สมัครให้เยอะๆ และช่วยกระจายข้อมูล ประชาชนมีส่วนร่วมได้กับการเลือกสว.67

สนามการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในปี 2567 มีความท้าทายมากเพราะวิธีการที่จะใช้คัดเลือกที่ไม่เคยใช้มาก่อนที่ใดในโลก และกำลังจะทดลองจัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยอาจเรียกระบบนี้แบบสั้นๆ ได้ว่า เป็นระบบ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” ในหมู่ผู้สมัคร ซึ่งไม่ใช่การเลือกตั้งที่ประชาชนทั่วไปมีสิทธิออกเสียงและมีส่วนร่วมในการตัดสิน ระบบเช่นนี้หากประชาชนในวงกว้างไม่ได้พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยก็จะทำให้พื้นที่การคัดเลือกสว. กลายเป็นเพียงพื้นที่ของคนมีอำนาจ มีเครือข่าย มีทรัพยากร ที่ส่งคนของตัวเองเข้าไปแข่งขันกันเป็น สว. ชุดต่อไป

แม้ว่าหลังปี 2567 สว. จะไม่มีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ก็ยังมีอำนาจสำคัญ คือ การลงมติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ยังต้องอาศัยเสียงของสว. อย่างน้อยหนึ่งในสาม และการลงมติอนุมัติให้บุคลมาดำรงตำแหน่งเป็นศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการในองค์กรอิสระ ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ สว. ก็ต้องพิจารณาออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ และกฎหมายที่เป็น “กฎหมายปฏิรูป” จะได้ลงมติร่วมกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) รวมทั้งยังมีอำนาจอภิปราย ตั้งกระทู้ถาม เพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

ระบบการคัดเลือกสว. ชุดต่อไปแบบ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” มีความซับซ้อนและสับสน การออกแบบให้ผู้สมัครต้องจับสลากเพื่อแบ่งสายและเลือกไขว้ข้ามกลุ่มทำให้วางแผนคาดการณ์ใดๆ ล่วงหน้าไม่ได้ ข้อเสียของระบบนี้ คือ ทำให้ผู้ผ่านการคัดเลือกไม่ได้เป็นตัวแทนที่แท้จริงของคนกลุ่มใดเลย แต่ก็กลายเป็นข้อดี คือ สำหรับผู้ที่มีอิทธิพลเส้นสายและอิทธิพลทางการเงิน ก็ไม่ง่ายที่จะเอาเปรียบผู้สมัครคนอื่นได้ เพราะไม่อาจวางแผนล่วงหน้าได้ว่า ใครจะมีสิทธิลงคะแนนให้ใครบ้าง ระบบนี้จึงยังเปิดกว้างให้ผลลัพธ์สุดท้ายออกมาได้หลากหลาย และการมีส่วนร่วมของประชาชนมีความหมายกับผลลัพธ์ได้มาก

ทำความเข้าใจระบบการเลือกสว. โดยละเอียดได้ คลิกที่นี่

กระบวนการของ “ผู้สมัคร” ต้องสมัครเท่านั้นเพื่อจะเป็น เพื่อจะโหวต เพื่อจะจับตา

การเปิดรับสมัครผู้เข้ารับการคัดเลือกเป็น สว. คาดหมายว่าจะเริ่มขึ้นช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2567 และการคัดเลือกระดับอำเภอน่าจะเกิดขึ้นช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2567 จนกระทั่งเสร็จสิ้นและทราบผลว่าใครได้เป็น สว. ชุดต่อไปในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ คือ การสมัครเข้าร่วมการคัดเลือก และเข้าสู่กระบวนการในทุกๆ ขั้นตอน

ซึ่งการ “สมัคร” เข้าสู่การคัดเลือกสว. ในปี 2567 ไม่ใช่เพียงการสมัครเพื่อรับเลือกตั้งเหมือน สส. แต่ระบบนี้เป็นออกแบบมาสำหรับ “ผู้สมัคร” จริงๆ การสมัครสว. จึงมีความหมายได้อย่างน้อยสามประการ

1) สมัครเพื่อเป็น
ผู้ที่มีความประสงค์จะดำรงตำแหน่งเป็นสว. ในชุดต่อไประหว่างปี 2567-2572 ย่อมต้องสมัครเข้ารับการคัดเลือกครั้งนี้ เริ่มจากการเลือกในระดับอำเภอ ซึ่งผู้ที่พร้อมจะเข้าไปเป็นสว. ต้องได้รับการคัดเลือกขั้นต้นเป็นห้าอันดับแรกจากกลุ่มอาชีพที่ตัวเองสมัครก่อน และไปจับสลากแบ่งสายเพื่อเลือกไขว้กับผู้สมัครจากกลุ่มอาชีพอื่นๆ ในสายเดียวกันเพื่อให้เหลือสามอันดับแรกเข้าสู่ระดับจังหวัด ก่อนจะทำกระบวนการเลือกซ้ำอีกครั้งในระดับจังหวัด และระดับประเทศ ซึ่งต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากผู้สมัครในกลุ่มอาชีพเดียวกันทุกระดับที่อาจไม่รู้จักกันมาก่อน และยังต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากผู้สมัครในกลุ่มอาชีพอื่นๆ ที่จับสลากมาอยู่ในสายเดียวกันทั้งสามรอบด้วย 

สำหรับผู้ที่พร้อมจะสมัครเพื่อเข้าไปเป็นสว. จึงอาจต้องเร่งประกาศตัวและแนะนำตัวให้ผู้สมัครคนอื่นๆ รู้จักโดยเร็ว เพราะหากรอถึงวันที่จะลงคะแนนอาจจะแนะนำตัวให้ผู้สมัครคนอื่นรู้จักได้ไม่ทัน

2) สมัครเพื่อโหวต
ผู้ที่ไม่ได้ประสงค์จะดำรงตำแหน่งเป็นสว. เองจริงๆ แต่อยากมีส่วนร่วมและอยากมีสิทธิออกเสียงเลือกคนที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นสว. ก็จะต้องสมัครเข้ากระบวนการคัดเลือกเช่นกัน เพราะระบบนี้ออกแบบมาให้ “เลือกกันเอง” ในหมู่ผู้สมัคร จึงต้องสมัครเข้าไปเท่านั้นเพื่อจะมีสิทธิลงคะแนน เริ่มจากการลงคะแนนเลือกกันเองระหว่างผู้สมัครในกลุ่มอาชีพเดียวกันในระดับอำเภอก่อน คนที่ได้รับการคัดเลือกขั้นต้นจึงได้สิทธิไปเลือกไขว้กับผู้สมัครจากกลุ่มอาชีพอื่นๆ หากผ่านการคัดเลือกก็จะมีโอกาสได้ลงคะแนนในระดับจังหวัด และระดับประเทศต่อไป ผู้สมัครหนึ่งคนที่ผ่านเข้ารอบทุกรอบอาจมีสิทธิได้ออกเสียงมากที่สุดถึง 42 เสียง เพื่อเลือกผู้สมัครจากทั้งในกลุ่มตัวเองและกลุ่มอื่นๆ และเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินว่า ใครจะได้เป็นสว. ชุดต่อไป ยิ่งมีประชาชนธรรมดาสมัครเข้าไปเพื่อโหวตอย่างอิสระจำนวนมาก คนที่เจตนาไม่ดีที่จะซื้อเสียงหรือจัดตั้งคนไปเลือกตัวเองก็จะทำงานได้ยากขึ้นหรือพ่ายแพ้เสียงประชาชนไปเลย

สำหรับผู้ที่ต้องการจะมีส่วนร่วมเลือกคนที่จะมาเป็นสว.ชุดต่อไป จึงต้องเตรียมสถานะของตัวให้พร้อม เตรียมจองวันว่าง และเตรียมเอกสารที่จำเป็น เพื่อที่จะสมัครเข้าไปลงคะแนนให้ได้มากที่สุดและมีส่วนร่วมตัดสินใจได้มากที่สุด

3) สมัครเพื่อจับตา
ผู้ที่ต้องการเห็นความโปร่งใสในกระบวนการคัดเลือกสว. ชุดต่อไป ต้องการที่จะช่วยทำให้การคัดเลือก การลงคะแนน การนับคะแนน การประกาศผล เป็นไปอย่างถูกต้อง ป้องกันความผิดพลาดหรือป้องกันการทุจริต มีโอกาสเดียวที่สามารถช่วยกันเป็นหูเป็นตาได้ คือ การสมัครเข้าร่วมกระบวนการ เพราะผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในสถานที่เลือกเลย เฉพาะผู้สมัครเท่านั้นที่จะเข้าไปได้ และจะต้องฝากเครื่องมือสื่อสารหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไว้ด้านนอก หลักการนี้มีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีการ “แจกโพย” หรือไม่ให้มี “หัวคะแนน” มาแทรกแซงการตัดสินใจของผู้สมัคร แต่ก็มีข้อเสีย คือ ทำให้สาธารณชนจับตาดูการทำงานของ กกต. ไม่ได้ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นจากการทำงานของกกต. หรือจากฝ่ายผู้สมัครเองก็จะไม่มีผู้สังเกตการณ์ที่คอยตรวจสอบ วิธีการเดียว คือ ต้องมีผู้สมัครจำนวนมากซึ่งนั่งอยู่ในสถานที่เลือกที่จะสามารถเป็นพยานบุคคลบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ยิ่งมี “สายตา” คอยสอดส่องอยู่จำนวนมากการทุจริตก็ยิ่งจะทำได้ยากยิ่งขึ้น

สำหรับผู้ที่ต้องการให้กระบวนการเลือกสว. ชุดต่อไปโปร่งใสและเป็นธรรม จึงต้องเตรียมสมัครเข้าร่วมกระบวนการ เพื่อเป็นหูเป็นตาคอยสอดส่องกระบวนการ และหากพบเห็นความผิดปกติก็นำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ หรือส่งเรื่องร้องเรียนให้ถูกช่องทาง

อย่างไรก็ดีไม่ใช่ทุกคนที่สามารถสมัครเข้าร่วมกระบวนการนี้ได้ เพราะคุณสมบัติของผู้สมัครสว. มีข้อจำกัดเยอะ เริ่มตั้งแต่ “อายุ” ผู้สมัครต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ต้องมีประสบการณ์ในกลุ่มอาชีพ 10 ปีขึ้นไป ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการสมัคร 2,500 บาท ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ไม่เป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ ไม่เป็นผู้ถือหุ้นสื่อมวลชน ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่ติดยาเสพติด ไม่มีบุพการี คู่สมรส บุตร ลงสมัครพร้อมกันในการคัดเลือกสว. ครั้งนี้ ฯลฯ ทำให้จำนวนของผู้ที่มีสิทธิสมัครเข้าร่วมกระบวนการได้เหลือน้อยลงมาก และเป็นสนามสำคัญของ “พี่ๆ” ที่จะเป็นตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในสนามนี้แทน “เยาวชน” ที่ยังอายุไม่ถึงเกณฑ์

ดูรายละเอียดคุณสมบัติผู้สมัครสว. ได้โดย คลิกที่นี่

อายุไม่ถึงก็มีส่วนร่วมได้ ช่วยกันส่งตัวแทนผู้สมัครอย่างน้อยบ้านละหนึ่งคน

แม้คนไทยจำนวนหลายล้านคนจะถูก “กันออก” จากระบบการคัดเลือกสว. ไม่ให้มีส่วนร่วมในฐานะผู้สมัครได้ แต่ทุกคนยังสามารถทำอะไรได้อีกหลายอย่างเพื่อมีส่วนร่วมในกระบวนการสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ตัวอย่างเช่น

1) หาตัวแทนผู้สมัครบ้านละหนึ่งคน

เนื่องจากคุณสมบัติต้องห้ามของผู้สมัครเขียนไว้ชัดเจนแล้วว่า ห้ามทุกคนลงสมัครสว. พร้อมกันกับสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งบุพการี หมายถึง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ตามกฎหมาย คู่สมรสตามกฎหมาย และบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย (ไม่รวมพี่น้องหรือญาติคนอื่นๆ) ซึ่งกติกานี้เขียนขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สมัครหนึ่งคนจัดการให้สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวไปสมัครพร้อมกันเพื่อลงคะแนนเลือกตัวเอง ดังนั้น หากสมาชิกในครอบครัวเดียวกันมีความประสงค์จะลงสมัครพร้อมหลายคน ไม่ว่าจะสมัครเพื่อจะเป็นสว. หรือสมัครเพื่อโหวต หรือสมัครเพื่อจับตา จึงต้องพูดคุยตกลงกันส่งตัวแทนไปสมัครได้เพียงหนึ่งคน

ผู้สมัครหนึ่งคนจึงมีสถานะคล้ายกับเป็น “ตัวแทนของครอบครัว” ที่จะเข้าไปทำหน้าที่สำคัญ ทั้งการลงคะแนน การจับตา หรือการทำหน้าที่เป็นสว. หากได้รับเลือก สมาชิกคนอื่นในครอบครัวที่อาจไม่มีคุณสมบัติและสมัครไม่ได้ ก็สามารถนำข้อมูลไปเปิดบทสนทนาระหว่างกันภายในครอบครัวและส่งตัวแทนของครอบครัวไปลงสมัครสว. หนึ่งคนในรอบนี้เพื่อใช้สิทธิแทนคนที่สมัครไม่ได้ โดยสมาชิกในครอบครัวอาจจะช่วยกันทำการบ้านศึกษาข้อมูลของผู้สมัครคนอื่นๆ ว่าควรจะตัดสินใจลงคะแนนอย่างไร หรือช่วยกันรวบรวมค่าธรรมเนียมการสมัครให้ครบ 2,500 บาท ก็ได้

2) ส่งต่อข้อมูลไปยังผู้มีสิทธิทุกคน

ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมและช่วยกันทำให้การคัดเลือกสว. มีความเชื่อมโยงกับประชาชนให้ได้มากที่สุดโดยการช่วยส่งต่อข้อมูลให้ประชาชนเข้าใจกระบวนการที่กำลังจะเกิดขึ้นและชวนทุกคนเข้าไปสมัครกันให้มากที่สุด ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไร ซึ่งการส่งต่อข้อมูลอาจทำโดยการแชร์บนโซเชียลมีเดียก็ได้ หรือหากจะให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ประชาชนทุกคนสามารถช่วยกันนำใบปลิวคำอธิบายอย่างย่อถึงกระบวนการคัดเลือกสว. ไปแจกจ่ายให้กับคนใกล้ชิดทั้งเพื่อนที่ทำงาน เพื่อนที่สถานศึกษา หรือผู้คนในละแวกบ้านให้มีความเข้าใจตรงกันได้ โดยสามารถดาวน์โหลดและจัดพิมพ์ใบปลิวด้วยตัวเองได้โดยคลิกที่นี่ หรือหากพบเจอคนที่มีคุณสมบัติและสนใจสมัครเป็นสว. ก็สามารถส่งลิงก์คู่มือการสมัครแบบละเอียด  หรือจัดพิมพ์ด้วยตัวเองและนำไปแจกจ่ายให้ถึงมือกลุ่มเป้าหมายได้ด้วย

นอกจากนี้ ทุกคนสามารถให้ข้อมูลและให้คำปรึกษาผู้ที่สนใจสมัครสว. ได้โดยอาศัยช่องทางเว็บไซต์ senate67.com เป็นศูนย์กลาง ซึ่งเว็บไซต์นี้จะมีระบบการ “ตรวจสอบคุณสมบัติ” สามารถให้ผู้สนใจทุกคนเข้าไปกรอกคุณสมบัติตัวเองได้ทุกที่ทุกเวลา และระบบของเว็บไซต์จะให้คำตอบว่า ผู้สนใจแต่ละคนมีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่และสามารถลงสมัครในกลุ่มอาชีพใดที่อำเภอใดได้บ้าง หากยังมีคุณสมบัติไม่ครบระบบก็จะให้คำแนะนำว่า จะต้องเตรียมตัวอย่างไรต่อไป นอกจากนี้บนเว็บไซต์ยังมีพื้นที่สำหรับให้ผู้ที่พร้อมสมัครสว. มา “ประกาศตัว” ได้เองเพื่อให้ผู้ที่สนใจคนอื่นๆ เข้าไปดูข้อมูลและพิจารณาได้ด้วยตัวเองว่าควรจะลงสมัครกลุ่มอาชีพใด ที่อำเภอใด เพื่อไปออกเสียงเลือกใครได้บ้าง

ทุกคนจึงสามารถใช้เว็บไซต์ senate67.com เป็นเครื่องมือหลักและ “เปิดคลินิก” ให้ข้อมูลและคำแนะนำกับผู้ที่สนใจสมัครสว. ได้เองทุกที่ทุกเวลา หากใครรู้จักคนใกล้ตัวที่มีคุณสมบัติสามารถสมัครสว. ได้ หรือมีพื้นที่ที่สามารถทำกิจกรรมเพื่อให้คำแนะนำกับผู้สนใจได้ ก็สามารถออกแบบกิจกรรม และใชัเว็บไซต์แห่งนี้เป็นเครื่องมือกลางในการสื่อสารข้อมูลความรู้และทำกิจกรรมกับคนในวงกว้างได้ด้วยตัวเองตามรูปแบบที่ถนัดและเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย

3) ดูถ่ายทอดสด ดูกล้องวงจรปิด จับตาความผิดปกติ

แม้ว่าในกระบวนการคัดเลือกสว. จะห้ามไม่ให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้สมัครเข้าไปในสถานที่เลือกทำให้การจับตาความโปร่งใสทำได้ยาก แต่ในระเบียบของกกต. ยังกำหนดให้ กกต. มีหน้าที่ในการบันทึกวิดีโอของกระบวนการคัดเลือกไว้ตลอดเวลา ซึ่งไฟล์วิดีโอนั้นต้องเก็บรักษาไว้ ดังนั้น หากผู้สมัครที่เข้าร่วมกระบวนการออกมาเล่าถึงปัญหาความไม่ปกติที่เกิดขึ้น ประชาชนทั่วไปก็สามารถติดต่อขอดูภาพวิดีโอจากกล้องวงจรปิดในพื้นที่ที่มีข้อสงสัยได้ และกกต. มีหน้าที่ต้องเปิดเผยเพื่อให้เกิดความโปร่งใส หากทุกคนช่วยกันตรวจสอบจับตาด้วยช่องทางนี้ก็จะทำให้คนที่ทุจริตถูกจับได้และไม่สามารถเป็นสว. ได้

จากการพูดคุยกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ข้อมูลว่า สำนักงานยังมีงบประมาณไม่พอสำหรับการจัดถ่ายทอดสดการคัดเลือกในระดับอำเภอทุกพื้นที่ แต่จะพยายามให้มีการถ่ายทอดสดการคัดเลือกในระดับจังหวัดทุกจังหวัดและระดับประเทศ ประชาชนจึงยังสามารถช่วยกันติดตามว่า พื้นที่ใดจะมีการถ่ายทอดสดการเลือกสว. ผ่านช่องทางใด และช่วยกันจับตาผ่านการติดตามการถ่ายทอดสดด้วยก็ได้ หากพบเห็นความผิดปกติใดก็สามารถรายงานความผิดปกติได้ตามช่องทางของ We Watch ที่หมายเลขโทรศัพท์ 021143189

สำหรับประชาชนที่พร้อมเป็นอาสาสมัคร สามารถเข้าถึงเอกสารและข้อมูลที่จำเป็นได้

• แผ่นพับอธิบายกระบวนการเลือก สว. อย่างย่อ
ขนาดสองหน้ากระดาษ คลิกเพื่อดาวน์โหลดได้ที่นี่
หรือถ้าอยากได้เวอร์ชั่นที่พิมพ์เสร็จแล้ว กรอกข้อมูลเพื่อขอรับเอกสารได้ที่นี่

• คู่มือผู้สมัครความยาว 16 หน้า
ซึ่งมีขั้นตอน รายละเอียด เอกสารที่จำเป็นต้องใช้ เหมาะสำหรับคนที่กำลังเตรียมตัวลงสมัครสว. แต่ยังไม่รู้ว่าต้องทำอะไรหรือต้องเตรียมตัวอย่างไร
คลิกเพื่อดาวน์โหลดได้ที่นี่

คู่มืออาสาสมัครให้คำปรึกษาผู้ที่เตรียมตัวลงสมัคร
ทั้งการตรวจสอบคุณสมบัติ และการประกาศตัวผู้สมัครทางเว็บไซต์ Senate67.com
คลิกเพื่อดาวน์โหลดได้ที่นี่

• Power Point สำหรับนำเสนอกระบวนการเลือก สว.
และกติกาเบื้องต้นสำหรับผู้เตรียมลงสมัคร
คลิกเพื่อดาวน์โหลดที่นี่

• ถ้าต้องการภาพกราฟฟิก
เพื่อไปใช้รณรงค์สื่อสารกับคนอื่นต่อ เช่น โปสเตอร์ โลโก้ อินโฟกราฟฟิก
คลิกเพื่อเข้าไปดูภาพและดาวน์โหลดได้ที่นี่

• ถ้าสนใจเป็นอาสาสมัคร
แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นทำคนเดียวได้อย่างไร เข้ามาในกลุ่มไลน์เพื่อชวนเพื่อนๆ ไปลงมือทำ หรือรอไปช่วยเพื่อนๆ ที่มาชวนกันทำได้ คลิกเข้ากลุ่มได้ที่นี่

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ