
9 พฤษภาคม 2568 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมการตั้งข้อหาดำเนินคดีกับขบวนการ “โกงเลือก สว.” โดยมีรายชื่อชุดแรกที่จะทำดำเนินคดีก่อน 53 ราย แต่ได้ออกหมายเรียกและนำหมายเรียกไปส่งตามบ้านของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) แล้วหกคน
จากภาพหมายเรียกที่ปรากฏออกมาตามสื่อมวลชนพบว่า ดีเอสไอเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา (พ.ร.ป.สว.ฯ) มาตรา 70, 36, 71 (1) และ 62 ซึ่งเป็นข้อหาฐานการแนะนำตัวฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ข้อหาให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเพื่อให้ลงคะแนน ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาหลักที่ทำให้การเลือกสว. ไม่เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งอาจถูกยื่นต่อศาลฎีกาเพื่อเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้
โดยสมาชิกวุฒิสภาหกคน ที่ได้รับหมายเรียกก่อนเป็นชุดแรกมีดังนี้

1. อลงกต วรกี สว.กลุ่ม 20 อาชีพ “อื่นๆ” ลงสมัครอำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ในการเลือกระดับประเทศรอบเลือกกันเองได้ 43 คะแนน สูงเป็นลำดับที่ 2 ของกลุ่ม และในรอบเลือกไขว้ได้ 67 คะแนน สูงเป็นลำดับที่ 3 ของกลุ่ม
ในเอกสาร สว.3 อลงกตเขียนแนะนำประวัติตัวเองว่า เคยเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี และผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งทางวิชาการ เป็นนักดนตรีระนาดทุ้ม สื่อมวลชน ทำงานมูลนิธิ สมาคมต่างๆ ซึ่งจากเฟซบุ๊กของอลงกตพบว่า สมัยที่รับราชการอยู่ยังรู้จักและร่วมงานกับชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและสส.จังหวัดอุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย
จังหวัดอุทัยธานีที่อลงกตลงสมัคร นอกจากจะเป็นพื้นที่ของสส. จากพรรคภูมิใจไทยแล้ว อุทัยธานียังมีสมาชิกวุฒิสภาจาการเลือกรอบนี้ 5 คน โดย 4 คนเป็นกลุ่มที่ได้คะแนนสูงจน “ล้นกระดาน” และปรากฏว่าในรอบเลือกกันเอง ผู้สมัครจากจังหวัดอุทัยธานีถึง 18 คน ไม่ได้คะแนนเลย คือ มาแบบ “พลีชีพ” ไม่แม้แต่จะลงคะแนนให้ตัวเอง
จากประวัติการทำงานของอลงกตแล้ว เขาควรจะลงสมัครในกลุ่ม 1 “ข้าราชการ” หรือเขายังสามารถลงสมัครในกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่ม 3 กลุ่ม 15 กลุ่ม 17 กลุ่ม 18 แต่เขามาสมัครในกลุ่มที่ 20 ซึ่งเปิดให้ใครสมัครก็ได้ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรมา และในวันเลือกระดับประเทศอลงกตมีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนกับผู้สมัครคนอื่น คือ ไม่นั่งตามเก้าอี้ที่จัดไว้ให้ผู้สมัครนั่ง แต่กลับเดินไปเดินมาพูดคุยกับเจ้าหน้าที่และผู้สมัครคนอื่น ระหว่างการลงคะแนนยังไม่เสร็จ และเข้าไปยืนในพื้นที่ที่ควรเป็นพื้นที่ของเจ้าหน้าที่เท่านั้น https://www.ilaw.or.th/articles/52520

2. โชคชัย กิตติธเนศวร สว.กลุ่ม 19 อาชีพ “อิสระ” ลงสมัครอำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ในการเลือกระดับประเทศรอบเลือกกันเองได้ 40 คะแนน สูงเป็นลำดับที่ 1 ของกลุ่ม และในรอบเลือกไขว้ได้ 63 คะแนน สูงเป็นลำดับที่ 4 ของกลุ่ม
บีบีซีไทยระบุว่า โชคชัยเป็นทายาทของวุฒิชัย กิตติธเนศวร อดีต สส.นครนายก 5 สมัย พรรคภูมิใจไทย ถือเป็นตระกูลการเมืองใหญ่ของจังหวัดนี้ จากเฟซบุ๊กของโชคชัย เมื่อปี 2566 ยังเคยโพสอวยพร “หลานอ๋อง” ปิยวัฒน์ กิตติธเนศวร ผู้สมัครสส. จังหวัดนครนายกพรรคภูมิใจไทย ด้วย
ในเอกสารสว.3 โชคชัยเขียนแนะนำประวัติตัวเองว่า มีอาชีพค้าขายวัตถุมงคล พระเครื่อง ซึ่งถือเป็นอาชีพที่สมัครในกลุ่ม 19 ได้ แต่ที่อยู่จริงในเอกสาร คือ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ไม่ใช่นครนายก
จากข้อมูลการเลือกสว. ระดับประเทศนครนายกเป็นจังหวัดที่มีผู้เข้ารอบเลือกไขว้ระดับประเทศสูงเป็นอันดับที่ 9 ของประเทศ คือ 19 คน โดยได้ สว.จากจังหวัดนี้ 3 คน ซึ่ง 2 คนชนะแบบได้คะแนน “ล้นกระดาน” และนครนายกยังมีผู้สมัครที่ไม่ได้คะแนนเลยในรอบการเลือกไขว้ 3 คน ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศ

3. จิระศักดิ์ ชูความดี สว.กลุ่ม 8 อาชีพ “สิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์” ลงสมัครอำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง ในการเลือกระดับประเทศรอบเลือกกันเองได้ 30 คะแนน สูงเป็นลำดับที่ 5 ของกลุ่ม และในรอบเลือกไขว้ได้ 60 คะแนน สูงเป็นลำดับที่ 1
ในเอกสาร สว.3 จิระศักดิ์เขียนแนะนำตนเองว่า เป็นข้าราชการบำนาญ เคยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, รองอธิบดีกรมป่าไม้ และรับราชการในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
จังหวัดระนองที่จิระศักดิ์ลงสมัครนั้น มีสมาชิกวุฒิสภาจากระบบนี้ 2 คน ซึ่งเป็นผู้ชนะที่ได้คะแนน “ล้นกระดาน” ทั้งคู่ โดยผู้สมัครจากจังหวัดระนองเมื่อเข้าสู่ระดับประเทศ มีมากถึง 22 คนที่ไม่ได้คะแนนเลย คือ มาแบบ “พลีชีพ” ไม่แม้แต่จะลงคะแนนให้ตัวเอง ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีสถิติผู้สมัครที่ไม่ได้คะแนนเลยมากที่สุดของประเทศ นอกจากนี้จังหวัดระนองยังมี สส. คนเดียวมาจากพรรคภูมิใจไทย
จากประวัติของจิรศักดิ์ ซึ่งมีอาชีพเป็นข้าราชการบำนาญ และมีประวัติการทำงานเป็นข้าราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาตลอด จิรศักดิ์ควรจะลงสมัครในกลุ่ม 1 ข้าราชการ เมื่อคนที่มีประวัติอย่างจิรศักดิ์มาสมัครในกลุ่ม 8 ก็ทำให้ผลสุดท้าย สว. จากกลุ่ม 8 เป็นอดีตข้าราชการถึงครึ่งหนึ่ง เป็นข้าราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2 คน และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้กลุ่มนี้ไม่ได้มีตัวแทนคนที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับพลังงานและอสังหาริมทรัพย์มีโอกาสได้เป็น สว.

4. พิบูลย์อัฑฒ์ หฤหรรษ์ปราการ กลุ่ม 16 กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา ลงสมัครอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในการเลือกระดับประเทศรอบเลือกกันเองได้ 34 คะแนน สูงเป็นลำดับที่ 2 และในรอบเลือกไขว้ได้ 62 คะแนน สูงเป็นลำดับที่ 4
ในเอกสารแนะนำตัว สว.3 ของพิบูลย์อัทฒ์ ระบุว่าเคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระหว่างปี 2562-2566 ซึ่งก็คือที่ปรึกษาของพิพัฒน์ รัชกิจประการ แกนนำพรรคภูมิใจไทย วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้งพิบูลย์อัทฒ์โพสเฟซบุ๊กเชิญชวนให้เลือกผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทย โดยมีภาพของอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค และพิพัฒน์ รัชกิจประการอยู่ด้วย
จังหวัดสงขลาที่พิบูลย์อัฑฒ์ลงสมัคร มี สส. จากพรรคภูมิใจไทย 1 คนจาก สส. ทั้งหมด 9 คน แม้ว่าในการเลือกระดับประเทศจังหวัดสงขลามีผู้เข้ารอบเลือกไขว้ได้ 9 คน ซึ่งถือว่าไม่เยอะมากเมื่อเทียบกับจังหวัดที่เข้ารอบกันเกือบทั้งจังหวัด แต่ยังพบว่ารอบเลือกกันเองผู้สมัครจากจังหวัดสงขลา “พลีชีพ” ไม่ลงคะแนนให้ตัวเอง 4 คน ผลสุดท้ายจังหวัดนี้ได้สมาชิกวุฒิสภา 6 คน ซึ่ง 4 คนชนะมาแบบคะแนน “ล้นกระดาน”
จากเอกสาร สว.3 ของพิบูลย์อัฑฒ์ทำให้เห็นได้ว่า เขาเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายและมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีที่อยู่ที่กรุงเทพมหานคร แต่เคยเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ที่อำเภอหาดใหญ่ จึงลงสมัคร สว. ที่หาดใหญ่ได้ ส่วนกลุ่ม 16 ที่พิบูลย์อัฑฒ์ลงสมัครนั้น เปิดกว้างสำหรับผู้ที่ทำอาชีพด้านศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดง บันเทิง และกีฬา ซึ่งก่อนการเลือก สว. คาดหมายว่า นักร้องนักแสดงที่มีชื่อเสียงจะแข่งขันกันในกลุ่มนี้ แต่เมื่อผลการเลือกออกมาพบว่า ไม่มีนักร้องนักแสดงได้รับเลือกเลย แต่มี สว. ที่มีประสบการณ์ด้านกีฬาเกินครึ่งของกลุ่มนี้ รวมทั้งตัวพิบูลย์อัฑฒ์ด้วย

5. วุฒิชาติ กัลยาณมิตร กลุ่ม 11 กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว ลงสมัครอำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ในการเลือกระดับประเทศรอบเลือกกันเองได้ 35 คะแนน สูงเป็นลำดับที่ 2 และในรอบเลือกไขว้ได้ 73 คะแนน สูงเป็นลำดับที่ 1
ในเอกสาร สว.3 วุฒิชาติไม่ระบุอาชีพ แต่เขียนประวัติการทำงานว่าเคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด และดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย
วุฒิชาติรับตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยในยุค คสช. เมื่อปี 2558 ก่อนถูกปลดด้วยคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2560
นอกจากนี้ วุฒิชาติเคยให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย (https://www.bbc.com/thai/articles/cm2jp39mm9lo) ว่า เขาเป็นผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยร่วมลงชื่อแก้ไขมาตรา 112 ในการทำหน้าที่เลขานุการ กมธ. สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา
จังหวัดหนองบัวลำภู มีสมาชิกวุฒิสภา 2 คน ซึ่งเป็นผู้ชนะแบบได้คะแนน “ล้นกระดาน” ทั้งคู่ ในการเลือกระดับประเทศรอบเลือกกันเองผู้สมัครจากจังหวัดหนองบัวลำภู “พลีชีพ” ไม่ลงคะแนนให้ตัวเอง 2 คน

6. พิศูจน์ รัตนวงศ์ กลุ่ม 11 กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว ลงสมัครอำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ในการเลือกระดับประเทศรอบเลือกกันเองได้ 36 คะแนน สูงเป็นลำดับที่ 1 และในรอบเลือกไขว้ได้ 65 คะแนน สูงเป็นลำดับที่ 3
ในเอกสาร สว.3 ของพิศูจน์ ระบุว่า ประกอบธุรกิจโรงแรมซีวิวรีสอร์ท ตามใบอนุญาตเลขที่ 24/2536 และเรือรับนักท่องเที่ยว เมื่อปี 2559 เคยถูกเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติพร้อมทหารจากกองทัพเรือ เข้าตรวจโรงแรมซีวิวรีสอร์ทซึ่งถูกกล่าวหาว่าก่อสร้างบุกรุกพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง รวมทั้งหมด 25 ไร่
จังหวัดตราดมีสมาชิกวุฒิสภา 3 คน ซึ่งเป็นผู้ชนะแบบได้คะแนน “ล้นกระดาน” 2 คน ในการเลือกระดับประเทศรอบเลือกกันเองผู้สมัครจากจังหวัดตราด “พลีชีพ” ไม่ลงคะแนนให้ตัวเอง 1 คน