วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร (กมธ. พัฒนาการเมืองฯ) มีนัดประชุมกับวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เพื่อหารือเรื่องการบรรจุวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
โดยมูลเหตุสืบเนื่องมาจากในการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงช่วงต้นปี 2564 ไพบูลย์ นิติตะวัน สส. พรรคพลังประชารัฐ และสมชาย แสวงการ สว. แต่งตั้ง ชงเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ โดยเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องให้ประชาชนลงประชามติก่อน และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติว่าเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย หลังการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ รัฐบาลภายใต้การนำของเศรษฐา ทวีสิน ได้วางแนวทางการเดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำประชามติสามครั้ง คือ 1) ประชามติก่อนการเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร. 2) ประชามติตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ 2560 และ 3) ประชามติหลัง สสร. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ ทั้งที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้บังคับให้ต้องทำประชามติก่อนการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเมื่อดูคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมากหกจากเก้าคนระบุชัดว่าทำประชามติแค่สองครั้ง
อย่างไรก็ดี เมื่อ 22 มกราคม 2567 สส. พรรคเพื่อไทย นำโดย ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้บรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณา พร้อมแถลงแนวทางว่าทำประชามติต่างจากรัฐบาลโดยยืนยันว่าแค่สองครั้งก็เพียงพอ แต่เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานเลขาธิการรัฐสภาได้มีความเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยนั้น นำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงต้องด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่จะต้องทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนว่าประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จึงไม่สามารถบรรจุระเบียบวาระสู่ที่ประชุมของรัฐสภาได้ ส่งผลให้ประธานรัฐสภาตัดสินใจไม่บรรจุวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แม้รัฐสภาจะส่งเรื่องไปเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญยืนยันว่าการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำประชามติกี่ครั้ง แต่เมื่อ 17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ต่อมาวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 พริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานกมธ. พัฒนาการเมืองฯ นัดประชุมหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ จากการหารือได้ข้อสรุปว่าในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่าทำประชามติแค่สองครั้ง ไม่ได้จำเป็นต้องทำสามครั้ง
ภายหลังการประชุม ระหว่างกมธ. พัฒนาการเมืองฯ และประธานรัฐสภา พริษฐ์ วัชรสินธุ ประธาน กมธ. ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ถึงสถานการณ์การประชุมร่วมกับประธานรัฐสภาและคณะกรรมการประสานงานเสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภาว่า ตนได้นำเสนอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยส่วนตนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงข้อสรุปจากการหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยืนยันว่าไม่ได้จำเป็นต้องทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประธานรัฐสภารับบรรจุวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จากการพูดคุย ได้ข้อสรุปว่า ต้องฝั่งผู้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องยื่นเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อให้ทางคณะกรรมการประสานงานเสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภาทบทวนแนวความเห็นและนำเสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภาต่อไป
พริษฐ์ระบุว่า ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ก็จะไปหารือกับ สส. ในพรรคประชาชนเพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง มองว่าหากเดินหน้าประชามติสามครั้งตามแนวทางของรัฐบาล ทั้งที่ยังติดปัญหาเรื่องการแก้ไขกฎหมายประชามติที่ยังไม่แล้วเสร็จ อาจทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ทันภายในสี่ปีตามไทม์ไลน์ที่รัฐบาลวางไว้ หากจะทำให้ทันสามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจัดทำประชามติเพียงสองครั้ง
ด้านว่าที่ร้อยตำรวจตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานเสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภา ระบุว่า ประธานรัฐสภามีดำริว่าให้นำเอกสารและข้อมูลประกอบที่ทางพริษฐ์นำเสนอมาทบทวนเพื่อหาแนวทางประกอบการตัดสินใจของประธานรัฐสภาในการบรรจุวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี ดุลยพินิจในการตัดสินใจว่าจะบรรจุร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่อยู่ที่ประธานรัฐสภา