หลังจากที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดพิเศษ 250 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หมดวาระการดำรงตำแหน่งลง คณะรัฐมนตรีจึงได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีการให้มีการเลือก สว. ชุดใหม่ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดกรอบเวลาในการประกาศรับสมัคร สว. ชุดใหม่ในช่วงวันที่ 20 – 24 พฤษภาคม 2567 เมื่อขั้นตอนการรับสมัครห้าวันเสร็จสิ้นลงแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการประกาศบัญชีรายชื่อของผู้สมัคร เพื่อให้ผู้สมัครได้ทำความรู้จักกันเองก่อนจะเข้าไปสู่ขั้นตอนการเลือกในระดับอำเภอในวันที่ 9 มิถุนายน 2567
สำหรับระบบการเลือก สว. ชุดใหม่ เป็นการ “เลือกกันเอง” ในกลุ่มผู้สมัคร กระบวนการเลือกมีสามระดับ ได้แก่ อำเภอ จังหวัด และประเทศ ในแต่ละระดับขั้นตอนการเลือกสองรอบ ได้แก่ การเลือกกันเองในกลุ่มเดียวกัน และการแบ่งสายเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม โดยกระบวนการเลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกันและลือกไขว้ จะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียวกัน โดยกำหนดวันเลือกทั้งสามระดับ มีดังนี้
- 9 มิถุนายน 2567 เลือกระดับอำเภอ
- 16 มิถุนายน 2567 เลือกระดับจังหวัด
- 26 มิถุนายน 2567 เลือกระดับประเทศ
ผู้สมัครจะสามารถทำความรู้จักผู้สมัครคนอื่น และให้ผู้สมัครคนอื่นทำความรู้จักตนเองได้หลายช่องทางด้วยกัน ได้แก่
- กกต. จะประกาศรายชื่อผู้สมัครเบื้องต้นก่อน (ยังไม่ตรวจสอบคุณสมบัติ)
- ประกาศบัญชีรายชื่อของผู้สมัครทุกกลุ่มพร้อมหมายเลข (ตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว)
- กกต.จะมอบเอกสารข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัครทุกกลุ่มให้ผู้สมัครทุกคน
- แนะนำตัวเองได้ตามระเบียบแนะนำตัวที่ศาลปกครองมีคำตัดสินแล้วและ กกต. ไม่อุทธรณ์
- ประกาศตัวบน www.senate67.com
1. กกต. จะประกาศรายชื่อผู้สมัครเบื้องต้นก่อน
หลังการรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ ระหว่างวันที่ 20-24 พฤษภาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้เผยแพร่ข้อมูลว่า ก่อนที่จะมีการประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครทั้งหมดในช่วงระยะเวลาไม่เกินวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 แล้ว สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจะดำเนินการเผยแพร่บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. เบื้องต้น ผ่านเว็บไซต์ https://senator.ect.go.th รวมถึงในแอปพลิเคชัน Smart Vote ภายในวันที่ 25 พฤษภาคม 2567 เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป
ทั้งนี้บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. เบื้องต้น จะเป็นเพียงบัญชีรายชื่อผู้สมัครทั้งหมดที่สมัครตั้งแต่วันที่ 20-24 พฤษภาคม 2567 โดยยังไม่ได้รับการตรวจสอบเอกสารและหลักฐานการสมัคร คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร การถูกจำกัดสิทธิและการสมัครเพียงหนึ่งกลุ่ม หนึ่งอำเภอเท่านั้น เมื่อตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้วจะดำเนินการประกาศให้ทราบอีกครั้งไม่เกินวันที่ 29 พฤษภาคม 2567
การทำความรู้จักผู้สมัครคนอื่นในขั้นตอนการประกาศบัญชีรายชื่อขั้นตอนจะเป็นเพียงการทำความรู้จักแบบเบื้องต้นเท่านั้นว่าในอำเภอหรือเขตของตนมีใครมาสมัครบ้าง แต่บุคคลที่ปรากฎทั้งหมดอาจไม่ใช่ผู้สมัครที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว ซึ่งผู้สมัครบางคนอาจถูกตัดสิทธิการรับสมัครและตัดชื่อออกจากบัญชีรายชื่อจริงเมื่อประกาศแล้วก็ได้
2. ดูประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครพร้อมหมายเลข
ภายหลังจากที่มีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครและประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครทั้งหมดที่สมัครในอำเภอหรือเขตนั้น ผู้สมัครจะต้องดำเนินการตรวจสอบรายชื่อที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอประกาศว่ามีชื่อของตนเองหรือไม่ รวมถึงสามารถตรวจสอบรายชื่อของผู้สมัครอื่นได้ด้วย
วันที่ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครทั้งหมดจะอยู่ภายในห้าวันนับแต่วันที่ปิดรับสมัคร หรือไม่เกินวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 โดยจะประกาศไว้ ณ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สถานที่เลือก และจะประชาสัมพันธ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ในเว็บไซต์ www.ect.go.th รวมถึงในแอปพลิเคชัน Smart Vote
ทั้งนี้หากผู้สมัครได้รับแจ้งจากผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอถึงเหตุที่ไม่รับสมัครและถูกตัดชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ผู้สมัครต้องไปร้องศาลฎีกาภายในสามวันนับแต่ที่มีการแจ้งนั้น หากศาลฎีกามีคำตัดสินให้คืนสิทธิในการรับสมัครของผู้นั้น ผู้อำนวยการการเลือกจะต้องประกาศรายชื่อเพิ่มเติมและแจ้งให้ผู้สมัครทราบ
3. ดูเอกสารข้อมูลผู้สมัครทุกกลุ่มที่ กกต. มอบให้ผู้สมัครทุกคน
นอกจากนี้ก่อนวันเลือกไม่น้อยกว่าสามวัน หรือไม่เกินวันที่ 6 มิถุนายน 2567 กกต. จะต้องมอบเอกสารข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัครทุกกลุ่ม (สว. 3) ให้ผู้สมัครแต่ละคนด้วย โดยเอกสารข้อมูลแนะนำตัวดังกล่าวจะประกอบไปด้วย รูปถ่ายของผู้สมัคร หมายเลขของผู้สมัคร ชื่อ-นามสกุล เพศ อาชีพ ประวัติการศึกษา และประวัติการทำงานหรือประสบการณ์ทำงานในกลุ่มที่สมัคร (ไม่เกินห้าบรรทัด) โดยภายหลังจากที่ผู้สมัครไปสมัครแล้ว เจ้าหน้าที่จะแจ้งนัดวันมารับเอกสารชุดดังกล่าว โดยอาจเป็นวันที่ 3 วันที่ 4 หรือวันที่ 5 มิถุนายน 2567
4. ผู้สมัครแนะนำตัวกันเองได้ทั้งการแจกเอกสารกระดาษ-ช่องทางออนไลน์
นอกจากกระบวนการทำความรู้จักผู้สมัครผ่านทางบัญชีรายชื่อและเอกสารข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร ผู้สมัครยังสามารถ “แนะนำตัวเอง” ได้ โดยทำเป็นเอกสารกระดาษแล้วแจกให้กัน หรือเผยแพร่ทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเดิม กกต. ออก ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ) ออกมา จำกัดเนื้อหาการแนะนำตัวและการแนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เผยแพร่ระหว่างผู้สมัครเท่านั้น ต่อมา กกต. ออกระเบียบ การแนะนำตัวฯ ฉบับที่สอง แม้จะเปิดให้การแนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์สามารถให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้สมัครเข้าถึงได้ แต่ก็ยังจำกัดเนื้อหาการแนะนำตัว ไม่เปิดให้ผู้สมัคร สว. แสดงจุดยืนหรือแนวความคิดด้านต่างๆ ได้
อย่างไรก็ดี มีผู้ที่จะลงสมัคร สว. ไปยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อเพิกถอนระเบียบ การแนะนำตัวฯ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ศาลปกครองมีคำพิพากษาคดีขอให้เพิกถอนระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ โดยเพิกถอนข้อ 3 ที่นิยาม “การแนะนำตัว” ซึ่งระบุว่า หมายความว่า การบอก ชี้แจง หรือแจกเอสการ เพื่อให้ผู้สมัครอื่นรู้จัก ข้อ 7 ที่จำกัดเนื้อหาการแนะนำตัว และให้ระบุได้ไม่เกินสองหน้ากระดาษเอสี่ ข้อ 8 ทึ่เชื่อมโยงกับข้อ 7 จำกัดเนื้อหาการแนะนำตัว ข้อ 11 (2) ที่ห้ามผู้ประกอบอาชีพสื่อใช้ความสามารถในการแนะนำตัว และข้อ 11 (3) ที่ห้ามติดประกาศหรือวางเอกสารแนะนำตัว โดยการเพิกถอนมีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ประกาศใช้
ภายหลังคำตัดสินของศาลปกครอง 27 พฤษภาคม 2567 แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงข่าวว่า “เมื่อพิจารณาคำพิพากษาของศาลปกครองแล้วพบว่า คำพิพากษาเป็นการขยายสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมกับการเลือก สว.” และยังกล่าวต่อว่า “คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาแล้วไม่เห็นสมควรอุทธรณ์คำพิพากษาโดยมีมติเป็นเอกฉันท์ และจะไม่มีการแก้ไขระเบียบใดๆ ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวได้ตามระเบียบการแนะนำตัวฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 ควบคู่กับคำตัดสินของศาลปกครองกลาง”
เท่ากับว่า ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวให้ผู้สมัครคนอื่นรู้จักได้โดยการแนะนำตัวตามระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ โดยควบคู่ไปกับคำตัดสินของศาลปกครองที่ประกันสิทธิผู้สมัคร สว. ในการแนะนำตัว และสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมกับการเลือก สว. ชุดใหม่ ผู้สมัคร สว. สามารถแนะนำตัวโดยไม่มีข้อจำกัดเชิงประมาณว่าต้องอยู่ภายในสองหน้ากระดาษเอสี่ จะมากหรือน้อยกว่านั้นก็ได้ สำหรับการแนะนำตัวผ่านเอกสารกระดาษ ผู้สมัครสามารถใช้วิธีติดประกาศได้เช่นกัน นอกจากนี้ ในเชิงเนื้อหา จากเดิมที่กำหนดให้ต้องระบุแค่ประวัติการทำงานและประสบการณ์ ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวได้มากกว่าเดิม โดยอาจรวมถึงสามารถแนะนำตัวในแนวคิดด้านต่างๆ ได้ด้วย
โดยทั้งหมดนี้สามารถแนะนำผ่านอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยไม่มีข้อจำกัดดังเดิม แต่ต้องอยู่ภายในระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ ข้ออื่นด้วยเช่นกัน
5. ประกาศตัว-รู้จักกันผ่าน senate67
จากเดิมที่เว็บไซต์ www.senate67.com ต้องดำเนินการเอาข้อมูลที่เป็นการประกาศตัวของผู้สมัครทั้งหมดออกไปเพื่อรักษาสิทธิผู้สมัครหลังจากที่ระเบียบ กกต. แนะนำตัวฯ มีผลใช้บังคับ หลังศาลปกครองมีคำพิพากษาและการแถลงของเลขาธิการ กกต. ว่า กกต. จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษา ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวตามแนวคำพิพากษาและระเบียบ กกต. ได้ ดังนั้น ผู้สมัครทุกคนสามารถประกาศตัว-ทำความรู้จักกันได้บนช่องทาง www.senate67.com ได้ดังเดิม โดยไม่จำเป็นต้องเอาข้อมูลการแนะนำตัวส่วนใดๆ ออก โดยเฉพาะข้อมูลแนวคิดในการทำงานหากได้เป็น สว.