ตรวจสอบสถานภาพผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง ได้ที่ https://party.ect.go.th/partypositioncheck
การเป็นผู้มีตำแหน่งหรือเคยมีตำแหน่งในพรรคการเมือง เป็นหนึ่งในลักษณะต้องห้ามของผู้ที่ต้องการจะสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระบบเลือกกันเอง ในปี 2567 โดยลักษณะต้องห้ามนี้ถูกระบุในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) มาตรา 14 (22) ใจความว่า
ผู้สมัคร สว. ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง เว้นแต่ได้พ้นจากการดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
ดังนั้น ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองหากต้องการจะลงสมัคร สว. ได้จะต้องเว้นวรรคจากการดำรงตำแหน่งนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
ทั้งนี้ คำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง” หมายถึงตำแหน่งใดบ้าง หากเปิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 (พ.ร.ป.พรรคการเมือง) มีการระบุถึงตำแหน่งต่างๆ ในพรรคการเมือง ดังนี้
1) หัวหน้าพรรคการเมือง
2) เลขาธิการพรรคการเมือง
3) เหรัญญิกพรรคการเมือง
4) นายทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง
5) กรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง
6) หัวหน้าและกรรมการสาขาพรรคการเมือง
7) ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด
นอกจากตำแหน่งข้างต้นแล้ว ใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง ยังกำหนดให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคมีข้อบังคับของพรรคได้ โดยก่อนยื่นจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง ผู้ร่วมจัดตั้งต้องจัดประชุมเพื่อดำเนินการต่างๆ เช่น เลือกหัวหน้าพรรค กำหนดข้อบังคับ
ในมาตรา 15 กำหนดว่าข้อบังคับพรรคการเมืองต้องมีรายการต่างๆ ขั้นต่ำต้องมีตามกฎหมายกำหนดไว้ เช่น มาตรา 15 (5) ข้อบังคับต้องระบุโครงสร้างการบริหารพรรคการเมือง และตำแหน่งต่างๆ ในพรรคการเมือง
ดังนั้น การดูผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองซึ่งจะเข้าลักษณะต้องห้ามที่ไม่สามารถสมัคร สว. ได้ อาจต้องดูตำแหน่งต่างๆ ที่ถูกกำหนดในข้อบังคับของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งแต่ละพรรคอาจกำหนดไว้ไม่เหมือนกัน
ตัวอย่างเช่น ในข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ พ.ศ. 2566 ข้อ 4 ระบุถึงหลายตำแหน่งในพรรค บางตำแหน่งมีระบุไว้ในพ.ร.ป. พรรคการเมืองแล้ว แต่บางตำแหน่งไม่มีใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง แต่มีในข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ เช่น โฆษกพรรค ผู้อำนวยการพรรค
สำหรับตำแหน่งอื่นๆ ที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคกำหนดขึ้นเอง ไม่ได้มีในกฎหมาย เช่น ตำแหน่งตัวแทนพรรคประจำอำเภอ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตอบข้อหารือเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามเหล่านี้ โดย กกต. ยังไม่ได้ให้คำตอบหรือแนวทางที่ชัดเจน แต่ระบุว่า จะหารือไปยังพรรคการเมืองต้นสังกัดที่มีอำนาจหน้าและหน้าที่ในการพิจารณา