ตามรัฐธรรมนูญ 2560 การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) มีจำนวน 200 คน โดยแบ่ง สว. ออกเป็น 20 กลุ่มอาชีพ ซึ่งมีอย่างน้อยสี่กลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) กำหนดลักษณะต้องห้ามไม่ให้ “ข้าราชการ” ลงสมัครรับเลือก สว. ทำให้กลุ่มข้าราชการที่ต้องการจะลงสมัคร สว. ต้องลาออกจากตำแหน่งหรือเป็นข้าราชการที่เกษียณอายุแล้วเท่านั้น
แต่กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
สี่กลุ่ม สว. ที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการ |
1) กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เช่น อดีตข้าราชการ อดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฯลฯ 2) กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ฯลฯ 3) กลุ่มการศึกษา เช่น ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา ฯลฯ 4) กลุ่มการสาธารณสุข เช่น ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท พยาบาล เภสัชกร ฯลฯ |
ข้าราชการขอลาออกเพื่อสมัคร สว. ได้
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการหลายฉบับมีบทบัญญัติคล้ายกันในทำนองว่า ถ้าข้าราชการประสงค์จะลาออกจากราชการเพื่อไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ตำแหน่งทางการเมือง สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น สามารถทำได้ โดยเมื่อได้ยื่นลาออกต่อผู้บังคับบัญชาตามกฎหมายแล้วให้ผลการลาออกมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้นั้นขอลาออก สำหรับกรณีของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ รายละเอียดการลาออกจะถูกกำหนดไว้ในข้อบังคับของมหาวิทยาลัยนั้นๆ
ดังนั้นในการลงสมัครรับเลือกเป็น สว. ของข้าราชการปัจจุบันจึงสามารถทำได้ เพียงแต่ต้องลาออกให้ถูกต้องตามกฎหมาย และเมื่อสิ้นสุดการเลือกแล้ว ผู้สมัคร สว. สามารถแสดงความประสงค์ขอกลับเข้ารับราชการที่เดิมได้ แต่การพิจารณาเป็นอำนาจดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชาที่จะพิจารณาถึงความเหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องบรรจุและแต่งตั้งผู้นั้นให้ดำรงตำแหน่งเดิมก็ได้
กฎหมาย | ประเภท | ยื่นลาออกต่อ | ผลการลาออก |
พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 (ม.109 วรรคห้า) | ข้าราชการพลเรือนสามัญ | ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปชั้นหนึ่ง | นับตั้งแต่วันที่ขอลาออก |
พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 (ม.135 วรรคสอง) | ข้าราชการตำรวจ | ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปชั้นหนึ่ง | นับตั้งแต่วันที่ขอลาออก |
พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 (ม.58 วรรคสอง) | ข้าราชการอัยการ | ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปชั้นหนึ่ง | นับตั้งแต่วันที่ขอลาออก |
พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2548 (ม.108 วรรคสี่) | ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา | ผู้บังคับบัญชา | นับตั้งแต่วันที่ขอลาออก |
พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 (ม.33 วรรคสี่) | ข้าราชการตุลาการ | ประธานศาลฎีกา | นับตั้งแต่วันที่ขอลาออก |
ประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานท้องถิ่น เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการให้ออกจากราชการ | ข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น | นายก อปท. ที่ตัวเองสังกัด | นับตั้งแต่วันที่ขอลาออก |
ลาออกเมื่อประกาศให้มีการเลือก สว. อย่างเป็นทางการ
สำหรับการลาออกเพื่อลงสมัครรับเลือก สว. ของข้าราชการปัจจุบัน ตามแนวปฏิบัติตามระเบียบ ก.พ.ว่าด้วยการลาออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. 2551 กำหนดแนวทางไว้ว่า ข้าราชการจะลาออกได้ก็ต้องเมื่อมีการประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วเท่านั้น
ดังนั้น ถ้าหากข้าราชการคนใดลาออกก่อนหน้าจะมีการประกาศให้มีการเลือก สว. อย่างเป็นทางการอาจส่งผลต่อการขอกลับไปรับราชการอีกครั้ง หลังจากการเลือก สว. สิ้นสุด