จับตาวาระหนึ่งการแก้ไขร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. และ ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ปี 2565

ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีนัดพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญสองฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส.) ซึ่งมีการเสนอรวมกันสี่ฉบับประกอบด้วย ร่างรัฐบาล, ร่างพรรคพลังประชารัฐ ร่างพรรคเพื่อไทย และร่างพรรคก้าวไกล และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง) ซึ่งมีการเสนอรวมกันหกฉบับ ประกอบด้วย ร่างรัฐบาล, ร่างพรรคพลังประชารัฐ 2 ฉบับ, ร่างพรรคเพื่อไทย ร่างพรรคก้าวไกล และร่างพรรคประชาชาติ

ร่างกฎหมายลูกทั้งการเลือกตั้ง ส.ส. และพรรคการเมือง จะเป็นกติกาสำคัญในการเลือกตั้งครั้งถัดไปที่จะชี้ชะตารัฐบาลสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จากนี้ไปคือสามประเด็นสำคัญที่ควรรู้ก่อนพิจารณาร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งส.ส. และพรรคการเมือง

แก้รัฐธรรมนูญ “บัตรสองใบ” จุดเริ่มต้นสู่การแก้ไขกฎหมายลูกเลือกตั้ง

การพิจารณาร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. และร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ครั้งนี้อาจจะเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะนำไปสู่การยุบสภาเพื่อเลือกตั้งทั่วไปภายใต้กติกาใหม่ โดยจุดเริ่มต้นของการพิจารณากฎหมายดังกล่าว สืบเนื่องมาจากเมื่อปี 2564 รัฐสภาซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมในวาระสาม ก่อนจะประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ

1) เปลี่ยนสัดส่วนจำนวน ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากเดิม 350 : 150 มาเป็น 400 : 100

2) เปลี่ยนบัตรเลือกตั้งจากใบเดียว เป็นสองใบ คือ บัตรเลือก ส.ส.เขต และบัตรเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ

3) เปลี่ยนวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ ให้เหมือนกับ รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ที่คำนวณเป็นสัดส่วนตามคะแนนที่ได้พรรคได้รับ

แน่นอนว่าการแก้ไขกฎหมายลูกทั้งสองฉบับเบื้องต้นคือ การแก้กติกาให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับจำนวนเขตเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้ง การคำนวณที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองต่างๆ ก็ถือโอกาสนี้แก้ไขประเด็นอื่นในกฎหมายทั้งสองฉบับ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ขัดขวางพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทย

เส้นทางการร่างกฎหมายอาจลากยาวถึง 235 วัน

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 132 กำหนดให้การเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (ร่างพ.ร.ป.) ต้องเสนอต่อรัฐสภา โดยช่องทางการเสนอร่างพ.ร.ป. มีเพียงสองช่องทาง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 131 คือ

1) “คณะรัฐมนตรี” เสนอโดยข้อเสนอแนะของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง

2) “ส.ส.” จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

ผู้ที่ทำการพิจารณาร่างพ.ร.ป. คือ “รัฐสภา” ที่ประกอบไปด้วย ส.ส. และ ส.ว. ทั้งนี้ ส.ว.ชุดปัจจุบันที่จะทำการพิจารณาร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับเลือกตั้งทั้งสองฉบับดังกล่าว คือ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะ

ขั้นตอนหลังจากที่ ครม. หรือ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 เสนอร่างกฎหมายมายังรัฐสภาแล้ว คือการลงมติให้ความเห็นชอบกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้ รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน มิเช่นนั้นจะถือว่า รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายที่ได้ถูกเสนอมา และการลงมติในวาระที่สามต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา

หลังรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.ป.แล้ว  จะต้องส่งร่างพ.ร.ป. ไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง (กรณีของร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. และร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องคือ กกต.) เพื่อให้ความเห็นภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่รัฐสภาเห็นชอบ กรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ไม่มีข้อทักท้วงภายใน 10 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างดังกล่าว ให้รัฐสภาดําเนินการส่งร่างพ.ร.ป. ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย

แต่ในกรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เห็นว่าร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา มีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือทําให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ ให้เสนอความเห็นไปยังรัฐสภา และให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว ทั้งนี้ รัฐสภามีอํานาจแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเสนอของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระตามที่เห็นสมควรได้ และเมื่อดําเนินการเสร็จแล้ว ให้รัฐสภาดําเนินการส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ

ดังนั้น ขั้นตอนการพิจารณาร่างพ.ร.ป. ถ้าเป็นกรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ทักท้วงเนื้อหาร่างพ.ร.ป. และรัฐสภาต้องประชุมร่วมกันอีก รัฐสภาใช้เวลาในการพิจารณาเต็มเงื่อนไขเวลาอย่างช้าที่สุดไม่เกิน 235 วัน หรือประมาณเจ็ดเดือนกว่าๆ จะทำให้การแก้ไขกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งสองฉบับอาจจะลากไปเดือนตุลาคม 2565 จึงจะสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้

ประเด็นสำคัญในร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ

การแก้ไขร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งสองฉบับทำให้เห็นความตั้งใจที่แตกต่างกันระหว่างส.ส. พรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล แน่นอนว่าการแก้ไขในประเด็นพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่องกับจำนวนเขตเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้ง และวิธีการคำนวณที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือพื้นฐานในการแก้ไข ดังจะเห็นได้ว่าร่างกฎหมายลูกของรัฐบาลที่เสนอแนะโดย กกต. จะจำกัดประเด็นในการแก้ไขเพียงไม่กี่ประเด็น

ขณะที่ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งเสนอโดยฝ่ายนิติบัญญัติทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีจุดร่วมที่เหมือนกันในประเด็นทางเทคนิคที่ทำให้การบริหารจัดการพรรคยากยิ่งขึ้น เช่น การยกเลิกทุนประเดิมตั้งพรรคการเมือง 1,000,000 บาท การลดค่าทำเนียบบำรุงพรรครายปี และลดหรือยกเลิกค่าสมาชิกพรรคตลอดชีพที่สูงเกินไป รวมทั้งแก้ไขการตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัดที่แก้ไขให้ใช้เขตจังหวัดแทนเขตเลือกตั้ง

สำหรับการแก้ไขร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ดูเหมือนพรรคเพื่อไทยจะให้ความใส่ใจมากเป็นพิเศษ โดยมีการเสนอแก้ไขในประเด็นการครอบงำพรรคการเมืองจากคนนอก เพื่อลดเงื่อนไขทางกฎหมายในการยุบพรรคการเมือง อย่างไรก็ตามประเด็นนี้นับว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวสำหรับฝ่ายรัฐบาลและส.ว.ที่ต้องการใช้สิ่งนี้ในการทำลายพรรคการเมือง จนทำให้ ส.ว.บางรายประกาศจะไม่รับร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองของพรรคเพื่อไทย

ส่วนร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. ก็มีการนำเสนอที่แตกต่างกันในประเด็นหมายเลขผู้สมัคร ร่างของครม.และร่างของพรรคร่วมรัฐบาลเสนอให้หมายเลขผู้สมัคร ส.ส. ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและเขต ไม่ต้องเหมือนกันก็ได้ ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล เสนอให้ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อและเขต ใช้หมายเลขเดียวกันทั่วทั้งประเทศ

อีกส่วนสำคัญคือการคิดที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ที่ร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. ของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจะเปิดโอกาสให้พรรคขนาดเล็กเข้ามาในสภาในฐานะ ส.ส.ปัดเศษ ซึ่งแตกต่างจากร่างของพรรคพลังประชารัฐและพรรคก้าวไกล นอกจากนี้ในร่างของพรรคก้าวไกล ยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือ การเพิ่มอำนาจในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือกตั้งให้ชัดเจนขึ้น เช่น การห้ามขัดขวางการบันทึกหรือเผยแพร่การนับคะแนนของประชาชน การยกเลิกบทบัญญัติที่ให้กกต. กำหนดจำนวนและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัคร ส.ส. และการให้ กกต. รายงานผลการเลือกตั้งในรูปอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ