กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

หลังสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดพิเศษ ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หมดอายุลงในกลางเดือนพฤษภาคม 2567 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็จะต้องจัดให้มีการเลือก สว. ชุดใหม่จำนวน 200 คน มาทำหน้าที่สภาสูงตามรัฐธรรมนูญ 2560 ต่อไป

สว. 2567 มีที่มาแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์วุฒิสภาไทย และไม่มีที่ไหนในโลกที่ใช้ระบบนี้ มาจากการ “เลือกกันเอง” ในบรรดาผู้สมัคร 20 กลุ่ม โดยการเลือก สว. จะแบ่งเป็นสามระดับ ได้แก่ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ในแต่ละระดับจะมีกระบวนการเลือกสองขั้นตอน ขั้นตอนแรก “เลือกกันเอง” ภายในกลุ่มอาชีพ-กลุ่มอัตลักษณ์ เมื่อได้ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้น ก็จะต้องไปแบ่งสาย เพื่อ “เลือกไขว้” เลือกผู้สมัครจากกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน แม้ว่าผู้สมัครอาจจะไม่ได้รู้จักภูมิหลังหรือประสบการณ์ของผู้สมัครจากกลุ่มอื่นๆ เลย นอกจากข้อมูลประวัติที่เจ้าหน้าที่จะแจกให้ ซึ่งมีข้อมูลทั่วไป เช่น ชื่อ-นามสกุล และให้พื้นที่ผู้สมัครเขียนเล่าประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในสายงาน ไม่เกินห้าบรรทัด

นอกจากจะให้ผู้สมัครเลือกกันเอง ซึ่งหมายความว่าผู้มีสิทธิเลือกว่าใครจะมาเป็น สว. ต่อไป จะไม่ใช่ประชาชน แต่ต้องเป็นผู้ที่สมัคร สว. ซ้ำการสมัครเพื่อใช้สิทธิเลือกผู้ที่สมควรจะเป็น สว. ยังต้องแลกด้วยการจ่ายค่าธรรมเนียมในการสมัครจำนวน 2,500 บาท

ระบบเลือก สว. ที่เอื้อให้คนมีอายุ-มีเงิน-มีเพื่อน-มีเวลา นี้ แม้ กกต. จะมีหน้าที่ในการทำหน้างาน จัดระบบเลือก สว. ให้เกิดขึ้นได้ แต่ กกต. ไม่ใช่คนออกแบบระบบ คนที่ออกแบบระบบเลือก สว. สุดพิสดารนี้ คือ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งมี มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน

การกำหนดให้วุฒิสภามีที่มาจากเลือกกันเอง ถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 107 ใจความว่า วุฒิสภาประกอบด้วย สว. 200 คน มาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทำให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้

ส่วนรายละเอียดของระบบการเลือกกันเอง มาตรา 107 วรรคสอง ระบุให้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งคนเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 10 ฉบับ ก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่เป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 เอง

ในบทเฉพาะกาล ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 267 กำหนดให้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เพื่อจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับให้แล้วเสร็จ และเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยกรธ. มีเวลาในการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 240 วันหรือคิดเป็นแปดเดือน

นอกจากจะเป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญเองแล้ว กรธ. ยังเปิดช่อง ให้ตัวเองมีบทบาทเป็นผู้เขียน ผู้ออกแบบกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมถึงระบบการเลือก สว. แบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วย

โดย กรธ. ผู้เขียนรัฐธรรมนูญ 2560 และออกแบบระบบ สว. เลือกกันเอง ประกอบไปด้วย

  1. มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการ
  2. สุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 เจ้าของวลี “รอให้ถนนลูกรังหมดจากประเทศไทยก่อน” ในคดีวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติกู้เงินสองล้านล้านบาท เพื่อทำโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
  3. อภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่สอง
  4. นรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการ
  5. ศาสตราจารย์ อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการ หลังจากรับบทบาทเป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญ ปลายปี 2565 อุดมยังได้รับความเห็นชอบจาก สว. ชุดพิเศษ ให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย และเข้าสู่ตำแหน่งเมื่อต้นปี 2566 (อ่านประวัติและเส้นทางการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของอุดมได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/5613)
  6. อมร วาณิชวิวัฒน์
  7. ศาสตราจารย์ ชาติชาย ณ เชียงใหม่
  8. กีระณา สุมาวงศ์
  9. จุรี วิจิตรวาทการ
  10. เธียรชัย ณ นคร
  11. ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย
  12. ประพันธ์ นัยโกวิท
  13. ภัทระ คำพิทักษ์
  14. ภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์
  15. พลตรี วิระ โรจนวาศ
  16. ศุภชัย ยาวะประภาษ
  17. อัชพร จารุจินดา
  18. พล.อ. อัฎฐพร เจริญพานิช
  19. ปกรณ์ นิลประพันธ์
  20. ธนาวัฒน์ สังข์ทอง

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ