สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แต่งตั้งชุดพิเศษ 250 คน ใกล้จะหมดวาระในช่วงกลางปี 2567 และ ส.ว.ชุดใหม่ที่มาแบบใหม่เป็น ส.ว.ตามบทหลักภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ต่อในฐานะสภาสูง แม้อำนาจตามบทเฉพาะกาล เช่น การเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส. นั้นจะสิ้นผลไปตาม ส.ว.แต่งตั้งชุดแรก แต่อำนาจหลักอื่นๆ ยังคงมีอยู่เต็มมือ
ส.ว.ชุดใหม่ 200 คน มาจากกลุ่มอาชีพต่างๆ และกลุ่มพิเศษคัดเลือกกันเอง
หลังจากที่ครบวาระห้าปีนับตั้งแต่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ชุดแรกที่ถูกแต่งตั้งมาใช้อำนาจเฉพาะกิจสานต่อช่วงรอยต่อของการดำเนินงานตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็จะหมดอายุไป โดยที่มาของ ส.ว.ชุดใหม่ ก็ไม่เหมือน ส.ว. ชุดพิเศษ ตามบทเฉพาะกาลอีกต่อไป และมีจำนวนลดลงเหลือเพียง 200 คน แตกต่างจาก ส.ว. ชุดพิเศษตามบทเฉพาะกาลที่มีถึง 250 คน
รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดหลักการที่มาและจำนวนวุฒิสภาตามบทบัญญัติหลัก โดยให้ ส.ว.มีจำนวน 200 คน วาระดำรงตำแหน่งคราวละห้าปี ซึ่งจะเริ่มนับอายุตั้งแต่วันที่กรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผล มีที่มาจากการที่ผู้สมัครตามแต่ละกลุ่มอาชีพ “เลือกกันเอง” โดยบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน ทำงานหรือเคยทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม ซึ่งรายละเอียดการจัดสรรกลุ่มอาชีพต่างๆ จำนวนและหลักเกณฑ์ขั้นตอนการเลือกกันเองอย่างชัดเจนจะถูกลงไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ)
พ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 10 และมาตรา 11 กำหนดให้ผู้สมัคร ส.ว.สามารถเลือกสมัครเป็นตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ได้ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มอาชีพต่างๆ ซึ่งมีจำนวน 18 กลุ่ม และกลุ่มพิเศษอีกสองกลุ่มคือ กลุ่มสตรี และกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ทุพพลภาพรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ รวมจำนวนทั้งหมด 20 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เช่น อดีตข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มการศึกษา เช่น ครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มการสาธารณสุข เช่น แพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มพนักงานลูกจ้างที่ไม่ใช่ราชการหรือหน่วยงานรัฐ ผู้ใช้แรงงาน อื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาฯ และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อยตามกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจาก (9)
- กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการอื่นหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มสตรี
- กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มอื่นๆ
โดยผู้สมัครจะต้องมีไม่มีลักษณะต้องห้ามต่างๆ ตามมาตรา 14 เช่น ไม่เป็นข้าราชการ ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง และต้องมีคุณสมบัติครบตามมาตรา 13 ดังนี้
- มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
- อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันสมัครรับเลือก
- มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี
- ผู้สมัครต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ เกิดในอำเภอที่สมัครรับเลือก,มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันสมัครรับเลือก,เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณีเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี,เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอสมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษา
ทั้งนี้ คุณสมบัติเรื่องความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ หรือทำงานไม่น้อยกว่า 10 ปี นั้น จะไม่ถูกนำมาใช้กับผู้ที่สมัครในกลุ่มสตรีหรือกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น นอกจากนี้ หากเป็นผู้ประกอบอาชีพที่อยู่ในข่าย “อื่น ๆ หรือในทำนองเดียวกัน” จะต้องเป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย
เปิดที่มา ส.ว. ให้เวียนเลือกกันเอง ตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด จนถึงระดับประเทศ
ที่มาของ ส.ว.ชุดใหม่ เมื่อผู้สมัครคุณสมบัติผ่านฉลุยก็จะเข้าสู่กระบวนการเลือกกันเองภายใน 20 กลุ่ม ซึ่งผู้สมัครแต่ละคนมีสิทธิเลือกสมัครได้แค่หนึ่งกลุ่มและในหนึ่งอำเภอเท่านั้น (มาตรา 15) โดยทุกกลุ่มจะทำการเลือกกันเองตั้งแต่ในระดับอำเภอ พอได้ตัวแทนระดับอำเภอก็ไปคัดเลือกกันเองต่อในระดับจังหวัด จากนั้นค่อยไปคัดเลือกกันเองต่อในระดับประเทศ จนได้สมาชิกครบ 200 คน ซึ่งขั้นตอนต่างๆ มีดังนี้
ด่านแรก เลือกกันเองในระดับอำเภอ (มาตรา 40)
ขั้นแรก เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้ได้ห้าอันดับแรกของแต่ละกลุ่ม
- เริ่มด้วยการเลือกกันเองภายในกลุ่มที่ผู้สมัครเลือกสมัครก่อน ซึ่งจะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้ แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกินหนึ่งคะแนน
- ผู้ได้คะแนนสูงสุดห้าอันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม
ขั้นที่สอง เลือกผู้สมัครต่างกลุ่ม เพื่อให้ได้สามอันดับแรกของแต่ละกลุ่มไปเลือกกันต่อในระดับจังหวัด
- กลุ่มแต่ละกลุ่มเมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นแล้ว จะถูกจัดแบ่งออกตามสาย แบ่งออกเป็นไม่เกินสี่สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่าๆ กัน
- ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มจะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยให้เลือกบุคคลจากกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน กลุ่มละหนึ่งคน ห้ามเลือกคนที่อยู่กลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองในขั้นนี้
- ผู้ได้คะแนนสามลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกในระดับอำเภอสำหรับกลุ่มนั้น และเข้าสู่การคัดเลือกต่อในระดับจังหวัดต่อไป
ด่านที่สอง เลือกกันเองในระดับจังหวัด (มาตรา 41)
ขั้นแรก เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้ได้ห้าอันดับแรกของแต่ละกลุ่ม
- ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอแต่ละกลุ่ม ลงคะแนนเลือกกันเองภายในกลุ่ม ซึ่งจะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกินหนึ่งคะแนน
- ผู้ได้คะแนนสูงสุดห้าอันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม
ขั้นที่สอง เลือกผู้สมัครต่างกลุ่ม เพื่อให้ได้สองอันดับแรกของแต่ละกลุ่มไปเลือกกันต่อในระดับประเทศ
- กลุ่มแต่ละกลุ่มเมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นแล้ว จะถูกจัดแบ่งออกตามสาย แบ่งออกเป็นไม่เกินสี่สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่าๆ กัน
- ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มจะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยให้เลือกบุคคลจากกลุ่มอื่น กลุ่มละหนึ่งคน ห้ามเลือกคนที่อยู่กลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเอง
- ผู้ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกในระดับจังหวัดสำหรับกลุ่มนั้น และเข้าสู่การคัดเลือกต่อในระดับประเทศต่อไป
ด่านที่สาม เลือกกันเองในระดับประเทศ (มาตรา 42)
ขั้นแรก เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้ได้ 40 คนแรกของแต่ละกลุ่ม
- ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดแต่ละกลุ่ม ลงคะแนนเลือกกันเองภายในกลุ่ม ซึ่งจะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 10 คน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกินหนึ่งคะแนน
- ผู้ได้คะแนนสูงสุด 40 อันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม ในขั้นนี้หากแต่ละกลุ่มได้ไม่ครบ 40 คน ก็ให้ถือตามจำนวนเท่าที่มี แต่จะน้อยกว่า 20 คนไม่ได้ โดยผู้อำนวยการเลือกตั้งระดับประเทศจะจัดให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือก ซึ่งยังอยู่ ณ สถานที่เลือกนั้น เลือกกันเองใหม่จนกว่ากลุ่มนั้นจะมีจำนวนอย่างต่ำถึง 20 คน
ขั้นที่สอง เลือกผู้สมัครต่างกลุ่ม โดย 10 คนแรก ที่ได้รับคะแนนสูงสุดของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็น ส.ว.
- กลุ่มแต่ละกลุ่มเมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นแล้ว จะถูกจัดแบ่งออกตามสาย แบ่งออกเป็นไม่เกินสี่สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่าๆกัน
- ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มจะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยให้เลือกบุคคลจากกลุ่มอื่น กลุ่มละไม่เกินห้าคน ห้ามเลือกคนที่อยู่กลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองในขั้นนี้
- ผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็น ส.ว. สำหรับกลุ่มนั้น และผู้ที่ได้ลำดับที่ 11 ถึง 15 จะเป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น
โดยสรุป เมื่อผ่านการเลือกกันเองของกลุ่มผู้สมัคร ส.ว.ทั้งหมดสามด่านแล้ว ก็จะได้ตัวแทนจากแต่ละกลุ่ม กลุ่มละ 10 คน เป็นตัวจริงที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็น ส.ว. ยกตัวอย่างเช่น นาย A เคยเป็นครู ทำงานมาแล้ว 20 ปี อยากเป็น ส.ว. ดังนั้น นาย A จึงไปสมัครตามอำเภอที่ตนพำนัก เพื่อเข้ารับเลือกในกลุ่มอาชีพที่ตนเชี่ยวชาญคือกลุ่มการศึกษา เมื่อตรวจคุณสมบัติผ่านก็ต้องเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกกันเองสามด่าน ซึ่งนั่นหมายความว่า นาย A จะเป็นทั้งผู้มีสิทธิเลือก ส.ว.และเป็นผู้มีสิทธิได้รับเลือกให้เป็น ส.ว.ไปพร้อมกัน และการที่ ‘นาย A’ จะเป็น ส.ว.ได้นั้น นาย A ต้องติด Top 40 ของประเทศที่ได้รับความไว้วางใจจากคนในกลุ่มอาชีพเดียวกัน และยังต้องได้รับความไว้วางใจจากผู้สมัครกลุ่มอื่นๆ ถูกเลือกจนกลายเป็น Top 10 ของกลุ่มการศึกษา และเป็นหนึ่งใน 200 คนที่ได้รับตำแหน่ง ส.ว. ในที่สุด
ส.ว.แบบคัดเลือกกันเอง จะเป็นตัวแทนที่ดีกว่าเดิมจริงหรือ?
การได้มาซึ่ง ส.ว. ด้วยวิธีการ “คัดเลือกกันเอง” นับว่าเป็นทางเลือกใหม่ที่แปลกและแหวกแนวที่สุดนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา โดยวิวัฒนาการของที่ ส.ว. ในปี 2540 เริ่มต้นที่ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จากนั้นในปี 2550 จึงเปลี่ยนมาเป็นเลือกตั้งส่วนหนึ่งและสรรหาอีกส่วนหนึ่ง แต่ทว่า ที่มา ส.ว.แบบใหม่นี้จะไม่ง้อการเลือกตั้งจากประชาชนทั้งหมด โดยมีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ ถึงที่มา ส.ว.แบบใหม่นี้ว่า “ประชาชนเขาจะเข้ามามีส่วนร่วมได้โดยตรง และไม่ต้องอิงกับพรรคการเมืองเพราะไม่ต้องหาเสียง เขาก็คุยกันเฉพาะแต่ในกลุ่มบุคคลที่สมัคร กลไกในลักษณะนี้จะทำให้ส.ว.ปลอดจากการเมือง มาจากทุกสาขาอาชีพ มาจากคนทั่วประเทศ และกลุ่มบุคคลเหล่านี้ก็คือ ‘ประชาชน’ ”
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคำถามที่ตามมาภายหลังว่า ส.ว. ในฐานะที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย จะยังยึดโยงกับเสียงประชาชนมากน้อยเพียงใดในเมื่อจำกัดสิทธิเลือกตั้ง ส.ว.ไว้ให้เฉพาะผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วยกันเองเท่านั้น [อ้างอิง: ภูวดล คงแสง “ปัญหาเกี่ยวกับวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560”, วารสารนาคบุตรปริทัศน์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช ปีที่ 14 ฉบับที่ 3 กันยายน – ธันวาคม 2565 , หน้า 146.]
นอกจากนี้ ปัญหาซื้อเสียงอาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเดิม เพราะจำนวนคนที่ผู้สมัครต้อง “ซื้อ” มีขนาดเล็กลง กล่าวคือ หากเป็นระบบการเลือกตั้ง ผู้สมัครชิงตำแหน่ง ส.ว. จะต้องมั่นใจว่า ตนจะได้รับเสียงจากประชาชนตามจำนวนประชากรในแต่ละพื้นที่ซึ่งมีขนาดใหญ่ แต่พอเปลี่ยนเป็น “การคัดเลือกกันเอง” ในกลุ่มอาชีพ ยิ่งกลุ่มอาชีพใดมีผู้สมัครน้อย การซื้อเสียงก็จะยิ่งทำได้ง่ายมากขึ้นไปอีก
ส.ว. ชุดใหม่ ไม่มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส.
อำนาจเฉพาะกิจที่มาตามบทเฉพาะกาลนั้นหลังจากที่ครบวาระห้าปีของ ส.ว.ชุดแรกเริ่มของรัฐธรรมนูญปี 60 ก็จะสิ้นผลไปตามความของบทเฉพาะกาลซึ่งมีไว้เพื่อใช้บังคับในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น โดยอำนาจชั่วคราวที่เคยเป็นเครื่องมือสำคัญ มีดังนี้
- การเลือกนายกรัฐมนตรีตาม มาตรา 272 โดยมาตรานี้ระบุไว้ว่า ในห้าปีแรกการเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็น “การประชุมร่วมกันของทั้งสองสภา” ซึ่งจะต้องมีมติเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภาทำให้ ส.ว. มีอำนาจในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
- การติดตาม เสนอแนะ และการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ มาตรา 270 เพื่อบรรลุเป้าหมายการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและหมวดปฏิรูปประเทศซึ่งจัดทำมาตั้งแต่ในยุคของ คสช.
- การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บางเรื่องที่ถูกยับยั้งไว้ มาตรา 271 กำหนดให้ในกรณีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ถ้าหากเป็นกรณีที่การแก้ไขหรือเพิ่มเติมโทษนั้นจะทำให้ผู้กระทำผิดพ้นความผิดหรือไม่ต้องรับโทษ หรือเป็นกรณีที่วุฒิสภาไม่เห็นด้วยกับร่างฉบับที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร หรือกรณีการออกกฎหมายใดๆ ที่วุฒิสภาลงมติมากกว่าสองในสามว่าจะมีผลกระทบต่อการดำเนินกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง เมื่อวุฒิสภาส่งคืนให้กับสภาผู้แทนราษฎร ให้ลงมติใหม่โดย ส.ว. กับ ส.ส. พิจารณาร่วมกัน และร่างกฎหมายนั้นจะเห็นชอบได้เมื่อมีมติไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกทั้งสองสภาเท่าที่มีอยู่รวมกัน หรืออย่างน้อย 501 เสียง
อำนาจหลักของ ส.ว. ชุดใหม่ยังอยู่ แก้รัฐธรรมนูญผ่านได้ใช้เสียง 1 ใน 3 เช่นเดิม
กรอบการคิดเรื่องอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. จะมีส่วนสัมพันธ์กับที่มาของอำนาจ โดยปกติแล้วฐานคิดก็คือ “ถ้า ส.ว.มีอำนาจมากก็ต้องยึดโยงกับประชาชนให้มากที่สุด” เพื่อให้มีความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งกันและกัน แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 อำนาจของ ส.ว. กลับเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก โดยอำนาจหลักๆ มีดังนี้
หนึ่ง พิจารณาและกลั่นกรองกฎหมาย โดยเป็นการร่วมพิจารณากับสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่เป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (มาตรา 132) ส่วนการกลั่นกรองกฎหมายคือ การพิจารณากลั่นกรองเป็นชั้นที่สองต่อจากสภาผู้แทนราษฎร และหากไม่เห็นด้วยก็มีอำนาจเพียงยับยั้งไว้ (มาตรา 136 และ มาตรา 143)
โดยอำนาจใหม่ที่เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่โดยผลของรัฐธรรมนูญปี 2560 คือ การเข้ามามีส่วนร่วมพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญหากมีผู้เสนอเข้ามา โดยวาระที่หนึ่งและวาระที่สามจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกทั้งสองสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เช่น ถ้ามี ส.ส. ครบจำนวน 500 และ ส.ว. ครบจำนวน 200 รวม 700 คน จะต้องได้เสียงของ ส.ส. และ ส.ว. รวมกัน 351 เสียงขึ้นไป และในจำนวนดังกล่าว จะต้องมีเสียงของ ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวน ส.ว. ที่มีอยู่ หรืออย่างน้อย 67 คน จึงจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ (มาตรา 256)
สอง อำนาจตรวจสอบฝ่ายบริหาร เช่น การตั้งกระทู้ถาม (มาตรา 150) หรือ เปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อให้ ครม. แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสําคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ (มาตรา 153)
สาม อำนาจให้ความเห็นชอบเพื่อแต่งตั้ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการในองค์กรอิสระ นอกจากนี้
ส.ว. มีอำนาจในการให้ความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระในการจัดทำ “มาตรฐานทางจริยธรรม” เพื่อบังคับใช้ต่อองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นกลไกใหม่ที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญนี้ และมาตรฐานทางจริยธรรมที่จัดทำขึ้นเสร็จแล้ว ก็จะมีผลบังคับใช้ต่อนักการเมืองทั้งคณะรัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว. เองด้วย (มาตรา 219)
นอกจากนี้ยังมีอำนาจอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งเกี่ยวกับการทำหน้าที่ในวุฒิสภาเอง เช่น การตั้งกรรมาธิการ (มาตรา 129) หรือการทำงานร่วมกันกับสภาผู้แทนราษฎรอื่นๆ เช่น หากมีกรณีที่เกิดปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความเห็น ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งต่อประธานรัฐสภา เพื่อเปิดประชุมสภาและให้ ส.ส. กับ ส.ว. ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวได้ แต่จะไม่สามารถทำการลงมติในปัญหานั้นได้ (มาตรา 165)