ส่องข้อห้ามตามกฎหมาย กระบวนการเลือก สว. 67 ทำอะไรไม่ได้บ้าง?

หลังวุฒิสภาชุดพิเศษตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 หมดอายุในเดือนพฤษภาคม 2567 ก็จะมีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โดยที่มาของ สว. ชุดนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเดินเข้าคูหาเพื่อเลือก สว. ได้โดยตรงเหมือนการการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) หรือแม้แต่การเลือก สว. ในอดีตตามรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 แต่มีที่มาจากการ “เลือกกันเอง” ในบรรดาผู้สมัคร สว. เท่านั้น แคมเปญ “สมัครเพื่อโหวต” จึงรณรงค์ให้ประชาชนที่มีคุณสมบัติ สมัคร สว. เพื่อมีสิทธิลงคะแนนและจับตากระบวนการเลือก สว. ที่กำลังจะมาถึงนี้

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561  (พ.ร.ป.สว. ฯ) และ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 หรือ (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ) กำหนดข้อห้ามจำนวนหนึ่งเอาไว้ ซึ่งการฝ่าฝืนอาจจะทำให้ต้องระวางโทษจำคุกหลายปี ปรับเป็นเงินหลายหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งยังอาจจะสามารถทำให้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นระยะเวลาหลายปีได้อีกด้วย

ข้อห้ามมีหลากหลายทั้งในส่วนของผู้สมัคร สว. หรือผู้ที่ไม่ได้สมัครแต่อยากช่วยผู้สมัคร สว. ในการเลือก ชวนดูข้อห้ามตามกฎหมายที่ต้องระวัง มีอะไรบ้าง

ข้อห้ามฝั่งผู้สมัคร สว. หากฝ่าฝืนอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้ถึง 20 ปี

ข้อห้ามจำนวนมากของฝั่งผู้สมัคร สว. ส่วนใหญ่จะอยู่ในขั้นตอนการสมัครและวันเลือก สว. ทั้งระดับอำเภอ ระดับจังหวัด หรือระดับประเทศ ซึ่งรายละเอียดคุณสมบัติต้องห้ามของการสมัคร สว. ส่วนมากจะอยู่ใน พ.ร.ป.สว. ฯ หมวดหนึ่ง ผู้สมัครและการสมัครรับเลือก มาตรา 14 สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/6258

อย่างไรก็ตาม พ.ร.ป.สว. ฯ ได้กำหนดสิ่งที่ห้ามผู้สมัคร สว. ทำอย่างชัดเจนไว้ ดังนี้

ห้ามนำอุปกรณ์สื่อสาร บันทึกภาพ-เสียงเข้าไปในสถานที่เลือก : ในกระบวนการเลือกกันเองทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด หรือประเทศ ห้ามผู้สมัครห้ามนำเครื่องมือที่อาจจะใช้เพื่อติดต่อสื่อสาร บันทึกภาพหรือเสียง หรืออุปกรณ์อื่นๆ เข้าไปในสถานที่เลือกไม่ รวมทั้งยังห้ามใช้งานอีกด้วย เว้นแต่จะเป็นผู้สมัครซึ่งเป็นผู้พิการหรือทุพพลภาพซึ่งต้องได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อน (มาตรา 38) หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการใช้หรือการนำอุปกรณ์สื่อสารเข้าไปในสถานที่เลือกนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสถานที่เลือก จะมีโทษหนักขึ้นเป็นสองเท่า และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งห้าปี

ข้อห้ามเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้ง

  • ห้ามผู้สมัครใช้บัตรอื่นแทนบัตรลงคะแนนที่ กกต. กำหนด (มาตรา 50)
  • ห้ามผู้สมัครนำบัตรลงคะแนนออกไปจากสถานที่เลือก (มาตรา 51)
  • ห้ามผู้สมัครจงใจทําเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตโดยวิธีใดไว้ที่บัตรลงคะแนน (มาตรา 52)

สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้งทั้งสามข้อ ตามมาตรา 50 มาตรา 51 และมาตรา 52 กฎหมายกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี (มาตรา 72)

  • ห้ามผู้สมัครใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรลงคะแนนที่ลงคะแนนแล้ว (มาตรา 54)
  • ห้ามผู้สมัครนำบัตรที่ลงคะแนนแล้วไปแสดงต่อผู้อื่นว่าเลือกหรือไม่เลือกผู้ใด (มาตรา 55)

สำหรับโทษกรณีฝ่าฝืนมาตรา 54 และมาตรา 55 ถูกกำหนดไว้ในมาตรา 73 จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • ห้ามจงใจทำให้บัตรชำรุดเสียหายหรือทำบัตรเสีย หรือทำให้บัตรเสียกลายเป็นบัตรที่ใช้ได้ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี (มาตรา 80)

ห้ามสมัครเกินหนึ่งกลุ่ม-หนึ่งอำเภอ : หากผู้สมัครจงใจสมัครมากกว่าหนึ่งกลุ่ม หรือมากกว่าหนึ่งอำเภอ จะต้องระวางจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครคนนั้นห้าปี (มาตรา 67)

ห้ามสมัครหากไม่มีคุณสมบัติที่จะสมัครได้ : หากผู้สมัครจงใจสมัคร สว. แม้รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีคุณสมบัติที่จะสมัครได้ จะต้องระวางจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น 20 ปี หากผู้สมัครผู้นั้นได้รับการรับเลือกให้เป็น สว. ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตําแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดำรงตําแหน่งแก่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาด้วย (มาตรา 74)

ห้ามรับสินบนเพื่อลงสมัครหรือไม่ลงสมัคร สว. : ตามพ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 79 กำหนดความผิดสำหรับผู้ที่เรียกหรือรับทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะทรัพย์สินเท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลงสมัครรับเลือก สว. หรือหลีกทางไม่ลงสมัครรับเลือก สว. เพื่อประโยชน์แก่ผู้สมัครผู้ใด มีจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี

ห้ามรับสินบนเพื่อเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัคร สว. : มาตรา 81 กำหนดว่า ผู้มีสิทธิเลือกผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อเลือกหรืองดเว้นไม่เลือกผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

ผู้สมัคร สว. ต้องปราศจากความช่วยเหลือ หรือเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง

ข้อสำคัญของผู้สมัคร สว. ที่ต้องคำนึงถึงในการเลือก สว. ตาม พ.ร.ป.สว. ฯ คือ ต้องระมัดระวังความสัมพันธ์ของผู้สมัครกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งในระดับชาติ ระดับท้องถิ่น หรือองค์กรอิสระ โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติต้องห้ามของผู้สมัครก่อนการสมัคร ได้แก่

  • ห้ามผู้สมัครที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองสมัครเป็น สว. ไม่เช่นนั้นจะถือว่าฝ่าฝืนระเบียบ กกต.
  • ผู้สมัครห้ามเป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของ สส. สว. ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ดำรงตําแหน่งใดในศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระ และผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. ในคราวเดียวกัน ซึ่งหมายความว่า บุพการี (บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย) คู่สมรส หรือบุตร จะสมัคร สว. ในคราวเดียวกันไม่ได้ แม้จะต่างอำเภอหรือต่างกลุ่มกันก็ตาม

นอกจากนี้ ใน พ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 76 ยังกำหนดข้อห้ามสำหรับผู้สมัคร หากผู้สมัครผู้ใดยินยอมให้ผู้มีตำแหน่งทางการเมืองใดก็ตามในพรรคการเมือง สส. สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ช่วยเหลือให้ได้รับการเลือกเป็น สว. จะต้องโทษระวางจำคุกหนึ่งปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครผู้นั้น 

ฝั่งกรรมการบริหารพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคการเมือง สส. สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ทำการช่วยเหลือให้ผู้สมัครได้รับเลือกเป็น สว. หรือทำให้ผู้สมัครผู้ใดไม่ได้รับเลือก ก็มีโทษเช่นกัน จุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น

ข้อห้ามฝั่งผู้ที่ไม่ใช่ผู้สมัคร สว. ทำผิดก็ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้เช่นกัน

พ.ร.ป.สว. ฯ ไม่ได้กำหนดข้อห้ามเพียงเฉพาะกับผู้สมัครเท่านั้น แต่ยังมีข้อห้ามสำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้สมัคร แต่อาจจะเกี่ยวข้องกับการเลือก สว. ครั้งนี้เอาไว้เป็นจำนวนมากอีกด้วย ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับการช่วยแนะนำตัวผู้สมัคร การลงนามรับรองเอกสารหรือรับรองเป็นพยานที่เป็นเท็จ หรือพฤติกรรมระหว่างวันเลือก สว. ดังต่อไปนี้

แนะนำตัวผู้สมัครต้องเป็นไปตามระเบียบ กกต. : ผู้สมัครหรือบุคคลอื่นจะสามารถแนะนำตัวผู้สมัครได้ตามเงื่อนไขและวิธีการที่ กกต. กำหนดไว้เท่านั้น (มาตรา 36) หากผู้สมัคร หรือบุคคลอื่นที่ช่วยเหลือผู้สมัครแนะนำตัว ทำไม่ตรงตามเงื่อนไขและวิธีการที่ กกต. กำหนด จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งห้าปี (มาตรา 70)

ห้ามเข้าไปในสถานที่เลือกโดยไม่ได้รับอนุญาต : มาตรา 37 ระบุว่า ห้ามผู้ที่ไม่ใช่ผู้สมัครเข้าไปยังสถานที่เลือกไม่ว่าจะในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด หรือระดับชาติ ยกเว้นแต่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือก หรือผู้ที่ได้รับการอนุญาตจาก กกต. หรือผู้อำนวยการการเลือกในระดับต่างๆ หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากการกระทำนั้นเป็นไปเพื่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสถานที่เลือกจะต้องระวางโทษเพิ่มเป็นสองเท่า และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งห้าปี (มาตรา 71)

ห้ามขัดขวางหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ผู้สมัครไปสถานที่เลือก : มาตรา 39 ระบุว่า ห้ามผู้ใดขัดขวางหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ผู้สมัครสามารถไปถึงสถานที่เลือก หรือไม่ให้ผู้สมัครไปถึงสถานที่เลือกได้ทันเวลา หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี (มาตรา 72)

ห้ามลงชื่อเอกสารสมัครเท็จ : มาตรา 75 ระบุว่า ผู้ใดลงชื่อรับรองเป็นพยานหรือลงชื่อรับรองเอกสารที่ประกอบการสมัครอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นห้าปี

ห้ามใส่ความเท็จว่าผู้สมัครฝ่าฝืนกฎหมาย : มาตรา 78 ระบุว่า ห้ามกระทำการอันเป็นเท็จให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครคนใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.ป.สว. ฯ หากฝ่าฝืนมาตรานี้จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งห้าปี หากเป็นการกระทำเพื่อการกลั่นแกล้งให้ผู้สมัครคนนั้นถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพื่อไม่ให้มีการประกาศผลการเลือก จะมีโทษหนักขึ้น จำคุกตั้งแต่ห้าปีถึง 10 ปีและปรับตั้งแต่ 100,000 บาทถึง 200,000 บาท และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี

หากการกระทำตามมาตรา 78 เป็นการให้ถ้อยคำต่อ กกต. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ จะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 140,000 บาทถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี 

ห้ามเผยโพลเจ็ดวันก่อนวันเลือก : มาตรา 87 ระบุว่า ผู้ใดเปิดเผยหรือเผยแพร่โพลเกี่ยวกับความคิดเห็นต่อการเลือก สว. ระหว่างเวลาเจ็ดวันก่อนวันเลือกจนถึงเวลาปิดการเลือก ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ห้ามจูงใจให้ใครสมัคร สว. อย่างผิดกฎหมาย

ข้อห้ามสำคัญตาม พ.ร.ป.สว. ฯ คือ การจูงใจให้ผู้อื่นสมัครหรือถอนการสมัคร สว. ด้วยวิธีการตามที่พ.ร.ป.สว. ฯ ฉบับนี้ระบุจะมีความผิดตามกฎหมาย โดยระบุไว้ในมาตรา 77 ห้ามผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ เพื่อจูงใจให้คนมาสมัคร สว. จูงใจให้คนถอนการสมัคร หรือจูงใจให้ผู้สมัครลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้ใด

  • จัด ทำ ให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดที่อาจจะคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด
  • แนะนำตัวให้ผู้สมัครผู้ใดด้วยการจัดมหรสพหรืองานรื่นเริงต่างๆ
  • เลี้ยงหรือรับจัดเลี้ยง
  • หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณของผู้สมัคร

หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี

หากความผิดจากการฝ่าฝืนมาตรานี้มีลักษณะ “จัด ทำ ให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมว่าจะให้ หรือผลประโยชน์อื่นใดที่อาจจะคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด” จะถือเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และ กกต. มีอํานาจส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไป