เสวนา 10 ปี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กับดักเสรีภาพการแสดงออก

12 พฤษภาคม 2568 ที่ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) พิพิธภัณฑ์สามัญชน และ iLaw ร่วมกันจัดเสวนาวิชาการหัวข้อ “พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กับดักเสรีภาพการแสดงออก” นำเสนอข้อมูล แลกเปลี่ยนถึงปัญหาการบังคับใช้เพื่อถอดบทเรียนการใช้บังคับใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) ที่มีอายุครบสิบปีพอดีในวันที่ 14 สิงหาคม 2568

ทบทวนสถานการณ์พ.ร.บ.ชุมนุมฯ รอบสิบปี
พื้นที่ต้องห้ามถูกขยายออก – ไม่แจ้งชุมนุมจะดีกว่า

ชล คีรีกูณฑ์ นักนโยบายสาธารณะ WhipX กล่าวว่า เมื่อถอดบทเรียนการใช้พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ตลอดสิบปี และดูตัวอย่างการบังคับใช้กฎหมายที่กำหนดให้ผู้ชุมนุมต้อง “แจ้งการชุมนุม” ล่วงหน้าต่อตำรวจอย่างน้อย 24 ชั่วโมง แล้วสรุปสั้นๆ ได้คำเดียวว่า สำหรับผู้ชุมนุม “ไม่แจ้งจะดีกว่า” 

กติกาเรื่องการแจ้งการชุมนุมนั้นมีขึ้นเพื่อให้ตำรวจเตรียมการดูแลอำนวยความสะดวกได้ ซึ่งสหประชาชาติเคยมีความเห็นว่า ถ้าไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าก็ไม่เป็นความผิด แต่ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ของไทยกำหนดโทษปรับ 10,000 บาทหากชุมนุมโดยไม่แจ้งล่วงหน้า และยังเป็นเหตุให้การชุมนุมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยเป็นเงื่อนไขให้ตำรวจขออนุญาตศาลเข้าสลายการชุมนุมได้ด้วย

การแจ้งการชุมนุมตามกฎหมายของไทย กำหนดให้ต้องแจ้งวัน เวลา สถานที่ชุมนุม ประมาณการผู้เข้าร่วม เมื่อผู้ชุมนุมไปแจ้งการชุมนุมแล้วพบปัญหาทางปฏิบัติที่ตามมา เช่น ตำรวจฉวยโอกาสเพิ่มภาระให้ผู้ชุมนุม โดยสั่งให้ผู้ชุมนุมต้องไปขออนุญาตใช้เครื่องเสียงและระบุความดังที่ต้องการใช้ให้ชัดเจน หรือต้องให้ผู้ชุมนุมกำหนดชัดเจนว่าจะใช้พื้นที่เท่าใด ปิดถนนกี่เลน เมื่อแจ้งการชุมนุมไปแล้วหากการชุมนุมเกิดเหตุการณ์นอกเหนือจากที่แจ้งไว้ ผู้แจ้งก็ผูกพันต้องมีความรับผิดในฐานะเป็นผู้จัด และเมื่อแจ้งการชุมนุมไปแล้วก็ไม่ปรากฏว่าตำรวจจะจัดการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางเพื่อดูแลการจราจรได้ดีขึ้น

สาเหตุที่สรุปว่า ไม่แจ้งอาจจะดีกว่า ชลอธิบายว่า หากผู้ชุมนุมตัดสินใจไม่แจ้งการชุมนุมเลยตั้งแต่แรก ก็จะมีเพียงโทษปรับ แต่ถ้าแจ้งการชุมนุมแล้วเกิดปัญหาภายหลังอาจทำให้ผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีที่มีโทษสูงกว่า คือ มีโทษจำคุก ทำให้ผู้ชุมนุมตัดสินใจไม่แจ้งการชุมนุม และยอมรับสารภาพเพื่อจ่ายค่าปรับในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม ดีกว่าเสี่ยงจะถูกดำเนินคดีฐานอื่นที่มีโทษจำคุก

บุศรินทร์ แปแนะ เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชน iLaw กล่าวว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แบ่งพื้นที่ที่ห้ามชุมนุมเป็นหลายประเภท เช่น พื้นที่ห้ามชุมนุมโดยสิ้นเชิง เช่น 150 เมตรจากพระราชวัง พื้นที่ห้ามชุมนุมแต่มีเงื่อนไข เช่น ภายในรัฐสภาหรือทำเนียบรัฐบาล ซึ่งอาจได้รับอนุญาตให้จัดชุมนุมได้ และพื้นที่ที่อาจถูกประกาศให้มีข้อจำกัดได้ เช่น 50 เมตร รอบรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล 

เมื่อใช้งานพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็พบปัญหาขาดความชัดเจนว่า 150 เมตรนับอย่างไร ไม่มีการปักป้ายวัดระยะที่ชัดเจน ทำให้ผู้จัดต้องเถียงกับตำรวจว่าจะให้ไปชุมนุม “ตรงนู้น” หรือ “ตรงนี้”  ทำให้ไม่รู้ว่าที่ตำรวจชี้เขตแต่ละครั้งเพราะไม่ต้องการให้ชุมนุมเลยหรือแค่อยากให้พ้นรัศมีเท่านั้น ซึ่งเท่าที่เห็นมีการปักป้ายหนึ่งป้ายเท่านั้นบริเวณสกายวอล์คปทุมวันที่นับระยะจากวังสระปทุม ป้ายนี้มาปักกันหลังกฎหมายใช้บังคับได้หกปีแล้ว หรือพื้นที่ท้องสนามหลวงซึ่งไม่เคยมีการปักป้าย แต่ตำรวจเคยเอารั้วมาตั้งและเอาป้ายไวนิลมาแขวนในช่วงการชุมนุมปี 2563 

การออกประกาศพื้นที่ห้ามชุมนุม 50 เมตรจากทำเนียบรัฐบาลพบปัญหาหลายอย่าง เช่น การประกาศพื้นที่ห้ามชุมนุมสำหรับการชุมนุมหนึ่ง แต่เมื่อประกาศแล้วก็ไปบังคับใช้กับการชุมนุมอื่นด้วย เพราะมีการชุมนุมเรียกร้องหลายประเด็นเกิดขึ้นบริเวณทำเนียบรัฐบาล นอกจากนี้ยังเคยพบกรณีที่ตำรวจนำ “แนวรั้งหน่วงความมั่นคง” ของพระราชบัญญัติถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ.ถวายความปลอดภัย) มาใช้ซ้อนทับกับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพื่อสั่งห้ามการชุมนุมในพื้นที่ที่อาจมีขบวนเสด็จผ่านด้วย และบริเวณทำเนียบรัฐบาลก็ใกล้กับทั้งพระราชวังดุสิตและพระตำหนักจิตรลดารโหฐานด้วย ทำให้พื้นที่รอบทำเนียบรัฐบาลถูกห้ามชุมนุมแบบขยายกว้างออกไป

ถ้าไม่ยกเลิกก็ต้องแก้ไข : เสียงผู้ได้รับผลกระทบจากพ.ร.บ.ชุมนุมฯ

หนึ่งในนั้นคือเสวนาหัวข้อ “ประชาชนในกับดักเสรีภาพการแสดงออก” ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากภาคประชาชนที่เป็นผู้ประสบปัญหากับการบังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยตรง จากวิทยากรสามคน ได้แก่ จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟ (P-move) กัญญ์วรา หมื่นแก้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ และสุนทร บุญยอด ตัวแทนอดีตเครือข่ายพนักงานยานภัณฑ์ ดำเนินรายการโดย ธัชพงศ์ แกดำ

ปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบฯ เพื่อส่งเสียงไปยังผู้มีอำนาจโดยตรง

ทั้งสามคน ต่างเข้ามาชุมนุมในพื้นที่ศูนย์กลางอำนาจอย่าง “ทำเนียบรัฐบาล” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พ.ร.บ.ชุมนุมฯ วาง “เงื่อนไข” ให้ผู้บัญชาการตำรวแห่งชาติสามารถออกประกาศห้ามชุมนุมในพื้นที่ข้างนอกทำเนียบรัฐบาลรัศมีไม่เกิน 50 เมตรได้

จำนงค์ หนูพันธ์ เล่าถึงเหตุผลที่ต้องออกมาชุมนุมว่า ปัญหาที่ดินที่พี่น้องประชาชนพบเจอเป็นปัญหาที่เกิดจากการดำเนินนโยบายของรัฐซึ่งมีประชาชนบางส่วนที่ถูกดำเนินคดีจากนโยบายดังกล่าว บางเรื่องสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยกลไกระดับจังหวัด แต่ปัญหาบางประการก็จำเป็นต้องอาศัยการตัดสินใจจากรัฐบาล จึงต้องมาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล

ด้านกัญญ์วรา หมื่นแก้ว ซึ่งทำงานในประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์ เสริมประสบการณ์ของตัวเองว่า เมื่อไปร้องเรียนกับหน่วยงานภาครัฐในระดับจังหวัด ก็พบปัญหาเช่นเดียวกันคือเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจและอ้างว่าต้องติดตามทวงเรื่องถามต่อในกระทรวงที่รับผิดชอบ กัญญ์วรามองว่าปัญหานี้เกิดจากการระบบราชการของรัฐไทยมีลักษณะรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง กลายเป็นว่าข้อเรียกร้องไปไม่ถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจโดยตรง จึงทำให้ต้องเดินทางจากเชียงใหม่มาชุมนุมที่กรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสียงไปยังผู้มีอำนาจโดยตรง

สุนทร บุญยอด ตัวแทนอดีตเครือข่ายพนักงานยานภัณฑ์ กล่าวว่า  ในทางปฏิบัติแล้วน้อยมากที่แรงงานจะไปชุมนุม แต่เหตุที่แรงงานร่วม 800 กว่าคนต้องออกไปชุมนุม ก็เพราะถูกนายจ้ายเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยซึ่งแรงงานจำนวนไม่น้อยก็มีอายุงานเกินกว่า 10 ปี มีสิทธิที่จะได้ค่าชดเชยหลักแสนบาท แม้จะไปแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจแล้ว แต่ก็ใช้เวลาสี่เดือนตำรวจจึงสรุปสำนวนคดีของผู้เสียหายจำนวน 20 กว่ารายส่งอัยการ ทางแรงงานที่ถูกเลิกจ้างมองว่ากว่าจะดำเนินเรื่องแล้วเสร็จคงล่าช้า จึงไปเรียกร้องกับกระทรวงแรงงานแต่ก็ไร้ความคืบหน้า ทางเครือข่ายเห็นว่า ผู้มีอำนาจจริงๆ คือรัฐบาล จึงเลือกปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม และไปดำเนินการไล่เบี้ยกับนายจ้างภายหลัง

กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือปิดปาก จากที่ควรใช้เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน

จำนงค์ระบุว่า ตนถูกดำเนินคดีข้อหาตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาแล้วแปดคดีในช่วงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดคือ หลังเลือกตั้ง 2566 และผลัดเปลี่ยนรัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทยแล้ว ก็ยังถูกดำเนินคดีตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ อย่างน้อยเก้าคดี หนึ่งในนั้นคือคดีจากการชุมนุมเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกเมื่อเดือนตุลาคม 2566 คดีนี้ศาลยกฟ้องโดยให้เหตุว่าชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ หลังจากนั้นก็ยังคงไปยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ดิน และถูกดำเนินคดีหลายครั้งแม้จะแจ้งการชุมนุมแล้วก็ตาม

การถูกดำเนินคดีส่งผลกระทบต่อการทำงาน บางครั้งจำเป็นต้องลงพื้นที่เพื่อรับฟัง-พูดคุยปัญหากับชาวบ้าน แต่ก็ติดนัดพิจารณาคดีต้องไปศาล จำนงค์มองว่า กลไกตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ควรจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน แต่ทางปฏิบัติแล้วกลับถูกใช้ดำเนินคดีผูกมัดประชาชน

กัญญ์วราเล่าถึงประสบการณ์ถูกดำเนินคดี สืบเนื่องจากชุมนุม 10 เมษายน 2568 ตนไม่ได้ปราศรัย แต่ใช้เครื่องเสียงระหว่างการเจรจากับตำรวจ คดีนี้แม้แต่คนขับรถเครื่องเสียงก็ถูกดำเนินคดี โดยการชุมนุมครั้งนี้มีการแจ้งชุมนุมแล้ว ตามความเข้าใจของตนเอง การแจ้งชุมนุมคือแจ้งเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวกในการชุมนุม ไม่ใช่แจ้งเพื่อขออนุญาต แต่ในทางปฏิบัติพบว่าเจ้าหน้าที่มักใช้ดุลยพินิจขอให้ย้ายหรือเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมหรือห้ามการชุมนุม กัญญ์วรามองว่าการใช้กฎหมายแบบนี้อาจมองได้ว่ารัฐใช้กฎหมายปิดปาก ทำให้ประชาชนไม่กล้าออกมาชุมนุมเพราะกลัวถูกดำเนินคดี แม้จะแจ้งการชุมนุมแล้วก็ตาม สำหรับผลกระทบที่ได้รับ ใกล้ตัวที่สุดคือคนในครอบครัวค่อนข้างกังวลเมื่อได้ยินว่าลูกถูกดำเนินคดี นอกจากนี้ ยังมีภาระเสียเวลาและค่าใช้จ่ายที่ต้องเดินทางจากเชียงใหม่มายังกรุงเทพมหานครเพื่อไปรายงานตัวที่สน.ดุสิต

ด้านสุนทร เล่าประสบการณ์ว่าหลังถูกเลิกจ้าง ก็ไปแจ้งการชุมนุมในบริเวณย่านที่ทำงาน แต่พอถูกฝั่งนายจ้างคัดค้านตำรวจก็สั่งให้เลิกการชุมนุม และถูกนายจ้างเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท อย่างไรก็ดี สำหรับการชุมนุมโดยสหภาพแรงงาน มีกฎหมายที่กำหนดเรื่องนี้โดยเฉพาะ คือ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งหากจะนัดหยุดงานชุมนุมต้องแจ้งให้นายจ้างและนายทะเบียนทราบภายใน 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว สุนทรมองว่าการแจ้งการชุมนุม ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มีความทับซ้อนกับตัวกฎหมายเฉพาะ นอกจากนี้ กลไกการบังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ยิ่งทำให้การชุมนุมในประเด็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนถูกจำกัด และกลายเป็นว่าปัญหาดังกล่าวไม่ถูกสะท้อนไปยังผู้มีอำนาจโดยตรง

พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มีช่องโหว่ หากไม่ยกเลิกก็ต้องแก้ไข

จำนงค์สะท้อนถึงปัญหาของการบังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หนึ่ง ไม่มีความชัดเจนเรื่องมาตรฐานในการดำเนินคดี บางคดีผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมโดยตรงอย่างคนขับรถเครื่องเสียงก็ถูกดำเนินคดีด้วย สอง กฎหมายถูกใช้ไปเป็นเครื่องมือในการปิดปากผู้ที่ออกมาชุมนุม สาม การแจ้งการชุมนุม กลับไม่เป็นประโยชน์กับผู้ชุมนุม เมื่อเปรียบเทียบอัตราโทษแล้ว การไม่แจ้ง มีโทษปรับเป็นพินัย แต่การฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุมหรือจัดการชุมนุม กลับมีโทษจำคุก

ด้านกัญญ์วรา เสริมว่า ในทางปฏิบัติการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีปัญหา เช่น เมื่อมีผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่การชุมนุมเพื่อออกไปซื้อวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหาร ตำรวจอนุญาตให้ออกจากพื้นที่ชุมนุมได้แต่ไม่ให้กลับเข้าพื้นที่ชุมนุม โดยอ้างว่า “นายสั่งมา” ไม่ให้เพิ่มจำนวนผู้ชุมนุม กลายเป็นว่าหากจะเข้าพื้นที่ชุมนุมเดิมก็ต้องเดินอ้อมเข้าทางอีกซอย

ในความเห็นของกัญญ์วรา เห็นว่ากลไกในพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ขัดกับหลักการในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) อีกทั้งทั้งกระบวนการพิจารณากฎหมายยังเกิดขึ้นโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม ควรจะมีการทบทวนรับฟังความเห็นเพื่อแก้ไขกฎหมาย หรือไม่ก็ยกเลิกไปเลย

สุนทร สะท้อนปัญหาของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ออกมาเป็นสามประเด็น หนึ่ง ในพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ได้กำหนดจำนวนขั้นต่ำของผู้เข้าร่วมชุมนุมว่าจำนวนกี่คนถึงจะเข้านิยาม “การชุมนุม” ภายใต้บังคับของกฎหมายนี้ สอง กระทบเสรีภาพประชาชนที่ต้องการเรียกร้องในประเด็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิแรงงาน สาม การพิจารณาเกี่ยวกับคำสั่งตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เช่น คำสั่งยกเลิกชุมนุม ตามมาตรา 21 (1) อยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่ง สุนทรมองว่าการออกคำสั่งดังกล่าว โดยลักษณะแล้วเป็น “คำสั่งทางปกครอง” (ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542) ซึ่งควรจะอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลปกครอง ที่มีกระบวนการพิจารณาคดีแตกต่างจากศาลแพ่งและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ

เขาแสดงความเห็นว่า หากยกเลิกพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ได้ ขั้นต่ำก็ควรจะต้องแก้ไขเนื้อหาพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในสามประเด็นข้างต้น กล่าวคือ หนึ่ง กำหนดจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมขั้นต่ำที่จะเข้านิยามเป็นการชุมนุมตามกฎหมาย สอง กำหนดประเภทหรือประเด็นการชุมนุมที่จะอยู่ภายใต้กฎหมาย และสาม กำหนดให้กระบวนการพิจารณาคำสั่งอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง

10 ปี พ.ร.บ. ชุมนุมฯ : ยกเลิกหรือแก้ไขอย่างไรให้รัฐคุ้มครองสิทธิการชุมนุม

12 พฤษภาคม 2568 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) พิพิธภัณฑ์สามัญชน และ iLaw ร่วมกันจัดเสวนาวิชาการหัวข้อ “พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กับดักเสรีภาพการแสดงออก” ที่ห้องประชุมริมน้ำ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อถอดบทเรียนการใช้บังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่มีอายุครบสิบปีในเดือนกรกฎาคม 2568 และหาทางออกว่าจะแก้ไข ยกเลิก หรือยกร่างพ.ร.บ.ชุมนุมใหม่อย่างไร โดยมีอมรินทร์ สายจันทร์ จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และเฝาซี ล่าเต๊ะ จาก แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล จะร่วมนำเสนอทางออกเพื่อแก้ปัญหาพ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยมีอานนท์ ชวาลาวัณย์ จากพิพิธภัณฑ์สามัญชนเป็นผู้ดำเนินรายการ

อัมรินทร์ สายจันทร์ จาก EnLaw ระบุว่า ที่ผ่านมาเวลามีการชุมนุมแต่ละครั้งประชาชนจะแจ้งการชุมนุมซึ่งจะมาพร้อมกับการตอบกลับด้วยข้อห้ามต่างๆจากเจ้าหน้าที่ สิ่งเบื้องต้นที่ต้องทำคือการโต้แย้งยืนยันสิทธิเสรีภาพกลับไป โดยเฉพาะการกำหนดระยะ 50 เมตร กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) กำหนดหลักการว่าการชุมนุมจะต้องจัดได้ในพื้นที่ที่ Sight and Sound คือต้องถูกมองเห็นและถูกได้ยิน แต่การโต้แย้งกลับไปก็ไม่ได้มีผลให้เป็นการยกเลิกประกาศระยะ 50 เมตรแต่อย่างใด และซึ่งอาจมีการดำเนินคดีตามมาในภายหลัง

ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ การโต้แย้งคำสั่งเจ้าหน้าที่ต้องโต้แย้งผ่านศาลแพ่ง อัมรินทร์ยกตัวอย่างว่า เคยมีการชุมนุมที่ปักหลักอยู่บนเกาะกลางถนน ซึ่งเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งให้แก้ไขระบุว่าการชุมนุมกระทบกับการใช้พื้นที่สาธารณะและการเดินบนทางเท้าของประชาชน ผู้ชุมนุมยืนยันไม่ย้าย ตำรวจจึงต้องไปร้องต่อศาลแพ่ง ซึ่งในกรณีนั้นแม้ว่าศาลจะยกคำร้องของเจ้าหน้าที่แต่ในภาพรวมบรรทัดฐานหรือแนวปฏิบัติของศาลในบางกรณี ศาลก็ไม่เรียกให้ฝ่ายผู้ชุมนุมไปชี้แจงระหว่างการไต่สวนคำร้องของตำรวจ

ปัญหายังมีตามมาอีกในประเด็นนิยามผู้จัดการชุมนุม หมายความว่า ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ และให้หมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ และผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ท าให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น ซึ่งมีความกว้างขวางทำให้มีกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐตีความว่า ผู้จัดการชุมนุมหมายรวมถึงผู้ประชาสัมพันธ์ หรือทีมงานที่จัดการชุมนุมที่ไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจด้วย 

อีกประการหนึ่งคือ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่นเช่น ปัญหาเรื่องการกำหนดให้ต้องอนุญาตใช้เครื่องเสียง ตามพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 (พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ) ซึ่งไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อใช้บังคับกับการชุมนุมแต่เจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่ก็หยิบมาใช้สำหรับการชุมนุมด้วยแม้ว่าตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯจะมีกฎเกณฑ์เรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงอยู่แล้ว ซึ่งเป็นภาระให้ผู้ชุมนุมต้องเดินทางไปยื่นกับทางเขตหรือท้องถิ่นต่างๆเพิ่ม หรือปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายจราจร โดยธรรมชาติการชุมนุมคือคนจำนวนมากที่มารวมตัวกัน หรือในบางครั้งจะมีการเดินขบวน ซึ่งไม่สามารถเดินบนทางเท้าได้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จึงกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวกกับการจราจรด้วย ดังนั้นแล้วแนวทางการแก้ไขจึงจำเป็นต้องวางบทยกเว้นไม่ให้ใช้กฎหมายอื่นในกรณีที่เป็นการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ

อัมรินทร์เสนอว่า ส่วนหนึ่งที่จำเป็นต้องกำหนดเพิ่มในกฎหมายคือความโปร่งใสของเจ้าหน้าทีรัฐในการใช้เครื่องมือต่างๆในการดูแลการชุมนุม ควรจัดทำเป็นรายงานว่าในการใช้เครื่องมือเหล่านั้นใช้อะไรอย่างไรบ้าง ในกรณีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่หน้ารัฐสภาเกียกกาย ด้วยการฉีดน้ำสีม่วงที่ผสมกรด ประชาชนก็ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งและศาลปกครอง แต่ก็ขาดข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้เครื่องมืออะไรบ้าง การเข้าถึงข้อมูลนั้นควรกำหนดไว้ในกฎหมายเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐโปร่งใสกว่านี้ 

เฝาซี ล่าเต๊ะ จาก Amnesty International ระบุว่า การชุมนุมเป็นสิทธิมนุษยชน รัฐจะต้องปกป้อง คุ้มครองและส่งเสริมแก่การชุมนุม แม้ว่าจะถูกจำกัดได้แต่การจำกัดนั้นจะต้องได้สัดส่วนและเคร่งครัดในการตีความเรื่องการจำกัด เจ้าหน้าที่รัฐต้องสร้างความสมดุลระหว่างสิทธิการชุมนุมกับสิทธิอื่นๆให้ได้ อาจไม่จำเป็นต้องมี พ.ร.บ.ชุมนุมฯก็ได้ แต่ภาครัฐจะต้องคงหลักการเสรีภาพในการแสดงออกนี้ไว้ด้วย 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เคยระบุไว้ว่า ทุกสถานที่ควรต้องชุมนุมได้ การจำกัดการชุมนุมจะต้องเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ ถึงจะจำกัดได้ ต่อให้ในการชุมนุมหนึ่งมีผู้ก่อความไม่สงบเพียงคนเดียว การชุมนุมนั้นในภาพรวมยังถือว่าสงบอยู่ แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องมีหน้าที่ในการระงับเหตุกับผู้ก่อความไม่สงบคนนั้น ไม่ใช่การจำกัดสิทธิการชุมนุมในภาพรวม

เมื่อกล่าวถึงประเด็นตัวแสดง พ.ร.บ. ชุมนุมฯ มีสองตัวแสดงหลักคือผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ในความเป็นจริงมีคนอื่นๆด้วย เช่น ผู้สังเกตการณ์ชุมนุม หรือสื่อมวลชนที่จะต้องได้รับความคุ้มครองและไม่ถูกกีดกันให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วย ทำให้เห็นได้ว่าที่ผ่านมาจะมีสื่อมวลชนนอกจากจะถูกกีดกันแล้วยังได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมด้วย

ที่สำคัญเลยยังมี “เด็ก” เป็นอีกตัวแสดงในพื้นที่ชุมนุมที่ควรจะได้รับการดูแล เพราะว่าเด็กเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบและมีความเปราะบางแต่เด็กก็ยังมีสิทธิในการชุมนุม การจัดการดูแลการชุมนุมก็ควรคุ้มครองเด็กที่อยู่ภายในพื้นที่การชุมนุมด้วย ที่ผ่านมาไม่พบว่าเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่นำหลักการสิทธิเด็กเข้ามาบังคับใช้กับการดูแลการชุมนุมแต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังมีประเด็นการใช้กฎหมายทับซ้อนที่ระงับการใช้ พ.ร.บ. ชุมนุมฯ ในช่วงที่มีการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ถ้ามีการใช้กฎหมายพิเศษ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จะไม่ถูกบังคับใช้ ที่ผ่านมาในช่วงที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีคนออกมาชุมนุมโดยสงบถูกดำเนินคดีด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 1467 คน ใน 647 คดี การชุมนุมเหล่านี้รัฐจะมองว่าเป็นการชุมนุมที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเปิดช่องให้รัฐสามารถใช้กำลังเพื่อสลายชุมนุมโดยไม่ชอบได้ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมเป็นจำนวนมาก โดยปราศจากหลักการการใช้อาวุธเพื่อสลายการชุมนุมและปราศจากการรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ

ข้อเสนอคือการต้องไม่ยกเว้นเสรีภาพการชุมนุมเมื่อมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อป้องกันการสลายชุมนุมโดยไม่ชอบและการไม่ต้องรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ยังมีความจำเป็นเพื่อยืนยันหลักการสิทธิในการชุมนุมของประชาชน

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ