ศาลรธน. ชี้ ก้าวไกลหาเสียงแก้ม.112 ใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง สั่งหยุดแสดงความเห็นเพื่อให้ยกเลิก ม.112

This image has an empty alt attribute; its file name is 53499908449_1079d97707_c.jpg

31 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคดี “ล้มล้างการปกครอง” ของพรรคก้าวไกล โดยที่มาของคดีนี้ เริ่มจากธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความสุวิทย์ ทองประเสริฐ (อดีตพุทธะอิสระ แกนนำกปปส.) เป็นผู้ร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 ว่าการกระทำของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา แก้ไขมาตรา 112 รวมถึงการใช้นโยบายแก้ไขมาตรา 112 หาเสียงเลือกตั้ง 2566 และมีพฤติการณ์รณรงค์ให้แก้ไขมาตรา 112 เรื่อยมา เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพการปกครองเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

โดยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 กำหนดว่า

“มาตรา 49 บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้

ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้

ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง”

ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า การกระทำของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล จากการหาเสียงนโยบายแก้ไข มาตรา 112 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง เลิกการกระทำ เลิกการแสดงความความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิก มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไข มาตรา 112 ด้วยวิธีการที่ไม่ใช่วิธีการทางกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย

โดยก่อนอ่านผลของคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญบรรยายพฤติการณ์รวมถึงเหตุผลว่าทำไมการกระทำดังกล่าวจึงเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง โดยสรุปได้ ดังนี้

ปี 2564 พรรคก้าวไกลเเสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ที่มีการแก้ไขมาตรา 112 อยู่ด้วย โดยมีการแก้ไขลักษณะ (หมวดหมู่) ของบทบัญญัติเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ มาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญา ที่ใช้บังคับอยู่ อยู่ในลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แต่ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ที่พรรคก้าวไกลเสนอในปี 2564 ย้ายไปอยู่ในลักษณะใหม่ ชื่อ ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ฯ การกระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของประเทศด้วย การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองในคดีนี้เสนอร่างกฎหมายโดยมีเนื้อหาย้าย มาตรา 112 ออกจากลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นการกระทำเพื่อมุ่งหวังให้ความผิด มาตรา 112 เป็นความผิดที่ไม่มีความสำคัญและความร้ายแรงในระดับเดียวกับความผิดอื่นในหมวดความมั่นคงฯ มีเจตนามุ่งหมายจะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเป็นชาติไทยออกจากกัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐอย่างมีนัยสำคัญ

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 28-29/2555 วางหลักเกี่ยวกับ มาตรา 112 ว่า การกระทำความผิดตามมาตรานี้ มีลักษณะของการกระทำความผิดที่มีความร้ายแรงมากกว่าการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ตามมาตรา 326 เพื่อพิทักษ์ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงไม่มีการบัญญัติบทยกเว้นความผิด ยกเว้นโทษ การที่ผู้ถูกร้องเสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา โดยมีเหตุยกเว้นความผิดสำหรับการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต รวมถึงเหตุยกเว้นโทษ จะส่งผลให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดี มาตรา 112 ใช้ข้อต่อสู้นี้ได้เสมือนผู้ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 326 (หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา) ทั้งๆ ที่ มาตรา 112 มีความร้ายแรงกว่า

แม้การเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะเป็นอำนาจหน้าที่นิติบัญญัติของฝ่ายนิติบัญญัติ และร่างกฎหมายดังกล่าวจะไม่ได้บรรจุวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม เมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกเสนอโดยพรรคก้าวไกลเพียงพรรคเดียว อีกทั้งในการหาเสียงเลือกตั้ง 2566 พรรคก้าวไกลยังใช้การเสนอนโยบายแก้ไขมาตรา 112 โดยในเว็บไซต์ของพรรคอธิบายเนื้อหาการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในเนื้อหาทำนองเดียวกันกับร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอในปี 2564 พฤติการณ์เหล่านี้แสดงออกว่าผู้ถูกร้องพยายามลดทอนความคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านร่างกฎหมายและกระบวนการนิติบัญญัติเพื่อสร้างความชอบธรรมโดยซ่อนเร้นในรัฐสภา เพื่อหวังผลคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง มุ่งหมายให้พระมหากษัตริย์เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องเข้าไปเป็นฝักฝ่ายต่อสู้แข็งขันรณรงค์ทางการเมือง อันอาจนำมาสู่การติเตียนโดยไม่เคารพหลักการที่พระมหากษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมือง การกระทำของพิธาและพรรคก้าวไกลในการหาเสียงดังกล่าว มีเจตนาเซาะกร่อนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เสื่อมโทรม

ศาลรัฐธรรมนูญยังระบุว่า พรรคก้าวไกลแสดงบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองสอดรับกับการเคลื่อนไหวกลุ่มทางการเมืองต่างๆ รณรงค์ปลุกเร้า ยุยงปลุกปั่น สร้างกระแสในสังคมในสนับสนุนการยกเลิกหรือการแก้ไข มาตรา 112 ผ่านพฤติกรรมต่างๆ ของสส. หรือสมาชิกในพรรค เช่น รณรงค์ยกเลิก มาตรา 112 ทำกิจกรรมยืนหยุดขัง เป็นนายประกันให้กับจำเลยในคดี 112 หรือการที่ สส. ในพรรคเป็นจำเลยในคดี มาตรา 112 ย่อมแสดงให้เห็นว่าพรรคก้าวไกลมีอุดมการณ์ต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่คุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์

ศาลรัฐธรรมนูญ จึงวินิจฉัยว่า การกระทำของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล จากการหาเสียงนโยบายแก้ไข มาตรา 112 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง เลิกการกระทำ เลิกการแสดงความความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิก มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไข มาตรา 112 ด้วยวิธีการที่ไม่ใช่วิธีการทางกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย

ในตอนท้าย หลังอ่านคำวินิจฉัยจบ ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมมีผู้ที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ขอให้ตระหนักไว้ว่า การวิจารณ์คำวินิจฉัยที่กระทำโดยไม่สุจริต ใช้ถ้อยคำหรือความหมายหยาบคายเสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย จะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 38 มีโทษตักเตือน จำคุก หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท

ย้อนอ่านสรุปเนื้อหาร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอเมื่อปี 2564 ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/4543