11 พฤษภาคม 2567 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดพิเศษ 250 จะมีอายุครบห้าปีตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว สำหรับการสมัคร สว. ชุดใหม่ ที่จะเริ่มสมัครได้เร็วสุดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2567 มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าผู้สมัคร สว. ทุกคนจะต้องไม่สังกัดพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามอย่างเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ)
สำหรับผู้ที่อยากสมัคร สว. ที่ยังคงเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอยู่ หากต้องการลาออกจากพรรคการเมืองต้องทำอย่างไร ชวนดูวิธีการลาออกสมาชิกพรรคการเมือง
ลาออกยังไง?
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 (พ.ร.ป.พรรคการเมือง) มาตรา 27 วรรคสอง กำหนดให้สมาชิกที่มีความประสงค์จะลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง จะลาออกโดยสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อยื่นใบลาออกต่อ
- นายทะเบียน (เจ้าหน้าที่ของ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรุงเทพมหานคร หรือสำนักงาน กกต. จังหวัด)
- นายทะเบียนสมาชิก (เจ้าหน้าที่ที่เป็นนายทะเบียนในพรรคการเมือง)
ตัวอย่างใบลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค (จากพรรครวมไทยสร้างชาติ)
ยื่นใบลาออกได้ที่สำนักงาน กกต. – พรรคการเมือง
ตามประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง สมาชิกพรรคการเมือง พ.ศ. 2566 ข้อ 6 วรรคสอง และข้อมูลจากรายการ กกต. ขอบอก EP 87 : “ช่องทางการยื่นใบลาออกของสมาชิกพรรคการเมือง” ซึ่งเผยแพร่ใน Youtube ของสำนักงาน กกต. ระบุว่า การลาออกจากสมาชิกพรรค สามารถทำได้สองวิธี คือ
วิธีแรก : ยื่นใบลาออกด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้อื่นดำเนินการแทน (พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนและเซ็นรับรองทั้งผู้ยื่นและผู้ยื่นแทน)
- สำนักงาน กกต. กรุงเทพมหานคร อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ หรือที่สำนักงาน กกต. ประจำจังหวัด หรือ
- ยื่นต่อนายทะเบียนสมาชิกพรรค ที่สำนักงานใหญ่พรรคการเมือง
วิธีที่สอง : จัดส่งใบลาออกทางไปรษณีย์ (วงเล็บมุมซองจดหมายว่าลาออกจากพรรคการเมือง พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนและเซ็นรับรอง)
โดยสามารถส่งใบลาออกทางไปรษณีย์ไปได้ทั้งที่สำนักงาน กกต. กรุงเทพมหานคร สำนักงาน กกต. ประจำจังหวัด หรือที่สำนักงานใหญ่พรรคการเมืองที่เป็นสมาชิก
เมื่อยื่นเอกสารแล้วสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ https://party.ect.go.th/checkidparty โดยกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักเพื่อตรวจสอบสถานะความเป็นสมาชิกพรรคได้
สถานะสมาชิกจะสิ้นสุดหลังยื่นใบลาออกแล้ว
สถานะความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองจะสิ้นสุดลงเมื่อนายทะเบียนหรือนายทะเบียนสมาชิกได้รับใบลาออกแล้ว (ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง สมาชิกพรรคการเมือง พ.ศ. 2566 ข้อ 6 วรรคแรก)
กรณียื่นลาออกสมาชิกพรรคที่สำนักงานใหญ่พรรคการเมือง เมื่อได้รับใบลาออกแล้ว นายทะเบียนสมาชิกพรรคการเมืองจะต้องบันทึกของมูลสิ้นสุดสถานะสมาชิกลงในระบบฐานข้อมูลของ กกต. ภายในเจ็ดวันนับแต่ได้รับใบลาออก
กรณียื่นลาออกที่สำนักงาน กกต. สำนักงานจะบันทึกข้อมูลการลาออกลงในระบบโดยเร็ว แล้วแจ้งข้อมูลให้พรรคการเมืองทราบ ทางพรรคก็จะต้องตรวจสอบว่าผู้ที่ลาออกนั้นเป็นผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค กรรมการสาขา หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดหรือไม่ หากผู้ที่ลาออกจากสมาชิกพรรคดำรงตำแหน่งดังกล่าว พรรคการเมืองจะต้องแจ้งไปทางนายทะเบียนพรรคการเมือง (กกต.) ด้วย