นการกระทำตามประเพณีของสหภาพแรงงาน โดยสหภาพแรงงานนั้นมีสิทธิที่จักกระทำการนั้นได้อย่างอิสระไม่ว่าด้วยเรื่องใดก็ตาม เพื่อเฉลิมฉลองวันแรงงาน 

นับได้ว่ากิจกรรมเดินขบวนในวันแรงงานแห่งชาติ เป็นสิ่งที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานนิยมยึดถือปฏิบัติสืบๆ กันเรื่อยมา จนเป็นแบบแผนที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์เฉพาะ สะท้อนถึงตัวตนที่ชัดเจนของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ย่อมเป็นกิจกรรมตามประเพณี ตามความในมาตรา 3 (2) แห่ง จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่ต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้งก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดในฐานนี้ 

 คดีประชาชนในอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา จัดการชุมนุม #เทใจให้เทพา คัดค้านก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเนื่องจากเกรงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเดินเท้าจากบ้านเพื่อไปยื่นหนังสือต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งขณะนั้นกำลังเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ณ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม มีการจับกุมผู้ชุมนุมถึง 16 คน และดำเนินคดีต่อประชาชนถึง 17 คน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ทั้งตาม พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะฯ ฐานไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าและข้อหาอื่นๆ 

ศาลฎีกามีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” สรุปใจความอย่างย่อได้ว่า ปัญหาที่ทำให้คดีนี้ขึ้นมาสู่ชั้นฎีกา คือ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้แจ้งว่าประสงค์จะจัดการชุมนุมภายใน 24 ชั่วโมงเพื่อให้การชุมนุมครั้งนี้ถูกกฎหมายหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาตัดสินว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 เป็นผู้ริเริ่มจัดการชุมนุม เนื่องจากจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นตัวแทนชาวบ้านระหว่างการชุมนุม และจำเลยที่ 4 เป็นผู้โพสต์นัดหมายการชุมนุมบนสื่อออนไลน์ ดังนั้น การรวมตัวครั้งนี้ถือว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะ หลังจำเลยที่ 1 รู้ว่า การชุมนุมครั้งนี้เข้าข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะตามก็ได้รีบไปแจ้งการชุมนุมตามขั้นตอนของกฎหมายทันทีกับผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเทพา จังหวัดสงขลา เมื่อเวลา 18.52 น. ของวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งถึงแม้จะเป็นการไปแจ้งหลังประชาชนเริ่มการชุมนุมไปแล้ว ก็ถือว่าจำเลยที่ 1 แสดงความจริงใจว่าต้องการจะปฏิบัติตามกฎหมายให้ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ผกก.สภ.เทพา กล่าวกับจำเลยที่ 1 ว่า ผู้ชุมนุมจะชุมนุมได้ก็ต่อเมื่อถึงเวลา 18.52 น. ของวันถัดไป เพราะต้องกระทำตามกรอบระยะเวลา 24 ชั่วโมง ทำให้จำเลยที่ 1 ตัดสินใจไปยื่นหนังสือขอแจ้งการชุมนุมพร้อมคำขอผ่อนผันกำหนดเวลากับผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ซึ่งต่อมาก็ไม่ได้รับการอนุญาต

การสั่งไม่อนุญาตเช่นนี้ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจาก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มีไว้ให้เกิดการผ่อนผันกรณีที่การชุมนุมเกิดขึ้นแล้วแต่ยังไม่ได้แจ้งการชุมนุม กฎหมายจึงหาทางออกให้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุม ซึ่งหากไม่สามารถให้เกิดการผ่อนผันได้กฎหมายก็คงไม่เปิดช่องทางนี้ไว้ในมาตรา 12 ตั้งแต่แรก 

การชุมนุมครั้งนี้ได้มีการพิสูจน์ทราบแล้วว่าปราศจากอาวุธ ไม่ได้กระทำอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ต่อสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยอันดี หรือไปกระทบสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น แม้แต่การเดินทางไปชุมนุมก็ยังเปิดเส้นทางจราจรให้ประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องสัญจรผ่านไปได้ การชุมนุมครั้งนี้จึงได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 44 และ ทำให้คำสั่งไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมและคำสั่งให้ยุติการชุมนุมของผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา 44 การที่ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวจึงไม่เป็นเหตุให้การชุมนุมครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คดีนี้เป็นการวางหลักการตีความในมาตรา 12 ให้มีความชัดเจน เนื่องจากมาตรา 12 เป็นอีกหนึ่งมาตราที่มีการถกเถียงกันในวงกว้างว่าเจ้าหน้าที่มีอำนาจใช้ดุลยพินิจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรือไม่ ซึ่งศาลก็ได้ระบุแล้วว่าไม่มีอำนาจในการใช้ดุลยพินิจ มีเพียงแต่การแจ้งให้ทราบเท่านั้น 

สรุปทิ้งท้าย: มาตรการแจ้งการชุมนุมไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ให้ผลตรงกันข้าม

จากคำพิพากษาที่ยกตัวอย่างมาจะเห็นได้ว่า คำพิพากษาของศาลส่วนใหญ่นั้นเป็นไปในทิศทางเชิงบวกที่รับประกันสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามที่มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 44 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ยังมีคดีที่มีข้อเท็จจริงคล้ายคลึงกันอีกจำนวนมากที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยเลือกให้การรับสารภาพมากกว่าจะสู้คดี เนื่องจากข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ มีอัตราโทษปรับเพียงอย่างเดียว เมื่อคำนึงถึงต้นทุนที่ต้องใช้ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นศาลแล้วการรับสารภาพเป็นตัวเลือกที่ถูกกว่ามาก

แต่เมื่ออัตราโทษของการไม่แจ้งการชุมนุมไม่สูงมาก ก็ไม่ได้สัดส่วนเมื่อเปรียบเทียบต้นทุนและอุปสรรคในทางปฏิบัติที่ผู้ชุมนุมต้องประสบพบเจอหลังการแจ้งการชุมนุมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการประสานงานหรือเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภาระและเงื่อนไขที่ตำรวจตีกรอบให้เพิ่มเติม ประกอบกับความเสี่ยงในการถูกดำเนินคดีที่มีอัตราโทษสูงกว่า ทำให้มาตรการการ “แจ้งการชุมนุม” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่ให้ตำรวจและผู้จัดการชุมนุมได้เข้ามาร่วมกันสร้างสมดุลระหว่างการใช้เสรีภาพในการชุมนุมและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนคนอื่นยังคงใช้งานไม่ได้จริง ผลลัพธ์ที่ได้กลายเป็นความขัดแย้งและความไม่ไว้วางใจกันที่มากขึ้นระหว่างผู้จัดการชุมนุมกับตำรวจ และเพิ่มความเสี่ยงเพิ่มเงื่อนไขที่ผู้ชุมนุมจะถูกดำเนินคดีทางอาญา หากมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐหรือตำรวจ

เงื่อนไขการ “แจ้งการชุมนุม” ในทางปฏิบัติจึงกลายเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพและสร้างความยุ่งยากให้แก่ประชาชนเสียมากกว่า ทั้งโดยที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ แม้คำพิพากษาของศาลจะไม่ได้พยายามบังคับใช้มาตรา 10 ในทางที่จะมุ่งลงโทษผู้ชุมนุม แต่การจะไปถึงคำพิพากษาที่เป็นบรรทัดฐานนั้นก็เป็นต้นทุนที่สูงมากสำหรับการตัดสินใจออกมาเรียกร้องแสดงออกในแต่ละครั้ง