ข้าหลวงใหญ่ฯ – ผู้รายงานพิเศษ UN แสดงความกังวลเรื่องการยุบพรรคก้าวไกล พร้อมขอให้ทบทวนการใช้มาตรา 112

หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลในวันที่ 7 สิงหาคม 2567 พร้อมสั่งตัดสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคจำนวน 11 คนเป็นเวลาสิบปี ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติด้านสิทธิเสรีภาพทางความคิดและในการแสดงออก แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย รวมทั้งยังแสดงความกังวลไปถึงการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นมูลเหตุที่นำไปสู่การยุบพรรค พร้อมเรียกร้องให้ไทยทบทวนเรื่องการใช้มาตรา 112

OHCHR-UN

8 สิงหาคม 2567 หนึ่งวันหลังศาลมีคำวินิจฉัยยุบพรรค Volker Türk ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติแสดงความกังวลว่า

การยุบพรรคมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเสรีภาพในการแสดงออก การรวมตัวสมาคม รวมถึงสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมกับกิจการสาธารณะ และชีวิตทางการเมืองในประเทศไทย Türk กล่าวต่อไปว่า ไม่ควรมีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดที่จะถูกลงโทษในลักษณะที่เกิดขึ้นเพียงเพราะการผลักดันการปฏิรูปกฎหมายอย่างสันติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่มีเนื้อหาส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

Türk เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสวงหาแนวทางที่จะให้การรับประกันประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง โอบรับคนทุกกลุ่ม รวมถึงส่งเสริมและเคารพต่อเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมตัวสมาคม Türk ยังเรียกร้องให้ยุติการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อกดปราบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้วย

อ่านความเห็นข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ต่อมาวันที่ 12 สิงหาคม 2567  Irene Khan ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิเสรีภาพทางความคิดและในการแสดงออก ออกมาแสดงความกังวลต่อกรณีการยุบพรรคด้วยเช่นกัน ซึ่งในเดือนเมษายน 2567 Irene Khan เคยส่งจดหมายมาสอบถามข้อเท็จจริงจากทางการไทยแล้ว

Khan ให้ความเห็นโดยสรุปได้ว่า รู้สึกตกใจต่อการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเครื่องมือในการยุบพรรคการเมืองที่มีจำนวนเสียงมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎรและใช้กำจัดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกจากการเมือง

Khan กล่าวต่อไปว่า การเสนอให้มีการปฏิรูปกฎหมายและการถกเถียงในประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน ถือเป็นแกนกลางของระบอบประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการตัดสินใจกับสิ่งที่มีผลต่อสาธารณะ ไม่ควรมีพรรคการเมืองใดที่ถูกยุบ และไม่ควรมีสมาชิกพรรคการเมืองคนใดที่ต้องถูกกีดกันออกจากการเมืองเพียงเพราะปฏิบัติตามหน้าที่และบทบาทของตัวเอง

ต่อข้อเสนอการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 Khan ให้ความเห็นว่า ข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลจะทำให้ประเทศไทยยกระดับการปฏิบัติให้เป็นไปตามตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ศาลรัฐธรรมนูญกลับสร้างบรรทัดฐานด้วยการลงโทษสมาชิกรัฐสภาที่พยายามจะปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ

Khan แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยว่า เป็นสิ่งที่ไปกันไม่ได้กับประชาธิปไตยสมัยใหม่ ทั้งยังล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนั้นความพยายามที่จะปฏิรูปอย่างสันติก็ควรได้รับการสนับสนุนไม่ใช่ถูกขัดขวาง

อ่านความเห็นผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติด้านสิทธิเสรีภาพทางความคิดและในการแสดงออก

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage