ตามหากกต. ชุดใหม่ ตรวจคุณสมบัติ ใครสามารถสมัครเป็น กกต. ได้บ้าง

ในปี 2568 กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ห้าคน จากทั้งหมดเจ็ดคน กำลังจะหมดวาระ การดำรงตำแหน่งลง ได้แก่ อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต., ศาสตราจารย์สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์, ปกรณ์ มหรรณพ, เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ และฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ เนื่องจากทุกคนดำรงตำแหน่งครบวาระเจ็ดปี ซึ่งทั้งห้าคนมีที่มาจากการคัดเลือกโดยสภาแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร คสช.

เมื่อแต่ละคนหมดวาระก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการสรรหาคนใหม่มาดำรงตำแหน่งแทน ดังนั้น ปี 2568 จึงเป็นปีสำคัญที่ประเทศไทยจะได้ กกต. ใหม่เข้ามาทำหน้าที่ต่อ

สำหรับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถือเป็นหนึ่งใน “องค์กรอิสระ” ที่รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนให้มีขึ้น กกต. เป็นองค์กรที่มีความสำคัญและมีบทบาทมากในการระบบการเมืองไทย มีหน้าที่อำนวยความสะดวกจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีอำนาจการสืบสวน สอบสวน ไต่สวน วินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง สั้งยกเลิกการเลือกตั้ง สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือสั่งระงับสิทธิเลือกตั้งและดำเนินคดีอาญากับผู้สมัครที่ทำผิดกฎหมาย รวมทั้งเสนอเรื่องเพื่อให้ยุบพรรคการเมืองด้วย ดังนั้น ผู้ที่ต้องการอำนาจทางการเมืองจึงต้องการมีอิทธิพลหรือบทบาทเหนือการได้มาซึ่งกกต. ทุกชุด

กระบวนการสรรหากกต. ชุดใหม่จะทำเหมือนกันกับการสรรหา “องค์กรอิสระ” และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกตำแหน่ง คือ เริ่มจากการเปิดรับสมัครบุคคลที่มีคุณสมบัติ ส่งให้คณะกรรมการสรรหา ประกอบไปด้วยประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และตัวแทนจากองค์กรอิสระทุกแห่งมาคัดเลือกจนได้รายชื่อสุดท้าย ก่อนส่งให้วุฒิสภาตรวจสอบประวัติและลงมติ “เป็นการลับ” ว่าจะเห็นชอบให้ใครเข้าสู่ตำแหน่งได้หรือไม่ ซึ่งตัวอย่างของ กกต. ชุดก่อนหน้านี้ก็ต้องสรรหาและส่งชื่อไปใหม่ถึงสามรอบกว่าจะได้ กกต. ครบเจ็ดคน

โดยรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (พ.ร.ป.กกต.ฯ)​กำหนดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครเป็นกกต. ไว้ค่อนข้างเข้มงวด ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถสมัครได้ ชวนทุกคนตรวจสอบคุณสมบัติของตัวเองหากใครมีคุณสมบัติครบและสนใจก็สามารถสมัครเข้าร่วมกระบวนการคัดเลือกได้

ตามหากกต. ชุดใหม่ ตรวจคุณสมบัติ ใครสามารถสมัครเป็น กกต. ได้บ้าง

เกณฑ์คุณสมบัติทั่วไป อายุต้อง 45-70 จบปริญญาตรี

สำหรับผู้ที่ต้องการเป็น กกต. ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 9 แห่งพ.ร.ป.กกต. ดังนี้

(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 45 ปีแต่ไม่เกิน 70 ปี 

(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 

(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

(5) มีสุขภาพที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ต้องมีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของกกต.  

หากผ่านเกณฑ์คุณสมบัติทั่วไปแล้ว ผู้ที่จะสมัครเป็น กกต.จำเป็นต้องมีประสบการณ์การทำงานที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน กกต. ตามมาตรา 8 ของพ.ร.ป.กกต. ดังนี้ 

  1. กกต. ห้าคน มาจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์แก่การบริหารและการจัดการการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

    (ก) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
    (ข) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
    (ค) ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า ห้าปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์
    (ง) เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองการประกอบวิชาชีพโดยประกอบวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปีนับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อและได้รับการรับรองการประกอบวิชาชีพจากองค์กรวิชาชีพนั้น
    (จ) เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ทางด้านการบริหาร การเงิน การคลัง การบัญชี หรือการบริหารกิจการวิสาหกิจในระดับไม่ต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนจำกัดมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี
    (ฉ) เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตาม (ก) (ข) (ค) หรือ (จ) รวมกันไม่น้อยกว่า 10 ปี
    (ช) เป็นผู้ทำงานหรือเคยทำงานในภาคประชาสังคมมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปีตามที่คณะกรรมการสรรหากำหนด
  2. กกต. สองคน มาจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย และเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

ไม่ต้องเป็นข้าราชการ ก็มีสิทธิสมัคร กกต.ได้ ถ้าทำงานในภาคประชาสังคมครบ 20 ปี 

จาก ประกาศคณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้งเรื่อง คุณสมบัติการเป็นผู้ทำงานหรือเคยทำงานในภาคประชาสังคมมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบปีตามมาตรา 8 (1) (ช) และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 พ.ศ. 2560  (ประกาศภาคประชาสังคม) ได้ให้คำจำกัดความของ “ภาคประชาสังคม” ไว้ว่า เป็นเครือข่าย กลุ่ม ชมรม สมาคม มูลนิธิ สถาบัน หรือชุมชน หรือรูปแบบการรวมตัวอื่นใดของประชาชนไม่ว่าจะมีสถานะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ด้านพัฒนาทางสังคมและไม่แสวงหากำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน เช่น องค์การหรือสถานสาธารณกุศลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาชน องค์กรสาธารณประโยชน์ และพลังพลเมือง ซึ่งมีการดำเนินกิจกรรมตามลักษณะที่กำหนด แต่ไม่รวมถึง นิติบุคคล องค์กรหรือคณะบุคคลที่จัดตั้งหรือดำเนินการโดยพรรคการเมืองหรือดำเนินกิจกรรมในลักษณะการแสวงหาอำนาจรัฐ หรือเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง 

ภาคประชาสังคมที่ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล จะต้องเคยดำเนินกิจกรรมร่วมกับ ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐมาก่อน และต้องได้รับการรับรองเป็นหนังสือว่าเคยดำเนินกิจกรรมดังกล่าวจากส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐนั้นด้วย

แต่ไม่ใช่คนที่ทำงานภาคประชาสังคมทุกประเภทจะสมัครเป็น กกต.​ ได้ลักษณะการทำงานและการดำเนินกิจกรรมในภาคประชาสังคมที่เข้าหลักเกณฑ์ตามประกาศฉบับนี้ ได้แก่  

(1) การพัฒนาประชาธิปไตย

(2) การมีส่วนร่วมทางการเมืองระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น 

(3) การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง

(4) การส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมือง 

(5) การผลักดันนโยบายสาธารณะระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น

(6) การส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง 

(7) การส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสมานฉันท์

(8) การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพประชาชน ชุมชนในการจัดการ อนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่นการศึกษา และการสาธารณสุข

(9) การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

(10) การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ

(11) การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

โดยผู้สนใจสมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กกต. โดยอาศัยคุณสมบัติการทำงานภาคประชาสังคมจะต้องแสดงเอกสารหรือหลักฐาน เช่น รายงานประจำปี รายงานการประชุม ภาพถ่ายกิจกรรม และหลักฐานอย่างอื่นที่พิสูจนได้ว่าผู้สมัคร ทำงานหรือเคยทำงานดังกล่าว อย่างต่อเนื่องรวมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปีนับถึงวันสมัครเข้ารับการสรรหา

คณะกรรมการสรรหา กกต. อาจจะเฉพาะผู้สมัครที่เห็นว่ามีคุณสมบัติตามที่กำหนดนมาสัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็น ตามวิธีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 12 แห่งพ.ร.ป.กกต. ทั้งนี้ โดยจะพิจารณาคุณสมบัติการเป็นผู้ทำงานหรือเคยเป็นผู้ทำงานในภาคประชาสังคมมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปีจากผู้สมัครเข้ารับการสรรหา ผู้ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อประโยชน์ต่อการบริหารและจัดการเลือกตั้งเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา 

ลักษณะต้องห้าม คนเหล่านี้สมัครเป็น กกต.ไม่ได้ ? 

การจะเข้ามาทำหน้าเป็น กกต. ได้นั้น ไม่เพียงแต่จะต้องเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติและประสบการณ์การทำงานตามมาตรา 8 และ 9 เท่านั้น แต่จำเป็นต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 10 ของพ.ร.ป.กกต. ซึ่งได้กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง กกต.ไว้ดังนี้

(1) เป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด

(2) ติดยาเสพติดให้โทษ

(3) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

(4) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ

(5) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

(6) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่

(7) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(8)  อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

(9) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

(10) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ

(11) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะ ร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

(12) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือ ต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญาความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนักกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน

(13) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง 

(14) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

(15) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำ ด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย

(16) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

(17) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(18) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมืองหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา

 (19) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะ 10 ปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา

(20) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ 

(21) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ 

(22) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด

(23) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ

(24) มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage