เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

หลังสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดพิเศษ 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำรงตำแหน่งเป็นเวลาห้าปี ซึ่งจะครบกำหนดหมดอายุในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อให้มีการ “เลือกกันเอง” ของ สว. ชุดใหม่ จำนวน 200 คน  ที่มาจากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” – “เลือกกันเอง” เฉพาะผู้สมัคร สว. ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายเท่านั้นที่จะสามารถใช้สิทธิ “โหวต” ผู้ที่สมควรจะได้เป็น สว.

แม้ที่มาของ สว. ชุดใหม่ จะชวนตั้งคำถามว่ายึดโยงกับประชาชนมากน้อยเพียงใด แต่ สว. ชุดใหม่ ก็ยังคงมีอำนาจหลายอย่างที่เกี่ยวพันกับชีวิตประชาชนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ได้แก่ การพิจารณาร่างกฎหมาย การแก้รัฐธรรมนูญที่ต้องใช้เสียง สว. “เห็นชอบ” หนึ่งในสาม หรือคิดเป็น 67 เสียงจาก 200 เสียง การเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการในองค์กรอิสระ รวมถึงการเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนผ่านการตั้งกระทู้ถาม-การอภิปรายในสภา

นอกจากเรื่องอำนาจหน้าที่ของ สว. 2567 ที่โดยรวมไม่ได้แตกต่างจาก สว. ชุดพิเศษนัก ยกเว้นอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส. ) ที่ สว. 2567 จะไม่มีอำนาจนี้ ในส่วนของเงินเดือน สว. รวมถึงสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ที่ผู้เป็น สว. 2567 จะได้รับ ก็ไม่ได้แตกต่างจาก สว. ชุดพิเศษนัก โดยเงินเดือนที่ สว. จะได้ รวมถึงสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ มีดังนี้

เงินเดือนหลักแสน ได้รับตั้งแต่ กกต. ประกาศผลเลือก

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ ค่าตอบแทนขององคมนตรี ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านฯ ประธานและรองประธานวุฒิสภา สว.  สว .รวมถึงกรรมาธิการ ต้องกำหนดเป็นกฎหมายมีแนวทางชัดเจนในการจ่ายเงินประจำตำแหน่งและค่าตอบแทนเพิ่ม โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา คือ  พระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ พ.ศ. 2555 (พ.ร.ฎ.เงินประจำตำแหน่งและสิทธิประโยชน์ฯ 2555) และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2563 (ฉบับที่ 2)

สำหรับ สว. ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภา จะมีเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเยอะกว่า สว. แต่ละตำแหน่ง ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มแต่ละเดือน ดังนี้

เงินประจำตำแหน่งเงินเพิ่มรวม
ประธานวุฒิสภา74,42045,500119,920
รองประธานวุฒิสภา73,24042,500115,740
สว.71,23042,330113,560

โดย สว. จะได้รับเงินจำตำแหน่งและเงินเพิ่มรายเดือน นับแต่วันที่เริ่มต้นมีสมาชิกภาพ หรือกรณีที่มี สว. คนก่อนสิ้นสมาชิกภาพ เช่น ลาออก เสียชีวิต คนที่เป็นตัวสำรอง ถูกเลื่อนขึ้นมาแทน จะได้รับเงินประจำแหน่งถัดจากวันที่ประธานวุฒิสภาประกาศเลื่อนขึ้นมาแทน

ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 109 กำหนดให้ สว. ที่มาจากการเลือกกันเอง มีวาระห้าปี ส่วนสมาชิกภาพของ สว. จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ กกต. ประกาศผลการเลือก

สำหรับประธานและรองประธานวุฒิสภา จะได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เมื่อได้รับเงินประจำแหน่งและเงินเพิ่มในอัตราสำหรับประธานและรองประธานวุฒิสภาแล้ว จะมีสิทธิรับเงินสำหรับตำแหน่ง สว. อีก ได้แค่อัตราเดียวเท่านั้น

เบี้ยประชุมกรรมาธิการ ครั้งละ 1,500

นอกจากหน้าที่หลักในการผ่านร่างกฎหมายต่างๆ ในที่ประชุมสภาแล้ว หน้าที่ย่อยอีกอย่างของ สว. คือการอยู่ในคณะกรรมาธิการ ทั้งกรรมาธิการสามัญที่ตั้งตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2562 รวมถึงกรรมาธิการวิสามัญที่ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายรายมาตรา หากเป็น สว. และได้เป็นกรรมาธิการ ไม่ว่าจะเป็นกรรมาธิการวุฒิสภา หรือกรรมาธิการร่วมกันของสองสภา เช่น กรรมาธิการพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ จะได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งด้วย

ส่วนอนุกรรมาธิการคือการพิจารณาในประเด็นรายย่อยอีกที ดังนั้น เมื่อมีการประชุม สว. จะได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งต่อวัน เฉพาะครั้งที่มาประชุมอีกด้วย

  • ประชุมคณะกรรมาธิการ ได้รับเบี้ยอัตราครั้งละ 1,500 บาท
  • ประชุมคณะอนุกรรมาธิการ ได้รับเบี้ยอัตราครั้งละ 800 บาท

อย่างไรก็ดี หาก สว. มีการประชุมในคณะกรรมาธิการและคณะอนุกรรมาธิการ คณะอื่นด้วยในวันเดียวกัน จะมีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมในวันนั้นไม่เกินสองครั้ง

ตั้งผู้เชี่ยวชาญ-ชำนาญการ-ผู้ช่วยประจำตัว สูงสุด 8 คน

ระเบียบรัฐสภา ว่าด้วยการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา พ.ศ. 2554 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2555 และฉบับที่ 3 พ.ศ. 2556 กำหนดให้ สว. สามารถตั้งผู้ช่วยประจำตัวได้ โดยผู้ช่วยประจำตัว สว. มีวาระดำรงตำแหน่งถึงวันสิ้นปีงบประมาณของปีที่แต่งตั้ง ต้องผ่านเกณฑ์คุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม รวมทั้งต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตัว เช่น วัยวุฒิขั้นต่ำ ประสบการณ์ทางด้านการเมืองซึ่งจะกำหนดกี่ปีขึ้นอยู่กับเกณฑ์ขั้นต่ำต่างกันไปในแต่ละตำแหน่ง โดยรวม สว.หนึ่งคนสามารถมีผู้ช่วยได้สูงสุดแปดคน ดังนี้

ตำแหน่งหน้าที่จำนวนที่ตั้งได้  (คน)เงินเดือน (บาท)
ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำปรึกษาทางด้านวิชาการที่เป็นประโยชน์ให้แก่ สว.124,000
ผู้ชำนาญการศึกษาค้นคว้า หาข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย รวมทั้งรวมรวมปัญหาและข้อร้องเรียนต่าง ๆ เพื่อจัดทำญัตติ กระทู้ถาม ข้อหารือหรือข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์แก่ สว.215,000
ผู้ช่วยดำเนินงานมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามที่ สว.กำหนด เช่น การพูดคุยรับฟังปัญหาประชาชน ติดต่อประสานกับหน่วยราชการ  เข้าร่วมสัมมนาหรืองานประเพณีต่างๆ 515,000

เบิกค่าเดินทางได้ ไปราชการต่างประเทศมีค่าเครื่องแต่งตัว

สว. มีสิทธิเบิกค่าโดยสารหรือรับค่าพาหนะในการเดินทางในการมาประชุมและการไปปฏิบัติหน้าที่ อ้างอิงอัตราค่าใช้จ่ายกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการที่ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยสิทธิที่ได้รับอยู่ในขั้นเดียวกับข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง แบ่งออกเป็นสามกรณี ดังนี้

1. เดินทางมาประชุมรัฐสภา วุฒิสภา คณะกรรมาธิการ หรือเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่

สำหรับ สว.  ที่มีถิ่นที่อยู่คนละจังหวัดกับที่ตั้งของรัฐสภา (นอกกรุงเทพมหานคร) จะได้รับค่าเดินทางเฉพาะครั้งแรกที่เข้ามารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ (วันปฏิญาณตน) และอีกครั้งเป็นค่าเดินทางกลับเมื่อสิ้นสุดความเป็นสว.  อย่างไรก็ตาม ในการเดินทางมาประชุมในวาระต่างๆ สว. ก็มีสิทธิได้รับค่าเดินทางด้วย

  • เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ ได้แก่ เครื่องบิน รถไฟ รถยนต์ประจำทาง สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จะเป็นผู้จัดใบเบิกค่าโดยสารให้ มีสิทธิเบิกตามที่จ่ายจริง โดยกรณีเดินทางด้วยรถไฟหรือรถยนต์ประจำทางสามารถเบิกให้ผู้ติดตามได้อีกหนึ่งคนในชั้นเดียวกัน
  • เดินทางด้วยพาหนะส่วนตัว มีสิทธิได้รับเงินชดเชยเป็นค่าพาหนะในลักษณะเหมาจ่าย โดยจะได้รับเงินชดเชยเป็นค่าพาหนะในการเดินทางจากอำเภอในจังหวัดอันเป็นถิ่นที่อยู่มายังรัฐสภา (กรุงเทพมหานคร) คิดจากระยะทางที่ สว. ได้แจ้งไว้ครั้งแรกต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะคำนวณระยะทางตามเส้นทางที่สั้นและตรงของกรมทางหลวง หรือกรมทางหลวงชนบทแล้วแต่กรณี ในอัตรารถยนต์ส่วนบุคคล กิโลเมตรละ 4 บาท  รถจักรยานยนต์ กิโลเมตรละ 2 บาท อีกทั้ง หากเป็นกรณีการเดินทางไปสถานที่ที่ขึ้นขนส่งสาธารณะหรือที่เป็นค่าเดินทางจากสถานที่ขนส่งมายังรัฐสภาก็สามารถเบิกตามอัตรานี้เช่นเดียวกัน

2. เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ

กรณีที่ สว. ในฐานะกรรมาธิการที่มีความจำเป็นต้องไปปฏิบัติหน้าที่นอกจังหวัดที่ตั้งรัฐสภา (นอกกรุงเทพมทหานคร) ก็สามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยใช้อัตราเดียวกันกับที่กล่าวมาข้างต้น

3. เดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว

กรณีนี้จะเบิกค่าใช้จ่ายได้จะต้องได้รับการอนุมัติเป็นหนังสือจากประธานรัฐสภาหรือรองประธานรัฐสภาแล้วแต่กรณี โดยได้รับสิทธิในอัตราเทียบเคียงในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ ในส่วนที่เกี่ยวกับการเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราวได้

พระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ.2526 มาตรา 48 กำหนดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว ได้แก่

(1) ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง

(2) ค่าเช้าที่พัก

(3) ค่าพาหนะ โดย สว. ที่เดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว จะเบิกค่าพาหนะเดินทางได้เท่าที่จ่ายจริงโดยประหยัด และสามารถเดินทางโดยเครื่องบินได้ระดับชั้นหนึ่ง

(4) ค่ารับรอง (ค่าเครื่องแต่งตัวสำหรับผู้เดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว) เหมาจ่าย คนละ 9,000 บาท

(5) ค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป้นเนื่องในการเดินทางไปราชการ

สวัสดิการรักษาพยาบาล

สว. มีสิทธิได้รับประกันสุขภาพกลุ่ม และมีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการรักษาพยาบาล ในระหว่างดำรงตำแหน่ง ได้แก่  เงินชดเชยค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการและเอกชน กรณีเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน รวมถึงตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งสว.สามารถนำใบเสร็จรับเงินค่าพยาบาลมาเบิกได้ภายในหนึ่งปีนับจากวันที่ออกใบเสร็จรับเงิน โดยจะได้รับตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกินอัตราที่กำหนด ดังต่อไปนี้

การรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล

  • ค่าห้องและค่าอาหาร/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง)  จำนวนเงินไม่เกิน 4,000 บาท (รวมค่าบริการการพยาบาล)
  • ค่าห้อง ไอ.ซี.ยู/ซี.ซี.ยู/วัน (สูงสุด 7 วัน/ครั้ง) จำนวนเงินไม่เกิน 10,000 บาท (ไม่รวมค่าผ่าตัด)
  • ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป/ครั้ง จำนวนเงินไม่เกิน 100,000 บาท
  • ค่ารถพยาบาล จำนวนเงิน 1,000 บาท
  • ค่าแพทย์ผ่าตัด/ครั้ง 120,000 บาท (ให้หมายความรวมถึงค่าใช้จ่าย ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในห้องผ่าตัด เช่น ค่าแพทย์ผ่าตัด ค่าวิสัญญีแพทย์ ค่าใช้อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ในห้องผ่าตัดค่าเครื่องมือดมยา ค่าผ่าตัดด้วยกล้องเป็นต้น)
  • ค่าแพทย์เยี่ยมไข้/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) จำนวนเงินไม่เกิน 1,000 บาท
  • ค่าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค/ครั้ง   จำนวนเงินไม่เกิน 4,000 บาท
  • การคลอดบุตร (1) คลอดธรรมชาติ จำนวนเงินไม่เกิน 20,000 บาท  (2) คลอดโดยการผ่าตัด จำนวนเงินไม่เกิน 40,000 บาท 
  • การรักษาทันตกรรม/ปี จำนวนเงินไม่เกิน 5,000 บาท

กรณีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก

  • ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป/ปี  จำนวนเงินไม่เกิน 90,000 บาท
  • อุบัติเหตุฉุกเฉิน/ครั้ง จำนวนเงินไม่เกิน 20,000 บาท (รวมถึงการรักษาภายใน 15 วัน โดยไม่รวมกับค่าใช้จ่ายทั่วไป)
  • การตรวจสุขภาพประจำปี จำนวนเงินไม่เกิน 7,000 บาท

บำนาญ สว. ในรูปแบบกองทุนผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา

แม้ สว. ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จหรือบำนาญเหมือนข้าราชการแต่ สว.เองก็มีทุนเลี้ยงชีพภายหลังจากที่ไม่ได้เป็น สว.แล้วจาก “กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา” ซึ่งมีลักษณะคล้ายกองทุนประกันสังคมเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงและเป็นทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ที่เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (สว. และ สว.)

กองทุนดังกล่าวจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. 2556 โดยตามหมายเหตุของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เขียนวัตถุประสงค์ของกองทุนด้วยว่าเกิดขึ้นเพื่อตอบแทนคุณงามความดีและความเสียสละจากการที่เคยทำหน้าที่ในฐานะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติอันถือเป็นภารกิจสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อชาติ

ตามระเบียบของคณะกรรมกองทุนกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายสิทธิประโยชน์ สำหรับผู้เคยเป็น สว. หรือ สว. ซึ่งสิ้นสุดสมาชิกชิกภาพที่ได้ส่งเงินเข้ากองทุน หักจากเงินประจำตำแหน่งไม่เกิน 5% และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ระบุไว้  จะได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพเป็นรายเดือนโดยคำนวณเวลาจากการรวมระยะเวลาการมีสมาชิกภาพ ไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตามและให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ดังนี้

  • การจ่ายเงินช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล
  • การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีทุพพลภาพ
  • การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีถึงแก่กรรม
  • การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีการให้การศึกษาบุตร
  • สวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

ทั้งนี้ สิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพอดีตสมาชิกไม่ได้รับตลอดชีพแต่ให้ได้รับเป็นระยะเวลาสองเท่าของเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ และจะมีการระงับสิทธิชั่วคราวในกรณีที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาได้กลับเข้าไปเป็นสมาชิกรัฐสภาอีกครั้งด้วย

ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 9 กำหนดให้   พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาและถอดถอนฐานันดรศักดิ์และพระราชทานและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และในพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พุทธศักราช 2484 กับพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูช้างเผือก พุทธศักราช 2484 กำหนดพระราชอำนาจในการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์

ในรายละเอียด ถูกกำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ. 2564 โดย สว. สามารถขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้ ดังนี้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ขอพระราชทาน
เริ่มต้นขอขอได้ถึง
ประธานวุฒิสภามหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
รองประธานวุฒิสภาประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
สว.ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)
You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ