การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ 200 คน ในระบบ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” “เลือกกันเอง” จำกัดเฉพาะผู้สมัคร สว. ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปเท่านั้น ที่จะมีสิทธิในการ “เลือก” ผู้ที่สมควรจะเป็น สว. ทำหน้าที่ในรัฐสภาเป็นผู้แทนปวงชนได้ ต่างจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง นอกจากความต่างในเชิงที่มา ผู้สมัคร สว. ชุดใหม่ยังไม่สามารถ “หาเสียง” ทำได้เพียงแต่ “แนะนำตัว” ตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด ซึ่งหากการแนะนำตัวไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ผู้สมัครก็จะมีความผิดด้วย
อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์ในการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. ในระบบ “เลือกกันเอง” ก็เปลี่ยนแปลงอยู่หลายครั้ง ในตอนแรก กกต. ออก ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2567 ระเบียบฉบับนี้สร้างเงื่อนไขและมี “ข้อจำกัด” ในการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. หลายอย่าง เช่น ข้อจำกัดในเชิงเนื้อหา ผู้สมัคร สว. สามารถใส่ข้อมูลส่วนตัวในเอกสารแนะนำตัวเท่านั้น ไม่สามารถระบุจุดยืนหรือแนวคิดในด้านต่างๆ ได้ หลังจากได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงผู้ที่ประสงค์จะลงสมัคร สว. บางรายได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ อย่างน้อยสองคดี กกต. ก็ออกระเบียบ การแนะนำตัวฯ ฉบับที่สอง ผ่อนคลายเงื่อนไขวิธีการแนะนำตัว โดยเฉพาะการแนะนำทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ประชาชนมีโอกาสรู้จักผู้สมัคร สว. มากขึ้น แต่เงื่อนไขหรือข้อจำกัดอีกหลายประการ ก็ยังคงมีอยู่ตามเดิม
ต่อมา 24 พฤษภาคม 2567 ศาลปกครองมีคำพิพากษาคดีขอให้เพิกถอนระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ โดยเพิกถอนข้อ 3 ที่นิยาม “การแนะนำตัว” ซึ่งระบุว่า หมายความว่า การบอก ชี้แจง หรือแจกเอสการ เพื่อให้ผู้สมัครอื่นรู้จัก ข้อ 7 ที่จำกัดเนื้อหาการแนะนำตัว และให้ระบุได้ไม่เกินสองหน้ากระดาษเอสี่ ข้อ 8 ที่เชื่อมโยงกับข้อ 7 จำกัดเนื้อหาการแนะนำตัว ข้อ 11 (2) ที่ห้ามผู้ประกอบอาชีพสื่อใช้ความสามารถในการแนะนำตัว และข้อ 11 (3) ที่ห้ามติดประกาศหรือวางเอกสารแนะนำตัว โดยการเพิกถอนมีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ประกาศใช้ แต่คำพิพากษายังไม่ถึงที่สุดเนื่องจากกฎหมายมีกรอบเวลาให้ผู้ถูกฟ้องอุทธรณ์ได้ ซึ่งเมื่อ 27 พฤษภาคม 2567 แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงข่าว ใจความว่า กกต. มีมติเอกฉันท์จะไม่อุทธรณ์คดี และจะไม่มีการแก้ไขระเบียบใดๆ ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวได้ตามระเบียบ การแนะนำตัวฯ ทั้งสองฉบับ ควบคู่กับคำตัดสินของศาลปกครองกลาง
หลังจากศาลปกครองมีคำวินิจฉัย และ กกต. แสดงความชัดเจนแล้วว่าจะไม่อุทธรณ์ ผู้สมัคร สว. สามารถแนะนำตัวเองได้อย่างอิสระมากขึ้น แต่ยังมีข้อห้ามบางประการที่พึงระวัง
ผู้สมัคร สว. แนะนำตัวแสดงจุดยืน-แนวคิดได้ ทำได้ทั้งการแจกเอกสาร-ช่องทางออนไลน์
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) ซึ่งเป็นกฎหมายหลักในการกำหนดรายละเอียดเรื่องการเลือก สว. มาตรา 36 วางหลักให้ ผู้สมัครแนะนำตัวได้ตามวิธีการและเงื่อนไขที่ กกต. กำหนด และในวรรคสองยังระบุอีกว่า หากบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้สมัคร จะช่วยเหลือผู้สมัครในการแนะนำตัว ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ กกต. กำหนดด้วย และในมาตรา 70 กำหนดบทลงโทษว่า ผู้สมัคร รวมถึงบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้สมัคร หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเรื่องการแนะนำตัว ที่กกต. กำหนด จะมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งห้าปี
เดิมระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ ข้อ 3 ให้นิยามความหมายไว้ว่า “การแนะนำตัว” การบอก ชี้แจง หรือแจกเอกสาร เพื่อให้ผู้สมัครอื่นรู้จัก แต่ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนระเบียบข้อดังกล่าวไปแล้ว ดังนั้น การแนะนำตัวของผู้สมัคร สว. ไม่จำเป็นต้องทำเพื่อให้ “ผู้สมัครอื่นรู้จัก” อย่างเดียวก็ได้ แต่สามารถแนะนำตัวต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สมัครรู้จักหรือเพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีสิทธิเลือกก็ได้
สำหรับวิธีการแนะนำตัว เดิมในข้อ 7 และข้อ 8 ของระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ ทั้งสองฉบับ กำหนดวิธีการแนะนำตัวของผู้สมัครไว้สองกรณี
กรณีแรก คือ การแนะนำตัวแบบใช้เอกสารกระดาษ
กรณีที่สอง การแนะนำตัวผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การโพสต์ข้อความ อัพโหลดภาพหรือคลิปผ่านทางโซเชียลมีเดีย หรือเว็บไซต์ต่างๆ
โดยการแนะนำตัวทั้งสองวิธีนั้น เดิมกำหนดให้ผู้สมัคร สว. สามารถแนะนำตัวได้โดยระบุเนื้อหาดังต่อไปนี้ ไม่เกินสองหน้ากระดาษเอสี่
- ข้อมูลส่วนตัว
- รูปถ่าย
- กลุ่มที่ลงสมัคร
- หมายเลขของผู้สมัคร
- ประวัติการศึกษา
- ประวัติการทำงาน หรือประสบการณ์ในการทำงาน
แต่หลังจากศาลปกครอง พิพากษาเพิกถอน ระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ ข้อ 7 โดยให้เหตุผลว่า กระทบต่อเสรีภาพของผู้สมัครในการแนะนำตัว ทั้งข้อจำกัดในเชิงปริมาณที่ต้องไม่เกินสองหน้ากระดาษเอสี่ ทั้งข้อจำกัดในเชิงเนื้อหา ที่กำหนดให้ระบุข้อความตามที่ระเบียบ กกต. กำหนดเท่านั้น ทั้งที่ผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. สามารถระบุเนื้อหาแนะนำตัวได้อย่างอิสระในว่าเรื่องคุณวุฒิ ผลงาน รวมทั้งแนวความคิดด้านต่างๆ การกำหนดเช่นนี้จึงเป็นการสร้างข้อกำหนดที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้สมัครเกินความจำเป็น ดังนั้น ผู้สมัครจึงสามารถแนะนำได้อย่างอิสระมากขึ้น โดยไม่มีข้อจำกัดในเชิงปริมาณจำนวนหน้าของเอกสารแนะนำตัว และผู้สมัครสามารถแสดงจุดยืน แนวความคิดในด้านต่างๆ ได้ เท่าที่จะไม่ขัดกับระเบียบข้ออื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกเพิกถอน
นอกจากนี้ ศาลปกครองยังเพิกถอนระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ ข้อ 11 (3) ที่กำหนดว่า ระหว่างวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลบังคับใช้ (11 พฤษภาคม 2567) จนถึงวันที่ กกต. ประกาศผลการเลือก ที่กำหนดห้ามแจกเอกสารเกี่ยวกับการแนะนำตัวโดยวิธีการวาง โปรยหรือติดประกาศในที่สาธารณะ หมายความว่าผู้สมัคร สว. สามารถติดเอกสารแนะนำตัวในที่สาธารณะได้ แต่ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย โดยในพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ความสะอาดฯ) มาตรา 10 กำหนดว่า การโฆษณาด้วยการปิดประกาศในที่สาธารณะ จะทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อน
อย่างไรก็ดี เงื่อนไขอื่นๆ เกี่ยวกับการแนะนำตัว ที่ยังไม่ถูกเพิกถอน ก็ยังคงมีอยู่ หากผู้สมัคร สว. จะมีผู้ที่ช่วยเหลือในการแนะนำตัว รวมถึงบุคคลอื่นที่อยากจะช่วยเหลือผู้สมัครแนะนำตัว ก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการในระเบียบ กกต. ก่อน ข้อ 9 กำหนดว่า ก่อนจะดำเนินการแนะนำตัว ผู้สมัคร สว. ต้องแจ้งชื่อ คนอื่นที่ผู้สมัครยินยอมให้ช่วยเหลือแนะนำตัว หรือเรียกว่า “ผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร” ต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดด้วย และหากจะเปลี่ยนแปลงชื่อก็ต้องแจ้งด้วยเช่นกัน แต่ถ้าเป็นกรณีที่ผู้สมัครให้ สามี ภรรยา หรือบุตร เป็นผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร ไม่จำเป็นต้องแจ้งชื่อ
กรณีที่ผู้สมัครไม่ได้แจ้งชื่อผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร ถ้าผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดได้รับแจ้งเรื่องนี้ สามารถแจ้งให้ผู้สมัครปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ ถ้าผู้สมัครยังไม่ดำเนินการตาม ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอาจนำมาเป็นเหตุดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวน ตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาดได้
หลัง พ.ร.ฎ. ออก จนถึงวันประกาศผล ผู้สมัคร สว. แนะนำตัวทางสื่อไม่ได้
นอกจากศาลปกครองจะเพิกถอนระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ ข้อ 3 ข้อ 7 และข้อ 8 แล้ว ยังเพิกถอนระเบียบอีกสองข้อ ที่เกี่ยวกับข้อห้ามไม่ให้ผู้สมัคร สว. ทำในการแนะนำตัวด้วย ได้แก่
ข้อ 11 (2) การห้ามผู้สมัครและผู้ช่วยเหลือผู้สมัครแนะนำตัว ที่ประกอบอาชีพทางวิทยุ โทรทัศน์ สื่อมวลชน หรือสื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร ใช้ความสามารถหรือวิชาชีพ เอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว ศาลระบุว่าบทบัญญัติดังกล่าวมีเนื้อหาคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ขณะเดียวกัน ผู้สมัครจากกลุ่มอื่นก็อาจใช้ความสามารถเพื่อเป็นประโยชน์ในการแนะนำตัวได้ แต่กลับไม่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขเหล่านี้
ข้อ 11 (3) ที่กำหนดว่า ระหว่างวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลบังคับใช้ (11 พฤษภาคม 2567) จนถึงวันที่ กกต. ประกาศผลการเลือก ที่กำหนดห้ามแจกเอกสารเกี่ยวกับการแนะนำตัวโดยวิธีการวาง โปรยหรือติดประกาศในที่สาธารณะ
ดังนั้น ผู้สมัคร สว. ที่ทำงานสายสื่อมวลชน สายบันเทิง สามารถทำงาน ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ โดยไม่ต้องกังวลข้อจำกัดในข้อนี้ และสามารถแนะนำตัวได้เหมือนผู้สมัคร สว. คนอื่นๆ
สำหรับข้อห้ามในการแนะนำตัวหลายข้อยังคงมีอยู่ โดยกำหนดข้อห้ามผู้สมัคร และผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร ดังนี้
- ห้ามผู้สมัคร หรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการแนะนำตัว (ข้อ 10)
- นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลบังคับใช้ จนถึงวันที่ กกต. ประกาศผลการเลือก สว. ห้ามผู้สมัครหรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร แนะนำตัวในกรณีดังต่อไปนี้ (ข้อ 11)
- ฝ่าฝืนข้อห้ามตาม พ.ร.ป. สว. ฯ กล่าวคือ ห้ามแนะนำตัวโดยจัดให้มีมหรสพ งานรื่นเริง ตามมาตรา 77 (2)
- ห้ามแนะนำตัวโดยใช้ถ้อยคำรุนแรงหรือปลุกระดมก่อให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่
- ห้ามแนะนำตัวทางวิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์
- ห้ามแนะนำตัวโดยการห้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน นักข่าว หรือสื่อโฆษณา ที่เผยแพร่ทางแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ
- ห้ามจงใจไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบนี้
ทั้งนี้ วันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หมายความว่า ตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป ผู้สมัคร สว. จะต้องระมัดระวัง ไม่ฝ่าฝืนข้อห้ามตาม ข้อ 11 จนกว่าจะถึงวันที่ กกต. ประกาศผลการเลือก
ระเบียบ กกต. ห้ามเยอะกว่า พ.ร.ป. สว.ฯ ผู้สมัคร ห้ามยอมให้ผู้สมัครคนอื่นเข้ามา “ช่วยเหลือ”
ในพ.ร.ป. สว.ฯ หนึ่งในข้อห้ามสำคัญของผู้สมัคร คือ ห้ามผู้สมัครใดยินยอมให้บุคคลต่อไปนี้ “ช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับเลือกเป็น สว.” (มาตรา 76 วรรคสอง)
- กรรมการบริหารพรรคการเมือง
- ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคการเมือง
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- สมาชิกสภาท้องถิ่น
- ผู้บริหารท้องถิ่น
- ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
นอกจากข้อห้ามข้างต้น ตามพ.ร.ป. สว.ฯ มาตรา 76 ระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ ข้อ 12 ยังกำหนดข้อห้ามที่ดูเผินๆ เหมือนจะคล้ายกัน แต่เขียน “กว้าง” กว่ามาก โดยระบุห้าม “ผู้สมัคร” ยินยอมให้บุคคลเหล่านี้เข้ามา “ช่วยเหลือผู้สมัครไม่ว่ากรณีใดๆ”
- ผู้สมัครคนอื่น
- กรรมการบริหารพรรคการเมือง
- ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคการเมือง
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- สมาชิกสภาท้องถิ่นผู้บริหารท้องถิ่น
- ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
การที่ระเบียบ กกต. เขียนไว้เช่นนี้ เป็นการระบุกว้างกว่ากรณีของมาตรา 76 ที่กำหนดเฉพาะห้ามผู้สมัครยินยอมให้ผู้อื่น “ช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับเลือกเป็น สว.” ขณะที่กรณีของข้อ 12 กำหนดไว้ว่าเป็นการ “ช่วยเหลือผู้สมัครไม่ว่ากรณีใดๆ” โดยข้อความดังกล่าวเปิดพื้นที่ให้ กกต.ใช้ดุลยพินิจในการตีความว่าการกระทำใดที่จะเป็นการช่วยเหลือผู้สมัครในการแนะนำตัว และขัดต่อระเบียบฉบับนี้