จะสมัคร สว. ที่ไหน ตัดสินใจอย่างไรดี?

ระบบการเลือกกันเองเพื่อสรรหาสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ทางเลือกในการลงสมัครหลากหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกอำเภอที่จะลงสมัครหรือกลุ่มอาชีพ โดยผู้สมัครหนึ่งคนอาจจะมีทางเลือกมากกว่าหนึ่ง หรือสำหรับหลายคนอาจจะมีมากถึงหลักสิบทางเลือก

คำถามที่ผู้สนใจจะสมัคร สว. มีร่วมกันคือ “ฉันจะสมัครที่ไหนและกลุ่มอาชีพอะไรดี” แม้ว่าแต่ละคนอาจจะมีภูมิหลังต่างกันทำให้มีจำนวนทางเลือกต่างกัน แต่ในกระบวนการตัดสินใจก็สามารถยึดหลักสามประการนี้ได้

หาข้อมูลก่อนว่าตนเองสมัครได้ที่ไหนบ้าง

ก่อนจะถึงคำถามว่าสมัครที่ไหนดี ผู้ที่สนใจสมัครก็ต้องรู้ก่อนว่าตนเองมีกี่ทางเลือกและสมัครได้ที่ไหนบ้าง ช่องทางการตรวจสอบที่ง่ายที่สุดคือเข้าไปที่เว็บไซต์ https://senate67.com/checklist/ โดยหลังจากที่ตรวจคุณสมบัติเรียบร้อยแล้ว ระบบจะให้ใส่ข้อมูลสถานที่และกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับผู้สมัครเพื่อแสดงผลว่าผู้สมัครสามารถสมัครได้ที่อำเภอใดและกลุ่มอาชีพใดบ้าง

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) ระบุไว้ว่าผู้ที่สนใจสามารถสมัครได้ที่

  • อำเภอที่เกิด
  • อำเภอที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันที่สมัคร
  • อำเภอที่ทำงานอยู่เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันสมัคร
  • อำเภอที่เคยทำงาน เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี
  • อำเภอที่เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี
  • อำเภอที่สถานศึกษาที่เคยศึกษามาแล้วติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษาตั้งอยู่

ส่วนกลุ่มอาชีพนั้น ผู้สมัครทุกคนจะมีตัวเลือกลงสมัครใน “กลุ่มอื่น ๆ” โดยอัตโนมัติ และมีทางเลือกลงสมัครเพิ่มตามที่ตนมีประสบการณ์ เช่น หากเป็นข้าราชการครู ก็จะมีทางเลือกลงสมัครกลุ่มข้าราชการและกลุ่มการศึกษาเพิ่มด้วย

เมื่อทราบแล้วว่าตนเองมีทางเลือกลงสมัครอย่างไรบ้าง ขอให้จดหรือท่องไว้ให้ขึ้นใจ และใช้หลักดังต่อนี้ในการตัดสินใจว่าจะลงสมัครที่ใด

1. ลงสมัครในอำเภอหรือกลุ่มอาชีพที่การแข่งขันน้อย

สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาคือ ในบรรดาทางเลือกอำเภอและกลุ่มอาชีพที่ตนมีทั้งหมด ทางเลือกใดที่สามารถคาดเดาได้ว่าจะมีผู้สมัครน้อยที่สุด ในจังหวัดขนาดใหญ่และมีหลายอำเภอ เช่น กรุงเทพมหานคร ย่อมพอจะคาดเดาได้ว่ามีผู้สมัครจำนวนมากในทุกกลุ่มอาชีพ ซึ่งหมายความว่าจะมีคู่แข่งมากขึ้นตามไปด้วย หากต้องโอกาสผ่านเข้ารอบสูงสุดหรือให้เสียงของตนมีน้ำหนักมากที่สุด การลงสมัครในอำเภอหรือกลุ่มอาชีพที่คนสมัครน้อยน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ความยากง่ายหรือการแข่งขันของแต่ละจังหวัดดูได้เบื้องต้นจาก “จำนวนอำเภอ” ที่แต่ละจังหวัดมี ยกตัวอย่างเช่น กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีมากถึง 50 เขต หมายความว่า ผู้ที่ผ่านเข้ารอบในกลุ่มอาชีพหนึ่งจำนวนสามคนทุกเขตรวมกัน 150 คน จะต้องมาเลือกกันเองและเลือกไขว้ในระดับจังหวัดให้เหลือสองคนที่ผ่านเข้ารอบไปในระดับประเทศ กล่าวอย่างง่ายก็คือในระดับจังหวัดของกรุงเทพมหานคร หนึ่งกลุ่มอาชีพจะเลือกสองคนจาก 150 คน

ในทางกลับกัน สมุทรสาครเป็นจังหวัดที่มีเพียงสามอำเภอ ดังนั้น จะมีผู้ผ่านเข้ารอบไปในระดับจังหวัดกลุ่มอาชีพละเก้าคน จากนั้นจึงเลือกกันเองและเลือกไขว้ให้เหลือสองคนเพื่อเข้ารอบไปในระดับประเทศ จะเห็นได้ว่าสัดส่วนของผู้เข้ารอบระดับประเทศในจังหวัดที่มีอำเภอน้อยต่างกับจังหวัดที่มีอำเภอจำนวนมากอย่างมหาศาล

ทั้งนี้ ผู้สมัครอาจจะต้องคำนึงถึงบริบทของพื้นที่ด้วย เช่น บางอำเภออาจมีขนาดเล็กแต่มีประชากรเป็นเกษตรกรมาก กลุ่มชาวนาก็ไม่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ขึ้นอยู่กับทางเลือกและการชั่งน้ำหนักของผู้สมัครแต่ละคน

อีกหนึ่งประโยชน์ของการสมัครอำเภอหรือกลุ่มอาชีพที่มีผู้สมัครน้อยที่อาจคาดไม่ถึงคือ ในกรณีที่มีผู้สมัครในกลุ่มอาชีพหนึ่งในระดับอำเภอไม่ถึงห้าคนหรือมารายงานตัวไม่ถึงห้าคน ผู้สมัครจะถือว่าได้รับเลือกในรอบเลือกกันเองและผ่านเข้ารอบไปเลือกไขว้ในทันที

2. ลงสมัครในอำเภอหรือกลุ่มอาชีพที่มีเพื่อน

อย่างไรก็ดี การลงสมัครในอำเภอหรือกลุ่มอาชีพที่มีผู้สมัครน้อยก็อาจจะไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป เพราะระบบเลือกกันเองนั้นให้ความสำคัญกับ “คนมีเพื่อน” ดังนั้น แม้ว่าจะลงสมัครในอำเภอที่คาดเดาแล้วว่าจะมีคู่แข่งไม่มาก แต่หากตนไม่รู้จักใครหรือไม่มีเพื่อนผู้สมัครในอำเภอหรือกลุ่มอาชีพนั้นเลย ก็จะมีโอกาสได้รับเลือกน้อย

ดังนั้น ผู้สมัครจึงต้องพิจารณาเองว่าการไปลงสมัครในพื้นที่ที่คู่แข่งไม่มากนั้น ตนเองจะได้ประโยชน์จริงหรือไม่ หากตนมีคนรู้จักที่สมัครในอำเภอเดียวกันมาก แม้ว่าจะมีคู่แข่งเยอะ ก็อาจจะมีโอกาสได้รับเลือกมากกว่า ในทางตรงกันข้าม การสมัครในอำเภอที่มีผู้สมัครไม่มาก แต่ตนไม่รู้จักใครเลย กลับจะมีโอกาสได้รับเลือกน้อยกว่าเพราะนอกจากหนึ่งคะแนนที่ลงให้ตนเองแล้ว อาจจะคาดหวังคะแนนจากผู้สมัครคนอื่นที่ไม่รู้จักไม่ได้เลย

3. ลงสมัครในอำเภอหรือกลุ่มอาชีพที่มีผู้สมัครที่อยากโหวตให้

สำหรับผู้ที่สนใจสมัครที่อ่านมาถึงข้อที่สามแล้วแต่ยังไม่แน่ใจว่าจะลงสมัครที่ไหน ทางเลือกสุดท้ายก็คือสมัครในอำเภอหรือกลุ่มอาชีพที่มีผู้สมัครที่เราอยากไปลงคะแนนให้ ระบบเลือกกันเองเป็นระบบที่ “สมัครเพื่อโหวต” กล่าวคือ ประชาชนทั่วไปที่อยากมีส่วนร่วมลงคะแนนเลือก สว. จำเป็นต้องสมัครเป็นผู้สมัครเสียก่อน ดังนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่สมัครอยากเป็น สว. จริง ๆ แต่อาจสมัครเพื่อลงคะแนนให้กับผู้ที่มีความเห็นหรืออุดมการณ์คล้ายกันได้

ถ้าไม่แน่ใจว่าจะสมัครที่ใด ผู้สมัครก็สามารถตรวจสอบว่ามีใครบ้างที่แสดงตัวว่าจะสมัครเป็น สว. ในอำเภอและกลุ่มอาชีพที่ตนสมัครได้ สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้สมัครได้ที่ https://senate67.com/candidates/ หลังจากพบผู้สมัครที่ถูกใจแล้ว ก็อาจติดต่อไปหาผู้สมัครคนนั้นเพื่อพูดคุยเพิ่มเติม และเลือกลงสมัครในอำเภอและกลุ่มอาชีพนั้นเพื่อสนับสนุนผู้สมัครคนที่เห็นตรงกับตนเองก็ได้

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ