การออกแบบโครงสร้างอำนาจทางการเมืองในแต่ละยุคสมัยมีความแตกต่างกันออกไป ระยะแรกเริ่มหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกกำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีเพียงแค่สภาผู้แทนเท่านั้น ขณะที่ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มาเริ่มออกแบบให้มี “สภาสูง” หรือ วุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติโดยมีบทบาทหลักในการกลั่นกรองกฎหมายจากสภาผู้แทนราษฎร
รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ออกแบบที่มารวมถึงอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) แตกต่างกันไปตามประวัติศาสตร์ทางการเมืองของห้วงเวลานั้น รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นมรดกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็วางกลไกสืบทอดอำนาจให้มี สว. ชุดพิเศษ 250 คน ที่มีอำนาจพิเศษลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)
สว. ชุดพิเศษ จะมีอายุถึงเดือนพฤษภาคม 2567 เท่านั้น หลังจากนั้นจะมี สว. ชุดใหม่จำนวน 200 คนเข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทน โดยไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป อย่างไรก็ดี สว. ชุดนี้ ก็มีที่มาซับซ้อนเป็นพิเศษกว่า สว. ชุดอื่นๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
อย่างเร็วกลางเดือนกรกฎาคม 2567 คนไทยจะได้ทราบว่าใครจะได้เป็น สว. 200 คนบ้าง แต่ก่อนจะถึงวันนั้น ชวนย้อนดูที่มาของสว. ทุกชุด ตั้งแต่ สว.ชุดแรก หรือที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า “พฤฒสภา” เรื่อยมาจนถึงวิธีการได้มาซึ่ง สว.จากการเลือกกันเอง ที่จะมาแทน สว.ชุดพิเศษ 250 คน
รัฐธรรมนูญ | รูปแบบรัฐสภา | ที่มา สว. | |
สภาเดี่ยว | สภาคู่ | ||
ฉบับที่ 1 : 2475 | / | – | |
ฉบับที่ 2 : 10 ธันวาคม 2475 | / | – | |
ฉบับที่ 3 : 2489 | / | เลือกตั้งโดยอ้อม | |
ฉบับที่ 4 : 2490 (ชั่วคราว) | / | แต่งตั้ง | |
ฉบับที่ 5 : 2492 | / | – | |
ฉบับที่ 6 : 2475 (แก้ไขเพิ่มเติม 2495) | / | – | |
ฉบับที่ 7 : 2502 (ชั่วคราว) | / | – | |
ฉบับที่ 8 : 2511 | / | – | |
ฉบับที่ 9 : 2515 (ชั่วคราว) | / | – | |
ฉบับที่ 10 : 2517 | / | แต่งตั้ง | |
ฉบับที่ 11 : 2519 (ชั่วคราว) | / | – | |
ฉบับที่ 12 : 2520 (ชั่วคราว) | / | – | |
ฉบับที่ 13 : 2521 | / | แต่งตั้ง | |
ฉบับที่ 14 : 2534 (ชั่วคราว) | / | ||
ฉบับที่ 15 : 2534 | / | แต่งตั้ง | |
ฉบับที่ 16 : 2540 | / | เลือกตั้งทางตรง | |
ฉบับที่ 17 : 2549 (ชั่วคราว) | / | – | |
ฉบับที่ 18 : 2550 | / | เลือกตั้งผสมสรรหา | |
ฉบับที่ 19 : 2557 (ชั่วคราว) | / | – | |
ฉบับที่ 20 : 2560 | / | ๐ ชุดพิเศษ : ระยะแรกมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. 250 คน ๐ เมื่อครบกำหนด 5 ปี ใช้วิธีการเลือกกันเอง |
วุฒิสภายุคแรก ส่วนใหญ่มาจากการแต่งตั้ง
สว. ชุดที่ 1 : พฤฒสภา จากการเลือกตั้งโดยอ้อม
ในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐธรรมนูญฉบับแรก (พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 2475) และรัฐธรรมนูญฉบับที่สอง (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 10 ธันวาคม 2475) ให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น แนวคิดในการจัดโครงสร้างทางการเมืองให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีกลไกที่เรียกว่า “สภาผู้แทนประเภทที่สอง” หรือ “สภาพี่เลี้ยง” เกิดขึ้นในสมัยการบริหารประเทศของคณะราษฎรสาย ปรีดี พนมยงค์ สภาผู้แทนประเภทที่สองเปลี่ยนมาเป็นสมาชิกพฤฒสภา (อ่านว่า พรึด-สะ-พา) โดยทำหน้าที่เป็นสภาสูงในรัฐสภาไทย
ในโดยรัฐธรรมนูญ 2489 กำหนดที่มาของพฤฒสภา ไว้สองรูปแบบ
รูปแบบแรก พฤฒสภาตามบทเฉพาะกาล สำหรับช่วงเริ่มแรกที่รัฐธรรมนูญ 2489 บังคับใช้ ในมาตรา 90 กำหนดให้พฤฒสภามาจากการเลือกตั้งขององค์การเลือกตั้งพฤฒสภา ซึ่งองค์การเลือกตั้งพฤฒสภาจะประกอบไปด้วยสส. ชุดก่อนหน้าที่รัฐธรรมนูญ 2489 บังคับใช้ และต้องเลือกพฤฒสภาภายใน 15 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ นั่นหมายความว่า ให้ สส.ชุดที่มีที่มาจากรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 (มีที่มาจากการเลือกตั้ง) เป็นผู้เลือก สว.ชุดแรก ส่วนวุฒิสภาชุดถัดมาก็จะมีที่มาตามบทบัญญัติที่กำหนดเรื่องวุฒิสภาไว้โดยเฉพาะ
รูปแบบที่สอง รัฐธรรมนูญ 2489 มาตรา 24 กำหนดให้ พฤฒสภามาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อมและลับ จำนวน 80 คน และมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปี เฉพาะในวาระเริ่มแรก เมื่อเวลาผ่านไปครบสามปีแล้ว จะต้องเปลี่ยนสมาชิกออกครึ่งหนึ่งโดยใช้วิธีจับฉลาก (มาตรา 26 วรรคแรก) แต่ผู้ที่ออกไปแล้วก็มีสิทธิที่จะได้รับสมัครเลือกตั้งเข้ามาอีกได้
โดยผู้ที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นพฤฒสภาต้องมีคุณสมบัติ คือ
1) จะต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ
2) อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี บริบูรณ์
3) มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าอย่างน้อยห้าปี หรือเคยเป็นข้าราชการไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากองหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนหรือสส.มาแล้ว (มาตรา 24 วรรคสอง และมาตรา 25)
อย่างไรก็ดี พฤฒสภาชุดแรกนี้ก็ไม่ได้ดำรงตำแหน่งครบตามวาระที่รัฐธรรมนูญกำหนด เนื่องจากถูกยุบไปตามการรัฐประหารในปี 2490
สว. ชุดที่ 2 : วุฒิสภาแต่งตั้งครั้งแรก
ภายหลังจากการรัฐประหารในปี 2490 นำโดยพลโท ผิน ชุณหะวัณ ได้มีการนำรัฐธรรมนูญฉบับคณะรัฐประหารมาประกาศใช้ โดยรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2490 มาตรา 33 กำหนดให้สว. (เปลี่ยนคำเรียกจากพฤฒสภามาเป็นวุฒิสภา) ประกอบด้วยสมาชิกที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกตั้งมีจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทน โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปี และเฉพาะวาระแรกเมื่อครบกำหนดสามปีให้มีการเปลี่ยนสมาชิกออกกึ่งหนึ่งโดยการจับสลาก การกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งส่วนนี้เหมือนรัฐธรรมนูญ 2489
อย่างไรก็ดี เมื่อมีการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มาของ สว. ก็ได้เปลี่ยนไปตามรัฐธรรมนูญ 2492 มาตรา 82 โดยกำหนดให้มีวุฒิสภา 100 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งจากผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน และต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี
ภายหลัง สว.ชุดที่สองก็สิ้นสุดลงเนื่องจากการรัฐประหารตัวเองในปี 2494 ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และมีการนำรัฐธรรมนูญ 2475 กลับมาใช้ช่วงหนึ่ง และแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2494 โดยกำหนดรูปแบบของรัฐสภาเป็นสภาเดี่ยว มีแค่สภาผู้แทนราษฎร โดยบทเฉพาะกาล กำหนดให้สส.มีสองแบบ แบบที่หนึ่ง มีที่มาจากการเลือกตั้ง และแบบที่สอง มีที่มาจากการแต่งตั้ง
สว. ชุดที่ 3 : ยุคสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส
หลังรัฐประหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500 รัฐธรรมนูญ 2475 แก้ไขเพิ่มเติม ปี 2494 ก็ถูกยกเลิกไป และแทนที่ด้วยการบังคับใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2502 โดยรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ กำหนดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ จำนวน 200 คน ทำหน้าที่ทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเป็นสมาชิกรัฐสภาไปด้วย
หลังใช้รัฐธรรมนูญ 2502 ไปได้เก้าปีกว่า รัฐธรรมนูญ 2511 ซึ่งเป็นผลงานชิ้นสำคัญของ สสร. 2502 ก็ประกาศใช้ ในมาตรา 78 กำหนดให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในวิชาการหรือกิจการต่างๆ อันจะยังประโยชน์ให้เกิดแก่การปกครองแผ่นดิน มีสัญชาติไทยโดยการเกิด และต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี
สว. ตามรัฐธรรมนูญ 2511 จะมีจำนวนสามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทน (หากจำนวนที่คำนวณมีเศษให้ปัดทิ้ง) และมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปี นับตั้งแต่ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง โดยในวาระเริ่มแรกเมื่อครบสามปี นับแต่เริ่มดำรงตำแหน่ง ให้มีการจับสลากออกกึ่งหนึ่ง และให้ถือว่าสิ้นสุดวาระการเป็นสมาชิกสภาพโดยการจับสลากออกเป็นการออกตามวาระด้วย แต่พระมหากษัตริย์ยังทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะแต่งตั้งผู้ที่ออกตามวาระ เป็นสมาชิกอีกได้
นอกจากนี้ในบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญ 2511 มาตรา 177 ยังกำหนดไว้ว่าภายใน 15 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ (20 มิถุนายน 2511) พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งสว. มีจำนวน 120 คน เมื่อได้มีการเลือกตั้งสส.แล้ว ให้เพิ่มหรือลดจำนวนสว. ให้มีจำนวนเท่ากับที่กำหนดในมาตรา 78 แต่ในภายหลังการรัฐประหารตัวเองในปี 2514 ของจอมพลถนอม กิตติขจร ในปี 2514 ส่งผลให้วุฒิสภาชุดนี้สิ้นสุดลง
สว. ชุดที่ 4 : ยุคหลัง 14 ตุลาฯ
หลังการรัฐประหารในปี 2514 ต่อมาปลายปี 2515 ก็มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2515 โดยมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 299 คน มาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ภายใต้ช่วงเวลาของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เดือนตุลาคม ปี 2516 นักเรียน นิสิต นักศึกษา ก็ออกมาชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลถนอม จนนำมาสู่เหตุการณ์การใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 หลังจากนั้นรัฐบาลก็ได้ตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ 2517
สำหรับที่มาของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มาตรา 107 กำหนดให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 100 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความชำนาญในวิชาการหรือกิจการต่างๆ อันจะยังประโยชน์ให้เกิดแก่การปกครองแผ่นดิน ผู้ที่จะเป็น สว. ต้องมีสัญชาติไทย และมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี ซึ่งกำหนดอายุขั้นต่ำไว้กว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่กำหนดว่าต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี
วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2517 มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละหกปี นับแต่ตั้งแต่ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และเมื่อครบสามปี ให้สมาชิกออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งโดยวิธีการจับสลาก (มาตรา 108) อย่างไรก็ดี วุฒิสภาชุดนี้ทำงานได้ปีกว่าๆ ก็ถูกยุบไปเมื่อมีการรัฐประหารในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
สว. ชุดที่ 5 : ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ
หลังเหตุการณ์ชุมนุม 6 ตุลาคม 2519 ที่เจ้าหน้าที่รัฐสังหารและใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม ในเย็นวันนั้นเอง คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ก็เข้ายึดอำนาจและแต่งตั้งให้ ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี ใช้เวลา 16 วัน ก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2519 โดยมีสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ
รัฐธรรมนูญ 2519 ใช้ได้ไม่นานก็ถูกยกเลิกไปเนื่องจากการรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520 ซึ่งนำโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ตามมาด้วยการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2520 ซึ่งกำหนดให้มีสนช. ไม่น้อยกว่า 300 คนแต่ไม่เกิน 400 คน ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาชุดหนึ่ง ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ และส่งกลับให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาสามวาระ จนประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ 2521 ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดรูปแบบรัฐสภาเป็นสภาคู่ มีทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ในมาตรา 84 กำหนดให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความชำนาญในวิชาการ หรือกิจการต่างๆ อันจะยังประโยชน์ให้เกิดแก่การปกครองแผ่นดิน โดยจะมีจำนวนไม่เกินสามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร ผู้ที่จะเป็นสว. ต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี (เหมือนรัฐธรรมนูญ 2517) และไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
ในมาตรา 85 กำหนดอีกว่า สมาชิกภาพของวุฒิสภามีกำหนดเวลาคราวละหกปี นับแต่ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ในวาระเริ่มแรก เมื่อครบสองปี ให้สมาชิกออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดโดยวิธีการจับสลาก และเมื่อครบกำหนดสี่ปี นับตั้งแต่ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ให้วุฒิสภาในจำนวนที่เหลือจากการจับสลากออกเมื่อครบสองปีแรก ออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนหนึ่งในสองของจำนวนดังกล่าวโดยวิธีจับสลาก หากจำนวนที่คำนวณได้มีเศษให้ปัดทิ้ง และให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพโดยการจับสลากเป็นการออกตามวาระด้วย ทั้งนี้พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะแต่งตั้งผู้ที่จะออกตามวาระเป็นสมาชิกอีกก็ได้
วุฒิสภาชุดนี้สิ้นสุดลงเมื่อมีการรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ ในปี 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)
สว. ชุดที่ 6-7 : ยุคปฏิรูปการเมือง
ภายหลังจากการรัฐประหารในปี 2534 และการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2534 ขึ้นเพื่อเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว สนช. จำนวนไม่น้อยกว่า 200 แต่ไม่เกิน 300 คน มาจากการแต่งตั้ง ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาสามวาระ จนประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ 2534 จะเห็นได้ว่าการออกแบบให้สภาแต่งตั้งภายใต้รัฐบาลจากคณะรัฐประหารทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ได้ต้นแบบมาจากธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2520
รัฐธรรมนูญ 2534 วางรูปแบบรัฐสภาไว้เป็นสภาคู่ ในมาตรา 94 กำหนดให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิก 270 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความชำนาญในวิชาการ หรืออาชีพต่างๆ ให้เกิดแก่การปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผู้ที่จะเป็น สว. ได้ต้องมีสัญชาติไทย และอายุไม่น้อยกว่า 35 ปี (เหมือนรัฐธรรมนูญ 2517 และรัฐธรรมนูญ 2521)
มาตรา 95 กำหนดให้สมาชิกภาพของสว. มีกำหนดเวลาคราวละหกปี นับตั้งแต่ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง เมื่อครบสามปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งครั้งแรก ให้สว. จำนวนกึ่งหนึ่งออกจากตำแหน่งโดยวิธีการจับสลาก และให้ถือว่าการจับสลากออกเป็นการออกตามวาระ และพระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งสมาชิกจำนวนที่ต้องออกไปเข้าแทนที่ เมื่อครบหกปี สมาชิกส่วนที่เหลือจากการจับสลากต้องพ้นจากตำแหน่ง และจะมีการแต่งตั้งสมาชิกจำนวนเท่าที่ต้องออกไปเข้ามาแทนที่ต่อไปทุกสามปี โดยพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะทรงแต่งตั้งผู้ที่ออกตามวาระให้เป็นสมาชิกอีกได้
นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 5 ปี 2538 แก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงจำนวนและวาระในการดำรงตำแหน่งของสว. ไว้ โดยในมาตรา 100 กำหนดที่มา สว. ไว้คล้ายเดิมคือมาจากการแต่งตั้ง แต่ในวรรคสอง เปลี่ยนแปลงจำนวนของสว. ให้เป็นสองในสามของจำนวนสส. (ถ้ามีเศษให้ปัดทิ้ง) โดยจะมีวาระคราวละสี่ปี นับตั้งแต่ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง
นอกจากนี้ ในบทเฉพาะกาล กำหนดว่า ให้สว. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ คงเป็นสว. ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าจะครบวาระสี่ปี นับตั้งแต่เลือกตั้งสส. ตามมาตรา 218 ของรัฐธรรมนูญ 2534
ตามรัฐธรรมนูญ 2534 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม 2538 ส่งผลให้ภายในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มี สว. สองชุดด้วยกัน โดย สว.ชุดที่หก มีวาระการดำรงตำแหน่งหกปี และสว.ชุดที่เจ็ด มีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปี
รัฐธรรมนูญ 2534 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมสิ้นสุดลงเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 2540
รัฐธรรมนูญ 40 ปักธง สว. เลือกตั้ง
สว. ชุดที่ 8-9 : เลือกตั้ง สว. โดยประชาชนครั้งแรก
ภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงปี 2534-2539 ส่งผลให้เกิดกระแสการปฏิรูปทางการเมืองครั้งใหญ่ โดยในรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 6 ปี 2539 บัญญัติเพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในหมวด 12 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ให้มี สสร. จำนวน 99 คน มาจัดทำรัฐธรรมนูญ จนประกาศเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปี 2540 ก็ได้ประกาศใช้ และภายในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ทำให้พัฒนาการของที่มา สว. มีความยึดโยงกับประชาชนมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ
รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 121 กำหนดให้มีวุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนจำนวน 200 คน การเลือกตั้งวุฒิสภาให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง (มาตรา 122) โดยใช้วิธีคำนวณจำนวน สว. ต่อเขตเลือกตั้งจากจำนวนราษฎร เหมือนการคำนวณจำนวน สส. (มาตรา 122 ประกอบ มาตรา 102) สว. จะมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง (มาตรา 130)
ผู้ที่จะเป็น สว. ได้ ตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 125 กำหนดว่าต้องมีสัญชาติไทย สำเร็จการศึกษาระดับไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี เรื่องเกณฑ์อายุขั้นต่ำของผู้ที่จะเป็น สว. ได้ กลับไปใช้เหมือนรัฐธรรมนูญ 2589 รัฐธรรมนูญ 2492 และรัฐธรรมนูญ 2511
ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 มี สว. จากการเลือกตั้งสองชุด
ชุดแรก มาจากการเลือกตั้งในวันที่ 4 มีนาคม 2543 จำนวน 200 คน โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ เดือนมีนาคม 2543 ถึง เดือนมีนาคม 2549
ชุดที่สอง มาจากการเลือกตั้งในวันที่ 19 เมษายน 2549 และสิ้นสุดลงเมื่อมีการรัฐประหารรัฐบาลทักษิณในวันที่ 19 กันยายน 2549 นับเป็นจุดสิ้นสุด สว. สองชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามประวัติศาสตร์การเมืองไทย
รัฐธรรมนูญ 50 สว. เลือกตั้งผสมสรรหา
สว. ชุดที่ 10-11 : เลือกตั้งจังหวัดละคนผสมสรรหา
ภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2549 รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มี สนช. ไม่เกิน 250 คนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และกำหนดให้มีสสร. จำนวน 100 คน ที่มาจากการแต่งตั้ง สสร. ตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดหนึ่งเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และส่งกลับให้ สสร. พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ
19 สิงหาคม 2550 คือวันที่ลงประชามติเพื่อขอความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญจากประชาชน จนได้ผลผลิตออกมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550
ที่มาของ สว. ตามรัฐธรรมนูญ 2550 แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ สว. เลือกตั้ง 100% แต่เปลี่ยนเป็นการเลือกตั้งผสมสรรหา ในมาตรา 111 กำหนดให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนรวม 150 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคน (มาตรา 112) ส่วนจำนวนที่เหลือมาจากการสรรหา (จำนวนทั้งหมด 150 คน-จำนวนที่มาจากการเลือกตั้ง = จำนวนที่มาจากการสรรหา) โดยวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
สำหรับ สว. ที่มีที่มาจากการสรรหา มาตรา 113 กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาสว. ประกอบด้วย
- ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
- ประธานกรรมการการเลือกตั้ง
- ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน
- ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
- ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
- ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมายจำนวนหนึ่งคน
- ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดมอบหมายจำนวนหนึ่งคน
กรรมการสรรหา สว. สรรหาบุคคลจากผู้ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรต่างๆ ในภาควิชาการ ภาครัฐ เอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา (มาตรา 114) ซึ่งรายละเอียดจะถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550
สว. มีสมาชิกภาพคราวละหกปีนับตั้งแต่วันเลือกตั้งหรือวันที่คณะกรรมการการการเลือกตั้งประกาศผลการสรรหา โดยสว. จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินหนึ่งวาระไม่ได้ ตามมาตรา 117
ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 มี สว.ที่มีที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยกันสองชุด
ชุดแรก ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 จนถึง เดือนมีนาคม 2557 โดยมี สว.จากการเลือกตั้ง 76 คน และจากการสรรหา 74 คน รวม 150 คน
ชุดที่สอง ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 ถึงพฤษภาคม 2557 โดยมี สว. จากการเลือกตั้ง 77 คน (เนื่องจากมีจังหวัดเพิ่มขึ้นมาหนึ่งจังหวัด คือ บึงกาฬ) และมี สว. จากการสรรหา 73 คน
สว.ชุดที่ 11 สิ้นสุดลงเมื่อมีการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคสช. ได้ออกประกาศฉบับที่ 30/2557 ให้วุฒิสภาสิ้นสุดลง
รัฐธรรมนูญ 60 สว. ชุดพิเศษ สู่ สว. เลือกกันเอง
สว. ชุดที่ 12 : สว. ชุดพิเศษจาก คสช. 250 คน
ในระยะเวลาที่ประเทศถูกปกครองโดย คสช. รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ถูกประกาศใช้หลังการรัฐประหารผ่านไปสองเดือน มาตรา 6 กำหนดให้มี สนช. ไม่เกิน 250 คนซึ่งพระมหากษัตริย์แต่งตั้งโดยคำแนะนำของ คสช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติและมีกรรมการร่างรัฐธรรมนูญสำหรับทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ
หลังการจัดทำประชามติเมื่อ 7 สิงหาคม 2559 เกือบเจ็ดเดือนเต็มก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ในวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งตรงกับวันจักรี
บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 269 กำหนดว่า ในวาระเริ่มแรก ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถวายคำแนะนำ แบ่งได้เป็น
- กลุ่มแรก 194 คน : มาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการที่คสช. แต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ประสบการณ์ด้านต่างๆ เป็นกลางทางการเมือง 9-12 คน ทำหน้าที่สรรหาผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่ง สว. จำนวนไม่เกิน 400 คน เพื่อให้ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 194 คน และคัดชื่อสำรองอีก 50 คน
- กลุ่มที่สอง 50 คน : มาจากการเลือกกันเอง โดยให้กกต. ดำเนินการจัดให้มีการเลือก สว. โดยให้ผู้มีความรู้ ประสบการณ์หลายด้าน กลุ่มวิชาชีพ หรือกลุ่มผลประโยชน์ เลือกกันเองให้ได้ 200 คน แล้วนำรายชื่อให้ คสช. เลือกให้เหลือ 50 คน และคัดชื่อสำรองไว้อีก 50 คน
- กลุ่มที่สาม หกคน : สว. โดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
สว. ชุดที่ 13 : สว. จากการเลือกกันเอง 200 คน
สำหรับที่มาของวุฒิสภาหลังพ้นเวลา “วาระเริ่มแรก” รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดที่มาของ สว. ไว้ในมาตรา 107 ว่า วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 200 คน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงาน หรือเคยทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทำให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ทั้งนี้วิธีการคัดเลือกกันเองจากกลุ่มต่างๆ ให้ดำเนินการตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ โดยจะกำหนดรายละเอียดของการแบ่งกลุ่มไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 โดยในมาตรา 11 กำหนดกลุ่มไว้ถึง 20 กลุ่ม เช่น กลุ่มผู้เคยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ กลุ่มอดีตผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ กลุ่มบุคลากรทางการศึกษา กลุ่มสาธารณสุข กลุ่มเกษตรกร กลุ่มลูกจ้าง กลุ่ม SMEs กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มสตรี กลุ่มสื่อ เป็นต้น ทั้งนี้ในมาตรา 15 วรรคสอง กำหนดให้ผู้สมัครแต่ละคนสามารถเลือกสมัครได้แค่หนึ่งกลุ่ม และอำเภอเดียวเท่านั้น
สำหรับการเลือกกันเองของผู้สมัคร สว. ในระดับอำเภอ-จังหวัด-ประเทศ มีขั้นตอนโดยสรุป ดังนี้
ขั้นตอนการเลือกในระดับอำเภอ (มาตรา 40)
- เริ่มด้วยการเลือกกันเองภายในกลุ่มที่ผู้สมัครเลือกสมัครก่อน ซึ่งจะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้ แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกินหนึ่งคะแนน
- ผู้ได้คะแนนสูงสุดห้าอันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม
- แต่ละกลุ่มเมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นแล้ว จะถูกแบ่งออกตามสาย แบ่งออกไปไม่เกินสี่สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่าๆ กัน
- ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มจะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน กลุ่มละหนึ่งคน ห้ามเลือกคนที่อยู่กลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองในขั้นนี้
- ผู้ได้คะแนนสามลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกในระดับอำเภอสำหรับกลุ่มนั้น และเข้าสู่การเลือกต่อในระดับจังหวัด
ขั้นตอนการเลือกในระดับจังหวัด (มาตรา 41)
- ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอแต่ละกลุ่ม ลงคะแนนเลือกกันเองภายในกลุ่ม ซึ่งจะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้ แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกินหนึ่งคะแนน
- ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดห้าอันดับแรกให้ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม
- แต่ละกลุ่มเมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มแล้ว จะถูกแบ่งออกตามสาย ไม่เกินสี่สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่าๆ กัน
- ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มจะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกตั้งขั้นต้นของกลุ่มอื่น ที่อยู่ในสายเดียวกัน ห้ามเลือกคนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเอง
- ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดสองลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม จะถือว่าได้รับเลือกในระดับจังหวัดของกลุ่มนั้น และเข้าสู่การคัดเลือกในระดับประเทศต่อไป
ขั้นตอนการเลือกในระดับประเทศ (มาตรา 42)
- ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดแต่ละกลุ่ม ลงคะแนนเลือกกันเองภายในกลุ่ม ซึ่งจะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 10 คน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้ แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกินหนึ่งคะแนน
- ผู้ได้คะแนนสูงสุด 40 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม ในขั้นนี้หากแต่ละกลุ่มได้ไม่ครบ 40 คน ก็ถือตามจำนวนเท่าที่มี แต่จะน้อยกว่า 20 คนไม่ได้ โดยผู้อำนวยการเลือกตั้งระดับประเทศจะจัดให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือก ซึ่งยังอยู่ ณ สถานที่นั้น เลือกกันเองในกลุ่มจนกว่าจะได้จำนวนอย่างต่ำ 20 คน
- แต่ละกลุ่มเมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นแล้ว จะถูกแบ่งออกตามสาย แบ่งออกไม่เกินสี่สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่าๆ กัน
- ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มจะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน กลุ่มละไม่เกินห้าคน ห้ามเลือกคนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเอง
- ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม (20 กลุ่ม คูณ 10 คน = 200 คน) เป็นผู้ได้รับเลือกเป็น สว. สำหรับกลุ่มนั้น และผู้ที่ได้ลำดับที่ 11 ถึง 15 จะเป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น
เมื่อย้อนดูวิธีการได้มาซึ่ง สว. ทั้ง 12 ชุด ก่อนหน้านี้ แม้ในอดีตจะมีการออกแบบให้ สส. เลือก สว. หรือ การจับฉลากออก แต่การออกแบบให้มี สว. จากการเลือกกันเองในสามสนามหลักคือระดับอำเภอ-จังหวัด-ประเทศ เป็นวิธีการที่ยากและชวนสับสนมากกว่าที่เคยมีในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และการออกแบบที่มาของ สว. จากการเลือกกันเองในบรรดาผู้สมัคร ยังมีประเด็นชวนให้น่าตั้งคำถามว่า วุฒิสภาที่มีที่มาแบบนี้จะมีความยึดโยงกับประชาชนมากน้อยเพียงใด
RELATED POSTS
No related posts