เมื่อวันที่ 20 เม.ย.54 ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน ซึ่งมาจากการรวมตัวกันของ 38 องค์กร อันได้แก่เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายเกษตรกร องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรนิสิตนักศึกษา และองค์กรเยาวชน รวมตัวกันหน้ารัฐสภา ประมาณ 200 คน เพื่อเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรยุติการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. …. (พ.ร.บ.ชุมนุม) และถอนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวออกจากสภา เนื่องจากมีเนื้อหาที่ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน หลักสิทธิเสรีภาพ หลักสิทธิพลเมืองและทางการเมือง
ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.… ผ่านวาระแรกเข้าสู่สภาเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 54 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายเรียบร้อยเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 54 ปัจจุบันถูกบรรจุเป็นวาระด่วนเพื่อรอให้สภาผู้แทนฯ โหวตรับหรือไม่รับร่างในที่ประชุมใหญ่
น.ส.จันจิรา จันทร์แผ้ว ผู้อำนวยการเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า กฎหมายการชุมนุมที่เสนอโดยรัฐบาลมีบทบัญญัติที่ขัดต่อหลักการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ อาทิ การต้องแจ้งการชุมนุมก่อน หรือห้ามเคลื่อนย้ายการชุมนุมก่อนได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ รวมถึงการห้ามชุมนุมกีดขวางสถานที่ราชการ หรือสถานีขนส่งต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ทั้งนี้ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชนได้ออกแถลงการณ์คัดค้านร่างพ.ร.บ.ชุมนุมดังกล่าว เพราะเป็นร่างกฎหมายที่คุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขาดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางและทั่วถึง และเป็นการฉวยโอกาสควบคุมกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและเครือข่ายประชาชนที่ออกมาเรียกร้องต่อรัฐบาล
จากนั้น นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย รองประธานวิปฝ่ายค้าน ออกมารับหนังสือคัดค้าน โดยกล่าวต่อผู้ชุมนุมว่า กฎหมายนี้ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุม ทางฝ่ายค้านตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวและจะพยายามช่วยทักท้วงอีกทางหนึ่งเพื่อไม่ให้กฎหมายดังกล่าวออกมาบังคับใช้กับประชาชน
ด้านนายธนิตพล ไชยนันทน์ ส.ส.จังหวัดตาก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะตัวแทนวิปรัฐบาล ได้ออกมารับหนังสือคัดค้านเช่นกัน โดยกล่าวว่า กฎหมายการชุมนุมนี้ออกมาเพื่อจัดการกับการชุมนุมที่ไม่สงบ และใช้อาวุธ แต่ไม่ได้นำมาใช้กับการชุมนุมที่สงบโดยปราศจากอาวุธ แต่ถึงอย่างไรตนก็ยังยืนยันว่ากฎหมายนี้ยังจะต้องมีการพิจารณากันในสภาวาระสองและสามต่อไป
_______________________________
แถลงการณ์คัดค้านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ
หยุด!!!คุกคามเสรีภาพประชาชน
วันที่ 20 เมษายน 2554
ตามที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ…. ในวันที่ 10 มีนาคม 2554 และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. … โดยมีนายนิพนธ์ พร้อมพันธ์ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานนั้น บัดนี้คณะกรรมาธิการได้พิจารณาแล้วเสร็จ และจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ในวันพุธที่ 20 เมษายน 2554
ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรประชาชน องค์กรแรงงาน องค์กรเกษตรกร องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรนิสิตนักศึกษา และองค์กรเยาวชน ได้ติดตามการดำเนินการร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะมาโดยตลอด มีความเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีสาระสำคัญที่ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน หลักสิทธิเสรีภาพ หลักสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ดังนี้
ประการแรก การคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ…. มีเนื้อหาสาระสำคัญอันเป็นการคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพประชาชนและประชาธิปไตย กล่าวคือ การชุมนุมสาธารณะที่จะต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้าต่อผู้รับแจ้ง ซึ่งหมายถึงหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง ก่อนเริ่มการชุมนุม หากแจ้งการจัดการชุมนุมน้อยกว่าระยะเวลาดังกล่าวจะต้องขออนุญาตจากบุคคลดังกล่าวเสียก่อน การชุมนุมจะต้องแจ้งสถานที่ จำนวนผู้ร่วมชุมนุม ห้ามตั้งเวทีบนถนน บนพื้นที่จราจร ห้ามชุมนุมกีดขวางทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา ศาล สนามบิน ท่าเรือ สถานีรถไฟ สถานี ขนส่ง สถานทูตสถานกงสุล โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่ราชการ ห้ามเคลื่อนย้ายการชุมนุมก่อนได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ หากมีการฝ่าฝืนจัดชุมนุมจะมีความผิดในข้อหาเจตนาฝ่าฝืนการชุมนุมหรือข้อหาชักชวนผู้อื่นร่วมชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีโทษจำคุกข้อหาละ 6 เดือน
ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชนเห็นว่า การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน และระบอบประชาธิปไตย การชุมนุมเป็นเครื่องมือของประชาชนในการแสดงออกถึงเจตนารมณ์ และความเรียกร้องต้องการทางเศรษฐกิจการเมืองสังคม อันมีสาเหตุมาจากความพิกลพิการของระบอบรัฐราชการ และระบอบประชาธิปไตยตัวแทนที่มองไม่เห็นหัวคนจน การละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนจึงไม่เพียงเป็นการสร้างแนวพื้นที่กันชนทางอำนาจให้กับรัฐบาล เพื่อขัดขวางไม่ให้เกิดการชุมนุมเท่านั้น ยังจะเป็นการสั่งสมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้เกิดมากขึ้นไปอีก เนื่องจากการปฏิเสธวิถีประชาธิปไตยทางตรงของประชาชน
ประการที่สอง ขาดการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและทั่วถึง
ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ…. เป็นกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองที่ประชาชนในสังคมประชาธิปไตยพึงจะมี ดังนั้นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในร่างกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ จึงเป็นข้อตระหนักสำคัญของรัฐบาล รัฐสภา และพรรคการเมือง ในการระดมความคิดเห็นเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและทั่วถึง เมื่อพิจารณากระบวนการร่างกฎหมายฉบับนี้เห็นได้ชัดว่าขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประชาชนและเครือข่ายประชาชนที่เข้าไม่ถึงการกำหนดนโยบายสาธารณะ และการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่มีตัวแทนคณะกรรมาธิการจากพรรคฝ่ายค้าน ร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาอีกด้วย
ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน จึงขอแสดงเจตนารมณ์ในการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ในการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะของประชาชน และคัดค้านกระบวนการพิจารณาโดยปราศจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางและทั่วถึง
ประการที่สาม การฉวยโอกาสควบคุมกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและเครือข่ายประชาชน
รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ รวบรัดในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ เพื่อเป็นเครื่องมือควบคุมและจัดการกับกลุ่มประชาชนที่ชุมนุมทางการเมือง โดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น
ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชนเห็นว่า การออกกฎหมายฉบับนี้มีรากฐานจากแนวคิดอำนาจนิยมของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ในกรณีพรรคประชาธิปัตย์ได้ดำเนินการคัดค้านในช่วงรัฐบาลพรรคพลังประชาชน แต่ครั้นเมื่อได้เป็นรัฐบาลก็ฉวยกระแสความไม่พอใจของมวลชนที่สนับสนุนตนเองจัดการกับมวลชนกลุ่มต่อต้านตนเอง รวมไปถึงการจัดการกับกลุ่มประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องโดยสงบปราศจากอาวุธ ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ เศรษฐกิจ ทรัพยากร ค่าแรง การเลิกจ้าง สวัสดิการสังคม ฯลฯ การร่างกฎหมายเพื่อควบคุมกลุ่มประชาชนที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐบาล เป็นการกระทำที่ไม่เพียงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรงเท่านั้น ยังเป็นการกระทำที่เสื่อมทรามในจิตวิญญาณประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง
ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชนจึงขอเรียนเชิญนิสิตนักศึกษา เยาวชน พี่น้องประชาชนทุกสาขาอาชีพ ทุกกลุ่มกิจกรรม ทุกองค์กร เข้าร่วมการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็นกฎหมายและเครื่องมือของเผด็จการ และช่วยกันออกแถลงการณ์ในนามองค์กรและเผยแพร่ในเครือข่ายทางสังคมทุกรูปแบบ
ด้วยจิตคารวะ
ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน
1. กลุ่มนิเวสวัฒนธรรมศึกษา
2. กลุ่มประกายไฟ
3. กลุ่มประชาคมจุฬาฯเพื่อประชาชน (CCP)
4. กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ภาคตะวันออก
5. กลุ่มเพื่อนประชาชน
6. กลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรรมเมืองเพชร
7. กลุ่มยังเติร์กคอนเนคชั่น (Young Turks Connection)
8. กลุ่มสื่อเสียงคนอีสาน
9. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
10. คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535
11. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
12. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)
13. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)
14. เครือข่ายชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล
15. เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
16. เครือข่านนิสิตนักศึกษาเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย
17. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
18. เครือข่ายชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ประเทศไทย
19. เครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ (คพสช.)
20. เครือข่ายเยาวชนเพื่อการศึกษาไทย
21. เครือข่ายสิ่งแวดล้อมชายฝั่งภาคตะวันออก (ระยอง)
22. เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม (สระบุรี)
23. โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
24. โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
25. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
26. มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
27. ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (อีสาน)
28. ศูนย์ปฏิบัติการร่วมแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.)
29. ศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD)
30. ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
31. ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา
32. สถาบันสังคมประชาธิปไตย (Social Democracy Think Tank)
33. สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.)
34. สมัชชาคนจน
35. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
36. สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
37. สหพันธ์แรงงานปิโตเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย
38. สหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชา ITF