เปิดคำฟ้องคดีหมิ่นประมาท กรณีสุชาติ ชมกลิ่น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งขณะฟ้องคดีเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ยื่นฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาชนสองคน คือ รักชนก ศรีนอก หรือ ไอซ์ เป็นจำเลยที่ 1 และ สหัสวัต คุ้มคง หรือ เนม เป็นจำเลยที่ 2
การฟ้องคดีนี้เกิดขึ้นหลังจากสส. ฝ่ายค้านสองคน แถลงข่าวต่อเนื่องเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินในกองทุนประกันสังคมของสำนักงานประกันสังคมที่มีข้อน่าสงสัย และเป็นรายจ่ายที่ทำให้ผู้ประกันตนอาจเสียประโยชน์ เช่น งบประมาณในการไปดูงานต่างประเทศ ที่ปรากฏตารางการดูงานอันน่าสงสัย หรืองบประมาณการจัดพิมพ์ปฏิทิน 55 ล้านบาท เป็นต้น หนึ่งในรายจ่ายของกองทุนประกันสังคม คือ การลงทุนซื้อตึกย่านพระราม 9 ในราคา 7 พันล้านบาท ซึ่งสส. ทั้งสองคนมองว่า แพงเกินกว่าความเป็นจริง เพราะมีราคาประเมินอยู่ที่ 3 พันล้านบาทเท่านั้น
หลังจากการให้สัมภาษณ์เพื่อเปิดโปงกองทุนประกันสังคมหลายครั้ง สุชาติ ชมกลิ่น ตัดสินใจยื่นฟ้องคดีฐาน “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” ต่อสส. ทั้งสองคนเป็นคดีอาญา พ่วงด้วยคำขอเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนแพ่ง โดยฟ้องจากการแถลงข่าวสองครั้ง เป็นความผิดสองกรรมต่างวาระกัน คือ การแถลงข่าวหน้าตึก “สกายไนน์ เซ็นเตอร์” เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2568 และการแถลงข่าวที่สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568

ในคำฟ้องของสุชาติ ชมกลิ่น มีคำขอดังนี้
- ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินสองปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท
- ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันลงข้อความขอขมาและลงคำพิพากษาโฆษณาทางวิทยุโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ เป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกัน โดยเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายเอง
- ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหาย 50,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
- ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความในอัตราสูงสุดด้วย
โดยค่าเสียหาย 50,000,000 บาท โจทก์คำนวนจากค่าเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติคุณ ของโจทก์เป็นเงินจำนวน 24,000,000 บาท ค่าเสียหายแก่หน้าที่การงานและทางทำมาหาได้ และความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการของโจทก์ เป็นเงินจำนวน 25,000,000 บาท ค่ายุ่งยากที่ให้จัดจ้างบุคคลมาค้นคว้าเพื่อสืบหาข้อมูลเกี่ยวกับจำเลยและบุคคลอื่นๆ ที่หมิ่นประมาทดูหมิ่นโจทก์ เป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท
จำเลยพยายามเลี่ยงการกล่าวถึงตรงๆ แต่ก็ระบุตัวได้
การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นต้องเป็นการ “ใส่ความโจทก์” และต้องเป็นการกระทำที่ระบุได้ว่า หมายถึงตัวโจทก์จริงๆ หากเป็นการพูดโดยไม่ระบุตัวตนที่แท้จริง หรือใช้ชื่อย่อ และในบริบทที่พูดไม่สามารถเข้าใจได้ว่ากำลังหมายถึงใคร ก็จะไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
จากข้อเท็จจริงการถอดเทปการแถลงข่าวของจำลยทั้งสองในคำฟ้องของโจทก์พบว่า จำเลยทั้งสองพยายามหลีกเลี่ยงการถูกฟ้องแล้ว และในวันที่ 10 มีนาคม 2568 พยายามไม่พูดชื่อของโจทก์ออกมาตรงๆ แต่พูดให้พอเข้าใจความหมายได้ อย่างไรก็ดี การที่จำเลยพูดถึงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก็ย่อมทำให้ระบุถึงตัวโจทก์ได้อยู่แล้ว และต่อมาในวันที่ 11 มีนาคม 2568 จำเลยก็พูดชื่อโจทก์ออกมาตรงๆ ดังนี้
จำเลยที่ 1 กล่าวว่า “มีชื่อนักการเมืองพรรคไหนบ้างหรือไม่นะคะ หรือว่าเป็นนักการเมืองที่อยู่ในพรรคที่เกี่ยวข้องกับพรรคที่อยู่ในป่านะคะ ที่ก็ต้องบอกว่าเอ่อมันก็น่าสงสัย เนอะเพราะว่าท่านอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เนี่ยก็อยู่นะคะ พรรคพลังประชารัฐเนอะก็ลองๆ อยากให้ทุกท่านเนี่ย ได้ไปลองหาข้อมูลดูเนอะ เพราะว่าก็ต้องเซฟตัวเองสักนิด นะ เดี๋ยวพูดหมดเดี๋ยวจะโดนเขาฟ้องนะคะ…”
จำเลยที่ 2 กล่าวว่า “ช่วงปี2565 คับ ผมตั้งคำถามถึงการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองในการเข้าซื้อสินทรัพย์ เรื่องที่น่าสนใจอยู่ตรงนี้ครับ คนที่มีอำนาจโยกย้ายข้าราชการแต่งตั้งโยกย้ายข้างราชการในตอนนั้นเนี้ย ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีการแต่งตั้งโยกย้ายเด็กหน้าห้องของตัวเองมาอยู่ในกลุ่มงานที่เรียกว่า งานบริหารความเสี่ยงและกำกับการลงทุนเพื่อมาเป็นคนทำแผนรายปี ในการตัดสินใจว่าจะซื้ออะไร …”
จำเลยเพียงตั้งคำถาม ตั้งข้อสังเกต ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง
การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นต้องเป็นการ “ใส่ความโจทก์” ซึ่งหมายถึงต้องเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง เช่น การกล่าวหาว่า โจทก์ทุจริตคอร์รัปชั่น หรือการกล่าวหาว่าโจทก์หลอกลวงประชาชน แต่หากเป็นเพียงการตั้งข้อสงสัยเพื่อให้เกิดการแสวงหาข้อเท็จจริงต่อ หรือการตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการคิดโดยไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง ก็ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
จากข้อเท็จจริงการถอดเทปการแถลงข่าวของจำลยทั้งสองในคำฟ้องของโจทก์พบว่า ลักษณะการพูดในการแถลงข่าวของจำเลยทั้งสองคนพยายามใช้วิธีการตั้งข้อสังเกต และตั้งข้อสงสัยโดยไม่ได้ยืนยันว่า โจทก์กระทำสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องอย่างไร เพื่อให้เกิดการคิดและตั้งข้อสงสัยตาม ซึ่งอาจทำให้การกระทำนั้นไม่เข้าข่ายความผิด ตัวอย่างเช่น
จำเลยที่ 2 กล่าวว่า “ผมก็เลยตั้งข้อสงสัยว่า ไอ้ดีลตึกเนี่ย มันเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองหรือเปล่า เพราะอย่างที่เห็นครับ มีการโยกเด็กหน้าห้องตัวเองมาทำดีลนี้โดยตรงไปอยู่ในคณะกรรมการพิจารณา มีการผลักดันให้เกิดดีลนี้ นี่คือสิ่งสำคัญที่พ่อแม่พี่น้องผู้ประกันตนควรจะต้องตั้งข้อสังเกตครับว่าที่ผ่านมาการลงทุนของกองทุนประกันสังคมเนี่ย ไม่เคยเปิดเผยต่อประชาชนเลยว่า ไปทำอะไร ซื้อตึกอยู่ที่ไหนบ้าง… ซึ่งผมตั้งข้อสังสัยอย่างนี้คับว่า การโยกย้ายข้าราชการในปี 2565 เนี้ยมันเป็นอำนาจโดยตรงของรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานในขณะนั้น ท่านเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือไม่ ถ้าคำสั่งในการโยกย้ายมาจากท่านจริง ท่านได้ประโยชน์สิ่งใดจากการซื้อตึก…”
หรืออีกจังหวะหนึ่งที่นักข่าวถามว่า “การทุจริตเนี้ย เท่ากับว่าเกิดขึ้นในสมัยรัฐมนตรีคนก่อนใช่มั้ยคะ” จำเลยที่ 1 ตอบว่า “ยังไม่คอนเฟิร์มว่าเป็นการทุจริตนะคะ” ด้านจำเลยที่ 2 ตอบต่อไปว่า “ถ้าการโยกย้ายนี้เกิดขึ้นภายใต้คำสั่งของรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่นจริงๆ เนี้ย มันก็ต้องตั้งข้อสังเกตว่าได้ประโยชน์อะไรจากการย้ายหน้าห้องของตัวเองไปอยู่ตรงนั้น แล้วดูจากทามไลน์นะครับดูจากทามไลน์ พอดีลนี้เสร็จเนี่ย ก็ไปได้ดิบได้ดีต่างประเทศทันที ซึ่งมันเป็นเรื่องที่น่าตั้งข้อสงสัยมากๆ”
คำฟ้องโจทก์ยืนยัน มีคนเชื่อตามจำเลยจำนวนมาก โจทก์เสียหายต่อทางเจริญก้าวหน้า
ส่วนหนึ่งของคำฟ้องโจทก์ ระบุไว้ดังนี้
จำเลยทั้งสองมีเจตนาในการใส่ความโจทก์ต่างกกรมต่างวาระกัน เพื่อให้มีการเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนทุกแขนง และเพื่อให้นักข่าวหรือสื่อมวลชนสำนักต่างๆ รวมทั้งผู้ชม ผู้ฟัง ซึ่งเป็นบุคคลที่สามหรือประชาชนวิญญูชนทั่วไป เข้าใจและเชื่อในถ้อยคำที่จำเลยทั้งสองร่วมกันไขข่าว หรือแถลงข่าวใส่ความโจทก์ ให้เข้าใจและเชื่อได้ว่า ขณะที่โจทก์เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กระทำการแสวงหาผลประโยชน์ให้จนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต ด้วยการอาศัยอำนาจหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน วางแผนเพื่อให้มีสำนักงานประกันสังคมได้ลงทุนดำเนินการซื้อสินทรัพย์ คือ ที่ดินพร้อมอาคารชื่อ “สกายไนน์ เซ็นเตอร์” ที่ตั้งอยู่บนถนนพระราม 9 อันเป็นอาคารของลูกชายของบุคคลผู้เป็นสมาชิกในพรรคพลังประชารัฐเดียวกันกับโจทก์
จำเลยทั้งสองย่อมทราบเป็นอย่างดีอยู่แล้วว่า โจทก์ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ไม่มีหน้าห้องและไม่มีอำนาจแต่งตั้งบุคคลที่จำเลยทั้งสองตั้งชื่อสมมติให้เข้าไปอยู่ในกลุ่มงานบริหารความเสี่ยงและกำกับการลงทุน เพื่อให้เป็นคนทำแผนรายปี และไม่มีอำนาจตั้งอนุกรรมการนอกตลาด ไม่มีอำนาจเกี่ยวข้องหรือสั่งการให้มีการลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ ตึกอาคาร โจทก์ไม่เคยได้รับผลประโยชน์อื่นใดทั้งโดยตรงและโดยอ้อมตามที่จำเลยทั้งสองใส่ความอย่างเลื่อนลอยเพื่อมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมืองให้ตนเองและพรรคประชาชนที่จำเลยทั้งสองสังกัดอยู่นั้นได้รับความนิยมมากขึ้น
ข้อความของจำเลยทั้งสองที่ใส่ความโจทก์นั้นจะติดอยู่เป็นเวลานานยากแก่การลบออกให้หมดสิ้นไปได้ ซึ่งการให้ข่าวหรือให้สัมภาษณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวนั้นมีผู้เข้าอ่าน ชม ฟัง ทั้งแชร์ต่อ และมีผู้แสดงความคิดเห็นในทำนองคล้อยตามและเชื่อตามที่จำเลยทั้งสองโฆษณานั้นเป็นจำนวนมาก และกว้างขวาง
โจทก์เป็นผู้มีชื่อเสียง มีหน้าตาในสังคม เป็นที่รู้จักของคนไทยอย่างกว้างขวาง ต้องเสียหายต่อหน้าที่การงานทางการเมือง ทางทำมาหาได้ และทางเจริญก้าวหน้าของโจทก์ จากการกระทำของจำเลยทั้งสองยากที่โจทก์จะกอบกู้ชื่อเสียงกลับมาได้ดังเดิม ทั้งยังยุ่งยากที่ให้จัดจ้างบุคคลมาค้นคว้าเพื่อสืบหาข้อมูลเกี่ยวกับการที่จำเลยทั้งสองนำความหมิ่นประมาทและดูหมิ่นโจทก์ ความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าวไม่อาจกลับคืนมาดังเดิมได้