เป็น สว. ทำอะไรได้บ้าง? ชวนดูอำนาจ สว. ชุดใหม่ ที่มาจากการเลือกกันเอง

11 พฤษภาคม 2567 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดพิเศษ 250 คนที่มาแบบพิเศษ ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็จะมีอายุครบห้าปีตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 2560 หลังจากนั้นหน้าตาและที่มาของ สว. ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้กลั่นกรองกฎหมายก็จะเปลี่ยนแปลงไป โดย สว. ชุดใหม่ที่จะมารับไม้ต่อนี้ มีจำนวน 200 คน มีวาระห้าปี ไม่มีอำนาจพิเศษแบบ สว. จาก คสช. เช่น ไม่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ สส. ได้ แต่สว. 200 คนจากการเลือกกันเอง ก็ยังมีอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติหลายประการ

ก่อนที่ประชาชนจะรู้จักกับ สว. ชุดใหม่ ตามไทม์ไลน์ในกฎหมายซึ่งคาดว่าน่าจะได้ สว. 200 คนช่วงเดือนกรกฎาคม 2567  ชวนทำความเข้าใจกันว่า สว. ชุดใหม่ ซึ่งจะเป็นผู้แทนประชาชนชาวไทย มีอำนาจทำอะไรได้บ้าง

  

 

พิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ ผ่านด่านได้ต้องมีเสียง สว. 1 ใน 3

ตามรัฐธรรมนูญ 2560  มาตรา 256 (2) กำหนดให้การเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะต้องเสนอต่อรัฐสภา ซึ่งประกอบไปด้วย สส. และ สว. พิจารณาไปร่วมกันสามวาระ โดยสว. จะมีบทบาทเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ ในหลายขั้นตอน คือ

๐ การเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ : มาตรา 256 (1) กำหนดผู้มีสิทธิเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ได้แก่

  • ครม.
  • สส. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวน สส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
  • สส. และ สว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสมาชิกสองสภา 
  • ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อ 50,000 ชื่อ

จะเห็นได้ว่า สว. ก็สามารถมีบทบาทในการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ เพียงแต่ต้องรวบรวมรายชื่อ สส. เพื่อเสนอร่วมกัน ลำพังเพียงแค่ สว. ไม่สามารถเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้         

๐ การพิจารณาวาระหนึ่ง : รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 (3) กำหนดกระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระหนึ่ง ขั้นรับหลักการ ไว้ว่าการลงมติจะทำโดยเปิดเผย ใช้วิธีเรียกชื่อ สส. สว. สำหรับเงื่อนไขคะแนนเสียงว่าร่างฉบับนั้นจะผ่านวาระหนึ่งหรือไม่ จะค่อนข้างซับซ้อนเพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกเขียนมาให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปได้ยาก  ต้องใช้เสียงของ สว. เห็นชอบด้วย ตามเงื่อนไขที่จะผ่านวาระหนึ่งได้ คือ

1. ต้องได้เสียงของ สส. และ สว. “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสองสภา : หากขณะที่พิจารณาลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระหนึ่ง มี สส. ทั้งหมด 500 คน และ สว. 200 คน รวมเป็น 700 คน จะต้องได้เสียง “เห็นชอบ” 350 เสียงขึ้นไป ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถึงจะผ่านวาระหนึ่ง

2. ในจำนวนเสียงที่เห็นชอบ ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งนั้น (กรณีสมมุติมีสส. สว. ครบจำนวน คือ 350 เสียง) จะต้องมีเสียง จาก สว. ที่ลงมติ “เห็นชอบ” ด้วย เป็นจำนวน “ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม” ของจำนวน สว. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เท่ากับว่า หากมี สว. 200 คน จะต้องได้เสียง สว. ที่เห็นชอบอย่างน้อย 67 เสียง

อย่างไรก็ดี การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ สว. ชุดใหม่ที่มาจากการเลือกกันเอง มีจำนวน 200 คน ต่างจาก สว. ชุดพิเศษที่มีจำนวนมากกว่า คือ 250 คน ก็ทำให้จำนวนเสียง สว. หนึ่งในสาม ลดน้อยลงตามสัดส่วน

๐ การพิจารณาวาระสอง : หลังจากรัฐสภารับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมวาระหนึ่งแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือวาระสอง ซึ่งมีกระบวนการย่อยๆ สองกระบวนการ คือ

1. ชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) : กมธ. พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีจำนวนไม่เกิน 45 คน ตั้งจาก สส. และ สว. ตามอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (500 คน) และสมาชิกวุฒิสภา (200 คน) ในจำนวนของสภาผู้แทนราษฎร ก็ต้องคำนึงโควตาที่นั่งกมธ. ตามจำนวน สส. แต่ละพรรคด้วย 

2. การพิจารณารายมาตรา : รัฐสภาพิจารณาลงมติในรายมาตรา เรียงลำดับตามมาตรา การลงมติขั้นตอนนี้จะใช้เพียงเสียงข้างมากเท่านั้น หลังจากพิจารณาวาระสองเสร็จแล้ว ก็ต้องรอไว้ 15 วัน เพื่อพิจารณาวาระสาม 

๐ การพิจารณาวาระสาม : เป็นขั้นตอนสุดท้าย การลงมติจะทำโดยเปิดเผย ใช้วิธีเรียกชื่อเหมือนวาระหนึ่ง แต่เงื่อนไขเรื่องคะแนนเสียงที่ซับซ้อนกว่า คือ

1. ต้องได้คะแนนเสียง สส. สว. “มากกว่ากึ่งหนึ่ง” ของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา หากขณะที่พิจารณาลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระสาม มีสส. ทั้งหมด 500 คน และ สว. 200 คน รวมเป็น 700 คน จะต้องได้เสียง “เห็นชอบ” 351 เสียงขึ้นไป

2. ในจำนวนดังกล่าว ต้องมีเสียงเห็นชอบจาก สว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม (เหมือนวาระหนึ่ง) กล่าวคือ จะต้องได้เสียง สว. ที่เห็นชอบ 67 เสียงขึ้นไป และมีเสียงจาก สส. พรรคที่สมาชิกไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ประธานหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร โหวตเห็นชอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน เมื่อมีมติเห็นชอบให้รอไว้ 15 วันและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

สส. มีอำนาจหลักพิจารณากฎหมาย สว. อำนาจน้อยกว่า 

แต่ถ้าพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ สว. อำนาจเท่า สส.

สำหรับการพิจารณากฎหมายอื่นๆ ที่ไม่ใช่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดเพิ่มเติม ขยายความต่อจากรัฐธรรมนูญ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ (กฎหมายปฏิรูป) ร่าง พ.ร.บ. ทั่วไป ร่างกฎหมายงบประมาณ และการอนุมัติพระราชกำหนด สว. จะมีบทบาทและอำนาจในการพิจารณาร่างกฎหมายแต่ละประเภทเหล่านี้มากน้อยแตกต่างกันไป แจกแจงตามประเภทของกฎหมายได้ ดังนี้

ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

สำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ผู้มีอำนาจพิจารณาจะเป็นรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย สส. สว. พิจารณาไปพร้อมกัน (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 132) ในการพิจารณาร่าง พ.ร.ป. สว. จึงมีบทบาทเท่ากันกับ สส. โดยช่องทางการเสนอร่างพ.ร.ป. มีสองช่องทาง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 131 คือ 

1. ครม. เสนอโดยข้อเสนอแนะของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง 

2. สส. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งใน 10 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร 

ขั้นตอนหลังจากที่ ครม. หรือ สส. เสนอร่างกฎหมายมายังรัฐสภาแล้ว รัฐสภาต้องพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ดังกล่าวสามวาระ ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน มิเช่นนั้นจะถือว่า รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายที่ได้ถูกเสนอมา และการลงมติในวาระที่สามต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา

หลังรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.แล้ว  จะต้องส่งร่าง พ.ร.ป. ไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง (กรณีของร่าง พ.ร.ป. การเลือกตั้งสส. และร่าง พ.ร.ป. พรรคการเมือง องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องคือ กกต.) เพื่อให้ความเห็นภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่รัฐสภาเห็นชอบ กรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ไม่มีข้อทักท้วงภายใน 10 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างดังกล่าว ให้รัฐสภาดําเนินการส่งร่าง พ.ร.ป. ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย

กรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เห็นว่าร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา มีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือทําให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ ให้เสนอความเห็นไปยังรัฐสภา และให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว ทั้งนี้ รัฐสภามีอํานาจแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเสนอของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระตามที่เห็นสมควรได้ และเมื่อดําเนินการเสร็จแล้ว ให้รัฐสภาดําเนินการส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ

ร่างพระราชบัญญัติ

สำหรับการพิจารณาร่างพ.ร.บ. สส. จะมีบทบาทหลักในการพิจารณา โดยการพิจารณาจะแบ่งออกเป็น ชั้นสภาผู้แทนราษฎร สามวาระถ้าผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระสามแล้ว ร่างกฎหมายนั้นจะถูกส่งให้วุฒิสภาพิจารณาสามวาระเช่นกัน

สว. ไม่มีอำนาจ ‘ปัดตก’ หรือทำให้ร่างกฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว หายไปได้  เมื่อสว. พิจารณาร่างกฎหมายแล้วสามารถลงมติได้สามกรณี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 137 คือ เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และแก้ไขเพิ่มเติม 

กรณีแรก ถ้า สว. เห็นชอบด้วย ก็เท่ากับร่างกฎหมายนั้นๆ ผ่านการพิจารณาของทั้งสองสภา และเตรียมนำเข้าสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป 

กรณีที่สอง ถ้า สว. ไม่เห็นชอบด้วย ให้ “ยับยั้ง” ร่างกฎหมายไว้ก่อนและส่งกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 138 สส. อาจยกร่างกฎหมายนั้นกลับมาพิจารณาใหม่ได้หลังพ้นไปแล้ว 180 วัน แต่ถ้าเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงินให้ลดเหลือ 10 วัน และ หาก สส. นำกลับขึ้นมาพิจารณาใหม่และลงมติยืนยันร่างเดิมด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่ หรือ สส. 251 คน (ถ้ามีสส. ครบ 500 คน) ก็ถือว่า ร่างฉบับนั้นได้รับความเห็นชอบแล้ว ให้นำเข้าสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป 

กรณีที่สาม ถ้า สว. มีมติแก้ไขเพิ่มเติม ให้ส่งร่างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วไปยังสภาผู้แทนราษฎร และถ้า สส. เห็นชอบด้วย ก็นำสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่ถ้า สส. ไม่เห็นด้วย ให้ตั้ง “คณะกรรมาธิการร่วม” ของสองสภาขึ้นมาพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง โดยกรรมาธิการมีจำนวน สส. และ สว. เท่ากัน เมื่อกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างกฎหมายเสร็จแล้วให้เสนอต่อทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ถ้าสภาทั้งสองเห็นชอบด้วย ก็นำสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบให้ยับยั้งร่างกฎหมายนั้นไว้ก่อน ซึ่ง สส. อาจยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้หลัง 180 วัน โดยอาจยืนยันร่างเดิม หรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาก็ได้

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/3667

ร่างกฎหมายงบประมาณ

สำหรับการพิจารณากฎหมายงบประมาณ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่าง พ.ร.บ. โอนงบประมาณรายจ่าย สว. จะมีอำนาจในการพิจารณาน้อยกว่า สส. อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสัมพันธ์กับหลักความยินยอมของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มีฐานคิดว่า การจัดเก็บ-การใช้จ่ายงบประมาณซึ่งมีที่มาจากภาษีของประชาชนนั้น จะต้องทำเป็นกฎหมาย และผ่านการพิจารณาโดยฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นผู้แทนของประชาชน

ในชั้นสภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณเป็นสามวาระ เหมือนร่าง พ.ร.บ. ทั่วไป แต่ก็มีเงื่อนไขที่มากกว่า คือ

1. เงื่อนเวลา : ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 105 วันนับแต่ร่างกฎหมายนั้นมาถึงสภาผู้แทนราษฎร (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 143) ถ้าพิจารณาไม่ทันจะถือว่าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบกับร่างกฎหมาย และส่งต่อไปที่วุฒิสภา

2. การแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มงบประมาณหรือเพิ่มเติมรายการ หรือจำนวนในรายการใช้จ่าย ทำไม่ได้ แต่สามารถแก้ไขในทางลดหรือตัดทอนรายจ่ายอื่นใดที่ไม่ใช่ 1) เงินส่งใช้ต้นเงินกู้ 2) ดอกเบี้ยเงินกู้ 3) เงินที่กำหนดให้ต้องจ่ายตามกฎหมาย (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 144)

3. ห้ามสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือกรรมาธิการ แปรญัตติหรือกระทำการใดๆ ที่ทำให้สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนในการใช้งบประมาณรายจ่ายไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม หรือพูดง่ายๆ คือห้ามแก้ไขร่างเพื่อให้เป็นผลประโยชน์ต่อสภา ซึ่งกลไกนี้กำหนดห้ามไว้เพื่อไม่ให้ สส. สว. มีช่องนำงบประมาณไปใช้เพื่อประโยชน์ตนเองหรือเพื่อทำการใดๆ ให้ตัวเองได้รับประโยชน์ทางอ้อม

เมื่อสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างกฎหมายงบประมาณในวาระหนึ่ง ฝั่งวุฒิสภาก็จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาหนึ่งคณะ เพื่อพิจารณาศึกษาร่างกฎหมายนั้นไปก่อนระหว่างที่ฝั่งสภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณาในวาระสองและวาระสาม (ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ข้อ 138)

กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณเสร็จในวาระสาม หรือพิจารณาไม่เสร็จภายใน 105 วัน ร่างกฎหมายนั้นจะส่งมาที่วุฒิสภาต่อ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา ที่ตั้งไว้แล้วนั้น จะต้องรีบพิจารณาร่างกฎหมายและรายงานความเห็นต่อประธานวุฒิสภาภายใน 10 วันนับแต่ได้รับร่าง การพิจารณาขั้นตอนนี้ กรรมาธิการของวุฒิสภาจะไม่สามารถแปรญัตติเพื่อแก้ไขร่างกฎหมายงบประมาณนั้นได้

หลังจากนั้น วุฒิสภาก็จะต้องพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว โดยมีอำนาจในการพิจารณาลงมติแค่ “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” เท่านั้น และ สว. ไม่สามารถแก้ไขร่างกฎหมายได้เช่นกัน ซึ่งในทางปฏิบัติ การประชุมวุฒิสภา บรรดา สว. ก็จะอภิปรายเพื่อให้เห็นความเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณตามในร่างกฎหมาย

โดยสรุป การพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณ สว. ก็มีบทบาทน้อยกว่า สส. มาก สว. ไม่สามารถแก้ไขกฎหมายได้เลย จะปรับลดงบรายการใดก็ทำไม่ได้เช่นกัน มีบทบาทเป็นผู้ทบทวนร่างในขั้นตอนสุดท้ายเท่านั้น

อนุมัติพระราชกำหนด

ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ กฎหมายที่จะใช้บังคับกับประชาชน จะต้องผ่านการพิจารณาจากฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นผู้แทนประชาชน ขณะที่ฝ่ายบริหารจะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ส่วนฝ่ายตุลาการจะเป็นผู้ตีความกฎหมาย

แต่ก็มีข้อยกเว้น ที่เปิดช่องให้กรณีที่ครม. ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารนั้น เห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ครม. สามารถออกพ.ร.ก. ใช้บังคับเหมือน พ.ร.บ. ได้ (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 172)

เมื่อประกาศใช้ พ.ร.ก.แล้ว ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป ให้ ครม. เสนอ พ.ร.ก. นั้นต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาโดยไม่ชักช้า ถ้าอยู่นอกสมัยประชุม และการรอการเปิดสมัยประชุมสามัญจะเป็นการชักช้า คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติ พ.ร.ก.โดยเร็ว

กระบวนการอนุมัติ พ.ร.ก. นั้น จะเริ่มที่สภาผู้แทนราษฎรก่อน หาก สส. ไม่อนุมัติ โดยการลงคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร พ.ร.ก. ฉบับนั้นตกไป แต่ถ้า สส. อนุมัติ ก็จะส่งไปยังวุฒิสภาต่อไป 

  • กรณีที่สว. อนุมัติ พ.ร.ก. นั้นก็ใช้เป็น พ.ร.บ. ต่อไป
  • กรณีที่สว.ไม่อนุมัติ ก็ต้องใช้เสียง สส.เห็นด้วยเกินครึ่งหนึ่งยืนยันการอนุมัติ พ.ร.ก. นั้นก็มีผลเป็นกฎหมาย และประกาศใช้เป็น พ.ร.บ. ต่อไป

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5435

โดยสรุปการอนุมัติ พ.ร.ก. แม้ สว. จะมีบทบาทในการพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติ พ.ร.ก. ฉบับนั้นๆ แต่โดยหลักแล้ว สส. ก็มีอำนาจมากกว่า หาก สว. ไม่อนุมัติ แต่ถ้า สส. ครึ่งสภายืนยันว่าต้องอนุมัติ พ.ร.ก. ฉบับนั้น พ.ร.ก. ก็จะใช้เป็นกฎหมายต่อไป

เคาะบุคคลดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานรัฐ

ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ องค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ต่างมีความสัมพันธ์ในการตรวจสอบถ่วงดุลกัน การกำหนดให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรบริหารหรือองค์กรตุลาการต้องผ่านความเห็นชอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติมีความยึดโยงกับประชาชนเป็นหนึ่งในกลไกที่เปิดโอกาสให้ผู้แทนปวงชนได้ตรวจสอบผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรฝ่ายบริหารหรือฝ่ายตุลาการ ในอีกทางหนึ่ง ก็เป็นการสร้างความชอบธรรมให้ตำแหน่งที่ต้องผ่านความเห็นชอบโดยอำนาจที่มีความยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจกับวุฒิสภาเป็นผู้พิจารณาและให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลเพื่อเข้าทำหน้าที่ในศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ ดังนี้

  • ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา 204)
  • คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เจ็ดคน (มาตรา 222)
  • ผู้ตรวจการแผ่นดิน สามคน (มาตรา 228)
  • คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เก้าคน (มาตรา 232)
  • คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เจ็ดคน (มาตรา 238)
  • ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (มาตรา 241)
  • คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เจ็ดคน (มาตรา 246)

สำหรับกระบวนการสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระนั้น ขั้นตอนแรกๆ จะเป็นอำนาจของคณะกรรมการสรรหาก่อนว่าบุคคลที่มาสมัครรับคัดเลือกดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระนั้น สมควรดำรงตำแหน่งดังกล่าวหรือไม่ หลังจากนั้นก็จะส่งรายชื่อมายังวุฒิสภา วุฒิสภาจะมีอำนาจในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนั้น และสามารถรวบรวมข้อเท็จจริง พยานหลักฐานที่จำเป็นต่อการดำรงตำแหน่งนั้นๆ ได้ (ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ข้อ 105) หลังจากนั้นวุฒิสภาก็จะพิจารณาลงมติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบบุคคลมาดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ

นอกจากนี้ สว. ยังมีอำนาจให้ความเห็นชอบในการดำรงตำแหน่งสำคัญอื่นๆ ของรัฐ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น 

  • อัยการสูงสุด : พ.ร.บ. องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 10
  • ตุลาการศาลปกครองสูงสุด : พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 15
  • เลขาคณะกรรมการกฤษฎีกา : พ.ร.บ. คณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 มาตรา 63
  • เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแห่งชาติ (ปปง.) : พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 42

ตรวจสอบฝ่ายบริหาร ส่งต่อปัญหาประชาชนให้ดำเนินการแก้ไข

สว. มีตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ ผ่านการการตั้งกระทู้ถาม (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 150) เพื่อให้คณะรัฐมนตรีของกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหานั้นๆ มาชี้แจงความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหา หรือเพื่ออภิปรายปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อให้ฝ่ายบริหารนำไปดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อ และมีอำนาจเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อให้ ครม. แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ (รัฐธรรมนูญ มาตรา 153) นอกจากนี้ ในข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ข้อ 18 ก็กำหนดให้ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระประชุม ประธานของที่ประชุมสามารถอนุญาตให้ สว. ปรึกษาหารือปัญหาที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนหรือปัญหาอื่นใดได้ หากเห็นสมควร ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องดังกล่าวให้รัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้แจงเป็นหนังสือภายในสามสิบวันได้

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ