เจาะลึกคุณสมบัติ สว. ใหม่! ใครสมัครได้บ้างครั้งนี้

 

หลังประเทศไทยมีสมาชิกวุฒิสภาชุดพิเศษ 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ที่อยู่ในตำแหน่งมาตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2562 และกำลังจะสิ้นสุดการทำงานในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ซึ่งรวมแล้วมีอายุห้าปีนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง หลังจากสิ้นสุดวาระของ สว.ชุดพิเศษ ก็จะต้องเปิดทางให้มี สว. ชุดถัดไปที่มีที่มาตามรัฐธรรมนูญ 2560 เข้ามาทำหน้าที่แทน 

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ สว. ชุดใหม่มีจำนวน 200 คน มาจากวิธีการ “เลือกกันเอง” จากกลุ่มผู้สมัครชิงตำแหน่ง สว. จากกลุ่มอาชีพต่างๆ ทั้ง 20 กลุ่ม หลังจากนี้จึงต้องจับตาการคัดเลือก สว.ชุดใหม่ เนื่องจากการเปลี่ยน สว.ใหม่จะส่งผลต่อทิศทางการเมืองไทย ทั้งการร่างกฎหมาย รัฐธรรมนูญใหม่ ไปจนถึงการเห็นชอบบุคคลที่ตำแหน่งในองค์กรอิสระด้วย

สำหรับคุณสมบัติพื้นฐานและคุณสมบัติต้องห้ามในการสมัครชิงตำแหน่ง สว.ชุดใหม่ได้ถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) ดังนี้

20 กลุ่มอาชีพ สว. มีอะไรบ้าง

อย่างไรก็ตาม การสมัครชิงตำแหน่ง สว. นั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 20 กลุ่มตามลักษณะของแต่ละอาชีพ ซึ่งต้องระบุตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครว่า ผู้สมัครต้องการจะสมัครในกลุ่มใด เนื่องจากในขั้นตอนการคัดเลือก หรือที่เรียกกันว่า “เลือกกันเอง” ผู้สมัครจะต้องถูกแบ่งไปเลือกกันเองตามกลุ่มอาชีพที่ได้ลงสมัครไว้แต่แรก โดยทั้ง 20 กลุ่มประกอบด้วยกันดังต่อไปนี้
  1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เช่น อดีตข้าราชการ อดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐ
  2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ หรือผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย
  3. กลุ่มการศึกษา เช่น เช่น ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา
  4. กลุ่มการสาธารณสุข เช่น แพทย์ทุกประเภท พยาบาล เภสัชกร
  5. กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก
  6. กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง
  7. กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคล ซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ 
  8. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน 
  9. กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมาย (SME) และ ผู้ประกอบกิจการอื่นๆ
  10. กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากข้อ (9)
  11. กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม
  12. กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
  13. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
  14. กลุ่มสตรี
  15. กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น
  16. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี นักกีฬา การแสดงและบันเทิง
  17. กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์
  18. กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม
  19. กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ 
  20. กลุ่มอื่นๆ 

คุณสมบัติทั่วไป อายุเท่าไร? อยู่ในทะเบียนบ้านนานเท่าไร? ใช้ที่อยู่ทำงานสมัครได้หรือไม่?

เมื่อรู้ว่าต้องการจะสมัครชิงตำแหน่ง สว. ในกลุ่มอาชีพใดแล้ว ถัดมาจึงต้องดูว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติในการลงสมัครหรือไม่ ซึ่ง พ.ร.ป. สว. ฯ มาตรา 13 ระบุเอาไว้ดังนี้

  1. ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
  2. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันที่สมัครรับเลือก
  3. มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี ไม่นับรวมผู้สมัครกลุ่มสตรี กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น
  4. ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
    • เกิดในอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก
    • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันที่สมัคร
    • เคยทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันที่สมัคร
    • เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี
    • เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า สองปีการศึกษา

ลักษณะต้องห้าม! ถ้ามีคุณสมบัติแบบนี้สมัคร สว. ไม่ได้

พ.ร.ป. สว. ฯ มาตรา 14 กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้ต้องการที่จะสมัครชิงตำแหน่ง สว. ซึ่งผู้ที่มีคุณสมบัติในการสมัครครบถ้วน ต้องตรวจสอบลักษณะต้องห้ามเหล่านี้ด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันความยุ่งยากที่จะตามมาภายหลัง
ลักษณะต้องห้ามในการชิงตำแหน่ง สว. ประกอบไปด้วย:
  • เป็นสมาชิกพรรคการเมือง (ถ้าลาออกก็สมัครได้) อ่านวิธีลาออกจาสมาชิกพรรคการเมืองได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/22228 และสามารถตรวจสอบการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ได้ที่ https://party.ect.go.th/checkidparty
  • เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ (ถ้าลาออกก็สมัครได้) อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/22161
  • เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
  • เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน
  • เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
  • เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ
  • เป็นหรือเคยเป็นตำแหน่งดังต่อไปนี้ เว้นแต่พ้นตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัคร
    • สส.
    • รัฐมนตรี 
    • สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
    • ผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง ได้แก่
      • หัวหน้าพรรคการเมือง
      • เลขาธิการพรรคการเมือง
      • เหรัญญิกพรรคการเมือง
      • นายทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง
      • กรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง
      • หัวหน้าและกรรมการสาขาพรรคการเมือง
      • ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด
      • ตำแหน่งอื่นๆ ที่ถูกกำหนดไว้ในข้อบังคับของแต่ละพรรคการเมือง

๐ อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับตำแหน่งในพรรคการเมือง ที่ต้อง “เว้นวรรค” มาก่อนห้าปี ถึงจะสมัคร สว. ได้ ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/27766

  • เป็นบุพการี (บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย) คู่สมรส หรือบุตร ของผู้ดำรงตำแหน่งต่อไปนี้
    • สส. 
    • สว. 
    • ข้าราชการการเมือง 
    • สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
    • ผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ
  • เป็นบุพการี (บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย) คู่สมรส หรือบุตร ของผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. ในคราวเดียวกัน (หนึ่งครอบครัว สมัครได้แค่คนเดียวในหนึ่งสมัย)
  • เคยเป็นสว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 (สว. ชุดพิเศษ สมัครไม่ได้)
  • ติดยาเสพติดให้โทษ (ดูจากใบรับรองแพทย์)
  • วิกลจริต จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
  • อยู่ในระหว่าง (ข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้)
    • ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
    • ถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
    • ต้องห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
  • ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
  • เคยรับโทษจำคุก พ้นโทษยังไม่ถึง 10 ปี ยกเว้นความผิดโดยประมาทหรือลหุโทษ
  • เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่
  • เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาลงโทษจำคุกเพราะทำผิดตามกฎหมายปราบปรามการทุจริต
  • เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือ ต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดตามกฎหมายความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดกฎหมายยาเสพติด การพนัน การค้ามนุษย์ หรือการฟอกเงิน
  • เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าทุจริตในการเลือกตั้ง
  • เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีส่วนในการเสนอหรือกระทำการใดๆ ที่มีผลให้สส. สว.  หรือกรรมาธิการ มีส่วนในการใช้งบประมาณ
  • เคยพ้นตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่า เป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม
ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *