ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการร่างพระราชบัญญัตติยกเลิกประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไว้พิจารณาหลายฉบับและตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับที่หมดความจำเป็นและไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ.ศ. …. (กมธ. ยกเลิกคำสั่งคสช.ฯ) ขึ้นเพื่อพิจารณารายละเอียดในวาระสอง คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว ได้เลือกจาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จากพรรคเพื่อไทย และอดีตผู้ถูกจับกุมและเป็นจำเลยตามคำสั่งของคสช. หลายฉบับให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการเพื่อดำเนินการประชุม
กมธ. ยกเลิกคำสั่งคสช.ฯ มีนัดประชุมต่อเนื่องทุกวันพฤหัสบดีเวลา 13.30 – 16.30 น. ในแต่ละสัปดาห์จะพิจารณาเนื้อหาของประกาศและคำสั่งของคสช. แต่ละฉบับ ซึ่งจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาให้ความเห็นว่าควรยกเลิกหรือไม่ อย่างไรก็ดีความเห็นที่หน่วยงานผู้บังคับใช้ประกาศและคำสั่งของคสช. ได้ให้ไว้ต่อคณะกรรมาธิการนั้น เป็นเพียงข้อมูลประกอบที่กมธ.ยกเลิกคำสั่งคสช.ฯ จะใช้พิจารณาเพื่อตัดสินใจว่า จะยกเลิกประกาศหรือคำสั่งฉบับใดบ้าง และหากยกเลิกแล้วอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการใดที่ได้ดำเนินการไปแล้วก็จะต้องเขียนบทบัญญัติรองรับไว้เพื่อไม่ให้การบังคับใช้กฎหมายมีปัญหา
กสทช. หวั่น เจ้าหน้าที่ที่สั่งปิดสื่ออาจถูกดำเนินการทางวินัยย้อนหลัง
วันที่ 17 ตุลาคม 2567 มีการนัดประชุมครั้งที่หกของกมธ.ยกเลิกคำสั่งคสช.ฯ ซึ่งเป็นการพิจารณาคำสั่งที่ออกโดยอำนาจ “มาตรา 44” ของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการคลื่นความถี่และกิจการโทรคมนาคมหลายฉบับ โดยมีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาให้ความเห็น
สำหรับคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 41/2559 ซึ่งขยายอำนาจและขอบเขตของ กสทช. ให้สามารถสั่ง “ปิดสื่อ” หรือลงโทษสื่อที่นำเสนอเนื้อหา ที่อาจก่อให้เกิดความสับสนหรือความขัดแย้ง ข่าวสารที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือเป็นการวิจารณ์ คสช. โดยไม่สุจริตด้วยข้อมูลเท็จ และมีบท “คุ้มครองเจ้าหน้าที่” หากการใช้อำนาจของกรรมการ กสทช. เลขาธิการ เจ้าหน้าที่ ทำไปโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เกินสมควรแก่เหตุ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย
กสทช. เคยใช้อำนาจตามคำสั่งนี้ สั่งปิดสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี และทำให้สถานีโทรทัศน์ตัดสินใจฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่ง “ปิดสื่อ” ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สมพร อมรชัยนพคุณ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช. ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบกิจการสื่อฟ้องคดีจากการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 41/2559 และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดหนึ่งคดี และสำนักงาน กสทช. ได้นำข้อความที่ยกเว้นความรับผิดจากคำสั่งนี้มาเป็นข้อต่อสู้ในคดี ในศาลชั้นต้นสำนักงาน กสทช. แพ้คดี จึงยื่นอุทธรณ์เพื่อพิสูจน์ว่า คำสั่งดังกล่าวออกโดยชอบด้วยกฎหมายจึงไม่ต้องรับผิด
สมพรเห็นว่า หากสำนักงาน กสทช. แพ้คดี ผลที่ตามมาคือเจ้าหน้าที่อาจต้องรับผิดทางละเมิดในความเสียหายนั้นด้วย จึงเห็นว่า หากเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางละเมิดทั้งที่กระทำการโดยสุจริต เจ้าหน้าที่จะไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะเป็นการปฏิบัติไปตามคำสั่งและกฎหมาย แม้ว่าในการพิจารณาคดีของศาล ศาลจะพิจารณากฎหมายที่ประกาศใช้บังคับอยู่ในขณะที่เกิดการกระทำนั้นก็ตาม แต่การสอบวินัยไม่ใช่ หากเจ้าหน้าที่ถูกดำเนินการทางวินัย การอธิบายต่อคณะกรรมการสอบวินัยว่าเป็น การดำเนินการตามกฎหมายหรือคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว คณะกรรมการสอบสวนอาจไม่รับฟัง ซึ่งไม่ยุติธรรมกับเจ้าหน้าที่ที่ได้กระทำการโดยสุจริต
อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมาธิการต้องการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 โดยมีการเขียนบทบัญญัติเพื่อรองรับกรณีที่เกิดขึ้นไปแล้วให้ได้รับความคุ้มครองก็ไม่ควรรองรับเฉพาะคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุดเท่านั้น แต่ต้องรองรับผลสืบเนื่องที่จะเกิดขึ้นตามมาทั้งหมดด้วย
รศ. ปิยบุตร แสงกนกกุล รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่หนึ่ง กล่าวว่า ระบบกฎหมายปกครองทั้งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มีหลักการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ซึ่งใช้อำนาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็นอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเขียนเรื่องดังกล่าวไว้ในร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศและคำสั่งของคสช. อีก
อภิวัฒน์ จิระศิริโสภณ เลขานุการคณะกรรมาธิการ ชี้แจงว่า ตามหลักกฎหมาย แม้จะมีการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 ก็ไม่สามารถย้อนไปลงโทษเจ้าหน้าที่ได้ แต่หากไม่เขียนบทบัญญัติรองรับอาจเกิดการตีความไปในทางใดทางหนึ่งก็ได้ จึงเห็นว่า สามารถเขียนบทบัญญัติรองรับกรณีของคดีที่มีการฟ้องร้องและกำหนดให้บรรดาผู้ที่ดำเนินการตามคำสั่งยังได้รับความคุ้มครองตามคำสั่งอยู่ต่อไปทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัย
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 เรื่อง การกำกับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะโดยมีบทบัญญัติรองรับเพื่อให้คุ้มครองคดีที่ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองหนึ่งคดี และคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามคำสั่งหากสำนักงาน กสทช. แพ้คดีในศาลปกครองสูงสุด
อัยการกังวล ถ้าประชาชนอยากฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ ต้องยืนยันให้ฟ้องได้
วันที่ 24 ตุลาคม 2567 มีการนัดประชุมครั้งที่เจ็ดของกมธ.ยกเลิกคำสั่งคสช.ฯ ซึ่งเป็นการพิจารณาคำสั่งที่ออกโดยอำนาจ “มาตรา 44” ที่เกี่ยวข้องกับการให้อำนาจทหารเข้าจับกุมและเป็นพนักงานสอบสวนดำเนินคดีจากข้อหาทางการเมืองและคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับที่สำคัญ คือ คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 และ 5/2558 ซึ่งเป็นฉบับที่ให้ส่งผลกระทบอย่างสำคัญระหว่างปี 2558-2560 ที่ทหารเข้ามาทำหน้าที่แทนตำรวจและจับกุมผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านคสช.
จากการสอบถามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กองทัพบก เห็นว่า ในปัจจุบัน คสช. ได้ยกเลิกไปแล้ว และไม่มีคำสั่งแต่งตั้งเจ้าพนักงานและผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเพิ่มเติม จึงสามารถยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับดังกล่าวได้
สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมและกรมพระธรรมนูญ มีความเห็นว่า เมื่อ คสช. สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 265 และบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ จึงหมดความจำเป็นและไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ออกความเห็นว่าควรยกเลิกหรือไม่ เพราะเป็นคำสั่งเกี่ยวกับการแต่งตั้งทหาร แต่เห็นว่า การดำเนินการภายใต้คำสั่งดังกล่าวอันมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยกฎหมายไปแล้ว แม้คำสั่งหัวหน้าคสช. จะถูกยกเลิกภายหลัง ก็ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่ได้ปฏิบัติไป
สำนักงานอัยการสูงสุดให้ความเห็นว่า เพื่อป้องกันไม่ให้การยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับดังกล่าวกระทบต่อสิทธิในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมของประชาชน จึงควรพิจารณาบทบัญญัติรองรับเพื่อคุ้มครองสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารด้วย
ธนพันธ์ แสงพงศานนท์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงว่า คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 กำหนดให้ข้าราชการทหารที่มียศตั้งแต่ชั้นร้อยตรี เรือตรี เรืออากาศตรี ขึ้นไป มีอำนาจออกคำสั่งให้บุคคลที่ต้องสงสัยมารายงานตัว จับกุม ควบคุมตัว เข้าไปในเคหสถาน ยึดอายัดทรัพย์สิน หากได้กระทำการไปโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็นย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย แต่ไม่ตัดสิทธิประชาชนผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากหน่วยงานราชการ หากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยกระทำการโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เช่น กรณีประชาชนกระทำความผิดตามกฎหมายชัดเจน ก็สามารถจับกุมบุคคลดังกล่าวได้ แต่หากกระทำการด้วยความรุนแรงบุคคลที่ได้รับความเสียหายย่อมมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 14
ธนพันธ์ชี้แจงต่อว่า หากยกเลิกคำสั่งคสช. ไปทั้งฉบับอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายของประชาชน และการพิจารณาของศาล ถ้าจะยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ขอให้เขียนบทรองรับเพื่อคุ้มครองสิทธิในการฟ้องร้องของประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากการใช้อำนาจโดยไม่สุจริตของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย
ประธานคณะกรรมาธิการสอบถามว่า เคยมีกรณีที่ประชาชนฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือไม่ ธนพันธ์ตอบว่า ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลในเรื่องนี้
พลตำรวจตรี คมกฤษ ไวสืบข่าว กรรมาธิการ กล่าวว่า หากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยใช้อำนาจโดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน บุคคลที่ได้รับความเสียหายดังกล่าวสามารถอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจตามข้อ 14 ของ คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 การยกเลิกไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิทธิในการฟ้องร้องดำเนินคดีของประชาชน
พลตำรวจตรี ธรรมนูญ มั่นคง ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการ คนที่สอง กล่าวว่า แม้การยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการกระทำที่เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยได้กระทำไปก่อนที่จะมีการยกเลิกคำสั่งดังกล่าว แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจน สนับสนุนให้มีการยกร่างบทบัญญัติรองรับเพื่อคุ้มครองสิทธิในการฟ้องร้องดำเนินคดีของประชาชน
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 5/2558 โดยมีบทบัญญัติรองรับคดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาล สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของประชาชนและการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับดังกล่าวโดยสุจริต