30 กันยายน 2567 เวลา 11.00 น. วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) เข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนในคดีที่ถูกเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร ผู้บริหารสูงสุดด้านการวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากซีพีเอฟกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เหตุสืบเนื่องจากกรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำนำไปสู่การเสวนาเรื่อง “หายนะสิ่งแวดล้อม กรณีปลาหมอคางดำ: การชดเชยเยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูระบบนิเวศและปฏิรูประบบความปลอดภัยทางชีวภาพ” เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ซึ่งในวันดังกล่าววิฑูรย์พูดในหัวข้อ “ข้อสังเกตและข้อเสนอ จากบทเรียนเกี่ยวกับความปลอดภัยทางชีวภาพ” และให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสในวันเดียวกัน ซีพีเอฟนำข้อความในวันดังกล่าวมาใช้ในการกล่าวหาวิฑูรย์รวมแปดข้อความแบ่งเป็นข้อความในงานเสวนาเจ็ดข้อความและการสัมภาษณ์ไทยพีบีเอสอีกหนึ่งข้อความ
หลังการรายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน วิฑูรย์ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ในการดำเนินงานที่ผ่านมาก็เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิชีววิถี (BioThai) คือการปกป้องสิทธิของเกษตรกรและปกป้องความมั่นคงทางด้านอาหาร ดังนั้นสิ่งที่ทำมาตลอดเป็นการทำตามเจตนารมณ์ของมูลนิธิ “เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของเราด้วย เราเห็นประชาชน 19 จังหวัดได้รับความเดือดร้อนในเชิงเรื่องของอาชีพ ผลกระทบทางเศรษฐกิจไปจนถึงผลกระทบในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ…ถึงแม้มีการแจ้งความดำเนินคดีเราก็ยังคงทำหน้าที่นี้ต่อไปโดยไม่ท้อถอย เราจะเดินหน้าทำเรื่องนี้ต่อไป” เขามองว่า การทำงานเป็นการทำงานบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและงานวิชาการที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด ข้อเท็จจริงงานวิชาการที่เกี่ยวข้องจะเป็นสิ่งที่ปกป้องตัวเขาไว้
รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความกล่าวว่า เรื่องปัญหาปลาหมอคางดำแพร่ระบาดเป็นปัญหาที่กระทบกับระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งความเสียหายค่อนข้างรุนแรง ฉะนั้นเมื่อมีการจัดเวลาเสวนา มีนักวิชาการ มีภาคประชาสังคมและมีผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำจึงมาร่วมสนทนา หลังจากนั้นพูดคุยผู้ประกอบการได้นำข้อมูลดังกล่าวมาแจ้งความร้องทุกข์ ซึ่งในวันรายงานตัวนี้วิฑูรย์ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาระบุด้วยว่า ทำหน้าที่ไปตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิชีววิถี ทั้งนี้ผู้ถูกกล่าวหาและทนายความจะยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลัง
ที่มาของคดีต้องย้อนกลับไปในเดือนกรกฎาคม 2567 มีรายงานข่าวการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ต่างถิ่นที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม มีรายงานว่า ปลาสายพันธุ์นี้ถูกนำเข้ามาจากประเทศกาน่าโดยซีพีเอฟในปี 2553 เพื่อทำการวิจัย ในเวลาเดียวกันเพจเฟซบุ๊กของ BioThai มีการโพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่วิฑูรย์ ในฐานะเลขาธิการของ BioThai ก็ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน เชื่อว่า การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำจากพื้นที่เพาะเลี้ยงวิจัยในฟาร์มของซีพีเอฟออกมาสู่ระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติ
ขณะที่ซีพีเอฟกล่าวปฏิเสธระบุว่า บริษัทนำเข้ามาจริงในปี 2553 แต่เนื่องจากปลามีความอ่อนแอและทยอยเสียชีวิตจึงยกเลิกการวิจัย มีการฝังกลบและส่งตัวอย่างซากปลาให้แก่กรมประมงด้วยแล้วในปีถัดมา หลังจากนั้นมีการเผยแพร่ข้อมูลการแพร่ระบาดและปัญหาของชาวประมงอย่างต่อเนื่อง สภาผู้แทนราษฎรมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอสีคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย แต่จนถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ซีพีเอฟปฏิเสธการเข้าเดินทางไปให้ข้อมูลกับอนุกมธ.ดังกล่าวแต่ใช้วิธีการส่งเอกสารชี้แจงแทน
วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 มีการจัดงานเสวนาเรื่อง “หายนะสิ่งแวดล้อม กรณีปลาหมอคางดำ: การชดเชยเยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูระบบนิเวศและปฏิรูประบบความปลอดภัยทางชีวภาพ” ซึ่งเป็นเหตุในคดีนี้ ตามรายงานข่าวของ BioThai ถอดความเนื้อหาตอนหนึ่งว่า “เราได้ข้อมูลมาว่า ปลาไม่ได้ตายเหมือนที่เป็นข่าว ฟาร์มที่เลี้ยงเป็นบ่อดิน และเพาะพันธุ์ต่อมาอีกหลายรุ่น โดยเอาไข่ไปฟักทุก 7 วัน ปลาหมอคางดำอยู่ในฟาร์มยี่สารมาโดยตลอด แม้ระบบน้ำในฟาร์มจะเป็นระบบปิด แต่ก็มีการสูบน้ำทิ้งออกนอกฟาร์ม ทำให้ปลาหลุดไปในคลองธรรมชาติ” ซึ่งแนบภาพพื้นที่เพาะเลี้ยงฟาร์มบางยี่สารไว้ด้วย
ในรายละเอียดของหมายเรียกรายงานตัวระบุว่า วันที่ 5 สิงหาคม 2567 พนักงานสอบสวนสภ.รัตนาธิเบศร์ออกหมายเรียกครั้งที่สองให้วิฑูรย์มาพบในวันที่ 12 กันยายน 2567 ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา แต่ในความเป็นจริงวิฑูรย์ได้รับหมายเรียกดังกล่าวในวันที่ 6 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นหนึ่งวันให้หลังจากที่ชาวประมงจังหวัดสมุทรสงครามฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายจากซีพีเอฟเป็นเงิน 2.4 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามหมายเรียกมีความกระชั้นชิดจึงทำให้วิฑูรย์เลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาเป็นวันที่ 30 กันยายน 2567 แทน