สหภาพคนทำงานรวมพลหน้าภูมิใจไทย ค้านร่างพ.ร.บ.แรงงานอิสระฯ เรียกร้องใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานกับแรงงานแพลตฟอร์ม

สหภาพคนทำงานรวมพลหน้าภูมิใจไทย ค้านร่างพ.ร.บ.แรงงานอิสระฯ เรียกร้องใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานกับแรงงานแพลตฟอร์ม

27 พฤษภาคม 2568 สหภาพคนทำงานและเครือข่ายรวมตัวชุมนุมหน้าพรรคภูมิใจไทย เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.แรงงานอิสระฯ) ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ผลักดันโดยกระทรวงแรงงาน กำหนดกลไกคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์มแยกออกจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยมีข้อเรียกร้องหลักให้พิพัฒน์ รัชกิจประการ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำร่างกฎหมายนี้ออกจากวาระเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และให้ออกประกาศกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพื่อรับรองสถานะคนทำงานแพลตฟอร์มเป็น “ลูกจ้าง” เหมือนแรงงานประเภทอื่น

กิจกรรมการชุมนุม เริ่มต้นเวลาประมาณ 12.00 น. กลุ่มไรเดอร์ทยอยเดินทางมารวมตัว ณ บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งห่างจากที่ตั้งของสำนักงานใหญ่พรรคภูมิใจไทย 600 เมตร ระหว่างนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมแจกกระดาษแปะไว้ประจำรถของตนเอง สาระสำคัญของถ้อยคำในกระดาษสื่อสารว่าไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.แรงงานอิสระฯ และต้องการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนำร่างกฎหมายนี้ออกจากวาระเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

เวลา 12.49 น. สหภาพคนทำงานและเครือข่ายได้รวมกลุ่มบริเวณฟุตบาท ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า การเดินขบวนไปยังพรรคภูมิใจไทยเพื่อเสนอปัญหาและข้อเรียกร้องห้าข้อ เพื่อนำเข้าสู่วาระการประชุมของพรรคภูมิใจไทยที่จะเริ่มในเวลา 13.30 น. ของวันเดียวกันนี้เอง โดยมีข้อเรียกร้องห้าข้อ ได้แก่

  1. ขอให้ยุติการผลักดันร่างพ.ร.บ.แรงงานอิสระฯ
  2. ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกประกาศกฎกระทรวง เพื่อรับรองสถานะคนทำงานแพลตฟอร์มเป็น “ลูกจ้าง” ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
  3. ให้ประกันสิทธิการเข้าถึงประกันสังคมตามมาตรา 33, กองทุนเงินทดแทนและสวัสดิการพื้นฐานอื่นๆ 
  4. ให้สนับสนุนสิทธิการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรองอย่างเสรีตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98
  5. การกำหนดค่าจ้างต้องไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ/ชั่วโมง ต้องมีมาตรการป้องกันการทำงานเกินเวลาโดยไม่ได้รับค่าชดเชยและต้องกำกับไม่ให้เปลี่ยนค่าจ้างหรือเงื่อนไขโดยพลการ

หลังจากชี้แจงรายละเอียดแล้วเสร็จ ผู้ชุมนุมจึงจัดตั้งขบวนและเริ่มเดินทางมุ่งหน้าสู่พรรคภูมิใจไทย ขณะเดินทางกลุ่มไรเดอร์ส่งเสียงตลอดว่าไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.แรงงานอิสระฯ และเดินทางไปถึงพรรคในเวลา 12.57 น. ทางพรรคเปิดประตูเพื่อให้ผู้ชุมนุมสามารถเดินทางเข้าไปทำกิจกรรมต่อบริเวณหน้าพรรคและอำนวยความสะดวกที่จอดรถและน้ำดื่มให้กับผู้ชุมนุมและสื่อมวลชน 

เวลา 13.09 น. ผู้ชุมนุมทั้งหมดรวมตัวกันบริเวณหน้าตึกสำนักงานพรรคภูมิใจไทยตะโกนส่งเสียงไม่ต้องการร่างพ.ร.บ.แรงงานอิสระฯ ตัวแทนของกลุ่มไรเดอร์ออกมาพูดแสดงความรู้สึก ใจความว่า ร่างพ.ร.บ.แรงงานอิสระฯ ไม่ได้มีเนื้อหาสอดคล้องกับหลักการคือส่งเสริมและคุ้มครองแรงงาน อาจทำให้แรงงานอิสระขาดการเข้าถึงสิทธิแรงงานเพิ่มขึ้น พรรคภูมิใจไทยในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับแรงงานโดยตรง จึงมีส่วนสำคัญที่จะต้องรับฟังปัญหาและนำข้อเสนอไปพิจารณาในการประชุมที่กำลังจะเริ่มขึ้น

ต่อมาเวลา 13.32 น. ไชยชนก ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทยในฐานะตัวแทนพรรค เดินทางลงมาบริเวณหน้าพรรคภูมิใจไทยพร้อมด้วยวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ กรรมการบริหารพรรคเพื่อรับหนังสือและรับฟังปัญหาจากกลุ่มผู้ชุมนุม ไชยชนกแจงว่า พรรคได้เลื่อนประชุมจากเวลาเดิมเป็นเวลา 15.30 น. โดยทางพรรคกำลังเดินหน้าแก้ปัญหาที่กำลังเกิดอยู่โดยเฉพาะในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ แต่เรื่องปัญหาของแรงงานถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้กันจึงอยากเชิญตัวแทนของผู้ชุมนุมเข้าประชุมพูดคุยด้วยกันหลังจากเสร็จกิจกรรมบริเวณหน้าสำนักงาน ก่อนการประชุมพรรคจะเริ่ม

13.42 น. ผู้ชุมนุมอ่านหนังสือข้อเรียกร้องต่อพรรคภูมิใจไทยจนเสร็จสิ้นและได้ยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการต่อไชยชนก และมีกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เผาร่างพ.ร.บ.แรงงานอิสระฯ ก่อนจะส่งตัวแทนผู้ชุมุนมเข้าร่วมพูดคุยกับพรรคภูมิใจไทยในสำนักงานต่อไป กิจกรรมเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 13.50 น.

การแสดงพลังคัดค้านร่างพ.ร.บ.แรงงานอิสระฯ เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เช่น 18 เมษายน 2568 สหภาพคนทำงานแพลตฟอร์มไรเดอร์-รังสิต และตัวแทนกลุ่มไรเดอร์เซ็นเตอร์ รวม 12 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ.แรงงานอิสระฯ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยมี บุปผา สุดเขต รองปลัดกระทรวงแรงงานมาเป็นตัวแทนรับหนังสือหรือร่างพ.ร.บ.แรงงานอิสระฯ เป็นประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในขบวนเดินวันแรงงานสากล MAY DAY 2025  

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage