อยากสมัคร สว. 67 ต้องเตรียมเอกสาร-หลักฐานอะไรบ้าง

สำหรับการสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่จะเริ่มต้นขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 แล้วนั้น ผู้สมัครจะต้องเตรียมเอกสารอะไรไปใช้ในการสมัครบ้าง เช็กกันได้เลย 

หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศวันรับสมัคร สว. ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 และในระยะเวลาที่รับสมัคร ผู้ประสงค์สมัคร สว. จะต้องไปรับเอกสารใบสมัครที่ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขต แล้วแต่กรณี โดยผู้สมัครจะได้รับเอกสารในวันที่ไปรับใบสมัครทั้งสิ้นสามรายการได้แก่ 1.แบบใบสมัคร (สว. 2) 2. แบบข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร (สว. 3) 3. แบบหนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในกลุ่มที่สมัคร (สว. 4) เมื่อได้รับเอกสารมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการยื่นใบสมัคร ในระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ) ข้อ 51 กำหนดให้ ผู้สมัครจะต้องยื่นเอกสารและหลักฐานประกอบการการสมัครด้วยตนเองต่อผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอกำหนด และต้องไม่เกินกรอบระยะเวลารับสมัคร 

โดยเอกสารที่จะต้องนำไปยื่นในวันที่สมัครไม่ได้มีเพียงแค่เอกสาร 3 รายการที่ได้รับ ผู้สมัครจะต้องยื่นเอกสารหลักฐานประกอบเพิ่มเติมด้วย เอกสารทั้งหมดที่จะต้องยื่นในวันที่ไปสมัคร มีดังนี้ 

1. แบบใบสมัคร (สว. 2)

2. แบบข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร (สว. 3)

3. แบบหนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในกลุ่มที่สมัคร (สว. 4) ยกเว้นสองกลุ่มที่ไม่ต้องใช้เอกสารนี้ ได้แก่ (1) กลุ่มสตรี (2) กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น ๆ 

เอกสารดังกล่าว ต้องมีผู้รับรองและพยานอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อยืนยันว่าผู้สมัครมีคุณลักษณะเช่นนั้นจริงและต้องมีสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับรองและพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องมาด้วย

ทั้งนี้สำหรับหนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในกลุ่มที่สมัคร (สว.4) ไม่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้รับรองและพยาน ผู้รับรองและพยานจะเป็นใครก็ได้ที่สามารถรับรองได้ว่าผู้สมัครมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในกลุ่มที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี

อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) มาตรา 75 กำหนดว่า ผู้ใดรับรองหรือเป็นพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองเอกสารหรือหลักฐานใช้ประกอบการสมัครอันเป็นเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งห้าปี

4. สำเนาบัตรประชาชน

5. สำเนาทะเบียนบ้าน

6. ใบรับรองแพทย์

สำหรับรูปแบบของใบรับรองแพทย์ ผู้สมัครสามารถเลือกใช้ใบรับรองแพทย์ของสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานพยาบาลเอกชนได้ โดยจะต้องออกโดยแพทย์ผู้ได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ได้รับใบอนุญาตจากแพทย์สภาเท่านั้น

7. รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวกและไม่สวมแว่นตาดำ ขนาดกว้างประมาณ 8.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 13.5 เซนติเมตร จำนวนคนละสองรูป  สำหรับปิดแบบข้อมูล สว. 3

8. หลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับอำเภอที่ผู้สมัครเลือกสมัคร ได้แก่

  • หลักฐานที่แสดงว่าผู้สมัครเกิดในอำเภอที่สมัคร เช่น สูติบัตร
  • หลักฐานที่แสดงว่ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครไม่น้อยกว่าสองปี เช่น ทะเบียนบ้านที่เคยมีชื่ออยู่
  • หลักฐานที่แสดงว่าทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี เช่น หลักฐานการรับราชการของหน่วยงานต้นสังกัด หรือหนังสือรับรองการทำงานจากบริษัทที่ผู้สมัครรับเลือกเคยทำงานเป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือก หากผู้สมัครประกอบอาชีพอิสระ เช่น ค้าขาย สามารถใช้หลักฐานการเสียภาษีให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในเขตอำเภอที่สมัครรับเลือกได้
  • หลักฐานที่แสดงว่าเคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี เช่น ทะเบียนบ้านที่เคยมีชื่ออยู่
  • หลักฐานที่แสดงว่าเคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษา เช่น วุฒิการศึกษา

9. หลักฐานอื่นๆ เช่น

  • เอกสารแสดงการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามี)
  • หลักฐานการลาออกกรณีเป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

ข้าราชการลาออกชั่วคราว เพื่อลงสมัคร สว. 67 อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/22161

10. เงินค่าธรรมเนียมการสมัคร คนละ 2,500 บาท โดยการชำระเงินค่าสมัคร ผู้สมัครสามารถชำระเป็นเงินสด หรือตั๋วแลกเงินหรือแคชเชียร์เช็ค แล้วแต่กรณี 

11. สำเนาหลักฐานอื่นที่ผู้สมัครนำมาแสดงตนว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือก และไม่เป็นผู้ถูกจำกัดสิทธิตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง

ดูคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร สว. 67 ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/senate67

สำหรับเอกสารในข้อที่ 11 ผู้สมัครจำเป็นต้องตรวจสอบสถานะของตนเองว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพ.ร.ป.สว. ฯ  และไม่เป็นผู้ถูกจำกัดสิทธิตามกฎหมายเลือกตั้ง สส. และกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น เนื่องจากไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

หากผู้สมัครมีเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมว่าตนไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่น ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองก่อนวันรับสมัครแล้ว หรือการไม่ได้มีหุ้นหรือเป็นเจ้าของสื่อในครอบครอง  ให้นำเอกสารเหล่านั้นไปยื่นประกอบการสมัครด้วย 

โดยสามารถตรวจสอบสถานะการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ที่ https://party.ect.go.th/checkidparty

ตรวจสอบว่าถูกจำกัดสิทธิสมัคร สว. ไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้ไปเลือกตั้ง สส. หรือเลือกตั้งท้องถิ่นในรอบสองปี (ตั้งแต่พฤษภาคม 2565 ลงมา) และไม่ได้แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ได้ที่ https://boraservices.bora.dopa.go.th/election/absvote/

สำหรับเอกสารในข้อที่ 4 5 8 9 และ 11 ผู้สมัครต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องและเป็นจริงของเอกสารและหลักฐานทุกฉบับและทุกหน้าด้วย หากผู้สมัครลงลายมือชื่อไม่ได้ให้พิมพ์ลายนิ้วมือแทน หากไม่มีนิ้วมืออยู่เลยให้ได้รับการยกเว้น 

หากผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอได้รับใบสมัครของผู้สมัครแล้วเห็นว่าไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้อง ก็จะคืนใบสมัคร ค่าธรรมเนียมการสมัคร พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานการสมัครให้แก่ผู้สมัคร เพื่อให้ผู้สมัครดำเนินการให้ข้อมูลหรือเอกสารครบถ้วน แล้วนำมายื่นใหม่ภายในระยะเวลาการรับสมัคร  หากว่าครบถ้วนผู้อำนวยการการเลือกตั้งจะออกใบรับใบสมัคร (สว.อ. 10) แก่ผู้สมัคร และทำหนังสือแจ้งให้ผู้สมัครมารับแบบฟอร์มข้อมูลแนะนำตัวผู้สมัคร (สว.อ. 11)