ผลงานกรรมการประชามติฯ เดินหน้าเป็นวงกลม ประชุมเกือบ 3 เดือนสร้างคำถามมากกว่าคำตอบ

นับตั้งแต่คำสัญญาของพรรคเพื่อไทยว่าจะเริ่มกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทันทีที่เป็นรัฐบาล ผ่านมาจนสิ้นปี 2566 ก็ยังไม่มีความชัดเจน และกลไกคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาโดยรวบรวมคนจากหลายกลุ่มมามากมายก็ไม่ได้ผลอะไรคืบหน้า นอกจากว่าความฝันในการมีรัฐธรรมนูญใหม่ของสังคมไทยยังคงวนเป็นวงกลมกลับมาที่เดิม
หลังจากที่พรรคเพื่อไทยประกาศแยกตัวจากพรรคก้าวไกลเพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยสัญญาว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก มีมติให้ทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทันที แต่ทว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กลับมีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ศึกษาแนวทางการทำประชามติ และให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบ 
ต่อมาในวันที่ 3 ตุลาคม 2566 เศรษฐามีคำสั่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (คณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ) ซึ่งประกอบด้วยกรรมการจำนวนทั้งหมด 35 คน แต่ต่อมาเหลือ 34 คนเพราะพรรคก้าวไกลปฏิเสธที่จะส่งตัวแทนเข้าร่วม
คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติใช้เวลาทำงานถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2566 หรือ 2 เดือน 23 วัน จึงมีการแถลงสรุปผล แต่ดูเหมือนว่ากลุ่มคนที่ประกอบไปด้วยตัวแทนพรรคการเมือง ข้าราชการ ไปจนถึงนักวิชาการรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ที่รัฐบาลไปรวบรวมมานั้น กลับไม่ได้ทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นชัดเจนขึ้น มากไปกว่านั้น เวลาที่เสียไปจากการศึกษายิ่งทำให้การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทอดเวลาออกไปอีก
จากคำสัมภาษณ์ของภูมิธรรมในวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ผลสรุปของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติมีดังนี้

จำนวนประชามติ: 3 ครั้ง

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทำให้พรรคการเมืองบางพรรคและ สว. ใช้เป็นเหตุขวางการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านกระบวนการรัฐสภา จากเดิมที่ต้องใช้ประชามติสองครั้ง คือ หลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 และหลังจากที่มีร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ประชาชนเห็นชอบ ก็มีการทำให้กระบวนการซับซ้อนขึ้นโดยการเพิ่มประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมา คำถามที่ตามมาคือรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยจะเลือกทำประชามติกี่ครั้ง โดยตัวแทนของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติมีกล่าวถึงข้อกังวลเรื่องงบประมาณที่อาจจะบานปลายหากมีการทำประชามติหลายครั้ง
ท้ายที่สุด คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติข้อมีข้อสรุปเสนอ ครม. ให้ทำประชามติสามครั้ง โดยภูมิธรรมกล่าวว่าเรื่องของงบประมาณเป็นเรื่องรองเพราะการร่างรัฐธรรมนูญใหม่สำคัญที่สุด หมายความว่าประชาชนจะต้องเข้าคูหาอย่างน้อยสามครั้งเพื่อให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ไปจนสุดทาง

คำถามประชามติครั้งแรก: ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์

หากมีการทำประชามติสามครั้ง คำถามที่จะใช้ในประชามติครั้งแรกเป็นประเด็นสำคัญ รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยมี “ธง” ตั้งแต่แรกว่าจะห้ามไม่ให้มีการแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อกังวลว่าการตั้งคำถามที่กำหนดเงื่อนไขก่อนที่ทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสได้ตัดสินใจอาจจะกลายเป็นปมที่ทำให้ประชามติไม่ได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง 
ทำให้มีการเสนอทางออกอื่น ๆ เช่น ให้กำหนดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่สามารถทำได้ทั้งฉบับ ภายใต้ข้อห้ามตามมาตรา 255 ห้ามเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือรูปแบบการปกครอง หรือให้นำประเด็นที่จะสร้างปัญหาอย่างหมวด 1 และ 2 เป็นคำถามพ่วง เพื่อแยกคำถามที่เกี่ยวกับเจตจำนงค์ออกจากเนื้อหาและกระบวนการ
แต่เวลาเกือบสามเดือนของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติไม่ได้ทำให้มีข้อเสนอใหม่ บทสรุปของคำถามประชามติคือยังยืนยันว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องยกเว้นหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์

ที่มา สสร.: ไม่ชัดเจน ให้รัฐสภา (สส.+สว.) ตัดสินใจ

ที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เป็นอีกประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติต้องตัดสินใจ ท่ามกลางการเรียกร้องให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ผลการทำงานของคณะกรรมการก็ไม่ได้มีข้อสรุปอย่างชัดเจนที่จะตอบคำถามนี้ โดยมีเพียงว่าจะให้รัฐสภาเป็นผู้ตัดสินใจในขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะลงรายละเอียดเรื่องอำนาจหน้าที่และที่มาของ สสร.
ทว่า การมอบอำนาจให้รัฐสภาทั้งหมดหมายความว่าไม่ใช่แค่ สส. ที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังรวมถึง สว. ที่มาจากการแต่งตั้งจะมีส่วนร่วมด้วย หมายความว่าเมื่อประชาชนเดินเข้าคูหาประชามติ จะไม่มีทางทราบได้เลยว่าผู้ที่จะมาเป็นตัวแทนร่างนั้นจะมีหน้าตาหรือที่มาอย่างไร เพราะอำนาจในการตัดสินใจส่วนหนึ่งอยู่ในมือ สว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

แก้ พ.ร.บ. ประชามติ: ไม่ชัดเจน ให้ครม. ตัดสินใจ

เนื่องจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 กำหนดให้ต้องใช้ “เสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น” เป็นเงื่อนไข ทำให้มีความกังวลจากรัฐบาลว่าผู้ออกมาใช้เสียงอาจจะไม่ถึงกึ่งหนึ่งและทำให้ประชามติไม่ผ่าน สส. บางส่วนจึงเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ก่อนที่จะทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยระยะเวลาที่นานขึ้น
แต่ประเด็นการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คณะกรรมการศึกษาการทำประชามติไม่ได้มีข้อสรุปออกมาอย่างชัดเจน โดยภูมิธรรมกล่าวเพียงว่าเป็นเรื่องที่จะให้ ครม. เป็นผู้ตัดสินใจ 

วันประชามติครั้งแรก: ไม่ชัดเจน ให้ ครม. ตัดสินใจภายใน มี.ค 67

ประเด็นสุดท้ายคือกรอบเวลาของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่หลังจากนี้ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนอีกเช่นกัน โดยคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติจะจัดทำรายงานและเสนอให้กับ ครม. ซึ่งภูมิธรรมกล่าวว่าอาจจะเกิดขึ้นอย่างเร็วในเดือนมกราคมหรืออย่างช้าภายในไตรมาสแรกหรือภายในเดือนมีนาคม 2567 หาก ครม. มีมติตัดสินใจทำประชามติแล้ว ประชาชนก็ได้ไปคูหาในอีก 90-120 วันหลังจากนั้น หรืออย่างช้ากลางปี 2567 อย่างไรก็ตาม ภูมิธรรมก็ยืนยันว่าจะรัฐธรรมนูญใหม่จะต้องเสร็จภายในสี่ปีของรัฐบาลเพื่อไทย
You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป