
1 กรกฎาคม 2568 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7:2 สั่งแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย สืบเนื่องจากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 36 คน ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของแพทองธารจะสิ้นสุดลงหรือไม่ เพราะไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากมูลเหตุ “คลิปหลุด” บทสนทนาระหว่างแพทองธาร กับสมเด็จฮุนเซ็น ประธานวุฒิสภากัมพูชา
คำสั่ง “หยุดปฏิบัติหน้าที่” ของศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้แพทองธารในฐานะนายกรัฐมนตรีไม่สามารถใช้อำนาจหน้าที่ได้โดยตรง แต่ไม่ได้กระทบต่อการทำงานของรัฐบาลทั้งหมด รองนายกรัฐมนตรียังสามารถรักษาราชการแทนได้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
รองนายกฯ รักษาราชการแทนระหว่างนายกฯ ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
คำร้องที่ 36 สว. ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เป็นกลไกตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 ที่กำหนดว่าความเป็นรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงเฉพาะตัวด้วยเหตุใดบ้าง ตาม 170 (4) คือ ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 ซึ่งในมาตรา 160 (4) และ (5) กำหนดให้รัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
กรณีที่มีข้อโต้แย้งว่ารัฐมนตรีขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) หรือ สว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่แต่ละสภา สามารถเข้าชื่อต่อประธานสภาหรือประธานวุฒิสภาเพื่อส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยได้ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้ถูกร้อง “หยุดปฏิบัติหน้าที่” ได้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 82)
การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ ผลที่ตามมา คือ รัฐมนตรีที่ถูกร้อง จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งนั้นได้ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 กำหนดอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เช่น กำกับบริหารราชการแผ่นดิน โยกย้ายข้าราชการจากกระทรวงหรือกรมหนึ่ง ไปดำรงตำแหน่งในอีกกระทรวงหรืออีกกรม บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่งซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการ เท่ากับว่า ในช่วงเวลาที่ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ นายกรัฐมนตรีจะไม่สามารถใช้อำนาจเหล่านี้ได้
ระหว่างที่ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีทั้งคณะจะยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยมีรองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี กรณีที่มีรองนายกรัฐมนตรีหลายคน จะต้องให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน (พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 41)
ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 320/2567 ลงวันที่ 17 กันยายน 2567 ระบุลำดับรองนายกรัฐมนตรีที่จะเป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ โดยลำดับที่หนึ่ง คือ ภูมิธรรม เวชยชัย และลำดับที่สอง คือ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ แต่ยังปฏิบัติหน้าที่รมว. วัฒนธรรมฯ ได้
ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่เพิ่งปรับไปหลังจากรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยลาออกถอนตัวจากรัฐบาลเพิ่งได้รับโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 โดยปรากฏชื่อของแพทองธาร ชินวัตร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมด้วยอีกตำแหน่ง
อย่างไรก็ดี คำร้องของ 36 สว. ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญไปในขณะที่แพทองธารดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น และคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป ดังนั้น แพทองธาร จะยังสามารถปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้ต่อไป เพียงแต่ห้ามใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี
รัฐบาลเดินหน้าต่อไป นายกฯ ยังไม่พ้นตำแหน่งจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย
ระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัย นายกรัฐมนตรีจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป ยังไม่พ้นตำแหน่งยกเว้นจะมีเหตุอื่น เช่น สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 151)
กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของแพทองธาร ชินวัตรไม่สิ้นสุดลง คณะรัฐมนตรีก็ยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของแพทองธาร นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง คณะรัฐมนตรีทั้งคณะจะพ้นตำแหน่ง กระบวนการที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น คือสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเลือกนายกรัฐมนตรีจากแคนดิเดตจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้า หรือ 25 คน