เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ยื่นหนังสือถึง กมธ.นิรโทษฯ ขอให้มีมตินิรโทษทุกคดี รวม 112

วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 เวลา 11.30 น. เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนและตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ได้แก่ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, ใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์, ปอ-กรกช แสงเย็นพันธ์, ณัฐ-ณัฐชนน ไพโรจน์, แหวน-ณัฏฐธิดา มีวังปลา, นิว-จตุพร, สิริชัย นาถึง, บอย-ธัชพงศ์ แกดำ, ฮ่องเต้-ธนาธร วิทยเบญจางค์, สุวรรณา ตาลเหล็ก และบี๋-นิราภร อ่อนขาว เดินทางมายังรัฐสภา (เกียกกาย) เพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อตัวแทนคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม โดยมีจุดประสงค์ในการเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม มีมติ “นิรโทษกรรมทุกคดีรวมมาตรา 112”

ศูนย์ทนายเพื่อสิทธินมุษยชนเผยว่าในวันเดียวกัน เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ที่รัฐสภาจะมีการประชุมของคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้อีกครั้งเป็นครั้งที่ 18 ซึ่งจะมีการพิจารณาและลงมติในประเด็น คดีและฐานความผิดที่จะนิรโทษกรรม โดยเฉพาะในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และ 112 ซึ่งในการประชุมครั้งที่ผ่านมาที่ประชุมได้เสนอและมีความเห็นแตกต่างเป็นสามแนวทาง ได้แก่ 1) ไม่นิรโทษกรรมทั้งสองมาตรา 2) นิรโทษกรรมทั้งสองมาตราแต่มีเงื่อนไขพิเศษ 3) นิรโทษกรรมทั้งสองมาตราโดยไม่มีเงื่อนไข 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบ ม.112 ถูกใช้เพื่อแอบอ้างหาประโยชน์ส่วนตัว

เวลา 11.30 – 11.40 น.  เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนและตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เข้ายื่นหนังสือต่อศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ในฐานะตัวแทนคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม หลังจากนั้นพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในฐานะตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวแถลงต่อสื่อมวลชนและยื่นหนังสือโดยมีใจความว่า ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ได้ประชุมครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมาโดยมีการแยกประเภทคดีที่มีการกระทำจากแรงจูงใจทางการเมือง  เป็นคดีหลัก คดีรองและคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง คือ คดีมาตรา 110 มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียของการนิรโทษกรรมโดยมีความเห็นทั้งควรรวม หรือรวมอย่างมีเงื่อนไขหรือไม่รวม โดยไม่มีมติของคณะกรรมาธิการฯ ไปในทางใดทางหนึ่ง

       เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของภาคประชาสังคม 23 องค์กร ได้ผลักดันการนิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งรวมถึงการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 110 และมาตรา 112 เห็นว่าคณะกรรมาธิการฯ ได้ใช้เวลาศึกษาการตรากฎหมายนิรโทษกรรมกว่าหกเดือน ย่อมต้องมีความความรู้ความเข้าใจสถานการณ์มากกว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มิได้เป็นคณะกรรมาธิการฯชุดนี้ เครือข่ายนิรโทษกรรมจึงขอนำเสนอเหตุผลและข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อการพิจารณานิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ดังต่อไปนี้

  1. ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่าหลังรัฐประหาร คสช. มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 อย่างน้อย 169 คน แยกเป็นคดีจากการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกต่าง ๆ อย่างน้อย 106 คน ในจำนวน 90 คดี ส่วนที่เหลือเป็นกรณีแอบอ้างหาประโยชน์ 

ตั้งแต่การชุมนุมปี 2563 จนถึงวันที่ 24 พ.ค. 2567 มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 272 คน ในจำนวน 303 คดี

ปัจจุบัน(ข้อมูลถึงวันที่ 18 ก.ค.67)มีผู้ต้องขังคดีทางการเมือง 43 ราย โดย 25 ใน 43 รายเป็นคดีมาตรา 112  จะเห็นได้ว่าแม้คดี 112 จากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมามีจำนวนคนถูกดำเนินคดี 272 คน ซึ่งยังน้อยกว่าสถิติคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 1,466 คน แต่ผู้ต้องขังทางการเมืองมากกว่าครึ่งนั้นเป็นคดีมาตรา 112 

  1. มาตรา 112 เป็นคดีที่เกิดขึ้นจากทั้งนโยบายในทางการเมือง และมีเหตุจูงใจในทางการเมือง กล่าวคือ 
  • ก่อนการรัฐประหาร 2557 ตัวอย่างคดีดาร์ ตอปิโด คดีอากง คดีสมยศ พฤกษาเกษมสุข ศาลยุติธรรมลงโทษเฉลี่ยกรรมละ 5 ปี
  • หลังการรัฐประหาร 2557 มาตรา 112 เป็นหนึ่งในประเภทคดีที่หัวหน้าคสช.ประกาศให้ขึ้นศาลทหาร ศาลทหารลงโทษเฉลี่ยนกรรมละ 8-10 ปี และมีการปราบปรามอย่างรุนแรงโดยคดีที่เกิดระหว่างกฎอัยการศึกไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ในศาลทหาร มาตรา 112 และการรัฐประหารยังทำให้เกิดผู้ลี้ภัยไทยที่หนีไปยังต่างประเทศ และผู้ลี้ภัยอย่างน้อย 9 รายที่เกี่ยวข้องกับการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้ถูกอุ้มหายหรือเสียชีวิต 
  • ในช่วง ก.พ.2561 – พ.ย.2563 เป็นห้วงการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบังคับใช้มาตรา 112 จากที่ปราบปรามอย่างเข้มข้น เป็นการใช้มาตรการอื่นแทน เช่นใช้มาตรา 116 ใช้ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ใช้กฎหมายอย่างบิดเบือนหรือใช้วิธีการนอกกฎหมาย เพื่อการงดใช้มาตรา 112
  •  ต่อมาในวันที่ 15 มิถุนายน 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ให้สัมภาษณ์ว่าในหลวงไม่ต้องการให้ใช้มาตรา 112 เพราะทรงมีพระเมตตา แต่ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 พลเอกประยุทธ์กลับประกาศจะใช้กฎหมายทุกมาตรา จนทำให้เกิดการดำเนินคดีมาตรา 112 ระลอกล่าสุด  แม้ศาลจะลงโทษเฉลี่ยนกรรมละ 3-4 ปี แต่จำนวนคนที่ถูกดำเนินคดี 112 ในระลอกนี้ถือว่าสูงสุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

การเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการของผู้มีอำนาจนี้ชี้ได้อย่างชัดเจนถึงความเป็นการเมืองของคดี 112 ไม่มีคดีไหนที่มีความผันผวนในเรื่องการบังคับใช้สัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมืองเท่ากับคดีมาตรา 112 อีกแล้ว

  1. ตัวอย่างสภาพปัญหาของคดีมาตรา 112  อาทิเช่น
  • มาตรา 112  ตั้งแต่ ตัวบทบัญญัติ ซึ่งรวมการกระทำ “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาดมาดร้าย” ไว้ด้วยกันทั้งที่ลักษณะการกระทำต่างกันและความมีโทษที่ต่างกัน  มีข้อสังเกตว่าการเหมารวมการกระทำเช่นนี้ เกิดขึ้นแม้กระทั่งในคำพิพากษาก็มักจะพิพากษาไปรวมๆ ว่าเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาดมาดร้าย เหล่านี้เห็นได้ชัดในกลุ่มคดีที่เกิดจากการล้อเลียนเสียดสี ซึ่งยังมีข้อถกเถียงว่าการล้อเลียนหรือเสียดสีนั้นไม่ใช่การดูหมิ่น แต่ศาลมักพิพากษาไปโดยรวมว่าเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทแสดงความอาฆาดมาดร้าย
  • มาตรา 112 มีโทษที่สูงเกินสัดส่วนไม่สัมพันธ์กับการกระทำความผิด  โดยในคดีซึ่งเป็นการแสดงความเห็นทางออนไลน์ ไม่ได้ก่อความเสียหายใดๆในทางกายภาพ แต่ศาลต้องลงโทษขั้นต่ำหนักถึงสามปี  อาทิเช่น คดีวารุณี ซึ่งโพสต์ภาพพระแก้วทรงชุดราตรีในภาพที่ ร.10 เปลี่ยนเครื่องทรง การกระทำดังกล่าวเป็นลักษณะล้อเลียนเสียดสีหรือเป็นภาพมีมแต่กลับถูกลงโทษจำคุกถึงสามปี รับสารภาพเหลือหนึ่งปีหกเดือน โดยไม่รอลงอาญาและไม่ให้สิทธิประกันตัว ปัจจุบันวารณีถูกคุมขังมา 11 เดือนจากการโพสต์ภาพมีมเพียงหนึ่งภาพ หรือ กรณีของธนพรแม่ลูกอ่อนของบุตรสองคน ซึ่งถูกดำเนินคดีจากการแสดงความเห็นใต้ภาพ ร.9 ศาลฎีกาตัดสินจำคุกสี่ปี รับสารภาพลดโทษเหลือกึ่งหนึ่ง เป็นสองปี ศาลฎีกาไม่รอการลงโทษ ทำให้เธอต้องติดคุกถึงสองปีทั้งที่ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน กรณีดังกล่าวแม้จำเลยรับสารภาพแต่โทษที่ได้รับเมื่อพิจารณากับลักษณะการกระทำจะเห็นว่ามีสัดส่วนที่รุนแรงเกินไป
  • มาตรา 112 ไม่มีบทยกเว้นความรับผิดอย่างเช่น มาตรา 329 ในเรื่องหมิ่นประมาท ทำให้บุคคลที่วิจารณ์ด้วยความสุจริตก็ยังถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ดังจะเห็นได้จากกรณีคดีปราศรัยหลายสิบคดีกล่าวถึงการออกกฎหมายขยายพระราชอำนาจหลายฉบับ หรือ การประกอบการในบริษัทที่ผลิตวัคซีน กรณีดังกล่าวหากเป็นหน่วยงานรัฐออกกฎหมายขยายอำนาจตน หรือ มีบริษัทเอกชนส่งมอบวัคซีนล่าช้าทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการรักษาพยาบาลหรือเสียชีวิต ประชาชนย่อมสามารถวิจารณ์ได้โดยสุจริต แต่กรณีนี้หากเป็นเรื่องเดียวกันแต่เปลี่ยนประธาน การวิจารณ์โดยสุจริตในเรื่องที่เกี่ยวพันกับชีวิตประชาชนกลับการเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
  1. เมื่อพิจารณาความเคลื่อนไหวทางการเมืองกลับไปในรอบสิบปีจะเห็นว่าสังคมส่งเสียงถึงปัญหาของคดีมาตรา 112 เป็นระลอกๆ หากแต่ได้รับความเพิกเฉยจากผู้มีอำนาจ จนปัญหาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ การนิรโทษกรรมในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการคลี่คลายความขัดแย้งให้สังคมยังสามารถเดินต่อไปได้ท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่าง หากการนิรโทษกรรมครั้งนี้ไม่รวมคดีมาตรา 112 เท่ากับว่าการนิรโทษกรรมครั้งนี้ไม่ได้แก้ไขหรือคลี่คลายความขัดแย้งใดๆ ซึ่งเป็นการตอกย้ำความขัดแย้งที่มีอยู่เดิม
  2. ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ที่ส่วนหนึ่งกลายเป็นคดีความมาตรา 112 ควรได้รับการแก้ไขและพูดคุยทำความเข้าใจโดยตัวแทนของประชาชนซึ่งก็คือในพื้นที่ของสภาผ่านสภาผู้แทนราษฎร หากปัญหาที่ท้าทายดังกล่าวไม่ถูกบรรเทาโดยตัวแทนของปวงชนแล้ว สถานการณ์อาจเดินหน้าถึงทางตัน หรือขัดแย้งกันรุนแรงมากยิ่งขึ้น
  3. การนิรโทษกรรมเป็นข้อเรียกร้องที่สามารถทำได้โดยไม่ส่งผลกระทบกับโครงสร้างอำนาจใดๆ เลย ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การปฏิรูปสถาบัน ไม่ใช่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม  ไม่ใช่การแก้ไขมาตรา 112 เป็นแต่เพียงการเยียวยาสถานการณ์ และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเริ่มต้นชีวิตใหม่โดยปราศจากพันธนาการของคดีความ
  4. กลไกพิเศษสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เห็นว่า การควบคุมตัวบุคคลตามมาตรา 112 เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ (arbitrary detention) และแสดงความห่วงใยถึงรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่องต่อการดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ เป็นเวลากว่าทศวรรษที่กลไกติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับการฟ้องร้องและการบังคับใช้ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญาในไทย และยังเรียกร้องให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ซ้ำแล้วซ้ำอีก

       ความเห็นของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการในกรณีของตะวัน ตัวตุลานนท์ (A/HRC/WGAD/2023/49)เป็นกรณีล่าสุดรายที่ 10 ของไทย ซึ่งนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2555 คณะทำงานฯ พบว่าการลิดรอนเสรีภาพของบุคคล 10 รายที่ถูกควบคุมตัวภายใต้มาตรา 112 ถือเป็นการ “กระทำโดยพลการ” เนื่องจากฝ่าฝืนบทบัญญัติหลายบทของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) และ ICCPR ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ผู้ต้องขังแปดรายได้รับการปล่อยตัวหลังรับโทษจำคุก ขณะที่รายเก้า อัญชัน ปรีเลิศ ยังคงถูกคุมขัง หลังจากถูกตัดสินจำคุก 87 ปีในเดือนมกราคม 2564

การนิรโทษกรรมคดี มาตรา 112 จะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยสอดคล้องกับที่ประเทศไทยประกาศลงสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ. 2025-2027 ในทางตรงกันข้ามการมีนักโทษทางความคิด หรือนักโทษทางการเมืองนั้นเป็นภาพลักษณ์ที่บ่งบอกถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังเกิดขึ้นในประเทศไทย

ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงดังกล่าว เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน จึงขอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ได้มีมติรวมคดีมาตรา 112 ในผลการศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมด้วย

ณัฐชนน ลั่นไม่รวม 112 การนิรโทษกรรมก็ไม่เป็นผล

เวลา 11.40 น. ตัวแทนผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 รวมเจ็ดคนที่มายื่นหนังสือได้กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องนิรโทษกรรม รวม 112 โดย แหวน-ณัฏฐธิดา มีวังปลา กล่าวโดยมีใจความว่ามาตรา 112 มีผลเสียในห้าประเด็น ได้แก่ การตีความที่กว้างขวางมากเกินไป ทำให้เสรีภาพในการแสดงออกถูกจำกัด ในบางคดีที่ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นฯ ก็ถูกดำเนินคดี อาทิเช่น คดีของตนเองที่แค่ถือกระดาษ A4 ใบเดียวก็ถูกฝากขังสามปีหกเดือน และถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองรวมถึงบ่อยครั้งทำให้เกิดการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน ไม่มีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากลและสุดท้ายคือทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ต่อมาปอ-กรกช แสงเย็นพันธ์ กล่าวโดยมีใจความว่า นิรโทษกรรมประชาชนคือการสร้างหลักประกันสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย รวมถึงเสรีภาพในการพูดและแสดงออกเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่เป็นปัญหาในรัฐธรรมนูญ ซึ่งการที่ไม่รวมมาตรา 112 จะทำให้เกิดการแบ่งแยกว่าเมื่อไม่ใช่คดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ก็ต้องกลายเป็นความขัดแย้งส่วนตัวระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับกับประชาชน และเขายังกล่าวทิ้งท้ายว่าหากไม่รวม จะส่งผลให้การรณรงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตจะมีปัญหาอย่างแน่นอน

หลังจากนั้นณัฐ-ณัฐชนน ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า “การนิรโทษกรรมจะไม่เป็นผลอะไรเลย จะไม่สร้างผลดีให้แก่ภาพรวมทางการเมืองเลย ถ้าการนิรโทษกรรมครั้งนี้ไม่รวมมาตรา 112 เข้าไป” จากนั้นเขาได้อธิบายต่อโดยมีใจความว่า หลายคดีที่รวมอยู่ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีส่วนสำคัญคือคดีมาตรา 112 ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีเกือบ 300 คดี ปัจจุบันผู้ต้องขังทางการเมืองที่อยู่ในเรือนจำประมาณร้อยละ 50 มาจากคดีมาตรา 112 หากการนิรโทษกรรมครั้งนี้ไม่รวมมาตรา 112 ผู้ต้องหาในคดีที่มีแนวโน้มจะถูกส่งเข้าเรือนจำก็คือคดีมาตรา 112 และความขัดแย้งที่ต้องการแก้ไข เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพในประเทศไทยที่ทุกคนหวังว่าอยากจะให้ดีขึ้นก็จะไม่ถูกทำให้เป็นผล 

ต่อมาบอย-ธัชพงศ์ แกดำ กล่าวโดยมีใจความว่า ในสังคมมีข้อบกพร่องและมีข้อผิดพลาด แต่เราก็สามารถที่จะเรียนรู้และเติบโตไปกับประสบการณ์เหล่านั้นได้และที่ผ่านมาได้มีการนำมาตรา 112 มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายมากมายที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองเพราะมาตรา 112 มาหลายทศวรรษและตัวเขาเองเขื่อว่าทุกฝ่ายล้วนแต่มีความปรารถนาดีต่อบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นรุ่นพ่อ รุ่นแม่ เสื้อเหลือง เสื้อแดง ผู้ที่อยู่ในเรือนจำ ผู้ที่ลี้ภัยและบางคนที่ต้องตายและเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร การให้อภัย การสร้างความร่วมมือในการที่จะนิรโทษกรรมประชาชนคือหัวใจสำคัญ เป็นโอกาสที่สังคมจะก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน หากสภาฯ ปิดประตูการนิรโทษกรรมมาตรา 112 ความขัดแย้งก็จะคงอยู่ตลอดไป

ตามด้วยมายด์-ภัสราวลี กล่าวโดยมีใจความว่า หากไม่รวม ปัญหาความขัดแย้งในสังคมที่รัฐบาลหวังว่าจะให้คลี่คลายไปก็จะไม่จบลง ถ้าหากว่ารัฐบาลและคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมไม่เหลือพื้นที่ในการพูดคุยเท่ากับว่ากำลังจะผลักเรื่องนี้ให้ต้องไปคุยบนท้องถนน และย้ำว่าเกินกว่าครึ่งของนักโทษทางการเมืองที่อยู่ในเรือนจำคือนักโทษในคดีมาตรา 112 เมื่อได้รัฐบาลชุดใหม่แล้วก็ควรจริงจังต่อการคืนความยุติธรรมให้กับความเป็นปกติในการใช้เสรีภาพสักที

ต่อมาใบปอ-ณัฐนิช กล่าวโดยมีใจความว่า ที่ผ่านมามีผู้ถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 มากมายและมีเพื่อนๆ อีก 40 กว่าคนที่ยังอยู่ในเรือนจำและมีผู้เสียชีวิตภายใต้การคุมขังจากมาตรา 112 ซึ่งก็คือ บุ้ง-เนติพร สเน่ห์สังคม มาตรา 112 คือกฎหมายอาญาเหมือนกับกฎหมายอาญาทั่วไป จากนั้นจึงกล่าวด้วยประโยคคำถามว่า “ทำไมจะนิรโทษกรรมไม่ได้” ใบปอย้ำว่า “ไม่ใช่เวลาที่ต้องมาถกเถียงแล้วว่าจะรวมหรือไม่รวม แต่ถึงเวลาที่เราต้องรีบดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเกิดการสูญเสียของเพื่อนๆ ของเราอีก”

และสุดท้าย ตะวัน-ทานตะวัน กล่าวโดยมีใจความว่า มีคนเจ็บปวด มีคนตาย มีคนที่ตายทั้งเป็นจากมาตรา 112 และได้อ้างถึงกรณีของ บุ้ง-เนติพร สเน่ห์สังคม ที่ต้องเสียชีวิตภายใต้การถูกคุมขังอันมีเหตุในการถอนประกันมาจากคดีการทำโพลสอบถามเรื่องขบวนเสด็จ ตะวันกล่าวว่า “คุณมีพลังอำนาจที่จะสามารถคืนความยุติธรรมให้กับพวกเขาได้ แม้คุณจะไม่มีพลังวิเศษที่จะสามารถฟื้นคืนชีวิตพวกเขากลับมาให้เราได้ แต่ว่าอย่างน้อยๆ แล้วคุณมีอำนาจที่จะสามารถคืนความยุติธรรมให้กับเขาได้… และแม้ความเจ็บปวดของเราจะไม่ได้ลดลงเลยก็ตามแต่อย่างน้อยๆ คุณมีอำนาจตรงนั้นอยู่แล้ว และอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญเลยก็คือถ้าคุณสามารถนิรโทษกรรมไอ้พวกแม่งที่ทำรัฐประหารได้ เพราะฉะนั้นคุณก็ต้องสามารถนิรโทษกรรมนักโทษทางความคิดได้เหมือนกัน”  

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนย้ำ กมธ. นิรโทษกรรมต้องรวม 112

การเข้ายื่นหนังสือครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากที่ประชุมครั้งที่ผ่านมา (ครั้งที่ 17) ในวันที่ 11 ก.ค. 2567 ไม่มีมติเป็นที่ชัดเจนว่าจะนิรโทษกรรมคดี มาตรา 110 และ 112  ด้วยหรือไม่ โดย นิกร จำนง เลขานุการ กมธ. ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมมีการตกลงกันว่า จะไม่ลงมติในประเด็นนี้ แต่จะเป็นการเก็บความเห็นของ กมธ. แต่ละคนไว้ในรายงานเพื่อที่จะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป 

การเข้ายื่นหนังสือของเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนและตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ต่อกรรมาธิการฯ จึงเป็นการย้ำถึงจุดยืนและข้อเรียกร้องของภาคประชาชนที่ต้องการให้การนิรโทษกรรมที่จะมีขึ้นในครั้งนี้นั้นครอบคลุมถึงคดีมาตรา 112 ด้วย และเรียกร้องให้กรรมาธิการฯ มีมติที่ชัดเจนเสนอต่อสภาฯ

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ นิรโทษกรรมมีกรอบระยะเวลาทำงานจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ โดยมติของคณะกรรมาธิการสุดท้ายจะถูกสรุปเป็นรายงานการศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เสนอต่อสมาชิกผู้แทนราษฎร (สส.) และวุฒิสภา (สว.) เพื่อประกอบการพิจารณา อภิปราย และยกมือโหวต เมื่อร่างนิรโทษกรรมทั้งหมดถูกบรรจุเป็นวาระเข้าสู่สภาฯ ซึ่งปัจจุบันมีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ถูกเสนอเข้าสู่สภาฯ ทั้งหมดสี่ฉบับ ด้วยกัน ได้แก่ 

๐ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ของภาคประชาชน

๐ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ของพรรคก้าวไกล

๐ ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสันติสุข ของพรรครวมไทยสร้างชาติ

๐ ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสันติสุข ของพรรคครูไทยเพื่อประชาชน

ทั้งสี่ฉบับข้างต้นได้ผ่านขั้นตอนการรับฟังความเห็นที่มีต่อร่างฯ บนเว็บไซต์รัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เป็นไปได้ว่าเมื่อคณะกรรมาธิการชุดนี้มีมติและรายงานผลการศึกษาแล้ว อาจมีการพัฒนาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นร่างที่ห้าจากผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการชุดนี้ก็เป็นได้

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ