ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 สร้างไฟความขัดแย้ง จนกลายเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายระลอก ตั้งแต่ การชุมนุมปี 2549 การชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยคนเสื้อแดงในช่วงปี 2552 – 2553 การต่อต้านรัฐประหารในปี 2557 รวมถึงการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 ประชาชนที่ออกไปแสดงออกทางการเมือกลับได้รับผลกระทบกลับมาในรูปแบบของภาระทางคดี
จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการพูดคุยกันในสังคมถึงความจำเป็นในการนิรโทษกรรม เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจึงเสนอ ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาคดีความที่คั่งค้างกับประชาชนทุกฝ่าย
นิรโทษกรรมทุกฝ่าย ทันทีหลายคดีตั้งแต่ปี 2549
ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. … (พ.ร.บ.นิรโทษกรรม) เริ่มนับเวลานิรโทษกรรมตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 โดยไม่ได้แยกฝ่ายที่จะได้รับนิรโทษกรรม กล่าวคือ ทุกการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองเข้าข่ายการได้รับนิรโทษกรรมทั้งสิ้น อีกทั้งมาตรา 5 ในร่างยังระบุไว้ชัดเจนว่ามีคดีประเภทใดบ้างที่ได้รับการนิรโทษกรรมโดยทันที ได้แก่
- คดีความผิดตามประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
- คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37/2557 และประกาศคณะรักษาความสงบฉบับที่ 38/2557
- คดีตามฐานความผิดในมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา
- คดีตามฐานความผิดในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
- คดีตามฐานความผิดในพระราชบัญญัติออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559
- คดีตามฐานความผิดที่เกี่ยวโยงกับข้อดังกล่าวด้านบน
เว้นเจ้าหน้าที่รัฐ คนล้มล้างการปกครอง
แต่อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกคนจะได้รับการนิรโทษกรรม ตามมาตรา 4 ของร่าง พ.ร.บ. นี้ระบุ ยกเว้นการนิรโทษกรรมให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่สลายการชุมนุมหรือกระทำการใดที่เกินกว่าเหตุ หรือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 กล่าวคือ ความผิดฐานเป็นกบฏ ซึ่งได้แก่ความผิดฐานล้มล้างรัฐธรรมนูญ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการ แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครอง
ข้อนี้เป็นจุดที่ทำให้ร่างฉบับนี้แตกต่างจากการนิรโทษกรรมที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ไทย ที่มักจะ “เหมาเข่ง” รวมเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปกับการนิรโทษกรรมประชาชนด้วย
ตั้งคณะกรรมการนิรโทษกรรม มีสัดส่วนผู้เสียหาย-ภาคประชาสังคม
ร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชนยังระบุให้ตั้ง “คณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน” เพื่อเป็นกลไกในการนิรโทษกรรมด้วย โดยมีสมาชิกทั้งหมด 19 คน ประกอบไปด้วย
- ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานคณะกรรรมการ
- ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
- ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล
- ส.ส. 10 คนตามสัดส่วนของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร
- ตัวแทนจากประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีจาก 4 เหตุการณ์ คือ การรัฐประหาร 2549 จากการชุมนุมช่วงปี 2552 – 2553 จากช่วงการรัฐประหาร 2557 – 2562 และจากการชุมนุมช่วงปี 2563 – 2566 เหตุการณ์ละ 1 คน
- องค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการค้นหาความจริงและอำนวยความยุติธรรม 2 คน
กรรมการเดินหน้าวินิจฉัยนิรโทษกรรมคดีตกหล่น ทำรายงานเสนอเยียวยา
สำหรับอำนาจหน้าที่ที่สำคัญของคณะกรรมการ นอกจากคดีที่ได้รับการนิรโทษกรรมตามมาตรา 5 คดีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง ร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชนก็เปิดช่องให้ หากคณะกรรมการเห็นว่าเข้าข่ายเป็นการประทำที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมือง ก็สามารถวินิจฉัยให้นิรโทษกรรมได้
นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีจะสามารถร้องขอให้กรรมการพิจารณากรณีของตนเองได้เท่านั้น ในร่างยังได้เปิด “ให้บุคคลผู้กระทำการนั้น หรือสามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะของบุคคลผู้กระทำการนั้น อาจยื่นคำร้องเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาการกระทำนั้นด้วยได้” เพื่อเปิดโอกาสให้กับคดีที่อาจตกหล่นไป
โดยหลังจากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนี้ถูกบังคับใช้แล้ว คดีที่เข้าข่ายนิรโทษกรรมทั้งผ่านตัวกฎหมายหรือผ่านคณะกรรมการจะถูกยุติลง ผ่านการระงับการฟ้องหากยังไม่ฟ้อง หากฟ้องแล้วให้ถอนฟ้องหรือระงับฟ้อง หากอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาลให้ยกฟ้องหรือจำหน่ายคดี หรือคดีใดอยู่ในระหว่างการรับโทษ ให้โทษนั้นสิ้นสุดและปล่อยตัวผู้นั้นทันที รวมถึงให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติลบประวัติอาชญากรรมของผู้ที่เข้าข่ายการนิรโทษกรรมทั้งหมด โดยคณะกรรมการต้องกำกับดูแลเรื่องนี้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
หลังจากนั้น อีกหน้าที่ของคณะกรรมการคือต้องจัดทำรายงานเพื่อเสนอมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบหลังจากการนิรโทษกรรม
แต่ใดๆ ก็ตาม ร่างกฎหมายฉบับนี้นิรโทษกรรมเพียงคดีอาญาเท่านั้น มิได้ตัดสิทธิในการฟ้องแพ่งกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีการเมืองดังกล่าวหากมีการสร้างความเสียหายให้ในทางแพ่ง
ร่างฉบับนี้เปิดตัวต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นวันครบรอบสามปีการกลับมาบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และเปิดให้ประชาชนช่วยกันคิด วิเคราะห์ และแสดงความคิดเห็นต่อร่าง เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ที่สุดและมาจากความเห็นพร้อมกันของสังคมไทย
โดยทุกคนสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ โดยการส่งความเห็นมาที่ลิงก์นี้ ก่อนที่เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจะนำความเห็นที่ได้ไปพิจารณา และปรับปรุงร่างเพื่อให้สอดคล้องกับความคิดเห็นของคนในสังคมมากที่สุด และให้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจริงไปพร้อมๆกัน
ไฟล์แนบ
- -พ (101 kB)
- พ.ศ.-.- (101 kB)
- 2023_11_16_the-Draft-Amnesty-Bill (66 kB)