นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนกรกฎาคม 2568

เดือนกรกฎาคม 2568 มีนัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 อย่างน้อยหกคดีแบ่งเป็นคำพิพากษาชั้นต้นสามคดีและอุทธรณ์สามคดี จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2568 มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 281 คนใน 314 คดี โดยศาลมีพิพากษาแล้ว 184 คดี รายละเอียดคดีที่มีคำพิพากษาดังนี้

1 กรกฎาคม 2568 เวลา 9:00 น. ศาลอาญานัด ‘บังเอิญ’ ฟังคำพิพากษาในคดีที่สืบเนื่องโพสต์ภาพตนเองที่มือซ้ายถือรองเท้าชี้ไปทางรูป ร. 10 และราชินี คดีนี้มีอานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวหา ผู้กล่าวหาอ้างว่า ตนเองและประชาชนทั่วไปในราชอาณาจักร ที่พบเห็นรูปภาพดังกล่าว มีความเห็นว่าผู้ต้องหามีเจตนาที่จะใช้รองเท้าชี้ไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ เป็นการกระทำที่มิบังควร จาบจ้าง ล่วงเกิน หรือกระทำให้ระคายเคืองเบื้องยุคลบาท อันเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ 

4 กรกฎาคม 2568 เวลา 9:00 น. ศาลอาญาธนบุรีนัดตี้-วรรณวลี ธรรมสัตยาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีที่สืบเนื่องจากปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ6ธันวา บริเวณวงเวียนใหญ่ วันดังกล่าวปราศรัยโดยกล่าวถึงการที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นจอมทัพไทยซึ่งถูกบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญ ทำให้ทรงมีอำนาจที่จะชี้นำกองทัพและมีส่วนในการเซ็นรับรองการรัฐประหาร รวมไปถึงชี้นำการทำงานของคณะรัฐมนตรี ต่อมาวันที่ 27 มิถุนายน 2566 ศาลอาญาธนบุรีมีคำพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกคนละ 4 ปี ทางนำสืบจำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงหนึ่งในสาม คงเหลือโทษจำคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน

8 กรกฎาคม 2568 เวลา  9:30 น. ศาลอาญานัดอานนท์ นำภาฟังคำพิพากษาในคดีที่สืบเนื่องจากการปราศรัยในการชุมนุม #กูสั่งให้มึงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ วันดังกล่าวอานนท์ขึ้นเวทีปราศรัยว่ารัฐสภาเป็นของราษฎร ไม่ได้จำกัดแค่สมาชิกผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น พร้อมพูดย้ำว่า ประชาชนนั้นต้องการปฏิรูป ไม่ใช่การปฏิวัติอย่างที่มีคนกล่าวหา ทั้งย้ำว่า ไม่ใช่กลุ่มล้มเจ้าอย่างที่ใส่ร้าย คดีนี้ยังมีจำเลยอีกหนึ่งคนคือ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์

22 กรกฎาคม 2568 เวลา 9:00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดลูกเกด-ชลธิชา แจ้งเร็วฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีที่สืบเนื่องจากการปราศรัยที่หน้าศาลจังหวัดธัญบุรีเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2564 ผู้ชุมนุมรวมตัวกันหน้าฟิวเจอร์ปาร์ครังสิตและเคลื่อนขบวนมาที่ศาลจังหวัดธัญบุรี โดยลูกเกดปราศรัยถึงเรื่องพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ 2560 และ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในปี 2561 ต่อมาวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำพิพากษา เห็นว่า ข้อความของจำเลยที่ 1 กล่าวถึงรัชกาลที่ 10 ฟังแล้วเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์เอาเงินภาษีประชาชนมาใช้ส่วนพระองค์ และทำให้ประชาชนคิดว่าพระมหากษัตริย์เอาทรัพย์สินส่วนรวมไปเป็นส่วนตัว แทรกแซงอำนาจฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ จึงทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามมาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา 

24 กรกฎาคม 2568 ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดตี้-วรรณวลี ธรรมสัตยากับพวกรวมสามคนฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีที่สืบเนื่องจากการกรณีโพสต์ภาพการชูป้ายที่มีข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์  มูลเหตุแห่งคดีเกิดจากกรณีที่วรรณวลีโพสต์ภาพถ่ายที่เธอกับจำเลยคดีนี้อีกสองคนถือป้ายอยู่ในการชุมนุม #บ๊ายบายไดโนเสาร์ ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยามในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2563 แล้วมีสมาชิกกลุ่มไทยภักดีเชียงใหม่เห็นว่าข้อความบนป้ายน่าจะเข้าข่ายความผิดจึงกล่าวโทษดำเนินคดีที่จังหวัดเชียงใหม่  ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาว่าวรรณวลีมีความผิดเพราะข้อความบนป้ายที่เธอถือเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุกสี่ปี แต่ให้ลดโทษลงหนึ่งในสามเหลือจำคุกสองปีแปดเดือน เพราะคำให้การของวรรณวลีเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ส่วนจำเลยอีกสองคนที่ถูกดำเนินคดีศาลยกฟ้องเพราะเห็นว่าข้อความบนป้ายที่ทั้งสองถือไม่ชัดเจนว่าสื่อถึงผู้ใดจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

30 กรกฎาคม 2568 เวลา 9:30 น. ศาลอาญานัด ‘ลอเฟย์สัน’ นามสมมติฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 คดีนี้มีพรพรม ภูนุภา ประชาชนทั่วไปเป็นผู้กล่าวหา มูลเหตุสืบเนื่องจากวันที่ 17 ธ.ค. 2564 เวลา 04.05 น. มีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์ข้อความว่า “วิธีการดูหนังที่ถูกต้องคะ” และรูปภาพมือชูสามนิ้วซึ่งปรากฎอยู่เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ขณะอยู่ในโรงภาพยนตร์ บนบัญชีเฟซบุ๊กเพจ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” และ ‘ลอเฟย์สัน’ แสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ 

RELATED TAGS