
สมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 ที่มาจากระบบแบ่งกลุ่ม-เลือกกันเอง กำลังตกเป็นที่จับตามองเมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) “มุดโพรง” หาช่องทางกฎหมาย เข้ามารับคดี “โกงเลือก สว.” ด้วย โดยมุ่งเน้นไปที่ความผิดฐานฟอกเงินและอั้งยี่ ทั้งที่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว.ฯ) กำหนดความผิดฐานจูงใจผู้สมัคร ตามมาตรา 77 และความผิดฐานทุจริตการเลือก ตามมาตรา 62 ซึ่งผู้รับผิดชอบหลัก ก็คือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นอกจากนี้ มาตรา 77 วรรคท้าย ยังกำหนดว่า หากจูงใจโดยให้หรือเสนอว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่คำนวณเป็นเงินได้ ให้ถือเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้ กกต. มีอำนาจส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการต่อได้
ด้าน สว. โต้กลับด้วยการส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สิ้นสุดลง เพราะขาดคุณสมบัติ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติกรรมฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) โดยฝั่งผู้ร้องให้เหตุผลว่า การที่ภูมิธรรม ประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) และทวี รองประธาน มีมติให้รับคดีโกงเลือก สว. เป็นคดีพิเศษ โดยอาศัยกลไกตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 21 (2) เป็นการแทรกแซงหรือครอบงำหน้าที่และอำนาจของ กกต. โดยใช้ DSI เป็นเครื่องมือแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบการเลือก สว. อันเป็นการกลั่นแกล้ง กดดัน ข่มขู่ และครอบงำ สว. ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจและฝ่าฝืนหลักนิติธรรม จึงถือได้ว่าภูมิธรรมและทวีไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ “เอกฉันท์” สั่งให้ทวี สอดส่อง หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม “เฉพาะ” ในฐานะผู้กำกับดูแล DSI และรองประธาน กคพ. จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ส่วนภูมิธรรม ยังไม่ปรากฏเห็นอันควรสงสัยให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ รัฐธรรมนูญ 2560 แม้จะให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งให้รัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากเป็นกรณีที่ถูกร้องว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม แต่รัฐธรรมนูญ “ไม่ได้เขียน” ให้อำนาจศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรี
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคท้าย
ให้นำความในมาตรา 82 มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรีตาม (2) (4) หรือ (5) หรือวรรคสอง โดยอนุโลม เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วย
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 82 วรรคสอง
เมื่อได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง
จากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญทั้งสองมาตรา จะเห็นได้ว่าไม่มีข้อความใด ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เฉพาะส่วน เมื่อดูในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ) ก็ไม่มีบทบัญญัติใด ที่เขียนให้ดุลยพินิจศาลสามารถสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เฉพาะส่วน สำหรับคดีการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 7 (9)
ตามหลักการตีความกฎหมายมหาชน กรณีที่เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร ผู้ตีความ (ซึ่งในที่นี้ก็คือศาลรัฐธรรมนูญ) จะต้องตีความโดยพิเคราะห์จากถ้อยคำ รวมถึงเหตุผลเบื้องหลังของบทบัญญัตินั้นๆ และเมื่อพิจารณาจากหลักการเฉพาะในการตีความรัฐธรรมนูญ ผู้ตีความจะต้องเคารพภารกิจขององค์กรตามที่รัฐธรรมนูญมอบหมาย และต้องคำนึงถึงบูรณภาพแห่งรัฐธรรมนูญ การตีความบทบัญญัติจะต้องสอดคล้องกัน [อ้างอิง : วรเจตน์ ภาคีรัตน์, คำสอนว่าด้วยรัฐและหลักกฎหมายมหาชน, (พิมพ์ครั้งที่ 2 โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2557).]
เมื่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร ใช้คำว่า “หยุดปฏิบัติหน้าที่” อันหมายถึงหน้าที่รัฐมนตรี และเมื่อดูความมุ่งหมายรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ไม่ได้ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญสามารถใช้ดุลยพินิจสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เฉพาะส่วนได้ ศาลรัฐธรรมนูญจึง “ไม่ควร” ใช้ดุลยพินิจเกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายเขียนไว้ หากศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งทวี สอดส่อง หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็สามารถทำให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญได้ โดยการให้หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม