“สวัสดีครับ ผม ธี-ถิรนัย อายุ 23 ปี นักเคลื่อนไหวทางการเมือง หรืออดีตผู้ต้องขังทางการเมืองที่เพิ่งได้รับการพ้นโทษออกมา”
ประโยคดังกล่าวคือคำแนะนำตัวแรกของธี-ถิรนัย (สงวนนามสกุล) อดีตนักกิจกรรมและการ์ดอาชีวะฯ ที่เข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในช่วงปี 2563-2564 ธีเป็นหนึ่งในนักกิจกรรมที่ถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมทางการเมือง ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพเป็นระยะเวลายาว 1 ปี 5 เดือน 11 วัน ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี ในคดีครอบครองวัตถุระเบิด ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ หลังถูกตรวจพบระเบิดปิงปองจำนวน 10 ลูก บริเวณด่านใกล้แยกนางเลิ้ง ก่อนการชุมนุม #ม็อบ29สิงหา64 ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้โทษเป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน และได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนสิงหาคม 2567
หลังปล่อยตัวแล้ว ธียังคงไม่หมดไฟในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และสิ่งที่เขากำลังสนใจเป็นพิเศษที่จะร่วมในการเรียกร้องให้ได้มา คือ การออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ให้กับเพื่อนคนอื่นๆ ที่ยังอยู่ในเรือนจำ และไม่ให้ใครต้องเข้าไปในเรือนจำเพิ่มเพราะเหตุจากการชุมนุมอีก
เดี๋ยวพรุ่งนี้แม่งก็ดีขึ้น มันเป็นแค่เกมการเมือง
เพียงสามวันจากวันเกิดครบรอบอายุ 22 ปี ถิรนัยถูกศาลชั้นพิพากษาลงโทษให้จำคุกและถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงแรกเขายังคงมีความหวังกับการประกันตัว แต่วันแล้ววันเล่า คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของเขาถูกผู้พิพากษาปฏิเสธอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด เขาก็ต้องยอมรับความจริงและสภาพที่เกิดขึ้นว่า เขาคงไม่ได้ออกจากเรือนจำก่อนวันเวลาที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา
“วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ผมก็พูดคุยกับผู้พิพากษาว่าจะช่วยอะไรผมได้บ้าง เขาก็บอกว่า ลองรับ (สารภาพ) ดูก็ได้ เดี๋ยวพี่รอลงอาญาให้ คดีมันไม่ได้มีอะไร พอเรารับปุ๊บ เขาก็ขอออกไปประชุม 2-3 ชั่วโมง ประชุมเสร็จกลับมาบอกผม ขอโทษด้วยนะครับ อธิบดีศาลไม่ยอม”
“ตอนนั้นดับนะ หูเราดับเลย เราคิดว่าเราคงได้รับประกันตัวในวันนั้น เราไม่เคยติดคุก เราก็เข้ามาในห้องขังและก็รอเวลา เห็นว่าสี่โมงครึ่ง ที่ทำการของราชการจะปิดแล้ว สุดท้ายเราไม่ได้ประกันตัว เราก็ถูกนำตัวส่งไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เข้าไปอยู่และก็รอวันต่อมา ก็มีทนายความมาเยี่ยมเรา เราดีใจมาก แต่ผลประกันออกมา คำฟ้องคำร้องยกหมด ต่อมาก็ยก จนเรารู้สึกดิ่ง สวดมนต์ภาวนา เราเฟลมาก จนเราทำใจและปรับสภาพ พูดคุยกับตัวเอง เดียวพรุ่งนี้แม่งก็ดีขึ้น มันเป็นแค่เกมการเมือง”
“เราโดนจำคุก 6 ปี ลดโทษเหลือ 3 ปี เราก็สู้คดีอยู่ข้างใน จนมาถึงช่วงปีที่ผ่านมา 16 กรกฎาคม 2567 เราออกศาลเพื่อฟังอุทธรณ์ ผลปรากฎว่าติดเพิ่มอีกไม่เท่าไรก็ได้กลับบ้าน อาจจะเพราะช่วงที่ถูกพิพากษาในครั้งแรกนั้นเป็นสมัยของ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ แต่พอช่วงฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ มันเป็นของรัฐบาลเพื่อไทยแล้ว”
จากแดนสี่สู่แดนห้านรกที่อำนาจเงินคือทุกอย่าง
ในช่วงแรก ถิรนัยถูกคุมขังอยู่ในแดนห้า ซึ่งไว้ใช้คุมขังนักโทษเด็ดขาดและมีหมายเลข ความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก อาหารย่ำแย่ น้ำก็สกปรก เขาเปรียบเทียบที่คุมขังนี้ว่า เป็นราวกับนรก หากแต่ประสบการณ์ของการอยู่ในนรกก็ช่วยหล่อหลอมให้เขาทนทานและแข็งแกร่งขึ้น และในระหว่างถูกคุมขัง ถิรนัยก็ยังคงไม่หยุดเคลื่อนไหว แต่พยายามเรียกร้องสิทธิของเพื่อนผู้ต้องหาในเรือนจำเพื่อให้ได้รับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“ความเป็นอยู่ในเรือนจำย่ำแย่ ตอนแรกผมอยู่แดนห้า สภาพแวดล้อมแย่ อาหารที่เราเจอ เรือนจำบอกว่าอาหารเพื่อสุขภาพผู้ต้องขัง แต่คือเราไม่เคยติดคุก พออาหารพวกนี้เหลือ เขาก็เอาอาหารพวกนี้ไปให้หมู โชคดีที่มีกองทุนของพี่อานนท์ที่สั่งอาหารให้เรา น้ำที่เราอาบเองก็สกปรก สกปรกจนผื่นขึ้นเต็มตามตัว เรื่องนี้ทนายที่เยี่ยมผมจะรู้ดี”
“สภาพแวดล้อมข้างใน ติดคุกก็เหมือนนรก แต่เราแค่จะเรียนรู้กับนรกตรงนี้และปรับสภาพรับมือกับมันอย่างไร ผมหนีจากแดนห้าไปแดนสี่ แต่ละแดนไม่เหมือนกัน แดนห้าที่ผมเคยอยู่ เขาบอกว่ามันคือคือแดนที่มีนักโทษเด็ดขาดที่มีตัวเลข ผมก็ถามไปว่าผมเป็นนักโทษเด็ดขาดได้ยังไง คดีของผมยังไม่สิ้นสุด ผมสู้อยู่ในระหว่างอุทธรณ์ ผมก็ไม่ยอม ผมก็โต้เถียง จนกระทั่งเกิดเรื่องขึ้นกับคนข้างใน”
“ผมออกมาก็คิดนะ ที่ข่าวออกบอกว่าผมมาเหยียบขาใหญ่ ทำไมผมรู้สึกว่าผมถูกด้อยค่าจังวะ ในสื่อที่ออกไปแบบนั้น ตอนผมอยู่แดนห้า ผมก็เหมือนกระบอกสียงกระบอกหนึ่งที่คอยช่วยเหลือพี่น้องผู้ต้องขังต่างๆ บางคนเสียงเขาเล็ก แต่เสียงผมใหญ่ ผมก็ช่วยแสดงออกความต้องการของพวกเขา”
“ความแตกต่างในแดนเป็นแบบนั้นแหละ ความเหลื่อมล้ำ อย่างที่บอกว่าประเทศเราเป็นประเทศที่อำนาจเงินคืออันดับหนึ่ง ผมไม่อยากพูดหรอก ผมพูดไปเดียวเพื่อนผมลำบาก ผมบอกได้แค่ว่า ประเทศเราใหญ่ที่สุดคือเงิน เช่น แดนนี้คนจน แดนนี้คนรวย ผมจะเปรียบเทียบเหมือนภูเขา คนรวยอยู่ยอดภูเขา คนพอมีพอใช้อยู่ประมาณกลาง คนจนที่ไม่มีเงินอยู่ข้างล่าง”
การอยู่ในคุกไม่มีหรอกคำว่าสบายดี
ต่อมาถิรนัยได้ย้ายแดนคุมขังจากแดนห้าไปยังแดนสี่ ซึ่งเป็นแดนที่มีผู้ต้องขังทางการเมืองถูกคุมขังอยู่เป็นจำนวนมาก เขาเริ่มได้เจอเพื่อนผู้ต้องขังทางการเมือง ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน-นักศึกษาที่ถูกคุมขังเพียงเพราะคิดต่างจากสิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องการ คำถามว่าพวกเขาเป็นอย่างไร ถิรนัยตอบทันทีคือไม่มีทางสบายดี
“ถ้าตอนที่ผมเจอ (เพื่อนนักโทษ) คนอื่น ไม่มีหรอกครับ คำว่า สบายดี ผมอยากจะบอกว่ามันลำบาก”
“คดีการเมือง ในเรือนจำเนี่ยเขาจับแยกกันหมดเลย ไม่ให้อยู่ด้วยกัน คู่คดีของผมก็ถูกแยกออกจากกัน คู่คดีผมอยู่แดนหก แต่คดีการเมืองมันเยอะ เยอะจนแบบว่า สุดท้ายเราก็ต้องมาอยู่ด้วยกันหมด ส่วนมากก็เป็นเยาวชนหมดเลยนะ เป็นนักศึกษาที่มีอนาคต”
“ตอนผมถูกย้ายแดนไปหาพี่อานนท์ เพื่อนผู้ต้องขังทุกคนออกมาส่งเต็มข้างหน้าเลย จะไปจริงหรอ แต่ตอนนั้นที่ผมอยากย้าย คือเราอยากไปวางแผน เพราะตอนนี้เราเข้ามาอยู่ตรงนี้แล้ว และเราจะเอายังไงต่อ จนตอนนั้นได้ข้อสรุปว่านิรโทษกรรมคือสิ่งสุดท้าย ถ้าเขาไม่ให้เราประกันตัว ผมก็เคลื่อนไหวเรื่องนิรโทษกรรมมาตั้งแต่แดนห้าจนถึงแดนสี่”
ชีวิตในเรือนจำเรากิน นอน และกอดคอสู้ด้วยกัน
“ชีวิตในเรือนจำ ผมตื่นนอนมา ก็เจอเก็ท-โสภณ นอนอยู่ข้างๆ ที่นอนก็เป็นผ้าปูตามปกติ บล็อกก็อยู่ข้างๆ บล็อกก็คือห้องน้ำที่เปิดโล่ง ใครอุจจาระอะไรก็ได้กลิ่น พอตื่น ได้ออกห้อง เราก็มานั่งคุยกัน พี่อานนท์ก็เตรียมตัวอาบน้ำขึ้นศาล เช้ามาก็ทำกับข้าวกินกัน กินเสร็จ บางคนก็ไปอาบน้ำทำภารกิจส่วนตัว ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนอยากทำอะไร บางคนก็อ่านหนังสือ เขียนจดหมาย เล่นฟิตเนส จนถึงตอนเที่ยงเราก็ได้กลับมานั่งกินข้าวโต๊ะเดียวกันอีกครั้ง คุยกันว่าจะทำอย่างไรต่อ ส่วนช่วงบ่ายก็ภารกิจใครภารกิจมัน ก่อนจะเข้าห้อง”
“คือมันอยู่ด้วยกัน เราคุยกัน เราสู้ เรากอดคอกัน เชื่อไหม ตอนผมอยู่ข้างใน ผมเถียงกับเก็ท-โสภณ เราไม่เข้ากัน เถียงจนแบบทะเลาะ เก็ท ก็มา กูขอโทษ เฮ้ย ไม่เป็นไร พี่หนุ่มกับพี่อานนท์ก็แบบว่า เอาอีกล่ะ สองคนนี้มันเอากันอีกล่ะ (หัวเราะ)”
คนที่ธีเล่าถึงทั้งสามคน คือ นักโทษในคดีมาตรา 112 ที่มีโอกาสได้ประกันตัวหรือได้ออกจากเรือนจำในเร็ววันนี้น้อยมาก สำหรับโสภณ หรือเก็ท ถูกกล่าวหารวมสี่คดี ศาลมีคำพิพากษาแล้วสามคดีโทษจำคุกรวม 8 ปี 6 เดือน สำหรับอานนท์ นำภา ถูกกล่าวหารวม 14 คดี ศาลมีคำพิพากษาแล้วสี่คดี โทษจำคุกรวม 14 ปี สำหรับสมบัติ ทองย้อย หรือหนุ่ม ถูกกล่าวหาว่าโพสเฟซบุ๊กสองข้อความ ศาลพิพากษาให้จำคุกหกปี
“ผมโดนกักขังมาทั้งหมด 1 ปี 5 เดือน 11 วัน มันคือฝันร้ายที่สุดสำหรับผมแล้ว ผมเสียดายเวลา ผมเสียดายเวลา (พูดซ้ำอีก) ผมนั่งคิด ผมก็มาปรับ พูดคุยรับคำปรึกษาจากพี่หนุ่ม พี่อานนท์ หลายๆ คนที่เป็นผู้ใหญ่ที่อยู่ข้างใน แลกเปลี่ยนความรู้ ผมเป็นคนที่รับฟังแล้วจะเก็บไปคิด อะไรที่ไม่ใช่ ผมเก็บไว้ในใจ แต่ก่อนผมว่าคนนู้นคนนี้ของรัฐบาล แต่ตอนนี้ผมไม่ว่า ทำดีผมชม แต่ถ้าทำแย่ อย่างนี้หรอ อย่างอื่นได้ไหม”
ถ้าอยากเห็นประเทศที่ดีต้องลงมือทำด้วยตนเอง
“โกรธแค้นใครไหมหรอครับ? คงเป็นผู้นำประเทศนะ ถ้าจะให้ผมพูดนะ ประเทศมันก็อยู่ของมันแหละ แต่คนที่ขึ้นมาเป็นผู้นำน่ะ คือผมอยากจะถามเขาว่า เราเป็นมนุษย์เหมือนกันนะ เราเป็นคนเหมือนกัน เราคือคนไทยเหมือนกันนะ ทำไมถึงทำกับพวกเราอย่างนี้”
“ผมรู้สึกเหมือนประเทศมันมาแย่ตอนที่ผมกำลังโต ผมเติบโตมาในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรคพลังประชารัฐเป็นนายกรัฐมนตรี เราก็เริ่มศึกษา และค่อยๆ มารู้ประสีประสาเรื่องการเมือง จนเราถูกดำเนินคดี เราก็ตั้งคำถาม รัฐรังแกเด็กหรอ ตอนนั้นผมกำลังศึกษาอยู่ ถูกจับเข้ามานั่นนี่โน่น จนถึงตอนนี้ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ ถามว่าสำหรับผม มันก็ยังไม่สาย เพราะผมยังไม่ตาย ผมชอบการเรียนรู้มากเลย ผมเขยิบไปเรื่อยๆ ผมชอบนะ”
“ถ้าอยากเห็นประเทศที่ดี ผมเชื่อว่าผมต้องขึ้นมาพัฒนาด้วยตนเอง ประเทศที่ดี พูดแบบเหมือนอยู่ในฝันเลยนะ ที่บ้านบอกผมว่า ผมเลิกทำเพื่อคนอื่นได้แล้ว ทำเพื่อตัวเองได้แล้ว แต่มันเป็นนิสัยของผม ผมชอบทำเพื่อผู้อื่น เพื่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ผมชอบทำเพื่อพวกเขา ผมชอบช่วยคนอื่น มันตอบยากนะว่าทำไม”
ผมอยู่ที่ตรงนี้เพื่อให้ผู้ชุมนุมทุกคนได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย
“ผมไม่สนับสนุนความรุนแรงตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ถ้าย้อนกลับไปดูคลิปข่าว จะเห็นตอนที่นักข่าวมาสัมภาษณ์พี่เต้น (ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ) แล้วมาสัมภาษณ์ผมต่อ ตอนนั้นพี่เต้นพูดว่า ผมก็เคยแรงแบบน้องเขาเลย ผมก็ตอบไปว่า ผมไม่เห็นด้วยหรอกครับ แต่ที่ผมมายืนอยู่ในจุดนี้ สามเหลี่ยมดินแดงนี้ ก็เพราะผมอยากให้มวลชนที่มาร่วมชุมนุมสามารถเดินทางกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย เราช่วยทุกคน แก๊สน้ำตามาเราก็ช่วยหาน้ำมาล้าง”
“ที่ผ่านมาเราเคยเคลื่อนไหวในนามของกลุ่มอาชีวะ คอยดูแลเรื่องความสงบในพื้นที่การปราศรัยของกลุ่มต่างๆ ของแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ หรือทะลุฟ้า เราก็ดูแล ของกลางที่ตรวจเจอก็เป็นของที่เรายึดมาจากพวกเด็กๆ เราเอามาเก็บไว้ในกระเป๋า จนเราลืมแล้วว่าเคยมีของอยู่”
“ในวันนั้น ผมเคลื่อนไหวตอนปี 2563 มาถูกคดีตอน 2564 วันที่ 20 สิงหาคม คาร์ม็อบของพี่เต้น-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เราก็ได้ไปชุมนุมและทำกิจกรรมร่วมกับเขา ผมไปถูกจับที่หน้าธนาคารอาคารสงเคราะห์ ถนนนางเลิ้ง มุ่งหน้าเข้าทำเนียบรัฐบาล วันนั้นผมเห็นแล้ว คฝ. (เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน) ห้าสิบหกสิบกว่าคนกำลังคุมถนนเส้นนั้นอยู่ แต่ตอนนั้นเราไม่คิดว่าในกระเป๋าเราจะมีวัตถุระเบิด เป็นระเบิดลูกบอล 4 ลูก วันนั้นเราก็ไปคุยกับ คฝ. ว่าให้ผมไปชุมนุมเถอะ ที่นี่งานนี้นะ เรากำลังคุยกันจบแล้ว แต่ไปๆ มาๆ ก็ขอตรวจเรา เราก็สุภาพบุรุษ ก็เปิดให้ดู เราคิดว่าที่ตัวเราไม่มีอะไร”
ผมยังเชื่อใจพรรคเพื่อไทยแม้นิรโทษกรรมจะเป็นเกมการเมือง
“พูดถึงพี่อุ๊งอิ๊ง (แพรทองธาร ชินวัตร) ผมก็ยังชมแกอยู่นะ ผมเชื่อว่าแกเป็นคนเก่ง และผมเคยเป็นแฟนคลับของแก สมรสเท่าเทียมทางเพศ แกก็เคยทำกิจกรรมนี้ จนวันนี้มันผ่าน พี่อุ๊งอิ๊งในวัยเดียวกับผม เธอก็คงเคยนึกถึงผู้ต้องขังทางการเมืองอยู่บ้างแหละ ในจิตใต้สำนึกของแก ตอนนี้บรรยากาศทางการเมืองก็ยังคงเป็นเกมอยู่”
“ผมไม่หมดหวังกับการเมือง การเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว แค่เรานั่งอยู่แค่นี้ ห้าหกคนเป็นการเมืองแล้ว มันเป็นสังคม และผมอยากฝากบอกกับเด็กๆ น้องๆ ว่า การเมืองคืออนาคตของเราเหมือนกัน ผู้นำก็คืออนาคตของเราเหมือนกัน ประเทศจะดีได้ ไม่ดีได้ ขึ้นอยู่กับว่าคนนั้นเขาคือใคร ขนาดนักฟุตบอลยังต้องมีโค้ช ยังต้องมีสต๊าฟ องค์กรต่างๆ”
“ต่อจากนี้ผมก็วางแผนโปรเจ็คที่ผมทำอยู่ คือการนิรโทษกรรม ที่นิรโทษกรรมให้ผู้ต้องขังคดีการเมืองตั้งแต่ปี 49 จนถึงปัจจุบัน เพราะการนิรโทษกรรมครั้งนี้ มันคือการช่วยเหลือเพื่อนๆ ของเราที่อยู่ข้างใน แต่นักโทษ 48-49 ตอนนี้ผมไม่รู้ว่าเขาอยู่ไหน แต่คนในเรือนจำตอนนี้ยังเป็นเด็ก เป็นเยาวชน และนักศึกษา ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยอยู่ข้างในและได้ออกมา”
“ผมมองว่านิรโทษกรรม คือ เรื่องเกมการเมือง ถ้านิรโทษกรรมคดีทั่วไปก่อนแล้วค่อยนิรโทษกรรมคดี 112 ผมต้องได้รับคำตอบก่อนว่า คุณจะไม่ปิดประตูเรื่อง 112 ใช่ไหม เพราะตอนนี้เขาปิดประตูบานใหญ่อยู่ ผมอยากคุยกับผู้ใหญ่หลายๆ ฝ่ายก่อน ว่าพวกเขาจะไม่ปิดประตูให้กับเยาวชนนักศึกษา”
“ผมยังเชื่อใจพรรคเพื่อไทยอยู่ ผมเชื่อใจพี่อุ๊งอิ๊ง เชื่อใจพี่เต้น-ณัฐวุฒิ พี่เต้นเขาคงไม่รู้จักผมหรอก แต่ถ้าไปย้อนดูคลิปวิดีโอข่าววันนั้น จะเห็นว่าเราได้สัมภาษณ์ต่อๆ กัน ในความรุนแรงช่วงนั้น และเขาจะรู้เลย ว่าผมโดนจับก็เป็นงานของพี่เหมือนกัน ผมจึงยังเชื่อใจสองคนนี้อยู่”
คุณทักษิณ ชินวัตร: ผมโดนหลอกหรอ?
“ผมขอฝากถึงคุณทักษิณ ชินวัตร ตอน 63-64 ผมกลับบ้านมา ผมฟังคลับเฮาส์แกตลอด ประสบการณ์ในยุคของแกที่ต่อสู้ จนกระทั่งแกเข้ามาในเรือนจำที่เดียวกับเรา แต่เราไม่ได้เห็นแกหรอก แต่ผมคิดว่าแกก็ยังเป็นอีกหนึ่งคนที่ช่วยเราได้ อย่าลืมนะครับ ว่าตอนนั้นให้คำปรึกษา ช่วยเหลือเราในการต่อสู้กับรัฐบาลชุดนั้น แต่มาในตอนนี้ เพื่อไทยกับรัฐบาลที่เราเคยออกมาร่วมไล่ต่อต้าน คุณกลับมาจับมือกัน และสิ่งที่ผมทำในตอนนั้นที่อยากเปลี่ยนแปลงประเทศชาติ ผมโดนหลอกหรอ? ผมเป็นหมากเดินตั้งแต่แรกแล้วหรอ”
“พี่เต้นก็น่าจะรู้ตั้งแต่แรกแล้วนะ พี่เต้นคงไม่รู้จักผมหรอก แต่เราก็แฟนคลับของแก เราชอบแก อ่านหนังสือของแก ชกข้ามรุ่น อะไรอย่างนี้ ผมคิดว่า กับสิ่งที่ผมพูดไป พี่เต้นหรือคุณทักษิณ ชินวัตร คงจะเข้าใจผมนะ ผมเป็นคนคนหนึ่งที่โดนจับในช่วงนั้น แต่ผมไม่เจอใครเลยที่มาจากพรรคเพื่อไทย แต่กลับต้องขอบคุณพรรคก้าวไกล พี่เบญจา พี่ต๋อม-ชัยธวัช พี่เจี๊ยบ-อมรรัตน์ คุณพิธา ที่คอยมาให้ความช่วยเหลือพวกเรา”
“ในตอนนั้นผมไม่ได้อินไปกับพรรคไหน จะพรรคเพื่อไทยหรือก้าวไกล เพราะทั้งสองพรรคนี้คือฝ่ายประชาธิปไตยเหมือนกัน เราจับมือสู้เคียงข้างมาด้วยกัน ของพรรคไหนผมก็ไปร่วมงานช่วยตลอด และมาในช่วงเลือกตั้ง เชื่อไหม? ที่บ้านผมดีใจ จะเลือกตั้งใหม่แล้ว ผมภาวนาใครก็ได้ เพื่อไทยก็ได้ ก้าวไกลก็ได้ ผมได้ออกแน่ จนกระทั่งมาหักในช่วงตั้งรัฐบาล”
“6 สิงหาคม กรรมการบริหารพรรคก้าวไกลเข้ามาหาเรา ให้กำลังใจเรา วันที่ 7 สิงหาคม พรรคถูกยุบ ผมเองก็รู้แล้วในวันนั้นว่าไม่น่ารอด ผมก็พูดกับใครไปไม่รู้ว่า พี่ พี่โดนตัดสิทธิทางการเมืองแค่ 10 ปี แต่คนข้างในถูกตัดทั้งพ่อแม่ อิสรภาพ เสรีภาพ ลูก-แฟนแต่ละคน อย่างบางคนคดี 10 กว่าปี พี่อานนท์ เก็ทอย่างนี้ หรือบัสบาส 50 ปี”
ฝากถึงคนในเรือนจำขอให้เชื่อมั่นนิรโทษกรรมสักวันหนึ่ง
ด้วยโทษจำคุกที่น้อยกว่าเพราะคดีไม่มีมาตรา 112 ทำให้ธีเป็นนักโทษการเมืองของยุคปี 2563-2564 คนแรกๆ ที่รับโทษครบจนได้ปล่อยตัว แต่เขาไม่ได้เดินออกมาตัวเปล่า เพราะเพื่อนผู้ต้องขังทางการเมืองอีกหลายชีวิตยังอยู่ในนั้น ธียังคงแบกความหวังจากเพื่อนออกมาจากเรือนจำด้วย ว่าเขายังจะต้องเรียกร้องนิรโทษกรรมไปเรื่อยๆ จนกว่าเพื่อนจะได้ออกมาครบทุกคน
“เก็ท พี่อานนท์ พี่หนุ่ม หนุน บุ๊ค บูม หรือเพื่อนที่อยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ผมได้สัญญากับทุกคนไว้แล้วว่า ถ้าผมได้ออกมาก่อน นิรโทษกรรมคือสิ่งเดียว ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งเดียวที่จะช่วยคนเหล่านี้ขึ้นมาจากชั้นใต้ดิน และเปิดบ้านรับเพื่อนๆ ที่อยู่นอกบ้านเรากลับเข้ามาได้”
“เชื่อมั่น! คนทำอยู่ยังเชื่อมั่น คนรอต้องเชื่อมั่นเหมือนกัน นิรโทษกรรม สักวันหนึ่ง ไม่ช้า ไม่เร็ว แต่กำลังทำอยู่”