เมื่อพูดถึง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยทั่วไปอำนาจหน้าที่ขององค์กรนี้ที่คนอาจจะนึกถึง คือ การกลั่นกรองและตรวจสอบกฎหมายที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้กำหนดอำนาจของเหล่า ส.ว. ให้ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายเช่นเดิม แต่ก็ยังมีอำนาจอื่นที่สำคัญด้วย เช่น อำนาจให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ อำนาจตั้งกระทู้ตรวจสอบฝ่ายบริหาร เป็นต้น
อำนาจบางประการของ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เป็นอำนาจใหม่ที่เพิ่งมีขึ้นเป็นพิเศษ ถือเป็นมรดกที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้วางเส้นทางการรักษาอำนาจเอาไว้ เช่น อำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร หรือการติดตามเร่งรัดแผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เขียนโดย คสช. เป็นต้น
เมื่อ ส.ว. ชุดแรกทั้ง 250 คน มาจากระบบการคัดเลือกของ คสช. ทั้งสิ้น จึงมีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจของตัวเองเพื่อเป็นประโยชน์ตอบแทนกับกลุ่มคนที่เลือกพวกเขาเข้ามา ดังนั้น การจับตาดูการใช้อำนาจของคนทั้ง 250 คนนี้ จึงเป็นภารกิจสำคัญของประชาชนทุกคนที่ต้องช่วยกัน และก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น คนกลุ่มนี้มีอำนาจที่ได้รับมอบหมายไว้อย่างไรบ้าง
การประชุมวุฒิสภา
เมื่อมีวุฒิสภาขึ้นมาทำหน้าที่ ก็ต้องมีบทบัญญัติในเรื่องทั่วๆ ไป ว่าด้วยการทำงานและการประชุมกันของวุฒิสภา เพื่อคอยกำกับให้การทำงานเดินไปได้ รัฐธรรมนูญ 2560 มีส่วนที่บัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ทั่วไปไว้ ดังนี้
มาตรา 82 กำหนดให้ ส.ว. เข้าชื่อกันมากกว่า 25 คน ขึ้นไปสามารถตรวจสอบคุณสมบัติของ ส.ว. คนอื่นได้ กล่าวคือ เป็นการเข้าชื่อกันเพื่อที่จะตรวจสอบเพื่อนสมาชิก ส.ว. ด้วยกันเอง ถ้าหากเห็นว่า ใครคนใดคนหนึ่งอาจจะขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งนี้ เช่น ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชน เป็นบุคคลล้มละลาย เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ทุจริตคอร์รัปชั่น และยื่นเรื่องที่เข้าชื่อกันให้กับประธานวุฒิสภาเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป
มาตรา 123 กำหนดให้ ส.ว. มีสิทธิร่วมกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพื่อเข้าชื่อเป็นจำนวนมากกว่า 250 คนขึ้นไปในการเรียกประชุมวิสามัญได้ โดยการเข้าชื่อและยื่นให้กับประธานรัฐสภาเพื่อที่จะเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ซึ่งเป็นการเรียกประชุมในกรณีพิเศษจากการประชุมสมัยสามัญทั่วไปเมื่อมีความจำเป็น
มาตรา 128 กำหนดให้ ส.ว. มีอำนาจตราข้อบังคับการประชุมเพื่อใช้บังคับกับประธานสภาและรองประธานสภาหรือเพื่อใช้บังคับกับการทำงานของคณะกรรมาธิการสามัญแต่ละชุด และรวมถึงมีอำนาจในการตราประมวลจริยธรรมสำหรับสมาชิกและกรรมาธิการ ซึ่ง ส.ว. ชุดพิเศษ 250 คนนี้ได้ร่างข้อบังคับการประชุมขึ้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะใช้บังคับกับการประชุมของ ส.ว. ชุดต่อๆ ไปด้วย
มาตรา 129 กำหนดให้ ส.ว. มีอำนาจแต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งภายในสภาของ ส.ว. เอง ให้เป็นกรรมาธิการสามัญ หรือแต่งตั้งบุคคลอื่นที่ไม่ได้เป็น ส.ว. ให้เป็นกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อทำหน้าที่ในการสอบข้อเท็จจริง ศึกษา หรือทำกิจการใดๆ และรายงานต่อวุฒิสภา โดยมีอำนาจเรียกบุคคลมาให้ข้อมูล หรือเรียกเอกสารจากหน่วยงานต่างๆ ได้ด้วย
อำนาจตรวจสอบฝ่ายบริหาร
ในฐานะที่วุฒิสภาเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ ก็มีอำนาจและหน้าที่ต้องตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารด้วย แม้ว่า ฝ่ายบริหารที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงในการเลือกคนเข้ามาเป็น ส.ว. แต่ ส.ว. ก็ยังมีอำนาจตรวจสอบอยู่ จึงเป็นเรื่องท้าทายที่ต้องจับตาดูว่า อำนาจเหล่านี้จะถูกหยิบมาใช้หรือไม่
มาตรา 150 กำหนดว่า ส.ว. มีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องที่เกี่ยวกับงานในหน้าที่ที่รัฐมนตรีนั้นรับผิดชอบ โดยที่จะถามเป็นหนังสือหรือถามด้วยวาจาก็ได้ กรณีที่ถามด้วยวาจา ส.ว. มีสิทธิถามได้โดยที่ไม่ต้องทำการแจ้งล่วงหน้า
มาตรา 153 กำหนดว่า ส.ว. จำนวนมากกว่า 84 คน หรือ 1 ใน 3 ของจำนวนส.ว.ทั้งหมด สามารถเปิดอภิปรายในวุฒิสภาฯ เพื่อให้รัฐมนตรีชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ
มาตรา 236 กำหนดว่า ส.ว. ร่วมกับ ส.ส. เข้าชื่อกันจำนวนมากกว่า 150 คน (1ใน 5 ของทั้งสองสภา) กล่าวหาถอดถอนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญหรือขัดกฎหมาย หรือทำการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยยื่นเรื่องให้แก่ประธานรัฐสภาให้เสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ
ทำหน้าที่ร่วมกับสส.ในฐานะรัฐสภา
“รัฐสภา” ซึ่งประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษร และวุฒิสภา เป็นองค์กรที่ถืออำนาจนิติบัญญัติ และถือว่า เป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่มีความหลากหลาย ในระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาจึงเป็นตัวแทนที่ทำหน้าที่แทนประชาชนในการตัดสินใจครั้งสำคัญ หรือในทางแบบพิธี และ ส.ว. แม้จะมาจากการคัดเลือกไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ยังมีอำนาจหน้าที่เช่นนั้นด้วย ตัวอย่างเช่น
มาตรา 156 (1)-(4) กำหนดให้ ส.ว. ร่วมกับ ส.ส. มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รับทราบการปฏิญญาณตนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภา รวมถึงการรับทราบกรณีที่มีการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลในเรื่องของการสืบราชสันตติวงศ์ และการรับทราบหรือให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติ
มาตรา 156 (7)-(9) กำหนดให้ ส.ว. ร่วมกับ ส.ส. กรณีที่มีการพิจารณาหรือขอคำปรึกษาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) และรวมถึงการรับทราบหรือให้ความเห็นเปิดหรือปิดสมัยประชุมสภา
มาตรา 165 กำหนดว่า หากมีกรณีที่เกิดปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความเห็น ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งต่อประธานรัฐสภา เพื่อเปิดประชุมสภาและให้ ส.ส. กับ ส.ว. ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวได้ แต่จะไม่สามารถทำการลงมติในปัญหานั้นได้
มาตรา 177 กำหนดว่า พระมหากษัตริย์มีอำนาจในการที่จะประกาศสงครามได้ เมื่อได้รับความเห็นชอบด้วยเสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา หรือ ส.ส. และ ส.ว. รวมกัน 500 เสียงขึ้นไป
มาตรา 178 กำหนดว่า พระมหากษัตริย์มีอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก หรือสนธิสัญญากับต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ โดยผ่านการลงมติจากรัฐสภา กล่าวคือ หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา และหนังสือสัญญาที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบ ของรัฐสภ ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ต้องพิจารณาและลงมติร่วมกัน
พิจารณากฎหมาย
อำนาจในการออกกฎหมายของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยหลักการยังเหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ คือ มีอำนาจพิจารณากลั่นกรองเป็นชั้นที่สองต่อจากสภาผู้แทนราฎร และหากไม่เห็นด้วยก็มีอำนาจเพียงยับยั้งไว้ หรือการขอแก้ไข ไม่ได้มีอำนาจเสนอร่างกฎหมายใหม่เอง หรือไม่มีอำนาจที่จะกลับการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรโดยตรง อำนาจการออกกฎหมายในกรณีปกติที่ไม่ใช่อำนาจพิเศษที่ คสช. มอบหมายไว้ให้ มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ ดังนี้
มาตรา 136 กำหนดว่า เมื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและลงมติร่างกฎหมายแล้ว ให้วุฒิสภาทำการพิจารณาต่อให้เสร็จภายใน 60 วัน แต่หากเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินให้พิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน
มาตรา 137 กำหนดว่า ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ส.ว. มีอำนาจในการลงมติให้ความเห็นชอบ ยับยั้ง หรือแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวได้ ถ้าเห็นชอบด้วยก็ให้ดำเนินการต่อไปเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย ถ้าไม่เห็นชอบด้วยก็ให้ยับยั้งไว้หรือส่งคืนสภาผู้แทนราษฎร ให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันใหม่ก็ได้ ถ้าหากจะขอแก้ไขก็ให้ส่งร่างแก้ไขกลับไปสภาผู้แทนราษฎร หากไม่เห็นด้วยกันก็ให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันขึ้นพิจารณา
มาตรา 143 กำหนดว่า เมื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและลงมติร่างกฎหมายงบประมาณแล้ว ให้วุฒิสภาทำการพิจารณาต่อให้เสร็จภายใน 20 วัน และไม่ให้ ส.ว. แก้ไขหรือเพิ่มเติมร่างกฎหมายงบประมาณดังกล่าว ถ้าหากไม่เห็นชอบด้วยให้ส่งคืน และสภาผู้แทนราษฎรอาจลงมติอีกครั้งด้วยเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่ง ให้ถือว่าร่างกฎหมายงบประมาณผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว
มาตรา 144 กำหนดว่า ในการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณ ส.ว. ไม่สามารถทำการแปรญัตติร่างกฎหมายงบประมาณเพื่อให้ตนได้ผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม และหากส.ว. พบการกระทำความผิดดังกล่าวก็สามารถเข้าชื่อกันเป็นจำนวน 25 คน เพื่อเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาได้
มาตรา 146 กำหนดว่า กรณีมีร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว แต่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้ ส.ว. ร่วมกับ ส.ส. ลงมติมากกว่า 500 คน หรือสองในสามของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ เพื่อนำร่างขึ้นทูลเกล้าต่อพระมหากษัตริย์อีกครั้ง
มาตรา 148 กำหนดว่า กรณีที่ร่างพระราชบัญญัติผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว แต่ ส.ว. เห็นว่าร่างนั้น ขัดแย้งกันกับรัฐธรรมนูญ ส.ว. มีอำนาจที่จะร่วมกันกับ ส.ส. เข้าชื่อกันมากกว่า 75 คน หรือหนึ่งในสิบของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ เพื่อส่งความเห็นนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อทำการวินิจฉัย
มาตรา 172 กำหนดว่า ในกรณีที่มีการเกิดเหตุการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่จำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ คณะรัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎหมายเป็น พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ได้ และในการประชุมคราวต่อไป ให้เอา พ.ร.ก.นั้น เสนอต่อ ส.ส. และ ส.ว. เพื่อพิจารณาว่าจะอนุมัติหรือไม่
มาตรา 173 กำหนดว่า กรณีที่คณะรัฐมนตรีออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินและ ส.ว. เห็นว่า การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินดังกล่าวออกโดยไม่ใช่เรื่องที่ฉุกเฉิน จำเป็น หรือเร่งด่วน ส.ว. สามารถทำการเข้าชื่อกันจำนวน 50 คน เพื่อส่งความเห็นให้ต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
เห็นชอบองค์กรอิสระ
ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 และ 2550 ก็ให้อำนาจกับวุฒิสภาเป็นผู้พิจารณาและให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลเพื่อเข้าทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ องค์กรที่มีบทบาทหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ภายใต้หลักคิดว่า วุฒิสภาก็เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร จึงมีความชอบธรรมที่จะทำหน้าที่กลั่นกรองผู้มาใช้อำนาจตรวจสอบถ่วงดุล แต่วุฒิสภาชุดพิเศษที่มาจากการคัดเลือกโดยคนที่อยู่ในฝ่ายบริหาร ก็ยังมีอำนาจให้ความเห็นชอบการผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ เหล่านี้อยู่เช่นเดิม
มาตรา 204 กำหนดให้ ส.ว. มีอำนาจให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
มาตรา 222 กำหนดให้ ส.ว. มีอำนาจให้คำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ในการเลือกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง 7 คน
มาตรา 228 กำหนดให้ ส.ว. มีอำนาจให้คำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ในการเลือกผู้ตรวจการแผ่นดิน ทั้ง 3 คน
มาตรา 232 กำหนดให้ ส.ว. มีอำนาจให้คำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ในการเลือกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้ง 9 คน
มาตรา 238 กำหนดให้ ส.ว. มีอำนาจให้คำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ในการเลือกคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ทั้ง 7 คน
มาตรา 241 กำหนดให้ ส.ว. มีอำนาจให้คำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ในการจัดให้มีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
มาตรา 246 กำหนดให้ ส.ว. มีอำนาจให้คำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ในการเลือกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ทั้ง 7 คน
และนอกจากอำนาจการพิจารณาให้ความเห็นชอบกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทุกองค์กรแล้ว อำนาจของวุฒิสภายังถูกเขียนไว้ในกฎหมายอื่นๆ เพื่อให้มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบการดำรงตำแหน่งที่สำคัญอื่นๆ อีกมากหมาย เช่น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, กรรมการ กสทช., เลขาธิการ ป.ป.ท. ฯลฯ
อำนาจพิเศษจากมรดก คสช.
เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ร่างขึ้นโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่แต่งตั้งขึ้นโดย คสช. และบังคับผ่านประชามติที่ไม่ชอบธรรมมาในปี 2559 รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงวางกลไกหลายอย่างเพื่อสืบทอดอำนาจให้กับ คสช. โดยกลไกหลักที่คอยรักษาฐานอำนาจนี้ไว้ ก็คือ สมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งนี่เอง
มาตรา 219 กำหนดว่า ส.ว. มีอำนาจในการให้ความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระในการจัดทำ “มาตรฐานทางจริยธรรม” เพื่อบังคับใช้ต่อองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นกลไกใหม่ที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญนี้ และมาตรฐานทางจริยธรรมที่จัดทำขึ้นเสร็จแล้ว ก็จะมีผลบังคับใช้ต่อนักการเมืองทั้งคณะรัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว. เองด้วย
มาตรา 256 กำหนดว่า หากมีข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณา ในวาระที่หนึ่ง และวาระที่สาม ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. อย่างน้อย 84 คน หรือ หนึ่งในสามของจำนวน ส.ว. ที่มีอยู่ จึงจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ อำนาจนี้เป็นอำนาจที่สำคัญ เพราะกลไกต่างๆ ที่เป็นฐานอำนาจให้กับ คสช. จะไม่สามารถถูกแก้ไขหรือยกเลิกได้เลยหากไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. ก่อน
มาตรา 270 กำหนดว่า ส.ว. มีอำนาจหน้าที่ในการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งทั้งแผนการปฏิรูปประเทศและแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี นั้นต่างก็เขียนขึ้นในยุคของ คสช. โดยคนที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นเองทั้งหมด ส.ว. จึงมีหน้าที่ในการกำกับดูแลให้ประเทศเดินไปในทางที่ คสช. วางไว้นั่นเอง
สำหรับการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ จะไม่ใช้กฎหมายการออกกฎหมายตามปกติที่ต้องผ่าน สภาผู้แทนราษฎร และ ส.ว. มีอำนาจเพียงยับยั้งหรือส่งคืนเท่านั้น แต่ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่ง ส.ว. จะร่วมอภิปรายและลงมติพร้อมกับ ส.ส. เลยตั้งแต่ต้น
มาตรา 271 กำหนดให้กรณีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ถ้าหากเป็นกรณีที่การแก้ไขหรือเพิ่มเติมโทษนั้นจะทำให้ผู้กระทำผิดพ้นความผิดหรือไม่ต้องรับโทษ และวุฒิสภาไม่เห็นด้วยกับร่างฉบับที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร หรือกรณีการออกกฎหมายใดๆ ที่วุฒิสภาลงมติมากกว่าสองในสามว่าจะมีผลกระทบต่อการดำเนินกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง เมื่อวุฒิสภาส่งคืนให้กับสภาผู้แทนราษฎร ให้ลงมติใหม่โดย ส.ว. กับ ส.ส. พิจารณาร่วมกัน และร่างกฎหมายนั้นจะเห็นชอบได้เมื่อมีมติมากกว่า 500 เสียงขึ้นไป หรือสองในสามของสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน
มาตรา 272 กำหนดว่า ส.ว.มีอำนาจร่วมกันกับ ส.ส. ในการลงมติให้ความเห็นชอบเลือกบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ในระยะห้าปีแรกนับตั้งแต่มีสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้