กระบวนการรื้อรัฐธรรมนูญเก่าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อาจต้องถูกยืดเวลาอีกครั้ง หลังเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 กรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (กมธ.ร่วมฯ) มีมติโดยเสียงข้างมากให้คงไว้ซึ่งระบบเสียงข้างมากสองชั้น (Double Majority) ในการหาข้อยุติสำหรับการทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่
โจทย์สำคัญในการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 (พ.ร.บ.ประชามติ) คือการแก้ไขให้เกณฑ์ในการหาข้อยุติว่าการทำประชามตินั้นจะมีผลสรุปว่าอย่างไร โดยเดิมใน พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 13 กำหนดให้การจะหาข้อยุติได้ก็ต่อเมื่อ (1) มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง (2) มีผลการออกเสียงประชามติเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ
โดยฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลในวันที่ 21 สิงหาคม 2567 เห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องแก้ไขเกณฑ์นี้ โดยลงมติเห็นชอบให้แก้ไข พ.ร.บ. ประชามติในวาระสามด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 409 เสียง เสนอให้แก้ไขเกณฑ์การหาข้อยุติเป็นเกณฑ์เสียงข้างมากธรรมดา คือประชามติจะมีข้อยุติได้เมื่อ (1) ถือเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง โดยเสียงข้างมากนั้นต้องสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่แสดงความคิดเห็น ซึ่งเกณฑ์ในลักษณะนี้จะทำให้การทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่นั้นผ่านง่ายขึ้นและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ต่อมาเมื่อวุฒิสภาได้มีมติเสียงข้างมาก เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 ตีกลับปัดตกเกณฑ์เสียงข้างมากธรรมดาดังกล่าว แล้วล็อคการทำประชาติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่หรือการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่จำเป็นต้องทำประชามติให้ยังคงใช้การหาข้อยุติด้วยเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้นดังเดิม ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 จึงจำเป็นพิจารณาการตีกลับของ สว. อีกครั้งหนึ่งและท้ายที่สุดสภาผู้แทนราษฎรก็มีมติไม่เห็นชอบกับข้อแก้ไขของวุฒิสภาในการให้คงไว้ซึ่งเสียงข้างมากสองชั้น จึงทำให้จำเป็นต้องมีการตั้ง กมธ. ร่วมกันของสองสภาขึ้นมาพิจารณา พ.ร.บ.ประชามติ ขึ้นอีกครั้ง
กมธ. ร่วมฯ ชุดนี้มีสมาชิกกรรมาธิการทั้งสิ้น 30 คน โดยประกอบไปด้วยกรรมาธิการจากฝั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) 15 คน และจากฝั่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 15 คน โดยเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ที่ประชุมกรรมาธิการได้มติเลือก พล.ต.ฉัตวรรษ แสงเพชร สว. ให้เป็นประธานกรรมาธิการ ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 15 เสียง โดยที่ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนเสียงเพียง 8 เสียง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมี กรรมาธิการจากฝั่ง สส. ลาประชุม 1 คน และลาออก 1 คน ทำให้ฝั่ง สส. มีกรรมาธิการเหลือเพียง 12 คน ในขณะที่ฝั่ง สว. มีกรรมาธิการ 14 คน ลาประชุม 1 คน
โดย กมธ.ร่วมฯ ชุดนี้มีการประชุมเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ในการหายุติการทำประชามติและเสียงข้างมากภายในกรรมาธิการมีมติให้ กมธ. ร่วมฯ ชุดนี้ยึดเอาร่างที่วุฒิสภาเห็นชอบมาแล้ว กล่าวโดยสรุปคือ กมธ. เสียงข้างมากยึดตามแนวทางเสียงข้างมากสองชั้นตามที่วุฒิสภาเสนอแก้ไข
ณัชปกร นามเมือง จากเครือข่ายรณรงณ์รัฐธรรมนูญ (CALL) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวประชาไทว่า ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 ว่าตนสามารถอนุมานผลการลงมติตั้งแต่การเลือกประธาน กมธ. ร่วมฯ แม้ว่า สว. จะเข้าประชุมเพียง 14 คน แต่ก็มีคะแนนเสียงมากถึง 16 เสียง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่ามีสองเสียงจากพรรคภูมิใจไทยให้การสนับสนุน และเมื่อเสียงข้างมากใน กมธ. ร่วมฯ ลงมติให้คงไว้ซึ่งเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น ณัชปกรเห็นว่ามีโอกาสที่การแก้ไขกฎหมายประชามตินี้จะถูกยับยั้งไว้ 180 วัน เนื่องจากฝั่ง สส. มีโอกาสสูงที่จะไม่ยอมรับหลักเกณฑ์การทำประชามติแบบสองชั้น หากร่างกฎหมายนี้ถูกยับยั้งอาจจะได้พิจารณาร่างกฎหมายประชามติอีกครั้งหนึ่งในเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม 2568 ซึ่งจะทำให้การทำประชามติครั้งแรกพร้อมกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริการส่วนจังหวัดในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
สำหรับการยับยั้งไว้ 180 วัน จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ฉบับที่ กมธ. ร่วมฯ เห็นชอบนั้นถูกส่งกลับไปยัง สส. และ สว. แยกกัน และเมื่อมีสภาใดสภาหนึ่งลงมติไม่เห็นชอบกับร่างฉบับกมธ. ร่วมฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 138 (2) ให้ถือว่าร่างกฎหมายฉบับนั้นถูก “ยับยั้ง” ไว้ก่อน และเมื่อพ้น 180 วัน สส. อาจสามารถเสนอร่างเดิมที่เคยผ่านความเห็นชอบของ สส. (ฉบับที่ใช้เสียงข้างมากธรรมดา) หรือเสนอร่างของ กมธ. ร่วมฯ ขึ้นมาเสนอใหม่และลงมติด้วยคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของ สส. ได้ จึงจะถือว่าร่างกฎหมายนั้นได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และสามารถทูลเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
ประชามติ 2 ครั้ง หนทางเดียวที่จะมีรัฐธรรมนูญใหม่ทันปี 2570
หลังกระบวนการที่ล่าช้าและอาจไม่ได้เห็นผลในเร็ววันว่าการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติจะเสร็จสิ้นเมื่อไร แล้วผลของการแก้ไขนี้จะใช้เกณฑ์การหาข้อยุติแบบไหน ซึ่งก็จะยิ่งทำให้การทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เกิดขึ้นช้าลงเท่านั้น ส่วนคำถามว่าการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่จะเกิดขึ้นภายในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ที่จะหมดวาระในปี 2570 หรือไม่ หลายฝ่ายก็เริ่มไม่เห็นว่าจะเป็นเช่นนั้น จึงเริ่มมีการนำเสนอแนวทางใหม่ในการทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เพราะแนวทางการทำประชามติสามครั้งตามที่รัฐบาลได้เคยประกาศไว้เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 อาจเกิดขึ้นไม่ทันภายในปี 2570
ทั้งภาคประชาชน รัฐบาล และฝ่ายค้าน เห็นพ้องกันในแนวทางที่จะลดการทำประชามติจากสามครั้ง คือการเพิ่มทำประชามติขึ้นมาก่อนเป็นครั้งแรกเพื่อถามประชาชนก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะมีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ให้ลดลงมาเหลือเพียงแค่สองครั้ง โดยตัดการทำประชามติในครั้งแรกลง ให้การทำประชามติครั้งแรกเป็นการทำประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และทำอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้นแล้วและส่งให้ประชาชนให้ความเห็นชอบ เนื่องจากไม่มีความจำเป็นใดที่จำเป็นจะต้องทำประชามติถึงสามครั้ง แม้แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมากก็ยันยันว่าทำประชามติเพียงสองครั้งก็สามารถเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ ซึ่งสาเหตุที่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ยังไม่มีความคืบหน้ามาจากการที่ประธานสภาไม่บรรจุวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยเหตุที่อ้างว่ายังไม่มีการทำประชามติครั้งแรก
มากไปกว่านั้นหลังการพูดคุยร่วมกันระหว่างกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สส. (กมธ. พัฒนาการเมือง) กับประธานสภาผู้แทนราษฎร พริษฐ์ วัชรสินธุ ประธาน กมธ. พัฒนาการเมืองฯ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ตนได้เสนอนำเสนอคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงข้อสรุปจากการหารือกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยืนยันว่าไม่ได้จำเป็นต้องมีการทำประชามติถึงสามครั้ง ซึ่งการพูดคุยกับประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ข้อสรุปว่าอาจจะมีการยื่นเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง เพื่อให้ทางประธานสภาได้ทบทวนแนวความเห็นเป็นการต่อไป
ในขณะเดียวกัน ร้อยตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรให้สัมภาษณ์กับ BBC หลังจากที่ได้มีการหารือกับ กมธ. พัฒนาการเมืองฯ ว่า พร้อมนำข้อมูลใหม่ที่ได้รับไปประกอบการพิจารณาหากมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาอีกครั้ง ซึ่งตนยอมรับว่าข้อมูลใหม่นี้ “มีน้ำหนัก” และมีโอกาสเปลี่ยนแนวทางได้เนื่องจากทำให้เห็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกระจ่างมากขึ้น