ชวนดูวิธีนับคะแนนและทักท้วงผล การเลือก สว. 67

ช่วงเดือน มิถุนายน 2567 จะเริ่มมีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่แล้ว ในการ สว. ชุดนี้จะมีการจับตาการนับคะแนนและการทักท้วงที่แตกต่างกันออกไป จากการเลือกตั้ง สส. เพราะที่มาของ สว.ชุดนี้ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ดังนั้นประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นผู้สมัคร สว. จะไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการการนับคะแนนและทักท้วงผลโดยตรง

ในการเลือกตั้ง สว. ชุดนี้ จะใช้ระบบ“เลือกกันเอง” ในบรรดาผู้สมัคร การเลือกแบ่งเป็นระดับอำเภอ-จังหวัด-ประเทศ และในทุกๆ ระดับ คนที่จะสังเกตการนับคะแนนและทักท้วงผลการนับคะแนนได้ จะมีเพียงแค่ “ผู้สมัคร” เท่านั้น 

สำหรับการการนับคะแนนและทักท้วงผล ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) และ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ) กำหนดวิธีการนับคะแนนและการทักท้วงผลไว้แล้ว ผู้สมัครทุกคนถือเป็นตัวแทนของประชาชนคนไทยในการสังเกตการณ์ว่าการเลือกตั้ง สว. 2567 ในครั้งนี้จะบริสุทธิ์และเที่ยงธรรมหรือไม่ การนับคะแนนและทักท้วงผลจะเป็นอย่างไร ชวนดู ดังต่อไปนี้

การนับคะแนนเหมือนกันในทุกระดับ

ตาม พ.ร.ป. สว. มาตรา 28 29 และ 30 กำหนดให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ มีหน้าที่และอำนาจในการควบคุมการเลือก การนับคะแนน และการรายงานผลการนับคะแนนให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยการนับคะแนนในการเลือกทุกระดับจะต้องนับคะแนนเป็นการเปิดเผยและอาจใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ในการนับคะแนนได้ ถ้าการนับคะแนนนั้นเป็นไปโดยเปิดเผย (มาตรา 43)

เมื่อถึงเวลาเปิดการลงคะแนน เจ้าหน้าที่ กกต. จะนำหีบบัตรลงคะแนนให้แสดงให้ผู้มีสิทธิเลือกดู และเมื่อเห็นว่าเป็นหีบเปล่าจะปิดหีบบีตรลงคะแนนและเริ่มขั้นลงคะแนนเป็นการต่อไป (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ข้อ 88) และเมื่อดำเนินการเลือกเสร็จสิ้นแล้วให้ดำเนินการนับคะแนน ณ สถานที่เลือกโดยเปิดเผยให้เสร็จจะเลื่อนหรือประวิงเวลาไม่ได้ (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ข้อ 102)

โดยเจ้าหน้าที่ กกต. ประจำสถานที่เลือกจะมีการแบ่งหน้าที่ในการนับคะแนนดังนี้ (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 103)

  1. กกต. คนที่หนึ่ง มีหน้าที่หยิบบัตรลงคะแนนครั้งละฉบับ คลี่บัตร และวินิจฉัยบัตรลงคะแนนและอ่าน ส่งให้กรรมการประจำสถานที่เลือกคนที่สาม
  2. กกต. คนที่สาม มีหน้าที่เจาะบัตรลงคะแนนที่ได้วินิจฉัยจาก กกต.คนที่ 1 และแยกเก็บใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ 
  3. กกต. คนที่สอง มีหน้าที่ขานทวนคะแนนและขีดคะแนนในแบบขีดคะแนนตามแบบ สว.อ. 27 โดยให้ผู้ที่อยู่บริเวณสถานที่เลือกเห็นว่าการขีดคะแนนได้อย่างชัดเจน

โดยกกต. ประจำสถานที่เลือกทั้งหมดจะมีวิธีการในการนับคะแนนดังนี้ 

  • ถ้าเป็นบัตรดี ให้อ่านว่า “ดี” และอ่านหมายเลขของผู้สมัครที่ได้คะแนนว่า “หมายเลข .. และ …” พร้อมทั้งชูบัตรลงคะแนนโดยเปิดเผยให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณสถานที่เลือกได้เห็น
  • ถ้าเป็นบัตรดีบางส่วน ตามข้อ 104 ให้อ่านว่า “ดีบางส่วน” และอ่านหมายเลขของผู้สมัครที่ได้คะแนนว่า “หมายเลข ..” พร้อมทั้งชูบัตรลงคะแนนโดยเปิดเผยให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณสถานที่เลือกได้เห็น
  • ถ้าเป็นบัตรเสีย ซึ่งคือบัตรลงคะแนนที่มีลักษณะตามข้อ 105 ให้อ่านว่า “เสีย” พร้อมทั้งชูบัตรลงคะแนนโดยเปิดเผยให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณสถานที่เลือกได้เห็น ในการวินิจฉัยว่าบัตรไหนเป็นบัตรเสีย ให้วินิจฉัยโดย กกต.ประจำสถานที่เลือกที่ทำการนับคะแนนเสียงข้างมาก และให้กรรมการประจำสถานที่เลือกที่ทำการนับคะแนนอย่างน้อยสองคนสลักหลังบัตรลงคะแนนว่า “เสีย” พร้อมทั้งระบุเหตุผลว่าเสียเพราะเหตุใด

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดให้บัตรที่มีลักษณะในช่องเขียนหมายเลขช่องหนึ่งช่องใด จะไม่ถูกนับคะแนนสำหรับช่องหมายเลขนั้น (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 104) กล่าวคือ บัตรใดที่มีลักษณะ “ดีบางส่วน” จะไม่ให้นับคะแนนสำหรับช่องที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้ (แต่อาจนับคะแนนในช่องที่ถูกต้อง)

  • บัตรที่เขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครที่ไม่มีสิทธิได้รับเลือก
  • บัตรที่ไม่ได้เขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครเป็นเลขอารบิก
  • บัตรที่เขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครใน “ช่องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร” เกินกว่าหนึ่งหมายเลขผู้สมัครในช่องเดียวกัน
  • บัตรที่ไม่ได้เขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครใน “ช่องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร” และให้นับคะแนนใน “ช่องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร” ที่สามารถนับคะแนนได้

บัตรที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นบัตรเสียทั้งฉบับและไม่ให้นับเป็นคะแนน (ข้อ 105) 

  • บัตรปลอม
  • บัตรที่ไม่ใช่บัตรซึ่งคณะกรรมการประจำสถานที่เลือกมอบให้
  • บัตรที่มีการทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตหรือเขียนข้อความใดๆ ลงในบัตรลงคะแนนนอกจากหมายเลขผู้สมัคร เว้นแต่เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการเลือก
  • บัตรที่ไม่ได้ทำเครื่องหมายลงคะแนน
  • บัตรที่ไม่อาจทราบได้ว่าลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด
  • บัตรที่ลงคะแนนให้แก่ผู้ที่ไม่มีสิทธิได้รับเลือก
  • บัตรที่เขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครเกินจำนวนที่กำหนด
  • บัตรที่ลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนน
  • บัตรที่มีลักษณะดีบางส่วน ตามข้อ 104 ซึ่งลงคะแนนเลือกผู้สมัครเพียงคนเดียว กล่าวคือ ในกรณีที่บัตรนั้นมีการลงคะแนนให้ผู้สมัครเพียงคนเดียว และอาจลงคะแนนโดยมีลักษณะตามข้อ 104 เช่น เขียนเลขไทย, เขียนเลขประจำตัวผู้สมัครที่ไม่มีสิทธิได้รับเลือก หรือ เขียนเลขประจำตัวผู้สมัครมากกว่าหนึ่งหมายเลขในช่องเดียว หากว่ามีลักษณะดังที่กล่าวมาจะถูกนับเป็นบัตรเสีย

ทั้งนี้ในการเลือกในกลุ่มเดียวกัน และภายในการเลือกกลุ่มอื่นในสายเดียวกันระเบียบ กกต. การเลือกสว. ข้อ 126 กำหนดให้ใช้วิธีนับคะแนนที่เหมือนกัน เว้นแต่ว่าจะเกิดกรณีที่ในขั้นตอนการเลือกกลุ่มอื่นในสายเดียวกันบัตรลงคะแนนผิดกลุ่มปะปนมาในหีบบัตรลงคะแนน กกต.ประจำสถานที่เลือกจะต้องนำบัตรลงคะแนนไปรวมกับบัตรในหีบลงคะแนนที่ถูกต้อง และต้องมีผู้มีสิทธิเลือกไม่น้อยกว่าสองคนลงลายมือชื่อในการย้ายบัตรนี้ (ข้อ 127)

ในกรณีที่เกิดเหตุจราจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นใดที่ทำให้ไม่สามารถนับคะแนนได้ (ระเบียบ กกต. การเลือกสว.ข้อ 117) หรือนับคะแนนไปแล้วบางส่วนแต่เกิดเหตุสุดวิสัยในขณะที่ยังไม่เสร็จสิ้นการนับคะแนน (ข้อ 118) ให้ทำการประกาศงดการนับคะแนน และทำการนับคะแนนใหม่ภายในสามวัน (ข้อ 119)

เมื่อเสร็จสิ้นการนับคะแนนแล้ว ให้ กกต.ประจำสถานที่เลือกของกลุ่มนั้นตรวจสอบความถูกต้องของการนับคะแนน โดยให้นับจำนวนบัตรว่าตรงกับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกที่มาแสดงตนหรือไม่ หากถูกต้องให้นำบัตรลงคะแนนเก็บในภาชนะและแยกประเภทตามบัตรดีบัตรเสีย แต่หากว่าบัตรลงคะแนนไม่ตรงกับจำนวนผู้สิทธิเลือกที่มาแสดงตนให้บันทึกและแจ้งต่อผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ-จังหวัด โดยเร็ว (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ข้อ 108) และหากว่ามีความจำเป็นที่จะต้องนับคะแนนใหม่ ให้ กกต.พิจารณาสั่งให้นับคะแนนใหม่ภายในสองวันนับตั้งแต่ที่ได้รับรายงาน (ข้อ 155) โดยการนับคะแนนใหม่ให้เสร็จสิ้นก่อนการเลือกในระดับจังหวัดไม่น้อยกว่าสามวัน หรือก่อนวันเลือกในระดับประเทศไม่น้อยกว่าห้าวัน หรือภายในห้าวัน นับแต่การเลือกระดับประเทศ

หรือหากมีความจำเป็นต้องเลือกใหม่ กกต.จะต้องพิจารณาสั่งให้เลือกใหม่ภายในสองวันนับตั้งแต่ที่ได้รับรายงาน (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ข้อ 159) และให้เจ้าหน้าที่ กกต. ในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ปฏิบัติต่อไปในการเลือกใหม่ เว้นแต่กรณีที่เห็นสมควรเปลี่ยนแปลงเพื่อความเป็นกลางทางการเมือง ความซื่อสัตย์สุจริต ความเหมาะสม และความจำเป็น และให้ใช้ประกาศกำหนดสถานที่เลือกที่ได้ประกาศไว้ในคราวที่มีการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นสถานที่เลือกใหม่ หรือผู้อำนวยการการเลือกจะประกาศกำหนดสถานที่เลือกใหม่ได้ตามความเหมาะสม (ข้อ 160) ทั้งนี้การเลือกใหม่ให้ดำเนินการเสร็จสิ้นก่อนการเลือกในระดับจังหวัดไม่น้อยกว่า 3 วัน หรือก่อนมาเลือกระดับประเทศไม่น้อยกว่า 5 วัน (ข้อ 161)

หากผิดสังเกตหรือพบเห็นพิรุธทักท้วงได้ 

ในหว่างการนับคะแนน ถ้าผู้มีสิทธิเลือกของกลุ่มใดเห็นว่าการนับคะแนนของกลุ่มนั้นไม่ถูกต้อง ให้ทำการทักท้วงและให้ กกต. ประจำสถานที่เลือกบันทึกคำทักท้วง (ข้อ 107) โดยผู้มีสิทธิเลือกและกกต.ประจำสถานที่เลือกอย่างน้อยสองคนต้องลงลายมือชื่อหลักฐานต่อหน้าพยานไม่น้อยกว่าสองคน พร้อมทั้งบันทึกคำสั่งหรือคำวินิจฉัยลงในรายงานเหตุการณ์ประจำสถานที่เลือก ให้รายงานผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอ-จังหวัด ทราบโดยเร็ว

ทั้งนี้ ก่อนประกาศผลการเลือก หากมีเหตุอันสงสัยว่าการเลือกเป็นไปโดยไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม กกต.มีอำนาจในการสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือกและสั่งให้มีการเลือกใหม่ หรือนับคะแนนใหม่ได้ (พ.ร.ป. สว. มาตรา 59) ในกรณีที่ผู้สมัครเห็นว่า เจ้าหน้าที่ กกต.ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้สมัครสามารถยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลฎีกาภายในสามวันนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ กกต. ออกคำสั่ง (พ.ร.ป. สว. มาตรา 44)

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดโทษสำหรับเจ้าหน้าที่ กกต. ที่จงใจนับบัตรลงคะแนนหรือนับคะแนนให้ผิดไปจากความจริงหรือรวมคะแนนให้ผิดไป หรือกระทำด้วยการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้บัตรลงคะแนนชำรุดหรือเสียหายหรือทำให้เป็นบัตรเสีย หรือทำให้บัตรเสียเป็นบัตรที่ใช้ได้ หรืออ่านบัตรลงคะแนนให้ผิดไปจากจริง หรือทำรายงานการเลือกไม่ตรงความเป็นจริง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี (พ.ร.ป. สว. มาตรา 84)

คัดค้านผลทำอย่างไร?

ในกรณีที่ผู้สมัคร ไม่ว่าจะระดับอำเภอ จังหวัด หรือประเทศ เห็นว่าการเลือก สว. ในรอบของตนไม่ได้เป็นไปโดยสุจริต ไม่เที่ยงธรรม และไม่เป็นไปตามกฎหมาย สามารถยื่นคำร้องขอคัดค้าน ต่อ กกต. ภายในสามวันนับตั้งแต่วันที่้มีการเลือกในระดับนั้นๆ หาก กกต. เห็นว่าการเลือกนั้นเป็นไปโดยสุจริตแล้วให้ยกคำร้องไป แต่หากเห็นว่าการเลือกนั้นเป็นไปตามที่ผู้สมัครได้ยื่นคำร้อง กกต. ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ในการระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือกและให้เลือกใหม่ หรือนับคะแนนใหม่ ต้องดำเนินการต่อไป และคำวินิจฉัยของ กกต. ถือเป็นที่สุด (พ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 64)