19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4/2563 ชี้ว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ซึ่งกำหนดความผิดแก่หญิงที่ทำให้ตนเองแท้ง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และแนะนำให้แก้ไขกฎหมายภายใน 360 วัน จนกระทั่งบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานทำให้แท้งลูกก็ได้รับการแก้ไข เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2564 ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมความผิดฐานทำแท้งที่ใช้มาตั้งแต่พ.ศ.2499 ให้หญิงสามารถทำแท้งได้ภายในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ และเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดอื่นๆ อันจะเอื้อประโยชน์แก่หญิงให้สามารถทำแท้งได้อย่างปลอดภัยและไม่มีความผิดตามกฎหมาย ทั้งนี้การแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา กล่าวคือ 7 กุมภาพันธ์ 2564
กฎหมายเดิม เอาผิดหญิงทำแท้ง จำคุก 3 ปี ปรับ 60,000 ไม่จำกัดเวลาตั้งครรภ์
ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งใช้บังคับมาตั้งแต่พ.ศ. 2499 กำหนดความผิดฐานทำให้แท้งลูกรวมห้ามาตรา โดยบทบัญญัติทั้งห้ามาตรานั้น ไม่เคยมีการแก้ไขในเชิงหลักการอันเป็นสาระสำคัญมาก่อนเลยตั้งแต่บังคับใช้มา มีเพียงแต่การแก้ไขเพิ่มโทษปรับขึ้น 10 เท่า เมื่อพ.ศ. 2560
ประมวลกฎหมายอาญาเดิมกำหนดบทลงโทษแก่หญิงที่ทำให้ตนเองแท้งหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งไว้ในมาตรา 301 มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนความผิดสำหรับผู้ที่ทำให้หญิงแท้งลูก กฎหมายกำหนดไว้สองกรณี กรณีแรก มาตรา 302 ผู้ที่ทำให้หญิงแท้งลูก โดยที่หญิงนั้นยินยอม มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีที่สอง มาตรา 303 ผู้ที่ทำให้หญิงแท้งลูกโดยที่หญิงไม่ยินยอม มีโทษหนักกว่ากรณีแรก จำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และทั้งสองกรณีหากการทำแท้งให้แก่หญิง เป็นเหตุให้หญิงรับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วยหรือหญิงถึงแก่ความตาย ผู้ที่ทำแท้งให้หญิงต้องรับโทษหนักขึ้น
มาตรา 304 ได้วางหลักไว้ว่า การพยายามทำแท้ง ตามมาตรา 301 และ 302 ไม่ต้องรับโทษ
มาตรา 305 กำหนดเหตุยกเว้นความผิดแก่หญิงที่ทำให้ตนแท้ง หรือผู้ที่ทำให้หญิงแท้งโดยหญิงยินยอม จะไม่มีความผิด ถ้าเป็นการกระทำของนายแพทย์ และ
(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ
(2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดทางเพศ
ประมวลกฎหมายอาญาใช้บังคับมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4/2563 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่กำหนดความผิดแก่หญิงทำให้ตนแท้งหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำแท้งเป็นความผิดอาญานั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 ว่าด้วยสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุลผลว่า การคุ้มครองสิทธิของทารกในครรภ์กับสิทธิของหญิงต้อง “สมดุล” กัน อาจต้องนำ “ช่วงระยะเวลาการตั้งครรภ์” มากำหนดเป็นหลักเกณฑ์ การปฏิเสธสิทธิของหญิงโดยไม่คำนึงเรื่องหลักเกณฑ์ระยะเวลาการตั้งครรภ์จึงกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของหญิงเกินความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วน
ศาลรัฐธรรมนูญมี “ข้อเสนอแนะ” ว่า สมควรปรับปรุงกฎหมายอาญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และกำหนดคำบังคับให้คำวินิจฉัยดังกล่าวมีผลเมื่อพ้น 360 วันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ซึ่งจะตรงกับ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ดังนั้น จึงตีความต่อว่า หากไม่มีการแก้ไขกฎหมายภายในเวลาดังกล่าว มาตรา 301 จะเป็นอันสิ้นผลไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้หญิงที่ทำให้ตนแท้งหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำแท้ง จะไม่มีความผิดโดยไม่ต้องพิจารณาเรื่องระยะเวลาตั้งครรภ์
ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ครม. ก็ได้ออกมารับลูก มีมติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ให้แก้มาตรา 301 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อมา 17 พฤศจิกายน 2563 ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภา โดยเสนอแก้ไขสองมาตรา คือ มาตรา 301 และมาตรา 305 สาระสำคัญ คือ กำหนดให้หญิงสามารถทำแท้งได้ภายในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ โดยไม่มีความผิด และปรับลดอัตราโทษกรณีที่หญิงทำแท้งเมื่ออายุครรภ์เกินกว่า 12 สัปดาห์ และไม่เข้าเหตุยกเว้นความผิดตามที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ต่อมา 17 ธันวาคม 2563 ส.ส. พรรคก้าวไกลก็เข้าชื่อกันเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาประกับคู่กันไป สาระสำคัญ คือ การเสนอให้แก้ไขบทบัญญัติความผิดฐานทำแท้งทุกมาตราที่มีการบัญญัติคำว่า “หญิง” เป็น “บุคคล” และกำหนดให้หญิงสามารถทำแท้งได้ภายในอายุครรภ์ไม่เกิน 24 สัปดาห์ (อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและเปรียบเทียบร่างกฎหมายทั้งสองฉบับได้ที่นี่)
อย่างไรก็ดี แม้จะมีการเสนอร่างกฎหมายที่กำหนดอายุครรภ์แตกต่างกัน 23 ธันวาคม 2563 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาทั้งสองฉบับ แต่ยึดร่างฉบับที่เสนอโดย ครม. เป็นร่างหลักในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ ก่อนจะอภิปรายและลงมติวาระที่สองและวาระที่สามในวันที่ 20 มกราคม 2564 หลังจากนั้นวุฒิสภาใช้เวลาพิจารณาอีกเพียงห้าวัน คือวันที่ 25 มกราคม 2564 ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณา “สามวาระรวด” และลงมติให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาโดยไม่แก้ไขร่างฉบับที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎร
กฎหมายใหม่ เปิดทางให้บุคคลทำแท้งได้ภายใน 12 สัปดาห์
โดยประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่แก้ไขใหม่ แตกต่างไปสองมาตรา คือ มาตรา 301 และมาตรา 305 ส่วนมาตราอื่นๆ ที่ไม่ได้แก้ไข จึงมีสาระสำคัญและบทลงโทษเท่าเดิม โดยสองมาตราที่แก้ไขแล้ว มีเนื้อหา ดังนี้
มาตรา 301 กำหนดให้หญิงทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ โดยที่ไม่เข้าเงื่อนไขอื่นๆ ตามมาตรา 305 มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จะเห็นได้ว่าอัตราโทษลดลงจากประมวลกฎหมายอาญาเดิม
มาตรา 305 เพิ่มเหตุยกเว้นความผิดแก่หญิงที่ทำให้ตนเองแท้ง หรือผู้ที่ทำให้หญิงแท้งโดยหญิงยินยอมไว้กว้างขึ้น หากเป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้กระทำไม่มีความผิด
(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น
(2) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควรเชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง
(3) หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ ประมวลกฎหมายอาญาเดิมก็กำหนดเหตุยกเว้นความผิดที่คล้ายกันไว้ แต่มีประเด็นปัญหาว่า คดีความผิดเกี่ยวกับเพศนั้นต้องมีการดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบเป็นภาระของหญิงที่จะทำแท้งว่า ต้องพิสูจน์ถึงการกระทำผิดดังกล่าวอันอาจส่งผลต่อจิตใจ ในมาตรา 305 (3) ใหม่จึงกำหนดเพียงให้หญิง “ยืนยัน” ด้วยตนเอง ก็จะไม่เป็นภาระต่อหญิงที่ต้องพิสูจน์ถึงการถูกกระทำทางเพศ
(4) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ โดยการนับระยะเวลานั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่านับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุด
(5) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกินสิบสองสัปดาห์ แต่ไม่เกินยี่สิบสัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
ทั้งนี้ กรณีตามมาตรา 305 (1) – (3) หญิงสามารถทำแท้งได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุครรภ์
สำรวจกระบวนการแก้กฎหมาย เปิดหลายประเด็นในสภา ศาสนา-สิทธิในร่างกาย-สิทธิทารกในครรภ์
ด้วยระยะเวลาตามคำบังคับคำวินิจฉัยที่จะครบ 360 วันเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ส่งผลให้กระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเป็นไปด้วยความรวดเร็วแม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ต้องอาศัยมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในการป้องกันโรค โดยการพิจารณาในชั้นสภาผู้แทนราษฎรและชั้นวุฒิสภา กินเวลาราวหนึ่งเดือนเศษ
ตั้งแต่ 23 ธันวาคม 2563 จนถึง 25 มกราคม 2564 การประชุมของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว มีอยู่สามครั้งด้วยกัน ดังนี้
ครั้งแรก 23 ธันวาคม 2563 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาวาระแรก แม้ท้ายที่สุดแล้วจะมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาทั้งสองฉบับ แต่ตลอดระยะเวลาการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บางรายต่างก็ตั้งข้อกังวลด้านศาสนาและศีลธรรม อาทิเช่น
นิยม เวชกามา ส.ส. พรรคเพื่อไทย ได้ตั้งคำถามว่า ความมีศีลธรรมของชาวพุทธอยู่จุดไหน และยกแนวคิดบาป-บุญในทางพุทธศาสนาขึ้นมาว่าการพรากชีวิตมนุษย์นั้นเป็นบาป และฝากคณะกรรมาธิการให้พิจารณากฎหมายอย่างละเอียด
ประสิทธิ์ มะหะหมัด ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ อธิบายถึงหลักศาสนาอิสลาม ที่กำหนดให้ทำแท้งได้ถ้ามีเหตุจำเป็น เช่น การมีลูกจะกระทบต่อแม่ที่ตั้งครรภ์ แต่ต้องทำภายในระยะเวลาที่ทารกยังไม่มีวิญญาณ การกำหนดระยะเวลาให้ทำแท้งได้ไม่เกินอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ตามร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาที่เสนอโดยครม. จึงสอดคล้องกับความเชื่อทางศาสนาและทางการแพทย์
กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส. พรรคประชาชาติ อธิบายว่า ศาสนาอิสลามก็ยอมรับให้ทำแท้งได้หากมีเหตุจำเป็น แต่เป็นกังวลในเรื่องเหตุยกเว้นความผิดตามร่างกฎหมายที่เสนอมา อาจจะเปิดทางให้ผู้ที่ท้องก่อนแต่งทำแท้งได้ ซึ่งขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม ที่ยอมให้หญิงซึ่งถูกกระทำทางเพศเท่านั้นที่ทำได้
หลังเสร็จสิ้นการอภิปรายและการลงมติในวาระที่หนึ่ง ได้มีการเสนอชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยปรากฏชื่อศาสตราจารย์พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นหนึ่งในที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ มีข้อสังเกตว่า จรัญเป็นหนึ่งในตุลาการที่วินิจฉัยคดี 4/2563 แม้ว่าคำวินิจฉัยส่วนกลางจะวินิจฉัยให้มาตรา 301 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ในคำวินิจฉัยส่วนตนของจรัญ วินิจฉัยว่ามาตรา 301 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่า กฎหมายอาญานอกจากจะลงโทษผู้ที่ละเมิดต่อชีวิตและร่างกายของผู้ตั้งครรภ์ ยังได้รับรองคุ้มครองไปถึงทารกในครรภ์ของหญิงที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ของชายหญิง แม้ว่าหญิงผู้ตั้งครรภ์เองก็ไม่มีสิทธิไปละเมิดต่อความมีชีวิตและโอกาสที่จะเป็นบุคคลของทารกในครรภ์ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า ตุลาการเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยว่ามาตรา 301 ขัดต่อรัฐธรรมนูญกลับมีบทบาทในกระบวนการแก้ไขกฎหมายด้วย
(อ่านสรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวาระที่หนึ่งได้ที่นี่)
ครั้งที่สอง 20 มกราคม 2564 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาซึ่งผ่านการพิจารณาปรับปรุงในชั้นกรรมาธิการแล้ว โดยการพิจารณาแบ่งออกเป็นสองวาระ วาระที่สอง พิจารณารายมาตรา และวาระที่สาม ลงมติ
โดยเหตุที่ร่างกฎหมายมีการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งมีเนื้อหาใกล้เคียงกับประมวลกฎหมายอาญาในปัจจุบัน จึงมีประเด็นที่ถกเถียงกันหลายประเด็นในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยเสียงส่วนน้อย ได้แก่รองศาสตราจารย์กฤตยา อาชวนิจกุล กรรมาธิการ และวาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส. พรรคก้าวไกล เสนอให้ยกเลิกมาตรา 301 เพื่อมิให้การทำแท้งเป็นความผิดอาญา อย่างไรก็ดี ข้อเสนอดังกล่าวตกไปเมื่อที่ประชุมลงมติไม่เห็นด้วย 274 ต่อ 65 เสียง
อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นข้อถกเถียงอย่างมากในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร คือ การกำหนดอายุครรภ์ให้ “สมดุล” ระหว่างสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้ตั้งครรภ์และสิทธิของทารกในครรภ์ โดยสันติ กีระนันทน์ ประธานกรรมาธิการ ได้ชี้แจงโดยยกการให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญว่า ต้องรักษาสมดุลระหว่างสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของหญิงและสิทธิของทารกในครรภ์ การกำหนดยกเลิกมาตรา 301 ที่กำหนดโทษแก่หญิงไปเลยนั้นจะเป็นการคำนึงถึงสิทธิของหญิงเพียงอย่างเดียวซึ่งไม่สมดุลกัน จะเห็นได้ว่าการให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญมีผลสืบเนื่องยาวนานมาจนกระทั่งกระบวนการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย
(อ่านสรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวาระที่สองและวาระที่สามได้ที่นี่)
ครั้งที่สาม 25 มกราคม 2564 ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา สามวาระรวด วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อที่ประชุมถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญให้คำวินิจฉัยมีผลเมื่อครบ 360 วัน ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 นั้น ก็เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขกฎหมาย หากไม่มีการแก้ไขกฎหมายให้แล้วเสร็จภายในกำหนดวันดังกล่าว ผลที่ตามมา คือ มาตรา 301 ประมวลกฎหมายอาญา จะเป็นอันสิ้นผลไป ส่งผลให้หญิงที่ทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยินยอมให้คนอื่นทำให้ตนแท้งลูกจะไม่ผิดกฎหมายเลย และพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาก็ได้กำชับแก่ที่ประชุมวุฒิสภาในทำนองเดียวกัน การพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวจึงมีระยะเวลาที่เร่งรัดมาก ส่งผลให้สมาชิกวุฒิสภาหลายคนอภิปรายยกประเด็นเรื่องความจำเป็นในการพิจารณากฎหมายอย่างถี่ถ้วน และให้ขยายคำบังคับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกไป เช่น
ศาสตราจารย์พิเศษกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ ชี้แจงว่า กระบวนการพิจารณากฎหมายที่ต้องเร่งทำให้ทันภายในกำหนดเวลา หากพิจารณาอย่างเร่งรีบอาจจะส่งผลกระทบอื่นถึงความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
คำนูณ สิทธิสมาน อภิปรายว่า ด้วยข้อจำกัดทางระยะเวลาอาจส่งผลให้การพิจารณาในชั้นวุฒิสภาไม่สามารถแก้ไขร่างที่ส่งมาจากชั้นสภาผู้แทนราษฎร เพราะหากแก้ไขแล้วก็ต้องส่งกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอาจส่งผลสืบเนื่องว่าจะไม่ทันกรอบระยะเวลา เสนอให้รัฐบาลแจ้งต่อศาลรัฐธรรมนูญว่ามีเหตุขัดข้องในการปฏิบัติตามคำบังคับ เพื่อให้ขยายเวลาบังคับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกไป โดยคำนูณอ้างข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 ข้อ 44 ที่ออกตามความในมาตรา 74 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 เพื่อให้วุฒิสภาได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ทั้งนี้คำนูณเรียนขอคำแนะนำจากจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวและเป็นหนึ่งในผู้ที่มาชี้แจงที่ประชุมวุฒิสภาว่า การขยายเช่นนี้ทำได้หรือไม่ ด้านจรัญ ภักดีธนากุล ในฐานะผู้ชี้แจง แสดงความเห็นด้วยกับข้อเสนอของคำนูณ สิทธิสมาน ให้ขยายเวลาออกไป
ถึงแม้จะมีสมาชิกวุฒิสภาหลายรายที่ติงเรื่องข้อจำกัดด้านเวลา แต่สมาชิกวุฒิสภาบางรายก็ได้เสนอให้ที่ประชุมวุฒิสภารับหลักการไปก่อน เช่น ประสิทธิ์ ประทุมารักษ์ อภิปรายว่า การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเป็นส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาสังคม บางกรณีการมีบุตรอาจไม่ใช่ความสุขของหญิง เช่น หญิงที่ถูกกระทำทางเพศโดยบุคคลในครอบครัวจนเกิดตั้งครรภ์ หากตั้งกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณากฎหมายอาจส่งผลให้เวลายืดเยื้อ จึงอยากให้กฎหมายผ่านไปก่อน และหากกฎหมายมีข้อใดที่ยังไม่พร้อมก็ให้รัฐบาลตราพระราชกำหนดไปก่อน และออกพระราชบัญญัติตามมาภายหลัง
ท้ายที่สุดที่ประชุมวุฒิสภาจึงมีมติ “รับหลักการ” ในวาระที่หนึ่ง ด้วยมติ 187 เสียง ต่อ 5 เสียง
ในวาระสอง พิจารณารายมาตรา ในรูปแบบกรรมาธิการเต็มสภา ไม่มีสมาชิกวุฒิสภารายใดที่ขอแก้ไขมาตรา 301 แต่มีสมาชิกวุฒิสภาที่ขอแก้ไขมาตรา 305 เช่น
มณเฑียร บุญตัน อภิปรายเรื่องมาตรา 305 (2) ที่กำหนดให้หญิงทำแท้งได้หากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควรเชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง โดยมณเฑียรมองว่า การกำหนดไว้เช่นนี้เป็นการล้ำเส้นความเป็นมนุษย์และเหยียบย่ำผู้ทุพพลภาพ ผู้ทุพพลภาพไม่ได้มีความผิด แต่สภาพแวดล้อมในสังคมต่างหากที่ไม่เอื้อแก่การดำรงชีวิตของทุพพลภาพ ในรัฐธรรมนูญได้กำหนดหลักการห้ามเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความพิการ การกำหนดให้ตัดชีวิตโดยที่ไม่รู้ว่าหากทารกในครรภ์เกิดออกมาจะเป็นอย่างไรนั้นจึงไม่เป็นธรรม ขอให้ตัดอนุมาตรานี้ออก ท้ายที่สุดแล้วที่ประชุมวุฒิสภาจึงต้องลงมติ โดยมีมติเห็นด้วยกับร่างกฎหมายเดิม ไม่ต้องตัดอนุมาตรานี้ออกออก ด้วยคะแนนเสียง 163 ต่อ 15 เสียง
คำนูณ สิทธิสมาน ตั้งข้อกังวลเรื่องมาตรา 305 (3) ที่มีการแก้ไขในชั้นสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้ “หญิงยืนยัน” ว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศสามารถทำแท้งได้ และขอให้แก้ไขกลับไปเหมือนร่างกฎหมายที่ ครม. เสนอ ด้านจรัญ ภักดีธนากุล ชี้แจงว่า ในทางปฏิบัติการระบุให้หญิงที่ถูกกระทำทางเพศทำแท้งได้ มีปัญหาการตีความอย่างมาก เนื่องจากบางกรณีหญิงต้องไปแจ้งความเป็นหลักฐานก่อนว่าถูกกระทำความผิดทางเพศ บางกรณีต้องฟ้องร้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุดเพราะเจ้าหน้าที่อ้างหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์มาใช้กับกรณีนี้ หากระบุไว้เพียงเช่นนั้นก็จะกลายเป็นว่า ต้องรอจนคลอดลูกออกมาเสียแล้ว ไม่สามารถทำแท้งได้ และในบางกรณีเหยื่อของอาชกรรมทางเพศก็ไม่กล้าไปแจ้งความ จึงมีข้อเสนอให้ “หญิงยืนยัน” ด้วยตนเองขึ้นมา ให้หญิงรับผิดชอบตนเอง ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นด้วยกับร่างกฎหมายเดิม ไม่ต้องตัดอนุมาตรานี้ออกออก ด้วยคะแนนเสียง 162 ต่อ 19 เสียง
เสรี สุวรรณภานนท์ ได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องมาตรา 305 (5) ที่เปิดช่องทางให้บุคคลทำแท้งได้ถึงอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ซึ่งค่อนข้างมีอายุครรภ์ที่เยอะและทารกในครรภ์โตแล้ว ในมุมมองสังคมจะมองว่ารัฐสภาปล่อยให้ร่างกฎหมายกำหนดให้หญิงเป็นฆาตกรฆ่าทารกในครรภ์ผ่านมาเป็นกฎหมายได้ จึงเสนอให้ตัดมาตรา 305 (5) ออก ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นด้วยกับร่างกฎหมายเดิม โดยมีมติไม่ตัดอนุมาตรานี้ออก ด้วยคะแนนเสียง 123 ต่อ 43 เสียง
ภายหลังการลงมติรายมาตรา ซึ่งในภาพรวมผลที่ออกมาคือไม่มีการแก้ไขรายมาตราในชั้นวุฒิสภาในวาระที่สอง ต่อมาจึงเป็นการพิจารณาในวาระที่สาม โดยที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบกับร่างที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎรด้วยมติ 165 ต่อ 7 เสียง
ภาคประชาชนย้ำ อย่าตีตราผู้ทำแท้งเป็นอาชญากร เรียกร้องยกเลิกกฎหมายลงโทษหญิงทำแท้ง
25 มกราคม 2564 วันเดียวกับที่วุฒิสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เครือข่ายที่รณรงค์ด้านการทำแท้ง อันประกอบไปด้วย กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก กลุ่มทำทาง และกองทุนสนับสนุนการทำแท้งปลอดภัยนานาชาติ (Safe Abortion Action Fand : SAAF) ได้จัดกิจกรรมที่หน้ารัฐสภา เพื่อเรียกร้องต่อสมาชิกรัฐสภาและผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้พิจารณายกเลิก มาตรา 301 ซึ่งยังกำหนดบทลงโทษทางอาญาแก่ผู้ที่ทำแท้งโดยไม่เข้าเงื่อนไขตามกฎหมาย
อย่างไรก็ดี ข้อเรียกร้องดังกล่าวก็ไม่บรรลุผลเมื่อที่ประชุมวุฒิสภาไม่ได้มีการแปรญัตติขอแก้ไขมาตรา 301 ส่งผลให้มาตรา 301 ยังคงบรรจุอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา โดยกำหนดอัตราโทษใหม่ ต่ำกว่าประมวลกฎหมายอาญาเดิม
26 มกราคม 2564 ไทยรัฐรายงานว่า ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประธานกรรมการนโยบายสตรี พรรคพลังประชารัฐ ชี้แจงต่อเครือข่ายฯ ว่า ทางออกบางอย่างต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ และเห็นด้วย จึงขอให้เห็นใจคณะทำงานที่ต้องคิด กลั่นกรอง และต้องผ่านความเห็นชอบจากหลายฝ่าย จึงต้องค่อยๆ ผลักดันเป็นขั้นตอนไป ส่วนตัวขออวยพรให้ทุกความคิดเห็นได้รับการรับฟัง และตอบสนองอย่างเป็นรูปธรรมทุกข้อ