ห้าปี สว.ชุดพิเศษ ยกมือผ่านกฎหมายเฉลี่ยปีละ 13 ฉบับ ขอแก้กฎหมายที่ผ่านมือ สส. มาแล้วถึงหนึ่งในสี่

ห้าปีที่ผ่านมาของสมาชิกวุฒิสภาชุดพิเศษ (สว.) ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับบทบาทเป็น “สภากลั่นกรอง” พิจารณาร่างกฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว ในรอบห้าปี สว. พิจารณากฎหมายระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อย่างน้อย 51 ฉบับ ในจำนวนนี้มีถึง ถึง 13 ฉบับ หรือคิดเป็นหนึ่งในสี่ ที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมจากสภาผู้แทนราษฎร ในจำนวนดังกล่าวมีถึงสี่ฉบับที่สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของวุฒิสภา จนต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายร่วมกันและทำให้กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายยืดยาวออกไป

นอกจากนี้ สว.ชุดพิเศษ ยังยกมืออนุมัติพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ที่ผ่านการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วจำนวน 14 ฉบับ เมื่อนับรวมกับการพิจารณาพ.ร.บ. เท่ากับว่าในรอบห้าปี วุฒิสภาชุดพิเศษผ่านกฎหมายเฉลี่ยปีละ 13 ฉบับ

อีกทั้งยังพบว่า สว.ชุดพิเศษ เคยผ่านร่างกฎหมายสามวาระรวดในการประชุมวุฒิสภาวันเดียวถึงห้าฉบับ

ห้าปีที่ผ่านมา สว.ชุดพิเศษ ใช้อำนาจแก้ไขร่างพ.ร.บ. ไปแล้ว 13 ฉบับ จากทั้งหมด 51 ฉบับ

ถึงแม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรจะมีบทบาทหลักในการพิจารณาร่างกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขณะที่วุฒิสภามีบทบาทในการ “กลั่นกรอง” ร่างพ.ร.บ. ที่ผ่านมือสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว วุฒิสภาไม่สามารถทำให้ร่างพ.ร.บ. แต่ละฉบับถูกคว่ำ หายไปจากกระบวนการพิจารณากฎหมายได้ง่ายๆ หากวุฒิสภาไม่เห็นชอบด้วยกับร่างพ.ร.บ. ที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว วุฒิสภาทำได้เพียงยับยั้งร่างกฎหมายนั้นไว้ก่อน และต้องส่งร่างพ.ร.บ. นั้นกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎรก่อน หากสภาผู้แทนราษฎรยืนยันร่างพ.ร.บ. นั้นด้วยเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ก็ถือว่าร่างพ.ร.บ. นั้นผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาแล้วแม้วุฒิสภาจะไม่เห็นด้วยก็ตาม

แม้จะปัดตกร่างพ.ร.บ. ไม่ได้ แต่วุฒิสภาสามารถแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายที่ผ่านมือสภาผู้แทนราษฎรมาได้ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 137 (3) ให้อำนาจวุฒิสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ. ที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว แต่หากวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายนั้น ก็ต้องส่งร่างกลับไปขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขหรือไม่ หากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ ร่างกฎหมายนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้ต่อไป แต่ถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบกับการแก้ไข ก็จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกัน หากกมธ. พิจารณาร่างกฎหมายเสร็จแล้ว ก็ต้องเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาลงมติอีกครั้งว่าเห็นชอบกับร่างพ.ร.บ. นั้นหรือไม่

ตลอดระยะเวลาห้าปี สว.ชุดพิเศษ ใช้อำนาจตามมาตรา 137 (3) แก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ. ที่ผ่านมือ สส. มาแล้วไปถึง 13 ฉบับ จากจำนวนพ.ร.บ. ที่ผ่านมือ สว. ทั้งหมด 51 ฉบับ หรือคิดเป็นเป็นหนึ่งในสี่ (25.49 %)

โดยร่างพ.ร.บ. 13 ฉบับที่ สว. ชุดพิเศษแก้ไขหลังผ่านมือ สส. มาแล้ว มีดังนี้

1.       พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565

2.       พ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ.2565

3.       พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565

4.       พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565

5.       พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. 2565

6.       พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 พ.ศ. 2565

7.       พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 

8.       พ.ร.บ.สถาปนิก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 

9.       พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2566

10.    พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566

11.    พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565

12.    พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566

13.    พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566

ในพ.ร.บ. ทั้ง 13 ฉบับที่ถูกสว. ขอแก้ มีสี่ฉบับที่สส. ไม่เห็นด้วยจนต้องตั้ง กมธ.ร่วมฯ

ในจำนวนพ.ร.บ. ทั้ง 13 ฉบับที่ถูกสว. ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 137 (3) แก้ไข มีพ.ร.บ. จำนวนสี่ฉบับที่สส. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเนื้อหา จนทำให้ต้องตั้ง กมธ.ร่วมฯ เพื่อหาข้อสรุปให้กับกฎหมายฉบับทั้งสี่ฉบับ ได้แก่

1. พ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ. 2565

2 กุมภาพันธ์ 2565 สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ. …. ของวุฒิสภา นำไปสู่การตั้งกมธ.ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ. …. ฝั่งสส. จำนวน 10 คนเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ขณะที่สว. แต่งตั้งสมาชิก กมธ.ร่วมฯ จำนวน 10 คนมาร่วมพิจารณาร่างกฎหมายเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565

ต่อมา กมธ.ร่วมฯ เผยแพร่ รายงานผลการพิจารณาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 ซึ่งสว. มีมติเห็นชอบผลการพิจารณาของ กมธ.ร่วมฯ ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ก่อนที่จะส่งต่อข้อสังเกตการพิจารณาของ กมธ.ร่วมฯ ให้กับคณะรัฐมนตรีตามข้อบังคับของการประชุมวุฒิสภา ข้อที่ 99 วรรคสอง และสส. เห็นชอบผลการพิจารณาของ กมธ.ร่วมฯ ในวันที่ 22 มิถุนายน 2565

2. พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565

10 พฤศจิกายน 2564 สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….” ของวุฒิสภา จึงตั้งกมธ.ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. …. จำนวน 10 คน

ขณะที่สว. แต่งตั้งสมาชิก กมธ.ร่วมฯ อีกจำนวน 10 คนมาร่วมพิจารณาร่างกฎหมายในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564

ต่อมา กมธ.ร่วมฯ เผยแพร่รายงานผลการพิจารณาเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 ซึ่งสว. มีมติเห็นชอบผลการพิจารณาของ กมธ.ร่วมฯ และส่งต่อข้อสังเกตการพิจารณาของ กมธ.ร่วมฯ ให้กับคณะรัฐมนตรีตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ข้อที่ 99 วรรคสอง เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 ขณะที่สส. มีมติเห็นชอบผลการพิจารณาของ กมธ.ร่วมฯ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565

3. พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565

วั2 กุมภาพันธ์ 2565 สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของวุฒิสภา จึงตั้งกมธ.ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จำนวน 10 คน ขณะที่สว. ตั้งกมธ.ร่วมฯ อีกจำนวน 10 คนมาร่วมพิจารณาร่างกฎหมายเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565

ต่อมา กมธ.ร่วมฯ เผยแพร่ผลรายงานการพิจารณาเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 และสว. เห็นชอบผลการพิจารณาของ กมธ.ร่วมฯ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ขณะที่สส. เห็นชอบผลการพิจารณาของ กมธ.ร่วมฯ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565

4. พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. 2565

2 กุมภาพันธ์ 2565 สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติม ร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. …. ของวุฒิสภา และตั้งกมธ.ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. …. จำนวน 10 คน ขณะที่สว. แต่งตั้งสมาชิก กมธ.ร่วมฯ อีกจำนวน 10 คนเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565

ต่อมา กมธ.ร่วมฯ เผยแพร่ผลรายงานการพิจารณาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 และสว. เห็นชอบผลการพิจารณาของ กมธ.ร่วมฯ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ขณะที่สส. เห็นชอบผลการพิจารณาของ กมธ.ร่วมฯ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565

ห้าปี สว.ชุดพิเศษ ประทับตราผ่านพ.ร.ก. 14 ฉบับ

ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจแล้ว ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนจะมีหน้าที่พิจารณากฎหมาย แต่ก็มีกรณีที่เป็น “ข้อยกเว้น” หากเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ให้ฝ่ายบริหารออกกฎหมายในรูปแบบ พ.ร.ก. ไปก่อน แล้วส่งให้ฝ่ายนิติบัญญัติอนุมัติภายหลัง หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นเครื่องมือในการให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจตรากฎหมายแทนสภา แต่ต้องมีเหตุจำเป็นและฉุกเฉิน

ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรคสามกำหนดให้ เมื่อประกาศใช้พ.ร.ก. แล้ว ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอพ.ร.ก. นั้นต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาโดยไม่ชักช้า ในการลงเสียงอนุมัติพ.ร.ก.เป็นกฎหมายนั้น กำหนดไว้ในมาตรา 172 ว่าหาก สส. ไม่อนุมัติ โดยการลงคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ให้พ.ร.ก. ฉบับนั้นตกไป แต่ถ้าสส. อนุมัติ แต่สว.ไม่อนุมัติ หากสส. เห็นด้วยเกินครึ่งหนึ่งก็ให้พ.ร.ก. มีผลเป็นกฎหมาย และประกาศใช้เป็นพ.ร.บ. ต่อไป

ในสมัยของสว.ชุดพิเศษ มีการลงมติผ่านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มากถึง 14 ฉบับ ดังต่อไปนี้

1.       พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566

2.       พ.ร.ก.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566

3.       พ.ร.ก.ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565

4.       พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 พ.ศ. 2564

5.       พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2564

6.       พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564

7.       พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564

8.       พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564

9.       พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563

10.    พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

11.    พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

12.    พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563

13.    พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2562

14.    พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562

ขณะที่พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 แม้สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติอนุมัติไปแล้วเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2567 แต่ไม่ได้ถูกลงมติโดยสว. ชุดพิเศษ เพราะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจยุบสภาในวันที่ 20 มีนาคม 2566 ก่อนการหมดวาระของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 23 มีนาคม 2566 เพียงสามวัน เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 126 กำหนดว่า ในระหว่างที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร จะมีการประชุมวุฒิสภาไม่ได้ ยกเว้น 

1) การประชุมเพื่อลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลมาดำรงตำแหน่งตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจวุฒิสภาไว้ 

2) กรณีที่เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก วุฒิสภาสามารถประชุมในนาม “รัฐสภา” ได้ คือกรณีที่เกี่ยวกับการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 17 และมาตรา 19 การรับทราบร่างกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 20 การพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้สืบราชสันตติวงศ์ที่องคมนตรีเป็นผู้เสนอ ตามมาตรา 21 การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม ตามมาตรา 177 

โดยเหตุนี้ สว. ชุดพิเศษ จึงไม่ได้ลงมติพ.ร.ก. ดังกล่าว

ยกมือผ่านร่างแก้กฎหมายเลือกตั้ง สส. – กฎหมายพรรคการเมือง

หลังจากการแก้รัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้ง ครม. รวมถึงสส. จากหลายพรรคการเมืองได้เสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) การเลือกตั้ง สส. และร่างพ.ร.ป. พรรคการเมือง เพื่อแก้ไขกฎหมายสองฉบับดังกล่าวให้สอดคล้องกับการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งกระบวนการพิจารณาร่างพ.ร.ป. จะต้องทำในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาซึ่งประกอบด้วย สส. และ สว. 

สำหรับกฎหมายพรรคการเมือง รัฐสภาพิจารณาวาระหนึ่งเมื่อ 24-25 กุมภาพันธ์ 2565 และผ่านการพิจารณาลงมติรายมาตราในวาระสองและวาระสามเมื่อ 26 กรกฎาคม 2565 

ขณะที่กระบวนการพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง เป็นไปอย่าง “ทุลักทุเล” พบแรงเสียดทานมากเพราะเป็นเรื่องที่ สส. ทุกพรรคมีเป้าหมายและมีส่วนได้เสียไม่ตรงกัน เกิดเป็นข้อถกเถียงเรื่องการหาสูตรคำนวณที่นั่ง สส. บัญชีรายชื่อ ว่าจะใช้สูตรหาร 100” หรือ “สูตรหาร 500” 

แม้ว่าสูตรหาร100 จะช่วยให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้เปรียบ แต่ผลการลงมติกลับ “พลิกล็อก” ในวาระที่สองได้ออกมาเป็น “สูตรหาร 500”  ตามข้อเสนอของ “พรรคปัดเศษ” โดยได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว. ชุดพิเศษ. และสส. พรรคใหญ่ฝ่ายรัฐบาลในขณะนั้น แต่ท้ายที่สุดก็ยังเจอเทคนิคที่ ส.ส. จากทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ ไม่แสดงตนเข้าร่วมการประชุมทำให้องค์ประชุมไม่ครบ และ “สภาล่ม” ครั้งแล้วครั้งเล่า จนมาถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่จะครบ 180 วันของกำหนดเวลาการพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง เมื่อครบกำหนดเวลาแล้วพิจารณาให้แล้วเสร็จไม่ได้ กฎหมายเลือกตั้งจึง “พลิกล็อก” อีกครั้งกลับไปใช้ “สูตรหาร 100” อีกครั้ง ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 (1)  เป็นไปตามร่างกฎหมายเลือกตั้ง ฉบับที่ครม.เสนอในวาระหนึ่ง สว ชุดพิเศษ จึงมีบทบาทสำคัญในการยกมือผ่านร่างกฎหมายนี้ในวาระหนึ่ง และลงมติรายมาตราในวาระสองเท่านั้น ขณะที่ขั้นตอนเห็นชอบในวาระสาม ทั้ง สส. และ สว. ชุดพิเศษไม่ได้ลงมติ เนื่องด้วยการใช้เทคนิค “สภาล่ม” ทำให้กฎหมายถือว่าผ่านรัฐสภาเพราะครบกำหนด 180 วันแล้ว

ห้าปีที่ผ่านมาสว. ชุดพิเศษ ผ่านกฎหมายปฏิรูปไปแล้ว 12 ฉบับ ขาดเพียงฉบับที่ยุบสภาก่อน 

รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกออกแบบให้มีหมวดที่ 16 “การปฏิรูปประเทศ” เพิ่มเข้ามา ทำให้สว.ชุดพิเศษ มีอำนาจในการพิจารณาร่างพ.ร.บ. ที่ตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามเป้าหมายของรัฐธรรมนูญ 2560 หมวดการปฏิรูปประเทศ ร่วมกับสส. ด้วย ถือเป็นอำนาจพิเศษของสว.ชุดพิเศษ ที่ได้รับมาจากบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 270

ตลอดระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมาสว.ชุดพิเศษ ยกมือผ่านกฎหมายปฏิรูปไปแล้วถึง 12 ฉบับ จากทั้งหมด 15 ฉบับ เนื่องจากกฎหมายปฏิรูปอีกสามฉบับตกไปพร้อมกับการยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 เสียก่อน โดยกฎหมาย 12 ฉบับ ได้แก่


1.       พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 32) พ.ศ. 2563 (หลักเกณฑ์และวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี)

2.       พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ 2564

3.       พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 20) พ.ศ 2564

4.       พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564

5.       พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564

6.       พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564

7.       พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565

8.       พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564

9.       พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566

10.    พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565

11.    พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565

12.    พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565

ขณะเดียวกัน มีร่างกฎหมายปฏิรูปสามฉบับที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จถูกกระบวนการ และตกไปแล้วเพราะมียุบสภาเสียก่อน ได้แก่

1.       ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. (เสนอโดย ครม.) 

2.        ร่างพ.ร.บ.การจัดทำประมวลกฎหมายและกฎเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก พ.ศ. …. (เสนอโดย ครม.) 

3.       ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. (เสนอโดย ครม.)

ห้าปีที่ผ่านมาสว. ชุดพิเศษ ผ่านร่างกฎหมายห้าฉบับในสามวาระรวดเดียว

กระบวนการพิจารณากฎหมายในชั้นสภาผู้แทนราษฎร และชั้นวุฒิสภา จะประกอบไปด้วยการพิจารณาสามวาระ ได้แก่ วาระหนึ่ง ขั้นรับหลักการ วาระสอง ขั้นกรรมาธิการและลงมติรายมาตรา วาระสาม ขั้นลงมติเห็นชอบ ซึ่งสามารถกินระยะเวลาหลายวัน เพราะนอกจากจะพิจารณาถ้อยคำในร่างกฎหมายในทุกๆ มาตราแล้ว ยังต้องพิจารณาภาพรวมของร่างกฎหมายทั้งหมดอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ห้าปีที่ผ่านมาสว.ชุดพิเศษ มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ. ถึงห้าฉบับที่วุฒิสภาใช้เวลาพิจารณาทั้งสามวาระในหนึ่งวัน โดยเปลี่ยนขั้นตอนในวาระที่สองแทนที่จะแต่งตั้ง กมธ. ขึ้นมาพิจารณาร่างกฎหมายแบบรายมาตรา แต่ใช้ “กมธ.เต็มสภา” เพื่อความรวดเร็ว  ประกอบไปด้วย


1. พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2564 

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ในวาระสาม จึงส่งต่อให้วุฒิสภาเพื่อกลั่นกรองกฎหมายต่อไป ซึ่งในการประชุมวุฒิสภาเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2564  สว. ได้ลงมติรับร่างกฎหมายไว้ในวาระหนึ่ง และ พิจารณาวาระสองด้วย กมธ.เต็มสภา พิจารณาเรียงลำดับมาตราจนจบร่าง และลงมติเห็นชอบในวาระสาม 

2. พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ในวาระสาม จึงส่งต่อให้วุฒิสภาเพื่อกลั่นกรองกฎหมายต่อไป ในการประชุมวุฒิสภาเมื่อ 25 มกราคม 2564 สว. ลงมติรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว พิจารณาวาระสองด้วย กมธ.เต็มสภา พิจารณาเรียงลำดับมาตราจนจบร่าง และลงมติเห็นชอบวาระสามในวันเดียวกัน 

3. พ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ในวาระสาม จึงส่งต่อให้วุฒิสภาเพื่อกลั่นกรองกฎหมายต่อไป  ในการประชุมวุฒิสภาเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2566 สว. ได้ลงมติรับร่างกฎหมายไว้พิจารณา พิจารณาวาระสองด้วย กมธ.เต็มสภา พิจารณาเรียงลำดับมาตราจนจบร่าง และลงมติเห็นชอบในวาระสาม 

4. พ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. 2562

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบร่างพ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. …. ในวาระสาม จึงส่งต่อให้วุฒิสภาเพื่อกลั่นกรองกฎหมายต่อไป

ในการประชุมวุฒิสภาเมื่อ 19 สิงหาคม 2562 สว. ได้ลงมติรับร่างกฎหมายไว้พิจารณา พิจารณาวาระสองด้วย กมธ.เต็มสภา พิจารณาเรียงลำดับมาตราจนจบร่าง และลงมติเห็นชอบในวาระสาม 

5. พ.ร.บ.เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. 2562

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบร่างพ.ร.บ.เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. ….” ในวาระสาม จึงส่งต่อให้วุฒิสภาเพื่อกลั่นกรองกฎหมายต่อไป ในการประชุมวุฒิสภาเมื่อ 19 สิงหาคม 2562 สว. ได้ลงมติรับร่างกฎหมายไว้พิจารณา พิจารณาวาระสองด้วย กมธ.เต็มสภา พิจารณาเรียงลำดับมาตราจนจบร่าง และลงมติเห็นชอบในวาระสาม 

ห้าปีที่ผ่านมาสว.ชุดพิเศษ อภิปรายตรวจสอบรัฐบาลเพียงหนึ่งครั้ง ข้ามประยุทธ์แต่ตรวจสอบเศรษฐา

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 สว.ชุดพิเศษ เปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย โดยเป็นครั้งแรกในรอบห้าปีที่วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ใช้กลไกนี้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เนื่องจากในสมัยของรัฐบาลก่อนหน้าสว.ชุดพิเศษ ไม่เคยใช้กลไกนี้ตรวจสอบพล.อ.ประยุทธ์ มาก่อน

วุฒิสภาไม่มีอำนาจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเหมือนสภาผู้แทนราษฎร แต่สิ่งที่สามารถทำได้เหมือนสภาผู้แทนราษฎร คือการอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 153 กำหนดให้ สว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ มีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาเพื่อให้ครม. แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ กระบวนการนี้จะไม่มีผลให้รัฐมนตรีพ้นตำแหน่งแต่อย่างใด โดยการเปิดอภิปรายทั่วไป จะสามารถทำได้ปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น (มาตรา 154 วรรคหนึ่ง)

เสรี สุวรรณภานนท์ และสว. อีก 98  คน เสนอเปิดอภิปรายรัฐบาลเศรษฐาเจ็ดประเด็น ได้แก่

1.       ปัญหาด้านเศรษฐกิจ-ปากท้อง เช่น ประเด็นนโยบาย Digital Wallet

2.       ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมาย เช่น ปัญหาการปฏิบัติกับผู้ต้องขังที่สะท้อนกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน

3.       ปัญหาด้านพลังงาน

4.       ปัญหาด้านการศึกษาและสังคม เช่น ความล่าช้าในการการผลักดันกฎหมายการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่เข้ารัฐสภา

5.       ปัญหาด้านการต่างประเทศและการท่องเที่ยว เช่น ปม “จีนเทา” และความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน

6.       ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ความชัดเจนในการทำประชามติ

7.       ปัญหาการดำเนินการปฏิรูปประเทศและการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ

เสรี สุวรรณภานนท์ สว. ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีในการเสนอญัตตินี้ ระบุว่า การขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาครั้งนี้ไม่ใช่การล้มรัฐบาล แต่เป็นประเด็นที่รัฐบาลควรทำตามที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาและหาเสียงไว้กับประชาชน เชื่อว่าจะมีผลทางบวกในทางปฏิบัติที่รัฐบาลจะทำงานเพื่อประชาชน

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage
Trending post