หลังลี้ภัย เป็นครั้งแรกที่ได้ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ : เมลิญณ์ สุพิชชา

28 เมษายน 2568 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจัดงานเสวนาหัวข้อ “ก้าวต่อไปของนิรโทษกรรม ก้าวต่อไปของผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง” โดยมีเมลิญณ์ สุพิชชา หรือที่ในอดีตรู้จักกันในชื่อ “เมนู” นักกิจกรรมทางการเมืองที่เคลื่อนไหวตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เรียกร้องให้ปฏิรูปการศึกษา และต่อมาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เธอเข้าร่วมการเสวนามาจากระบบออนไลน์ เพราะตอนนี้เธอเป็นผู้ลี้ภัยอยู่ที่ประเทศแคนาดา 

เมลิญณ์เล่าถึงชีวิตของตัวเองเมื่อต้องเดินทางไปอยู่ประเทศใหม่ว่า ช่วงแรกๆ ที่ลี้ภัยออกมาไม่มีความคิดอยากกลับบ้านเลย รู้สึกดีใจและตื่นเต้นกับโลกใบใหม่ของตัวเอง แต่พอผ่านไปนานเข้าก็จะมีความรู้สึกคิดถึงบ้าน (Homesick) 

ในเมืองแวนคูเวอร์ที่เมลิญณ์อยู่อาศัย มีคนไทยอยู่จำนวนไม่น้อยทั้งที่เป็นผู้ลี้ภัยและเป็นคนทั่วไป ซึ่งเมลิญณ์เล่าว่า สังคมที่เราอยู่ตอนนี้ มีอิสระเสรีภาพ มีสิทธิมนุษยชนอย่างที่ควรจะมี มีช่วงแรกเคยมีทหารไทยตามมาถึงที่นี่ เคยมีตัวแทนสถานทูตไทยตามไปถ่ายรูป แต่ก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้ การที่มีเสรีภาพทำให้ผู้คนมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง ช่วงที่มีการเลือกตั้งทุกคนก็ติดตาม มีการจัดปาร์ตี้กันเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยน ผู้ลี้ภัยชาวไทยก็เข้าสังคมกับคนไทยที่อยู่กันในเมืองแวนคูเวอร์ มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนแบบไม่มีเพดาน ทำให้เห็นถึงปัญหามาตรา 112 ในประเทศไทยว่าเป็นสิ่งที่ผิด

“หลังจากที่ลี้ภัยออกมา เหมือนกับเป็นครั้งแรกที่เราได้ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป คนไทยจะติดภาพของ “เมนู สุพิชชา” เป็นเด็กมัดหางม้า ชูสามนิ้ว หันหลัง หรือภาพของเราที่ทำผมสีแดงไปทำโพลเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ คนจะติดภาพว่าเราเป็นผู้นำสูงมาก แต่ว่าพอได้ลี้ภัยมาก็ทำให้เราได้กลับไปเป็นคนปกติทั่วไปอีกครั้งหนึ่ง แล้วทำให้เรารู้สึกเศร้ามากๆว่า นี่คือสิ่งที่เราควรจะได้เป็นตั้งแต่แรก ไม่ควรมีเด็กคนไหนเลยที่จะต้องเสียสละชีวิตตัวเอง อนาคตของตัวเอง กับการถูกปิดปากและถูกคุกคามมากขนาดนี้” เมลิญณ์เล่า

ผู้ลี้ภัยตื่นเต้นรอข่าวนิรโทษกรรม

สำหรับความความเห็นของสถานการณ์ที่รัฐบาลปัจจุบันไม่ได้พยายามผลักดันร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเพื่อยุติการดำเนินคดีทางการเมือง และอาจเป็นโอกาสทางกฎหมายอย่างเดียวที่จะทำให้เธอได้กลับบ้านนั้น เมลิญณ์กล่าวว่า วันที่มีการดึงเอาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าไปในสภา เพื่อนๆ ตื่นเต้นกันมากโดยเฉพาะพลอย (เยาวชนผู้ลี้ภัยไปแคนาดาพร้อมกัน) มีคนอื่นด้วยที่ตั้งตารอคอยมากๆ แล้วก็คอยดูไลฟ์ นอนดึกเลย ผลที่เกิดขึ้นมาคนก็รู้สึกผิดหวัง แต่ก็ไม่ได้ตกใจอะไรขนาดนั้นเพราะเข้าใจว่าสภาพการเมืองไทยก็คงเป็นไปในทิศทางนี้อยู่แล้ว 

“ผู้ลี้ภัยที่ออกนอกประเทศมาแล้ว รู้สึกว่ามีอิสรภาพ แล้วก็รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น แวบแรกที่ได้ยินเรื่องร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็สองจิตสองใจว่าอาจจะไม่อยากกลับ แต่เมื่อมองเห็นคนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งเพื่อนคนอื่นๆ ที่ยังอยู่ในประเทศ หรืออยู่ในคุกก็รู้สึกแย่จริงๆ” เมลิญณ์ เล่าความรู้สึก 

เมลิญณ์ยังให้ข้อมูลเพิ่มด้วยว่า เมื่อปี 2567 มีผู้ลี้ภัยอยู่ที่แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดาหกคน มาถึงปีนี้มีผู้ลี้ภัยมาเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัว เป็น 12 คน ซึ่งแปลว่าความไว้วางใจของประชาชนที่อยู่ในประเทศนั้นน้อยมากๆ จนกระทั่งยอมเดินทางไปเสี่ยงชีวิตในประเทศที่สอง และไปตั้งหลักที่ประเทศใหม่ เวลานี้ก็ยังมีคนที่รออยู่ในประเทศที่สองรอการได้ไปประเทศที่ปลอดภัยอีก และยังมีคนต้องไปอยู่ในประเทศอื่นอีกมาก 

112 ของประเทศไทยในสายตาชาวโลก

เมลิญณ์เล่าประสบการณ์ว่า สิ่งที่สัมผัสได้จากสถานการณ์โดยรวมของประเทศไทย คือ ต่างชาติให้ความสนใจมากจริงๆ โดยเฉพาะยูเอ็น และยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยโดยตรง สังเกตได้ว่ากระบวนการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 นั้นกระบวนการเสร็จสิ้นเร็วมาก ทำให้เห็นได้ว่า ความรับรู้เกี่ยวกับปัญหาของมาตรา 112 เป็นเรื่องที่รับรู้กันว่า เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ควรเกิดขึ้น ขัดแย้งต่อหลักการเสรีภาพอย่างร้ายแรง

จากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับเพื่อนต่างชาติ เมลิญณ์พบว่า ประเด็นผู้ลี้ภัยของไทยเป็นเรื่องที่มีความเฉพาะตัวมาก (Unique) เพราะผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่หนีจากภัยสงคราม หรือต้องลี้ภัยด้วยเหตุศาสนา หรือเรื่องเพศ มีไม่มากที่ลี้ภัยเพราะเป็นเรื่องการเมืองโดยตรง นอกจากนี้เธอยังได้คุยกับคนที่ลี้ภัยชาวไทยที่ต้องออกจากประเทศตั้งแต่ยุคก่อนๆ เมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ทุกคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่ากระบวนการตอนนี้ดีขึ้นมาก ไม่ยากลำบากเหมือนตอนที่พวกเขามาก่อนหน้านี้ 

“เวลาเราพูดว่า เราโดนหมายจับสองครั้ง โดนจับสองครั้งในหนึ่งอาทิตย์ โดนตำรวจลากตัวไปเลย โดนรถตำรวจขับตาม มันเป็นเรื่องปกติของคนที่ไทย คนแบบ อ๋อ แย่จังเลย แต่พอไปพูดในต่างประเทศมันเป็นเรื่องใหญ่มากๆ โดยเฉพาะกับอายุของเราที่ยังเป็นเยาวชนด้วย” 

“คดีมาตรา 112 ของเรา เกิดจากการที่เราพูดถึง “ฟูฟู” มันเป็นอะไรที่โคตรไม่เป็นเหตุเป็นผลเลย (make sense) แล้วเราก็อายมากๆ ทุกครั้งที่เราต้องอธิบายกับต่างชาติ นักกิจกรรมต่างชาติ สถานทูต ให้ฟังว่าเราโดน 112 จับเข้าไปขังคุกใต้ดินของศาลจากการไปว่าหมา มันเป็นความอับอายมาก จึงยิ่งไม่เป็นเหตุเป็นผลอีกถ้าไม่เอาคดีมาตรา 112 ไปรวมในการนิรโทษกรรม แต่เราก็สัมผัสได้ถึงความกลัวของเขา ถ้าไม่มีกฎหมายนี้แล้ว” เมลิญณ์กล่าว

“การตั้งคำถามกับกฎหมายเป็นสิ่งที่ควรทำจริงๆ เราควรสงสัยคนที่ไม่กล้าตั้งคำถามกับกฎหมายมากกว่าว่า ทำไมถึงกลายเป็นแบบนี้ การที่เราสนใจและตระหนักรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง มันเป็นหนึ่งในสิทธิ ในหน้าที่พลเมืองโลกที่ทุกคนควรทำกัน” ผู้ลี้ภัยที่กำลังจะได้สัญชาติแคนาดา กล่าวฝากไว้