ศาลนนทบุรีพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน ‘สิงโต’ กรณีคอมเมนท์ใต้ MV เพลงสรรเสริญ ก่อนได้ประกันตัวศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาจำคุก ‘สิงโต’ (นามสมมุติ) สามปี ตามปกระมวลฎหมายอาญามาตรา 112 จำเลยรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษเหลือ หนึ่งปีหกเดือน และมีคำสั่งให้ประกันตัวสู้คดีในชั้นอุทธรณ์
27 พฤศจิกายน 2567 ศาลจังหวัดนนทบุรีนัด ‘สิงโต’ ชายชาวมุกดาหาร วัย 27 ปี ฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ. 249 / 2566 กรณีคอมเมนต์ใต้ภาพรัชกาลที่สิบและเจ้าฟ้าทีปังกรฯใน MV เพลงสรรเสริญพระบารมี คดีนี้มีผู้ร้องทุกข์คือ ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ชูรูปพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบในพื้นที่ชุมนุม
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ‘สิงโต’ ชาวจังหวัดมุกดาหาร ถูกตำรวจหลายหน่วยงาน ประกอบไปด้วย กองกำกับการสืบสวนสอบสวน ภูธรภาค 1, สถานีตำรวจภูธรรัตนาธิเบศร์ จังหวัดนนทบุรี, สถานีตำรวจนครบาลโพงพาง และสถานีตำรวจภูธรดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร สนธิกำลังเข้าจับกุมในบ้านพักย่านอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ตามหมายจับของศาลนนทบุรีในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยนำตัวไปทำบันทึกการจับกุมที่สถานีตำรวจภูธรดอนตาล ก่อนจะควบคุมตัวไปยังสถานีตำรวจภูธรรัตนาธิเบศวร์ในภายหลัง รวมเป็นระยะทางกว่า 630 กิโลเมตรที่ ‘สิงโต’ ถูกควบคุมตัวจากบ้านเกิดในจังหวัดมุกดาหารเพื่อไปฝากขังที่ศาลจังหวัดนนทบุรี
คำร้องขอฝากขังระบุเหตุแห่งคดีนี้ว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2565 สิงโตใช้เฟสบุ๊คแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ภาพของผู้ใช้งานเฟสบุ๊คอีกคนหนึ่งซึ่งโพสต์ภาพรัชกาลที่สิบและเจ้าฟ้าทีปังกร ฯ ที่ปรากฎอยู่ในภาพยนตร์ประกอบเพลงสรรเสริญพระบารมีขณะอยู่ในโรงภาพยนตร์ ‘สิงโต’ ให้การปฏิเสธทั้งสองข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา โดยอ้างเหตุว่ามีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ศาลจังหวัดนนทบุรีอนุญาตให้ฝากขังและให้ประกันตัวด้วยเงินสดจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 ว่า ‘สิงโต’ ตัดสินใจรับสารภาพ ศาลจังหวัดนนทบุรีจึงนัด ”สิงโต’ ฟังคำพิพากษาในคดีนี้ ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00 น.
เวลา 09.46 น. ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์อ่านคำพิพากษา สรุปใจความได้ว่า จำเลยได้เขียนข้อความใต้ภาพรัชกาลที่สิบและเจ้าฟ้าทีปังกรฯในลักษณะที่เป็นการที่ให้ประชาชนทั่วไปอาจเข้าใจได้ว่ารัชกาลที่สิบมีพฤติกรรมเสื่อมเสียทางเพศและเจ้าฟ้าทีปังกรเป็นคนสมองช้าหรือปัญญาอ่อนซึ่งเป็นความเท็จทั้งสิ้น การกระทำของจำเลยทำให้รัชกาลที่สิบและเจ้าฟ้าทีปังกรฯ เสื่อมเสียพระเกียรติ เสียความศรัทธาและความเคารพจากประชาชน ซึ่งพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในสถานะอันจะละเมิดมิได้และเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนคนไทย
แม้ว่าจำเลยจะป่วยและไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน แต่การกระทำของจำเลยก็ทำให้พระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพเสื่อมเสียจึงตัดสินให้จำเลยจำคุกสามปี แต่เนื่องด้วยจำเลยให้การเป็นประโยชน์และรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือหนึ่งปีหกเดือน โดยไม่รอการลงโทษ
ต่อมาศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งให้ประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์ด้วยวงเงิน 150,000 บาท โดยใช้หลักทรัพย์เดิมที่เคยวางไว้หลังถูกสั่งฟ้องคดี และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการประกันตัวอื่นเพิ่มเติม วงเงินดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์
คดีของ ‘สิงโต’ เป็นคดีที่ 111 ของการที่มีประชาชนไปแจ้งความร้องทุกข์ประชาชนด้วยกันเอง ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นอกจากนี้คดีของสิงโตยังเป็นอีกหนึ่งคดีที่มีการแจ้งความทางไกล ผู้แจ้งความแจ้งความที่ สถานีตำรวจภูธรรัตนธิเบศร์ จังหวัดนนทบุรี ในขณะที่ ‘สิงโต’ อาศัยอยู่ที่จังหวัดมุกดาหาร วิธีการแจ้งความทางไกลในลักษณะนี้เป็นการกล่าวหาเพื่อที่จะกลั่นแกล้งให้บุคคลที่เห็นต่างกันในทางการเมืองต้องใช้ชีวิตอย่างไม่สงบสุข ตั้งแต่ถูกจับกุมไปตามนัดหมายของอัยการและศาล รวมระยะทางไป-กลับกว่า 1,200 กิโลเมตรต่อหนึ่งนัดหมาย ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งต้องลางาน เสียค่าเดินทาง และเสียเวลา