ศาลเชียงใหม่จำคุก ตี้-วรรณวลี ด้วยมาตรา 112 และพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ 2 ปี 8 เดือน แต่ยกฟ้องจำเลยร่วมอีก 2 คน

10 ตุลาคม 2566 เวลา 10.50 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่ อ่านคำพิพากษาคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอรฯ ของวรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ “ตี้ พะเยา” กับพวกรวมสามคน มูลเหตุแห่งคดีเกิดจากกรณีที่วรรณวลีโพสต์ภาพถ่ายที่เธอกับจำเลยคดีนี้อีกสองคนถือป้ายอยู่ในการชุมนุม #บ๊ายบายไดโนเสาร์ ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยามในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2563 แล้วมีสมาชิกกลุ่มไทยภักดีเชียงใหม่เห็นว่าข้อความบนป้ายน่าจะเข้าข่ายความผิดจึงกล่าวโทษดำเนินคดีที่จังหวัดเชียงใหม่ ศาลพิพากษาว่าวรรณวลีมีความผิดเพราะข้อความบนป้ายที่เธอถือเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุกสี่ปี แต่ให้ลดโทษลงหนึ่งในสามเหลือจำคุกสองปีแปดเดือน เพราะคำให้การของวรรณวลีเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ส่วนจำเลยอีกสองคนที่ถูกดำเนินคดีศาลยกฟ้องเพราะเห็นว่าข้อความบนป้ายที่ทั้งสองถือไม่ชัดเจนว่าสื่อถึงผู้ใดจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

สำหรับบรรยากาศที่ศาลในวันนี้มีประชาชนสี่ถึงห้าคนผูกโบว์ขาวที่ข้อมือมาให้กำลังใจจำเลยทั้งสามคน คำพิพากษาของศาลจังหวัดเชียงใหม่พอสรุปได้ว่า

ข้อความบนป้ายที่วรรณวลีถือให้เพื่อนถ่ายภาพ เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์รัชกาลที่สิบ แม้จะนำสืบไม่ได้ว่าวรรณวลีเป็นผู้เขียน แต่การที่วรรณวลีนำภาพถ่ายที่ตัวเองถือป้ายเขียนข้อความดังกล่าวโพสต์เป็นสาธารณะ ก็เป็นการแสดงเจตนา และเป็นการเผยแพร่ข้อความสู่สาธารณะ การกระทำของวรรณวลีจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตามพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามบทหนักสุดคือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พิพากษาจำคุกสี่ปี คำให้การของวรรณวลีเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกสองปีแปดเดือน

สำหรับป้ายที่จำเลยอีกสองคนถือ ป้ายหนึ่งเขียนข้อความระบุถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ส่วนอีกป้ายหนึ่งไม่ได้เอ่ยถึงบุคคลใดและไม่ชัดเจนว่าข้อความบนป้ายสื่อถึงอะไร แม้จำเลยทั้งสองจะอยู่ในภาพถ่ายเดียวกันกับวรรณวลี แต่ข้อความไม่ได้เกี่ยวเนื่องกัน และนำสืบไม่ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้เขียน จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสองคน ทั้งจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้รู้เห็นเรื่องการโพสต์ภาพของวรรณวลี ไม่ได้ยอมรับการแท็กชื่อ ไม่กดไลค์และไม่แชร์ จึงพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสองคน

หลังศาลอ่านคำพิพากษาจบ เจ้าหน้าที่นำกุญแจมือมาสวมข้อมือของวรรณวลีก่อนนำตัวลงไปควบคุมที่ห้องควบคุมตัวใต้ถุนศาล ขณะที่ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวให้วรรณวลีระหว่างต่อสู้คดีในชั้นศาลอุทธรณ์ จากนั้นในเวลา 15.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราววรรณวลีโดยต้องวางเงินประกัน 150,000 บาท

คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่สองของวรรณวลีที่ศาลพิพากษาว่าเธอมีความผิด โดยคดีที่ศาลเคยมีคำพิพากษาว่าวรรณวลีมีความผิดก่อนหน้านี้คือคดีที่มีมูลเหตุจากการปราศรัยในการชุมนุมบริเวณลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 ซึ่งศาลอาญาธนบุรีมีคำพิพากษาจำคุกเธอเป็นเวลาสี่ปีก่อนลดโทษให้หนึ่งในสามเหลือสองปีแปดเดือนเพราะเธอให้การเป็นประโยชน์เช่นเดียวกับคดีนี้ อ่านเพิ่มเติมที่นี่

นอกจากคดีที่ศาลชั้นมีคำพิพากษาออกมาแล้วสองคดี วรรณวลียังเหลือคดีมาตรา 112 ที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาออกมาอีกสองคดี ได้แก่

1. คดีจากการปราศรัยในการชุมนุมที่หน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563

2. คดีจากการปราศรัยในการชุมนุม #ราษฎรยืนยันดันเพดาน บริเวณสกายวอล์คปทุมวัน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564

วรรณวลีเคยถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดีมาตรา 112 เพราะศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเวลา 11 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2564 ถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2564

คดีนี้นับเป็นตัวอย่างคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่งที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษกันในพื้นที่ห่างไกลโดยวรรณวลีกับจำเลยอีกสองคนอยู่ที่กรุงเทพ แต่ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่มีความเกี่ยวข้องกับจังหวัดเชียงใหม่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Also Like
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ