100% หมดลุ้น! รัฐบาลเพื่อไทยไม่จัดประชามติรัฐธรรมนูญพร้อมเลือกตั้งอบจ.


นับถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ตามกฎหมายถือว่า เป็นไปไม่ได้แล้ว 100% ที่จะมีการจัดทำประชามติให้ประชาชนออกเสียงว่าต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ พร้อมกับการเข้าคูหาออกเสียงเลือกตั้งนายก-สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตามที่รัฐบาลเคยวางแผนไว้ก่อนหน้านี้

ปัจจัยที่สำคัญสำหรับวันนี้ คือ

  1. ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 (พ.ร.บ.ประชามติฯ) ที่ใช้อยู่วันนี้ มาตรา 10 และ 11 กำหนดว่าการจัดทำประชามติให้กำหนดภายใน 90-120 วัน 
  2. ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นชอบแผนจัดการเลือกตั้ง นายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ.เกือบทั้งประเทศ เป็นวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568


เนื่องจากนายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ. ส่วนใหญ่จะหมดวาระในวันที่ 20 ธันวาคม 2567 และตามพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 11 กำหนดให้ต้องจัดเลือกตั้งภายใน 45 วันนับตั้งแต่หมดวาระ ซึ่งวันสุดท้ายที่จะจัดเลือกตั้ง อบจ. ได้ “อย่างช้าที่สุด” ตามกฎหมาย คือ วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568

นับจากวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ไปจนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 คิดเป็นเวลา 87 วัน และหากนับถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 ก็เป็นเวลา 89 วันเท่านั้น จึง “เหลือเวลาไม่พอ” ให้ครบ 90 วัน ที่จะจัดทำประชามติได้ตามพ.ร.บ.ประชามติฯ ต่อให้คณะรัฐมนตรีสั่งในวันนี้ว่าให้มีการทำประชามติ ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกับการเลือกตั้ง อบจ. ตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้

แม้ว่า พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 11 จะยังมีข้อยกเว้นให้กำหนดวันทำประชามติแตกต่างไปจากกรอบเวลาได้ กรณีที่มีความจำเป็นทางงบประมาณหรือมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่การกำหนดวันทำประชามติก็ควรจะต้องมีระยะเวลาพอสมควรให้ประชาชนได้เตรียมตัว เตรียมวันว่าง และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อตัดสินใจ และต้องมี “เหตุผลพิเศษ” จริงๆ ที่จะต้องเร่งรีบให้ประชาชนตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ซึ่งยังไม่เห็นเหตุผลพิเศษที่จะเกิดขึ้นและยังไม่เห็นท่าทีของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยว่าจะพยายามใช้เงื่อนไขนี้เพื่อจัดทำประชามติให้เกิดขึ้นได้พร้อมกับการเลือกตั้ง อบจ. 

เพื่อไทยวางแผนทำประชามติสามครั้ง แต่ต้องแก้พ.ร.บ.ประชามติฯ ก่อน

ตามคำประกาศของพรรคเพื่อไทยที่เคยให้ไว้เมื่อวันที่ตัดสินใจเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล คือ จะเร่งจัดให้มีการทำประชามติ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทันทีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกภายใต้รัฐบาลใหม่ 

แต่เมื่อจัดตั้งรัฐบาลได้แล้วก็มีเหตุต้องเลื่อนมาหลายครั้ง จนกระทั่งมีมติคณะรัฐมนตรี ภายใต้รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ในเดือนเมษายน 2567 ให้มีการจัดทำประชามติทั้งหมดสามครั้ง แต่ต้องแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดทำประชามติ พ.ศ.2564 (พ.ร.บ.ประชามติฯ) เสียก่อน ซึ่งก็ดำเนินการมาเป็นระยะเวลานาน จนกระทั่งผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว 

ต่อมารัฐบาลภายใต้นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร มีการวางแผนว่า จะให้จัดทำประชามติรัฐธรรมนูญพร้อมกับการเลือกตั้ง อบจ. เพื่อลดภาระที่ประชาชนจะต้องไปเข้าคูหาหลายครั้ง และลดการใช้จ่ายงบประมาณซ้ำซ้อน ซึ่งหากจะเดินตามแผนนี้ต้องแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติฯ ให้เสร็จและประกาศใช้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 เพื่อจะมีเวลาประมาณ 90 วันก่อนทำประชามติจริง

เนื่องจากในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ มีข้อถกเถียงเรื่องหลักเกณฑ์ที่การทำประชามติแต่ละครั้งจะผ่าน ว่าจะใช้หลัก “เสียงข้างมากสองชั้น” (Double Majority) หรือหลักเสียงข้างมากชั้นเดียว (Simple Majority) แม้สภาผู้แทนราษฏรจะเห็นด้วยกันแทบทุกพรรคการเมือง แต่วุฒิสภามีมติไม่เห็นชอบกับการแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติฯ ของสภาผู้แทนราษฎร ทำให้จะต้องใช้เวลาอีกมากเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการร่วมของสองสภาขึ้นมาพิจารณาหาทางออก

สว. ยืนยันต้องใช้ Double Majority ถ่วงเวลาทุกอย่างช้าจนไม่ทัน

ในวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมรัฐสภาในสมัยประชุมนี้ มีการนัดประชุมคณะกรรมาธิการระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา (กมธ.ร่วมฯ) เป็นนัดแรก เพื่อหาทางออกร่วมกันในความเห็นที่แตกต่างในร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ซึ่งเป็นโอกาส “แทบจะสุดท้าย” หากหาทางออกได้อย่างรวดเร็วการเดินหน้าประกาศใช้กฎหมายและจัดทำประชามติในช่วงต้นปี 2568 ก็ยังเป็นไปได้ แต่ผลปรากฏว่า “ไม่ได้ข้อสรุป” และไม่ใกล้เคียงจะได้ข้อสรุป

ในการประชุมนัดแรกนี้ มีข้อถกเถียงตั้งแต่ใครจะได้เป็นประธานกรรมาธิการ ซึ่งฝ่ายวุฒิสภาเสนอ พล.ต.ฉัตวรรษ แสงเพชร เป็น ประธานกมธ.ร่วมฯ โดยอ้างเหตุผลว่า เป็นคนกลางที่พร้อมรับฟังความคิดเห็นทั้งสองฝ่าย เพราะเคยเป็น ประธาน กมธ. ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ของ สว. มาก่อน แต่ฝ่ายสส. พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย และต้องการให้สส. เป็นประธานกมธ.ร่วมฯ โดยเสนอชื่อประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส. บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยเข้าแข่ง เพราะสส. จะเป็นผู้ตัดสินใจหลักในเรื่องการออกกฏหมายนี้

เมื่อเห็นไม่ตรงกันจึงต้องเลือกโดยการลงมติ ซึ่งกมธ.ร่วมฯ ชุดนี้มีทั้งหมด 30 คน มาจาก สส. 14 คน ลาประชุม 1 คน และลาออก 1 คน เหลือสส. 12 คน ขณะที่ฝ่ายสว. มี 14 คน ลาประชุม 1 คน เหลือสว. เข้าประชุม 13 คน

ผลการลงมติพบว่า
พล.ต.ฉัตวรรษ แสงเพชร ได้ 15 คะแนน
ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ได้ 8 คะแนน
งดออกเสียง 2 คะแนน

ซึ่งการเลือกประธานกมธ.ร่วมฯ เป็นการลงคะแนน “โดยลับ” จึงไม่ทราบว่าใครลงคะแนนให้ใครบ้าง แต่ถ้าหากสว. ทุกคนเลือกสว. เป็นประธาน ก็แสดงว่า มีสส. อย่างน้อย 2 คนที่เลือกให้สว. เป็นประธาน

ในการประชุมนัดแรกนี้ ก็ยังไม่ได้ลงรายละเอียดในเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ แต่นัดประชุมใหม่ในวันพุธที่ 6 พฤศจิกายน 2567 เมื่อดูจากท่าทีของฝ่ายสว. แล้วก็ชัดเจนว่า “ไม่ยอม” และยังมีเสียงสส. ที่เห็นด้วยกับฝ่ายสว. อีก จึงยากที่จะหาข้อสรุปที่เห็นด้วยกันในกมธ.ร่วมฯ ได้อย่างรวดเร็ว

ตามกระบวนการแล้ว กมธ.ร่วมฯ จะต้องหาข้อสรุปอย่างใดอย่างหนึ่ง และรอการเปิดประชุมสภาสมัยหน้าในวันที่ 12 ธันวาคม 2567 แล้วนำร่างของกมธ.ร่วมฯ กลับไปให้ทั้งสองสภาลงมติเห็นชอบอีกครั้ง หากสส. หรือสว. สภาใดสภาหนึ่งลงมติยืนยันไม่เห็นชอบกับร่างของ กมธ.ร่วมฯ เท่ากับ ร่างพ.ร.บ. ประชามติฯ จะถูกยับยั้งไว้ เมื่อพ้น 180 วันแล้ว สส. อาจนำร่างกลับมาลงมติยืนยันตามที่เคยให้ความเห็นชอบไว้ หรือลงมติยืนยันตามร่างใหม่ที่กมธ.ร่วมเสนอก็ได้ ทำให้ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 7-8 เดือนจนกว่าพ.ร.บ.ประชามติฯ จะประกาศใช้ได้ และได้ทำประชามติตามกฎหมายใหม่อย่างเร็วในเดือน กันยายน 2568

และเมื่อยังไม่มีการจัดทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่แม้แต่ครั้งเดียวภายในเร็วๆนี้ เท่ากับเป็นที่แน่นอนแล้วว่า หากเดินตามแนวทางประชามติสามครั้งของรัฐบาลเพื่อไทย “ไม่มีทาง” ที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นได้ภายใต้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ