ปัญหา “เสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น” ใน พ.ร.บ.ประชามติ

การแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 กำลังเป็นอีกประเด็นที่สำคัญในการทำประชามติเพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยเฉพาะการแก้ไขประเด็น “เสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น” (Double majority) ที่อาจเป็นเงื่อนไขในการทำประชามติไม่ว่าจะเรื่องใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตล้มเหลว

“Double majority” ในกฎหมายประชามติ คืออะไร?

ประเด็นเสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น หรือ Double majority ปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.ประชามติฯ ฉบับปัจจุบัน ว่า

ม.13 การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น

ความหมายของมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ คือ การทำประชามติจะเป็นที่ยุติได้ จะต้องมีสองเงื่อนไขที่ต่อเนื่องกันเป็นขั้นตอน หากไม่ครบเงื่อนไขทั้งสองชั้นก็จะถือว่าการทำประชามตินั้นไม่สามารถหาข้อยุติได้ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือไม่ผ่านนั่นเอง

ชั้นที่ 1 ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง เช่น ถ้า “ผู้มีสิทธิออกเสียง” มีจำนวน 40 ล้านคน ต้องมี “ผู้ออกมาใช้สิทธิ” มากกว่า 20 ล้านคน ถ้าผู้ออกมาใช้สิทธิน้อยกว่านั้นจะทำให้ประชามตินั้นตกไป ซึ่งหมายความการไม่ออกไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจจะมีผลต่อการลงประชามติ อย่างไรก็ตาม ถ้ามีผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิก็จะทำให้คำถามที่ถูกทำประชามติยังไม่ตกไป

ชั้นที่ 2 เมื่อผ่านขั้นที่ 1 คือ มีผู้ออกมาใช้สิทธิมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง ขั้นตอนที่ 2 คือ ต้องมีจำนวนเสียงที่เห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ เช่น ถ้ามีผู้ออกมาใช้สิทธิจำนวน 30 ล้านคน ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเห็นชอบกับประเด็นนั้นเกิน 15 ล้านคน ผลการออกเสียงจึงจะเป็นข้อยุติ

กฎหมายประชามติที่ผ่านมา

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการจัดการออกเสียงประชามติแค่เพียงสองครั้ง คือ ครั้งแรกในปี 2550 มีการจัดประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และครั้งที่สองในปี 2559 มีการจัดประชามติร่างรัฐธรรมนูญเช่นกัน แต่หากย้อนกลับไปดูกฎหมายที่ผ่านมาซึ่งเกี่ยวข้องกับประชามติจะพบว่า ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติตั้งแต่ปี 2492 ซึ่งปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งนับจนถึงปี 2566 ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติถึง 13 ฉบับ โดยเป็นรัฐธรรมนูญเก้าฉบับ และกฎหมายระดับรองห้าฉบับ

จากกฎหมายเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติที่ผ่านมีอยู่เพียงสี่ฉบับที่กำหนดเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้เสียงเพื่อหาข้อยุติในการออกเสียงประชามติ คือ รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2549 พ.ร.บ.ประชามติฯ 2552 รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 และ พ.ร.บ.ประชามติฯ 2564 โดยแต่ละฉบับมีความเหมือนและความแตกต่างกันดังนี้

1. ใช้เสียงข้างมากธรรมดาเห็นชอบรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลคณะรัฐประหารที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวและกำหนดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยให้มีการจัดออกเสียงประชามติ โดยกำหนดให้ใช้เสียงข้างมากธรรมดา

2. ใช้เสียงข้างมากสองชั้นเห็นชอบเพื่อหาข้อยุติประเด็นต่าง ๆ ซึ่งการร่างกฎหมายนี้เกิดขึ้นในช่วงรัฐสภาหลังการเลือกตั้งทั่วไป คือ พ.ร.บ.ประชามติฯ ปี 2552 และปี 2564 กล่าวคือ ถ้ารัฐบาลจะทำประชามติประเด็นอะไรจะต้องใช้เสียงข้างมากสองชั้นเพื่อให้ประเด็นนั้นยุติ ซึ่งเกณฑ์นี้ใน พ.ร.บ.ประชามติฯ ปี 2564 กำลังเป็นที่กังวลของหลายฝ่ายว่าอาจทำให้การจัดทำประชามติในอนาคตเต็มไปด้วยความยากลำบาก
3. ใช้เสียงข้างมากธรรมดาในการให้คำปรึกษาคณะรัฐมนตรี ใน พ.ร.บ.ประชามติฯ ปี 2552 มีความแตกต่างจาก พ.ร.บ.ประชามติฯ ปี 2564 คือ ครม. สร้างการจัดออกเสียงประชามติเพื่อขอปรึกษาหารือจากประชาชนได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นข้อยุติ ซึ่งการทำประชามติเพื่อให้คำปรึกษา ครม. นั้น พ.ร.บ.ประชามติ ปี 2552 ให้ใช้เสียงข้างมากธรรมดาเท่านั้น

4. ใช้เสียงข้างมากธรรมดาเห็นชอบเพื่อหาข้อยุติประเด็นต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 ได้กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาแต่งตั้งของ คสช. สามารถเสนอคำถามประชามติเพิ่มเติมได้ โดยคำถามนั้นให้ใช้เสียงข้างธรรมดา ซึ่งในครั้งนั้น สนช. ได้เสนอคำถามที่เปิดทางให้ สว.แต่งตั้งมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ สส.

ข้อกังวลปัญหาและแนวทางการแก้ไข

แนวคิดการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 13 ในประเด็นการใช้เสียงข้างมากสองชั้น ถูกจุดโดย นิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

อย่างไรก็ตามแนวคิดในการแก้ไขประเด็นดังกล่าวเคยถูกเสนอโดย จาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย มาก่อนหน้านี้แล้ว โดยเห็นว่า การไม่แก้ไขประเด็นเสียงข้างมากสองชั้น จะทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติยากมากขึ้น เพราะคนที่ไม่อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านจะสามารถใช้วิธีนอนอยู่บ้านไม่ไปใช้สิทธิ ถ้ามีคนไม่ไปใช้สิทธิ 25-30% รวมกับคนที่ไม่เห็นด้วยเกินครึ่ง ก็เท่ากับว่าการทำประชามตินั้นจะไม่ผ่าน

ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน พริษฐ์ วัชรสินธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เห็นเช่นด้วยกันว่า การใช้เกณฑ์ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง สามารถเปิดช่องให้ฝ่ายที่ “ไม่เห็นด้วย” กับประเด็นที่ถูกถามในประชามติ สามารถใช้วิธี “นอนอยู่บ้าน” เพื่อคว่ำประชามติ แม้ในกรณีที่ฝ่ายที่ “ไม่เห็นด้วย” มีน้อยกว่าฝ่ายที่ “เห็นด้วย” ก็ตาม โดยเสนอสองตัวเลือก คือทางเลือกที่ 1 ให้ปรับเกณฑ์เพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าว ตัดเกณฑ์นี้ออกไป ซึ่งจะทำให้ประชามติวัดจากคนที่มาออกเสียงลงคะแนน และทางเลือก 2 ปรับเกณฑ์เพื่อตัดแรงจูงใจที่คนจะใช้วิธี “นอนอยู่บ้าน” เพื่อคว่ำประชามติ

ขณะเดียวกันก็มีเสียง สว.แต่งตั้ง ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติฯ ในประเด็นการใช้เสียงข้างมากสองชั้น เช่น คำนูณ สิทธิสมาน ที่เห็นว่าที่ผ่านมากฎเกณฑ์เรื่องนี้ยังไม่เคยถูกใช้ นอกจากนั้น กระบวนการผ่านร่างกฎหมายประชามติฉบับนี้ก็ได้รับเสียงจากทั้งสองสภาท่วมท้นและไม่มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เช่นเดียวกันกับ วันชัย สอนศิริ เกณฑ์ตามมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ จะไม่เป็นทางตันที่ทำให้ประชามติไม่ผ่าน หากรณรงค์อย่างกว้างขวางเพียงพอก็จะทำให้คนออกมาใช้สิทธิได้ตามเกณฑ์

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป