สมัคร สว. 67 กลุ่มไหนดี? ชวนดูประกาศ กกต. ขยายความอาชีพ-อัตลักษณ์

ในการสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 ผู้สมัครทุกคนจะต้องเลือกอำเภอที่ตนสามารถสมัครได้ และต้องเลือกกลุ่มที่ตนเองมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่างๆ เพียงแค่หนึ่งกลุ่ม เท่ากับว่าผู้สมัครต้องเลือกสมัครอำเภอเดียวและกลุ่มเดียวเท่านั้น

แม้ว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) มาตรา 11 จะกำหนดแบ่งกลุ่ม สว. จำนวน 200 คน ไว้เป็น 20 กลุ่มแล้ว โดยระบุไว้อย่างคร่าวๆ และเปิดพื้นที่การตีความอาชีพหรืออัตลักษณ์ในกลุ่มต่างๆ ผ่านคำว่า “หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน” เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกประกาศ กกต. เรื่อง การมีลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ตามมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพ.ร.ป.สว. ฯ) เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 25 เมษายน 2567 โดยมีผลใช้บังคับวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (มีผล 26 เมษายน 2567 เป็นต้นไป)

ประกาศฉบับนี้ มีสาระสำคัญ คือ ขยายความ ยกตัวอย่างอาชีพ ตำแหน่งหรืออัตลักษณ์ของกลุ่มต่างๆ ในกฎหมายไว้ ดังนี้

ผู้มีความหลากหลายทางเพศ สมัครกลุ่มอัตลักษณ์อื่นได้

หากดู พ.ร.ป.สว. ฯ จะพบว่าในจำนวน 20 กลุ่มที่กฎหมายแบ่งไว้นั้น แม้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอาชีพ แต่มีสองกลุ่มที่เป็นกลุ่มอัตลักษณ์  คือ กลุ่มสตรี ตามมาตรา 11 (14) และกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ตามมาตรา 11 (15)

ในประกาศ กกต. ไม่ได้ขยายความกลุ่มสตรีเพิ่ม แต่หากตีความตาม พ.ร.ป.สว. ฯ กลุ่มสตรีหมายถึงผู้ที่มีเพศกำเนิดหญิง หากมีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่มีลักษณะต้องห้าม ก็สามารถสมัคร สว. กลุ่มสตรีได้

ส่วนกลุ่ม (15) ผู้สูงอายุ หมายถึง ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ขณะที่กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนี้ ประกาศ กกต. ยกตัวอย่างไว้ว่าเป็นอัตลักษณ์ทางเพศ หากเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQINA+) ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ก็สามารถเลือกสมัคร สว. กลุ่มนี้ได้

กลุ่มราชการ

(1) กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง นอกจากหมายถึงผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ แล้ว ยังรวมถึงผู้ที่เคยประกอบอาชีพหรือดำรงตำแหน่งเหล่านี้

  • พนักงานในรัฐวิสาหกิจ 
  • พนักงานในหน่วยงานอื่นของรัฐ  ซึ่งหน่วยงานอื่นของรัฐ เช่น องค์การมหาชน หน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ 
  • ลูกจ้างผู้ซึ่งปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ 
  • ผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง โดยคำว่า หน่วยงานทางปกครอง ไม่ได้หมายถึงแค่ส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครอง หรือให้ดำเนินกิจการทางปกครองด้วย (ตามนิยามในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 3) เช่น องค์การวิชาชีพ องค์การเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจในรูปแบบบริษัท ที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง
  • ประธานหรือกรรมการในคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท 
  • ประธานหรือกรรมการในคณะกรรมการซึ่งมีกฎหมายให้อำนาจในการออกกฎ คำสั่ง หรือมติใดๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคล 
  • บุคคลซึ่งมีกฎหมายให้อำนาจในการออกกฎ คำสั่ง หรือมีมติใดๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคล
  • หรือตำแหน่งหรืออาชีพอื่นที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง

กลุ่มกฎหมาย

 (2) กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม นอกจากจะหมายถึงผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ตํารวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมายแล้ว ยังรวมถึงผู้ที่เป็นหรือเคยเป็น

  • ดะโต๊ะยุติธรรม
  • ผู้พิพากษาสมทบ
  • นายทหารพระธรรมนูญ
  • เจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง
  • นิติกร
  • เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
  • เจ้าพนักงานบังคับคดี
  • พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ
  • พนักงานคุมประพฤติ
  • นักนิติวิทยาศาสตร์
  • นักทัณฑวิทยา
  • เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์
  • เจ้าพนักงานพินิจ
  • ทนายความ
  • ที่ปรึกษากฎหมาย
  • อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์หรือภาควิชานิติศาสตร์หรือสาขาวิชานิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีกฎหมายรับรอง
  • เจ้าพนักงานคดี
  • ผู้ประนีประนอม
  • พนักงานคดีปกครอง
  • พนักงานไต่สวน
  • เจ้าพนักงานตำรวจศาล
  • หรือตำแหน่งหรืออาชีพอื่นที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง

กลุ่มการศึกษา

(3) กลุ่มการศึกษา นอกจากหมายถึงผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา ยังหมายถึง

  • ผู้เป็นหรือเคยเป็นนักวิชาการศึกษา
  • นักวิชาการศึกษาพิเศษ
  • วิทยาจารย์
  • บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐหรือเอกชนที่มีกฎหมายรับรอง
  • บุคลากรในสังกัดสถาบันอาชีวศึกษาของรัฐหรือเอกชนที่มีกฎหมายรับรอง
  • บุคลากรทางการศึกษาของสถานศึกษาของรัฐหรือโรงเรียนเอกชนที่มีกฎหมายรับรอง
  • บุคลากรทางการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การมหาชนหรือรัฐวิสาหกิจ
  • บุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษาที่จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
  • บุคลากรทางการศึกษาในสังกัดกระทรวงกลาโหม
  • บุคลากรทางการศึกษาในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • บุคลากรทางการศึกษาในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
  • บุคลากรทางการศึกษาในสังกัดกรมพลศึกษา
  • นักวิชาการอิสระ
  • หรือตำแหน่งหรืออาชีพอื่นที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง

กลุ่มสาธารณสุข

(4) กลุ่มการสาธารณสุข นอกจากหมายถึงผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร แล้ว ยังรวมถึง

  • ทันตแพทย์
  • นักปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์
  • นักกายภาพบำบัด
  • นักกิจกรรมบำบัด
  • นักจิตวิทยา
  • นักจิตวิทยาคลินิก
  • สัตวแพทย์
  • นักการแพทย์แผนไทย
  • นักโภชนาการ
  • นักรังสีการแพทย์
  • นักอาชีวบำบัด
  • นักวิชาการอาหารและยา
  • นักวิทยาศาสตร์การแพทย์นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย
  • ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย สาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก สาขาการแพทย์แผนจีน
  • ผู้เป็นหรือเคยเป็นบุคคลซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต
    • ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภา
    • ผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์จากสภาเทคนิคการแพทย์
    • ผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนจากสภาการสาธารณสุขชุมชน และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารผู้ปฏิบัติการ ผู้ให้บริการ ผู้สอน ผู้มีผลงานวิจัยด้านการสาธารณสุขชุมชน
    • ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลหรือการผดุงครรภ์จากสภาการพยาบาล
    • ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมจากสภาเภสัชกรรม
  • หรือตำแหน่งหรืออาชีพอื่นที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง

กลุ่มทำนา

(5) กลุ่มอาชีพทํานา ปลูกพืชล้มลุก เกษตรกรที่เพาะปลูกพืชล้มลุกหรือธัญพืชอันจะเก็บเกี่ยวได้คราวหนึ่งหรือหลายคราวต่อปี หรือตำแหน่งหรืออาชีพอื่นที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง

กลุ่มทำสวน

(6) กลุ่มอาชีพทําสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน  เช่น

  • นักวิชาการป่าไม้
  • พนักงานป่าไม้
  • นักกีฏวิทยา
  • นักวิชาการแผนที่ภาพถ่าย
  • พนักงานพิทักษ์ป่า
  • เจ้าหน้าที่ตรวจป่า
  • ผู้ปลูกสร้างสวนป่า
  • วนเกษตร
  • อาชีพการนำผลผลิตจากป่ามาแปรรูปให้เกิดประโยชน์
  • อาชีพการแปรรูปไม้
  • ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้
  • อาชีพค้าไม้ท่อน ค้าไม้แปรรูป
  • อาชีพส่งออกและนำเข้าไม้
  • อาชีพทำและค้าเฟอร์นิเจอร์และสิ่งประดิษฐ์ที่ทำจากไม้
  • นักวิจัย
  • นักฟื้นฟูป่าไม้จากการถูกทำลาย 
  • หรือตำแหน่งหรืออาชีพอื่นที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง

กลุ่มลูกจ้าง

ใน พ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 11 (7) กำหนดกลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งในประกาศ กกต. ขยายความเพิ่มว่า เป็นผู้ประกอบอาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือตำแหน่งหรืออาชีพอื่นที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง

ดังนั้น หากเป็นลูกจ้าง ที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ และมีนายจ้าง ทำสัญญาจ้างแรงงาน เช่น พนักงานบริษัทเอกชนไม่ว่าจะทำงานด้านใดก็ตาม ลูกจ้างในโรงงาน ก็สามารถสมัคร สว. กลุ่มนี้ได้ แต่หากทำงานอิสระ เป็นฟรีแลนซ์ จะต้องสมัครกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ

กลุ่มสิ่งแวดล้อม

(8) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน 

  • นักธรณีวิทยา
  • ผู้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมบุคคลธรรมดา
  • ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญในคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
  • ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม
  • ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม
  • นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
  • นักวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
  • นักวิชาการสิ่งแวดล้อม
  • นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
  • วิศวกรสิ่งแวดล้อม
  • นักวิทยาศาสตร์
  • วิศวกรโยธา
  • นักวิเคราะห์นโยบายและแผน
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังเมือง
  • ผู้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน
  • ผู้ประกอบการด้านการติดตั้งและดูแลรักษาแผงโซล่าเซลล์
  • ผู้ประกอบการด้านการผลิตพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน
  • ผู้ประกอบการระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ
  • นักพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบด้านสิ่งแวดล้อม
  • กรรมการวัตถุอันตราย
  • กรรมการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง
  • กรรมการด้านความปลอดภัยในการประกอบกิจการพลังงาน
  • ผู้มีผลงานทางวิชาการด้านพลังงาน เช่น การจัดทำแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง (Oil Plan)
  • ผู้บริหารหรือที่ปรึกษาของภาครัฐหรือเอกชนที่ประกอบกิจการด้านพลังงาน
  • อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยในสาขาที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน
  • ผู้ประกอบกิจการไฟฟ้า
  • ผู้ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ
  • ผู้ประกอบกิจการน้ำมัน
  • ผู้ประกอบกิจการโครงข่ายพลังงาน
  • ผู้ประกอบกิจการด้านพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกและการอนุรักษ์พลังงาน
  • วิศวกรด้านพลังงาน
  • นักวิชาการด้านพลังงาน
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพลังงาน
  • ผู้ประกอบกิจการไฟฟ้า 
  • ผู้ประกอบกิจการระบบโครงข่ายพลังงาน 
  • ผู้ประกอบกิจกรรมพลังงานหมุนเวียน
  • ผู้ประกอบกิจการระบบโครงข่ายพลังงานศูนย์ควบคุมระบบโครงข่ายพลังงาน
  • หรือตำแหน่งหรืออาชีพอื่นที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง 

กลุ่มผู้ประกอบกิจการ SMEs

(9) กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยในกฎกระทรวง กำหนดลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2562 

กำหนดลักษณะของกิจการขนาดย่อม ไว้ว่า

  • กิจการผลิตสินค้าที่มีจำนวนการจ้างงานไม่เกิน 50 คนหรือมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 100 ล้านบาท
  • กิจการให้บริการ กิจการค้าส่ง หรือกิจการค้าปลีก ที่มีจำนวนการจ้างงานไม่เกิน 30 คนหรือมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 50 ล้านบาท

กิจการขนาดกลาง คือ

  • กิจการผลิตสินค้าที่มีจำนวนการจ้างงานเกินกว่า 50 คนแต่ไม่เกิน 200 คนหรือมีรายได้ต่อปีเกินกว่า 100 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท
  • กิจการให้บริการ กิจการค้าส่ง หรือกิจการค้าปลีก ที่มีจำนวนการจ้างงานเกินกว่า 30 คนแต่ไม่เกิน 100 คนหรือมีรายได้ต่อปีเกินกว่า 50 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 300 ล้านบาท

ในประกาศ กกต. ยังยกตัวอย่างกิจการเพิ่มเติม ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มนี้ คือ กลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน หรือตำแหน่งหรืออาชีพอื่นที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง

ซึ่งในพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 กำหนดนิยามวิสาหกิจชุมชนไว้ว่า กิจการของชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการ หรือการอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกันประกอบกิจการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลในรูปแบบใดหรือไม่เป็นนิติบุคคล เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชน และระหว่างชุมชน 

นอกจากกลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ในพ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 11 (10) ยังกำหนดให้มีกลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตาม (9) อย่างไรก็ดี ในประกาศ กกต. ฉบับนี้ ไม่ได้ขยายความหรือยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่าผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตาม (9) คือกิจการประเภทใด เท่ากับว่า หากเป็นผู้ประกอบกิจการที่ขนาดใหญ่กว่ากลุ่ม SMEs ก็สามารถสมัครกลุ่ม (10) ได้

กลุ่มท่องเที่ยว

(11) กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว นอกจากหมายถึงผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม ยังรวมถึง

  • ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว
  • ผู้นำเที่ยว
  • นักพัฒนาการท่องเที่ยว
  • หรือตำแหน่งหรืออาชีพอื่นที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง

กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม

(12) กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ในประกาศ กกต. ยังยกตัวอย่างเพิ่มว่ารวมถึง กลุ่มผู้ประกอบการตามกฎหมายว่าด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือตำแหน่งหรืออาชีพอื่นที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง 

กลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี

(13) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารการพัฒนานวัตกรรม เช่น

  • กลุ่มผู้ประกอบอาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
  • กลุ่มอาชีพการพัฒนาและการออกแบบซอฟต์แวร์
  • กลุ่มอาชีพการวิเคราะห์และการออกแบบระบบ
  • กลุ่มอาชีพการทดสอบและการควบคุมคุณภาพ
  • กลุ่มอาชีพการออกแบบและสถาปัตยกรรม
  • กลุ่มอาชีพการพัฒนาและการบำรุงรักษาเทคนิค
  • กลุ่มอาชีพการจัดการและการปรึกษา
  • กลุ่มอาชีพ Hardware
  • กลุ่มอาชีพความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
  • กลุ่มอาชีพการจัดการและการปรึกษา (ด้านความมั่นคงทางไซเบอร์)
  • กลุ่มอาชีพการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
  • กลุ่มอาชีพการสื่อสารโทรคมนาคม 
  • กลุ่มอาชีพวิศวกรรมโทรคมนาคมและการบริหารคุณภาพ (Telecommunication Engineering and Quality Management)
  • กลุ่มอาชีพปฏิบัติการโทรคมนาคมและการสนับสนุนการปฏิบัติการ (Telecommunication Operation and Support)
  • กลุ่มอาชีพสาธารณูปโภคด้านโทรคมนาคมและสถาปัตยกรรม (Telecommunication Utilities / Facilities)
  • กลุ่มอาชีพนักพัฒนาแอนิเมชัน
  • กลุ่มอาชีพการบริหารโครงการสารสนเทศ 
  • กลุ่มอาชีพธุรกิจดิจิตัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
  • กลุ่มอาชีพนักพัฒนาเกม
  • กลุ่มอาชีพวิศวกรรมข้อมูล
  • กลุ่มอาชีพวิทยาศาสตร์และการจัดการสิ่งแวดล้อม
  • หรือตำแหน่งหรืออาชีพอื่นที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง

กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี กีฬา

(16) กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา  ในประกาศ กกต. ยังยกตัวอย่างอาชีพที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มนี้ เช่น

  • นักพัฒนาการกีฬา
  • ภัณฑารักษ์
  • นักภาษาโบราณ
  • นักวรรณศิลป์
  • นักวิชาการวัฒนธรรม
  • นักอักษรศาสตร์
  • ผู้ประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวีดิทัศน์
  • หรือตำแหน่งหรืออาชีพอื่นที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง

กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์

(17) กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ เช่น 

  • มูลนิธิหรือสมาคม ที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือตามกฎหมายอื่นโดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดสวัสดิการสังคม
  • องค์กรตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม
  • หรือตำแหน่งหรืออาชีพอื่นที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง

กลุ่มสื่อสารมวลชน นักเขียน

(18) กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม ประกาศ กกต. ยกตัวอย่างอาชีพที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มนี้ เช่น

  • นักการข่าว
  • นักวิชาการเผยแพร่
  • นักวิชาการโสตทัศนศึกษา
  • นักสื่อสารมวลชน
  • ผู้ประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์
  • ผู้ประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วยกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
  • หรือตำแหน่งหรืออาชีพอื่นที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง 

กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ

(19) กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ประกาศ กกต. ยกตัวอย่างอาชีพที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มนี้ ได้แจกแจงออกเป็นสามกลุ่ม คือ

  • (1) กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ คือ ผู้ประกอบอาชีพอิสระซึ่งไม่มีนายจ้าง และเป็นอาชีพที่ต้องมีความชำนาญเฉพาะด้านและต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งถูกกำหนดไว้ในกฎหมาย เช่น วิชาชีพกายภาพบำบัด วิชาชีพการแพทย์แผนไทย วิชาชีพการสัตวแพทย์ วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน วิชาชีพทันตกรรม วิชาชีพบัญชี วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ตัวแทนประกันชีวิต หรือตำแหน่งหรืออาชีพอื่น ที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง 
  • (2) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ คือ ผู้ประกอบอาชีพซึ่งไม่มีนายจ้าง เช่น 

(ก) ผู้ประกอบอาชีพค้าขาย

(ข) ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างหรือให้บริการ

(ค) ผู้รับงานไปทำที่บ้าน

(ง) ผู้ผลิตเนื้อหาเรื่องใดที่ไม่ใช่โฆษณา เพื่อเผยแพร่ผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (YouTuber/Content Creator/Influencer)

(จ) ตำแหน่งหรืออาชีพอื่นที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง

  • (3) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ เช่น
    • (ก) ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างหรือให้บริการตามข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการที่ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลกำหนด เช่น กลุ่มคนทำงานแพลตฟอร์ม (Platform Worker) ที่ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการประกอบอาชีพ ผู้รับจ้างหรือให้บริการขนส่งคนโดยสารสิ่งของหรืออาหาร (Rider) ผู้รับจ้างทำความสะอาดหรือบริการอื่น ๆ หรือตำแหน่งหรืออาชีพอื่น ที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง
    • (ข) ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างหรือให้บริการตามข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการที่ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลกำหนด

สำหรับกลุ่มอื่นๆ ตาม พ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 11 (20) ในประกาศ กกต. ฉบับนี้ ไม่ได้ขยายความไว้

กรณีที่เป็นกลุ่มอัตลักษณ์ ได้แก่ กลุ่มสตรี ตามมาตรา 11 (14) และกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ตามมาตรา 11 (15) ไม่จำเป็นต้องมีผู้รับรอง แต่หากเป็นกลุ่มอาชีพ-วิชาชีพ จะต้องมีผู้รับรองประสบการณ์ในกลุ่มอาชีพนั้นๆ ด้วย

เมื่อดูในประกาศ กกต. จะเห็นว่ามีมีข้อความต่อท้ายว่า “หรือตำแหน่งหรืออาชีพอื่นที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง” เป็นการเปิดให้ผู้สมัคร สว. ใช้ดุลยพินิจพิจารณาเองว่า อาชีพหรือประสบการณ์ของตัวเองสามารถ สมัคร สว. กลุ่มนี้ได้หรือไม่ เพราะในประกาศ กกต. ฉบับนี้ เพียงแค่ยกตัวอย่างอาชีพหรือตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มต่างๆ เท่านั้น หากผู้สมัครพิจารณาแล้วว่าตนมีประสบการณ์เกี่ยวกับกลุ่มนั้นๆ มาเกิน 10 ปี และมีผู้รับรอง ก็สามารถสมัครได้

อ่านวิธีการยืนยันและการรับรองกลุ่มอาชีพต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/27999

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป