วันที่ 11 พฤษภาคม 2567 สว.ชุดพิเศษที่ได้รับการแต่งตั้งและคัดเลือกจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะหมดวาระลงแล้ว หลังจากนั้นก็จะมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ ที่มีที่มาจากการ “เลือกกันเอง” ในกลุ่ม 20 กลุ่มอาชีพ-อัตลักษณ์ เฉพาะผู้ที่ สมัคร สว. เท่านั้น ที่จะมีสิทธิ “เลือก” ผู้สมัครคนอื่นๆ ได้
ผู้มีสิทธิ์สมัครจะต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) หากสนใจสมัคร สว. ไม่ว่าจะเพราะสมัครเพื่ออยากมีส่วนร่วมในกระบวนการหรือสมัครเพื่อไปเป็น สว. สำหรับหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าเราสามารถสมัคร สว.ในกลุ่มที่ต้องการได้หรือไม่ ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ) กำหนดว่า การพิสูจน์ว่าผู้สมัครอยู่กลุ่มอาชีพใด ใช้หลักฐานตามเอกสารสว. 4 คือการมี “ผู้รับรอง”
ยกตัวอย่างเช่น การยืนยันว่าตนเองทำกลุ่มอาชีพนั้นจริง ขั้นตอนตามระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ในส่วนของเอกสารการรับสมัครเลือก ข้อ 50 เขียนชัดเจนว่า ก่อนการสมัครรับเลือกให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือก โดยการเตรียมเอกสารการสมัครรับเลือกและมอบให้ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือก ดังต่อไปนี้
(1) แบบใบสมัคร (สว. 2)
(2) แบบข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร (สว. 3)
(3) แบบหนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ หรือทำงานในกลุ่มที่สมัคร (สว. 4)
ดังนั้น ผู้ที่ประสงค์จะสมัครสว. เมื่อไปที่สถานที่รับสมัครเลือก ท่านจะได้รับเอกสารมาสามฉบับ หากต้องการสมัครในกลุ่มอาชีพ-อัตลักษณ์ใด สามารถกรอกประวัติการทำงานโดยเขียนได้ไม่เกินห้าบรรทัดตามเอกสาร สว. 3 และที่สำคัญถ้าหากสมัครในกลุ่มอาชีพ “ต้องมีผู้รับรอง” แต่หากเป็นกลุ่มอัตลักษณ์ (สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มอัตลักษณ์อื่น) ไม่ต้องใช้เอกสาร สว.4 ทำให้ไม่ต้องมีผู้รับรอง
และตามอนุมาตรา 11 วรรคสอง ระบุว่า แบบหนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในกลุ่มที่สมัคร (สว. 4) ต้องมีผู้รับรองหนึ่งคนและพยานอย่างน้อยหนึ่งคน ลงลายมือชื่อยืนยันว่าผู้สมัครมีคุณลักษณะเช่นนั้นจริงและต้องมีสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับรองและพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องมาด้วย
ผู้ที่รับรองและพยานไม่จำเป็นต้องเป็นนายจ้างหรือสมาคมวิชาชีพหรือผู้ประกอบอาชีพในกลุ่มนั้นๆเป็นเพียงประชาชนคนธรรมดาใครก็ได้ที่ทราบข้อเท็จจริงและสามารถรับรองได้ว่าผู้สมัครเคยทำงานมีประสบการณ์ในกลุ่มอาชีพนั้นครบ 10 ปีจริงๆ
กรณีตรวจสอบแล้วปรากฏว่าผู้สมัครผู้ใดขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามหรือถูกจำกัดสิทธิหรือสมัครมากกว่าหนึ่งกลุ่มหรือหนึ่งอำเภอ หรือแสดงข้อมูลในใบสมัครหรือเอกสารหรือหลักฐานประกอบการสมัครอันเป็นเท็จ ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอมีอำนาจสั่งไม่รับสมัครและกฎหมายกำหนดให้แจ้งการไม่รับสมัครให้ผู้สมัครทราบโดยเร็ว (ตามแบบ สว.อ. 15)
แม้การยื่นเอกสารพิสูจน์ “ประสบการณ์ในกลุ่มอาชีพ” จะใช้เพียงการรับรองและพยานจากบุคคลอื่น แต่ผู้รับรองและพยานต้องพึงระวัง หาก กกต. ตรวจสอบแล้วเป็นเท็จมีโทษสูงถึงจำคุก ตามที่ พ.ร.ป. สว. มาตรา 35 กำหนดว่าผู้ใดรับรองหรือเป็นพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองเอกสารหรือหลักฐานที่ใช้ประกอบการสมัครเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนด 5 ปี
ตัวอย่าง แบบใบสมัคร (สว. 2)
ตัวอย่าง แบบใบสมัคร (สว. 3)
ตัวอย่าง แบบใบสมัคร (สว. 4)