เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวโดยระบุว่า รัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (คณะกรรมการประชามติฯ) ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 (พ.ร.บ.ประชามติฯ) ควบคู่กันไปด้วย 

หลังนายกรัฐมนตรีแถลงเสร็จแล้ว ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวโดยให้รายละเอียดต่อว่า ในการทำประชามติครั้งแรกจะใช้คำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”

“ครม. เห็นชอบในหลักการที่คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญนำเสนอ โดยที่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นการทำประชามตินั้น เห็นควรให้มีการออกเสียงประชามติจำนวนสามครั้ง และให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พุทธศักราช 2564 เพื่อให้กฎหมายดังกล่าวสามารถเป็นเครื่องมือทางประชาธิปไตยที่จะช่วยส่งเสริมประชาชน แสดงเจตจำนงในเรื่องต่างๆ ได้โดยตรง”

ทั้งนี้ สิ่งที่คณะกรรมการประชามติ ที่ ครม. เห็นชอบ เคยนำเสนอผลการศึกษาไว้ คือ ให้มีการจัดทำประชามติทั้งสิ้นจำนวนสามครั้ง โดยภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รับผิดชอบการศึกษาแนวทางของคำถามประชามติครั้งแรกนำเสนอคำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” ขณะเดียวกัน ประเด็นอื่นๆ เช่นที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และวันหรือช่วงเวลาการทำประชามติยังไม่มีความชัดเจนขึ้นแต่อย่างใด

จากการแถลงเพิ่มเติมโดยโฆษกรัฐบาลในวันที่ 23 เมษายน 2567 ยังระบุต่อไปว่า ครม. จะไม่ใส่เรื่องที่มาของ สสร. ลงไปในคำถามประชามติครั้งแรก โดยหลังผ่านการทำประชามติครั้งแรกไปแล้วจะยึดรายละเอียดการแก้ไขในเรื่องต่างๆ ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอเข้ามาในวาระการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งเน้นย้ำว่าการทำประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม ถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2567 อย่างแน่นอน ไม่มีทางเกิดขึ้นก่อนหน้าหรือหลังจากนี้ และจะต้องใช้งบประมาณประมาณ 3,200 ล้านบาทในการจัดทำ

สำหรับคณะกรรมการประชามติ ถูกแต่งตั้งโดยเศรษฐาวันที่ 3 ตุลาคม 2566 และทำงานเรื่อยมาจนถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2566 จึงสรุปผล คิดเป็นระยะเวลาสองเดือน 23 วัน และไม่ได้มีผลสรุปที่แตกต่างไปจากแนวทางที่รองนายกรัฐมนตรีเคยประกาศไว้ก่อนการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ หลังจากที่นำเสนอผลการศึกษาแล้วยังมีความพยายามส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง จนทำให้ระยะเวลาการเริ่มก้าวแรกสู่การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ช้าลงกว่าเดิม  

ในด้านของแนวคิดการแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติฯ นั้น ผู้นำเสนอเรื่องนี้ คือ นิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 คู่ไปกับการนำเสนอไอเดียนี้ของ จาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เนื่องจากกังวลว่า หลักการตามกฎหมายเดิมเรื่องการ “ล็อกสองชั้น” หรือ Double Majority จะทำให้การทำประชามติมีโอกาสผ่านยาก

ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีคำถามประชามติของกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ (#conforall) ที่เสนอว่า ““ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่ารัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” เพื่อยืนยันหลักการว่ารัฐธรรมนูญต้องเขียนใหม่ได้ทั้งฉบับและ สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งหมด โดยผ่านการการเข้าชื่อแบบกระดาษของประชาชนกว่า 211,904 รายชื่อ และถึงมือของ ครม. ให้พิจารณาแล้ว ซึ่งครม. ยังไม่เคยแจ้งผลว่า ได้นำไปพิจารณาแล้วตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งตามพ.ร.บ.ประชามติฯ ครม. มีหน้าที่ต้องรับคำถามและรายชื่อจากประชาชนไปพิจารณาด้วย